Skip to main content
sharethis

คณะทำงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน จัดเสวนาครั้งที่ 1 เรื่อง สัญชาติกับการปฏิรูปการเมือง ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยมีตัวแทนผู้ไร้สัญชาติทั่วประเทศและนักกฎหมายเข้าร่วม เพื่อเสนอปัญหาและทางออกอันจะนำไปสู่ข้อเสนอที่ควรจะปรากฏในรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาลในอนาคต

ประชาไท - 26 ธ.ค. 2549 คณะทำงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน จัดเสวนาครั้งที่ 1 เรื่อง สัญชาติกับการปฏิรูปการเมือง ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยมีตัวแทนผู้ไร้สัญชาติทั่วประเทศและนักกฎหมายเข้าร่วม เพื่อเสนอปัญหาและทางออกอันจะนำไปสู่ข้อเสนอที่ควรจะปรากฏในรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาลในอนาคต เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา

 

สุรพงษ์ กองจันทึก สภาทนายความ กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญว่า ตอนร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ในขั้นร่างมาตรานั้น ร่างโดยใช้คำว่า บุคคล เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่พอเอารวมเป็นหมวดแล้ว มีคำเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น ในหมวด 4 ใช้ชื่อหมวดเพิ่มขึ้นมาว่า "หน้าที่ของชนชาวไทย" ซึ่งเป็นเทคนิคของคนไม่กี่คน และหนึ่งในนั้นตอนนี้ยังเป็นประธาน สนช. อยู่ด้วย

 

เมื่อดูรายละเอียด ในมาตรา 67 ระบุว่า บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่ง บุคคล ในนี้หมายถึง คนทุกคน เพราะหากไม่ทำตามกฎหมายจะถือว่าเป็นความผิด แต่ในมาตราที่ว่าด้วยสิทธิในการเลือกตั้ง กลับจำกัดความเฉพาะปวงชนชาวไทยเท่านั้น

 

ที่น่าห่วงคือมีการตีความของกฤษฎีกา เนื่องจาก สปสช. ใช้มาตราที่ระบุว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการรักษา แต่ถึงเวลาใช้จริง ไม่ได้สิทธิเท่ากันทุกคน โดยกฤษฎีกาซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญตีความว่า ผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ต้องเป็นคนสัญชาติไทยเท่านั้น เพราะมาตราดังกล่าวอยู่ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิของปวงชนชาวไทย

 

และเมื่อกลับมาดูรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราว ได้พูดถึงหน้าที่และสิทธิการคุ้มครองไว้ว่า สิทธิที่เคยได้รับ ยังคงได้รับต่อไป แต่ในมาตรา 3 ระบุว่า "บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครอง" อันนี้ยิ่งชัดกว่าเดิม คือใส่ในมาตราเลย ไม่ใช่ใส่ในหัวข้อ ซึ่งคนที่ร่าง น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน ตั้งแต่ฉบับ 40 หากทัศนคติในรธน.ชั่วคราวยังให้เฉพาะ "ชนชาวไทย" ต่อไปคงต้องทำงานกันหนักพอสมควร และหากเราเสนอโดยไม่ระวังจะเป็นแบบนี้อีก

 

 

ประสาน อุตสมัน ตัวแทนชาวเล จากเกาะลันตา กล่าวว่า เกาะลันตาเป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม มีชาวอุรักลาโว้ย ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาก็รุกรานวิถีความเป็นอยู่ของชนพื้นถิ่น โดยเฉพาะเมื่อเกิดสึนามิ ก็มีข้อเรียกร้องให้ชาวอุรักลาโว้ยย้ายออกไป

 

วรรดี จิตรนิรัตน์ เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา กล่าวว่า ปัญหาหลักของชาวเล คือ ชาวเลจะไม่มีสัญชาติที่ชัดเจน ว่าเป็นมาเลย์ เป็นพม่า หรือเป็นชาติอะไร เพราะไม่มีตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจน ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง ไม่มีบัตรประชาชน แต่ชาวเลก็มีวิถีชีวิตและมีพิธีกรรมของตัวเอง

 

ชาวเล มี 3 เผ่า คือ มอร์แกน เล อุรักลาโว้ย ส่วนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน ส่วนหนึ่งที่มีบัตรประชาชนเป็นเพราะเคยมีการพระราชทานสัญชาติ พร้อมกับพระราชทานที่ดินราวๆ 40 ปีมาแล้ว แต่ชาวเลก็ทยอยขายไปเพื่อแลกกับหนี้สิน

 

หลังสึนามิก็เกิดปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและการประกอบอาชีพ เนื่องจากเป็นประมงชายฝั่ง ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายโฉนดน้ำ เรื่องเขตอุทยาน

           

อยากเรียกร้องให้เปิดพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของชาวเล เดิมพื้นที่ของชาวเลเป็นพื้นที่พระราชทาน แต่สุดท้ายก็ถูกเปลี่ยนมือจนชาวเลแทบจะไม่มีที่อยู่ ต้องทำอย่างไรก็ได้ ที่ทำให้ชาวเลมีพื้นที่ของตนเอง

 

พลาเดช ณ ป้อมเพชร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำวิจัยเรื่องชาวเล กล่าวว่า ปัจจุบัน ชาวเลในเมืองไทยมีประมาณหนึ่งหมื่นคน มีผู้ที่ยังไร้สถานะประมาณพันคน ที่เกาะหลัก เกาะสุรินทร์ และเกาะภูเก็ต ชาวเลที่ไม่มีบัตร ที่ต้องเข้ามาทำงานจะได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะสิทธิด้านสาธารณสุขและการเดินทางที่ต้องเจอเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม

 

 

อัมพร คำวันดี ผู้ถือบัตรลาวอพยพ จากอ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า อำเภอเชียงของมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่กลับถูกเรียกรวมเป็นลาวอพยพ สำหรับปัญหาขั้นพื้นฐานนั้น มีทั้งเรื่องการเดินทางและการรักษาพยาบาล

 

ทุกวันนี้อาชีพหลักคือการทำไร่ข้าวโพด แต่การทำไร่ข้าวโพดก็ต้องเช่าที่ และต่อไป เชียงของจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ก็จะรับแต่คนที่มีบัตร

           

ตอนนี้ 447 คน ในอำเภอเชียงของ ที่ไม่ได้สัญชาติ ถือบัตรฟ้าขอบน้ำเงิน ระบุว่าเป็นลาวอพยพ ทั้งที่    เป็นชาวลาวดั้งเดิมที่ตามญาติเข้ามาและอยู่ในไทยมา 3 - 4 ชั่วคนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับสัญชาติ บางคนไม่มีบัตรเลยก็มี เมื่อปี 2534 ตอนที่กองทัพภาคที่ 2 ไปสำรวจก็มีหลายคนที่ตกสำรวจเพราะบางคนไปทำงานข้างนอกกลับมาไม่ทัน

 

ทั้งนี้ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิสูจน์สถานะว่าแต่ละคนมีสถานะอย่างไร โดยระหว่างการดำเนินการจะต้องได้รับการบริการสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และรัฐควรระงับการจับกุมระหว่างการรอพิสูจน์สถานะ

 

 

พงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ชาวมอญ อ.สังขละบุรี กล่าวว่า ที่อ.สังขละ มีบัตร 4 ประเภท คือ บัตรสีฟ้า เขียว แดง และส้ม โดยบัตรสีฟ้า เขียว และแดง จะมีอภิสิทธิ์มากที่สุด คือสามารถยื่นขอสัญชาติได้ ยื่นขอออกนอกพื้นที่ได้ บัตรสีส้ม จะไม่ได้รับสิทธิ์เหล่านั้น ทั้งยังระบุว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า ทั้งที่เดิมเคยใช้คำว่า ผู้อพยพเข้าเมืองจากพม่า ไม่ได้สิทธิอะไร เรื่องการศึกษาก็ออกนอกพื้นที่ไม่ได้ สิ่งที่ผู้ถือบัตรสีส้มต้องการคือ อยากมีสิทธิยื่นขอสัญชาติได้ เพื่อเวลาเรียนหนังสือ จะได้ได้สิทธิในการกู้ยืม

 

ที่แย่กว่านั้น คือ เมื่อมีการสำรวจใหม่ ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าต้องทำอะไร พ่อแม่กลัวว่าลูกจะยังไม่มีชื่อ ก็รีบไปขึ้นทะเบียน แล้วก็ได้บัตร ทร. 38/1 กลายเป็นแรงงานต่างด้าวไป

 

บางคนมีบัตรประจำตัว แต่ฐานข้อมูลโดนลบหรือโดนจำหน่ายไป ปลัดอำเภอก็ไม่กล้าแก้ไขให้ ทั้งนี้ สิทธิที่อยากได้รับ คือสิทธิในการรักษาพยาบาล เมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ที่ให้เฉพาะคนไทย ก็โดนยึดบัตรทอง การรักษาพยาบาลก็ลำบาก ทางโรงพยาบาลพยายามแก้ปัญหา คือรับรักษาให้ แต่ก็ทำให้งบประมาณของโรงพยาบาลต้องเป็นหนี้ ชาวบ้านก็อยากได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล ตามสิทธิพื้นฐานที่คนทุกคนควรจะได้รับ

 

เด็กที่เกิดในประเทศไทย ก็อยากให้มีขั้นตอนที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอการยื่นขอ เช่น ไปยื่นขอสัญชาติตามมาตรา 7 ทวิ พอมารู้อีกทีก็พบว่าโดนทิ้งเรื่องเอาไว้ อยากให้มีวิธีการที่เร็วกว่านี้ บางทีเด็กที่กำลังเรียนก็อยากจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น พอเรียนจบแล้วไปสมัครงาน ใช้บัตรสีคนเขาก็ไม่ค่อยรับ

 

 

พลศักดิ์ บัวจันทร์เรือง ชาวกะเหรี่ยงจากสังขละบุรี กาญจนบุรี กล่าวว่า เมื่อปี 2531 มีการสำรวจ โดยหลังจากนั้นมีการทำบัตรสีฟ้า เมื่อปี 2533 -2534 แต่ก็ยังทำไม่หมด เพราะบางคนอยู่ในเมือง หรือบางคนเจ็บป่วยไม่สามารถกลับมาทำได้

 

การขอสัญชาติ บางครั้งก็ง่ายตามอำนาจนายอำเภอตามระเบียบปี 43 แต่อย่างไรก็ดี การขอสัญชาติยังคงมีอุปสรรคมากมาย เขาจะบอกว่าติดที่ระบบ

 

อยากให้ยกเลิกการเจาะเลือดเวลาออกนอกพื้นที่ แถมยังต้องเสียเงิน 600 บาทต่อคน และบัตรแต่ละสี ก็ถูกจำกัดโอกาสเดินทางออกนอกพื้นที่ระยะเวลาต่างกัน ยกเลิกการรายงานตัวของผู้ที่ถือบัตรสี ที่คนที่เข้ามาหลังปี 2538 ต้องรายงานตัว อาจจะ 3 เดือนครั้งหรือ 1 เดือนครั้ง

 

เมื่อชาวบ้านต้องไปรายงานตัว จะมีผู้นำท้องถิ่นได้รับประโยชน์ การรายงานตัวทุกครั้งต้องมีใต้โต๊ะ เช่น ไปรายงานตัวไม่ทันกำหนดการ ก็จะต้องจ่ายใต้โต๊ะ

 

เสนอว่า ผู้ถือบัตรสีที่อยู่ในประเทศไทย 10 ปีขึ้นไป ควรได้รับสถานะ ผู้ที่เกิดในประเทศไทย ควรได้สัญชาติไทย ถ้าไม่ได้เกิดในประเทศไทย ได้ต่างด้าวถูกกฎหมาย การขอสัญชาติตามาตรา 7 ทวิ ควรยกเลิกอำนาจของรัฐมนตรี มาเป็นอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะชาวบ้านทั่วไปให้เดินเข้าไปหารมต.ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นผู้ว่าฯ ยังพอเป็นไปได้

 

นอกจากนี้ยังเสนอให้ยกเลิกคดีตัดไม้ทำลายป่าและหลบหนีเข้าเมือง หลายคนเจอคดีนี้เยอะมาก เพราะมีอาชีพทำไร่หมุนเวียน นอกจากนี้ คดีหลบหนีเข้าเมือง ทำให้ไม่สามารถขอสถานะได้ สุดท้ายเห็นว่า ผู้ถือบัตรสีทุกๆ สี ควรได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน  

 

 

สุทิน กิ่งแก้ว เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติไทย กล่าวถึงปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นว่า มีปัญหาไม่เหมือนกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากไทยพลัดถิ่นคือคนที่อพยพจากเขตตะนาวศรี ซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกตัดไปเมื่อปี 2411 ปัจจุบันมาอยู่แถวประจวบ บางสะพาน บางสะแก ท่าแซะ ระนอง ฯลฯ ด้านคนพม่าก็ไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นพม่า คนไทยก็ไม่ยอมรับว่าเป็นคนไทย

           

เสนอให้มีคนไทยพลัดถิ่นเข้าเป็นกรรมการพิสูจน์สัญชาติ ระงับการจับกุมคนที่ยังไม่มีบัตร ให้ยอมรับบัตรที่ในกลุ่มสำรวจกันเอง และออกกฎหมายที่มีนโยบายสอดคล้องกับการดำรงชีวิต ทั้งนี้ เรียกร้องขอคืนสัญชาติ ซึ่งจะต่างกับมติ ม.ค. 48 ที่กำหนดให้แปลงสัญชาติ

 

 

นายน้อย ไม่มีนามสกุล เล่าว่า มาจากสิบสองปันนา อยู่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2526 เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ก็มากรุงเทพฯ ต่อมา 2536 ได้แต่งงานกับภรรยาซึ่งเป็นคนไทย จึงย้ายไปอยู่ที่ฉะเชิงเทราด้วยกัน มีลูก 2 คน และเมื่อปี 2547 ถูกจับข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติช่วยประกันตัวให้ แต่ต้องมารายงานตัวที่กรุงเทพฯ ทุกเดือน

 

 

ไวยิ่ง ทองบือ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จากเชียงใหม่ กล่าวว่า มักมีคนมองว่าผู้ชายกะเหรี่ยงขี้เกียจ ใช้ผู้หญิงทำงาน ไม่ต่างจากชาวเล ที่มีคนพูดว่าหญิงชาวเลขี้เกียจ ซึ่งความไม่เข้าใจนี้สะท้อนความไม่เท่าเทียมทั้งสิทธิและศักดิ์ศรี ถือเป็นการไม่ให้เกียรติกัน

           

"เวลาให้กรอกเชื้อชาติ ทำไมไม่มีการกรอกได้ว่า เชื้อชาติกะเหรี่ยง มอญ ลาว แม้ว มันเหมือนว่าวันหนึ่งผมต้องไม่มีเชื้อกะเหรี่ยง ทั้งที่ผมเป็นกะเหรี่ยง หรือเวลามาจากเชียงใหม่ ก็ถูกถามว่า คุณเป็นแม้วหรือเปล่า หมายถึง เป็นพวกทักษิณหรือเปล่า อันนี้มันมีนัยยะ"

 

"ถ้าชุมชนหรือเผ่าพันธุ์ไหน พร้อมที่จะกลับมาพูดภาษาของเขา เขาต้องมีสิทธิ ไม่ใช่ถูกหาว่าเป็นกบฏ"

 

เขาเสนอว่า ควรสำรวจประชากรกลุ่มน้อยในประเทศไทยทั้งหมด สำรวจการเกิด การอพยพ การตาย ให้ทราบจำนวนที่แน่นอน ที่ผ่านมา กรมการปกครอง กับตัวเลขอำเภอ ยังต่างกัน ที่แม่ฟ้าหลวง มีคนที่ไม่มีสัญชาติมากกว่าคนที่มีสัญชาติ แต่กรมการปกครองกลับมีตัวเลขคนไม่มีสัญชาติเพียงแค่ไม่กี่คน

 

ให้กำหนดรูปแบบเกี่ยวกับการพิสูจน์บุคคล การจัดทำบัตรประชาชน ให้กับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในประเทศไทย เพื่อให้เป็นระบบและมาตรฐานเดียวกันทุกจังหวัด ควรกำหนดนโยบายและแก้ไขการยอมรับสถานะบุคคลของชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มในแต่ละจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน และสำรวจประชากรชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันการออกบัตรซ้ำ เช่นที่แม่แตง

 

 

สกาว เรืองงาม นักวิจัยสถาบันชาติพันธุ์ศึกษา ราชภัฎเชียงราย กล่าวว่า พี่น้องบ้านบางใหม่และบ้านห้วยวาด ประสบปัญหาเรื่องสัญชาติ โดยพี่น้องบ้านบางใหม่ที่ลงมาจากอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ส่วนหนึ่งได้รับสัญชาติแล้ว แต่ยังมีตกหล่นไม่ได้รับการสำรวจ เมื่อไปที่อำเภออื่น เจ้าหน้าที่ก็ให้กลับไปที่ต้นสังกัด แต่ก็ไม่ให้สามารถออกนอกพื้นที่ได้ เรียกว่า ให้แนวทางแต่ไม่ให้โอกาส

 

ส่วนที่บ้านห้วยวาด ชาวบ้านที่เดิมอยู่ดอยแม่เม่า ถูกบอกให้อพยพปลายปี46 เนื่องจากมีการทำสงครามยาเสพติด โดยอำเภอบอกว่า หากลงมาจะให้สัญชาติ ให้อพยพเพราะเป็นพื้นที่ทางผ่านของยาเสพติด แต่ไม่มีการเตรียมการรองรับคน 85 ครัวเรือนเลย ไม่มีน้ำกินหรือใช้ ต้องกินน้ำที่ไหลมาจากหลายหมู่บ้าน ซึ่งทั้งขุ่นและมีสีเหลืองเนื่องจากทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี ไปขอสัญชาติ อำเภอก็ไม่ดำเนินการให้อ้างแต่ว่า ถ้ามีใครแม้แต่คนเดียวเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะไม่ดำเนินการให้ ทำมาหากินก็ลำบาก เพราะไม่มีการส่งเสริมการประกอบอาชีพ

 

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอว่า ให้แก้หมวดเรื่องสัญชาติว่า ใครเกิดในไทยควรได้สัญชาติ และคนที่อยู่ในไทยมากว่า 10 ปี ควรได้สัญชาติไทย ทั้งนี้ เห็นว่า ขั้นตอนการขอสัญชาติ เกิดปัญหาเนื่องจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ มีการเรียกเงิน ทั้งยังมีการปฏิบัติที่ต่างกันต่อสีบัตรที่ต่างกัน จึงเห็นว่า บัตรใดๆ ก็ควรจะมีสิทธิที่เท่าเทียม แม้จะไม่มีสัญชาติ เช่น สิทธิในการเรียนหนังสือ สิทธิในการได้ปริญญา สิทธิในการทำใบขับขี่ และสิทธิทางวัฒนธรรมของตัวเองที่ต้องมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่ากับกลุ่มอื่นๆ

 

 

เพ็ญวดี แสงจันทร์ มูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า เรื่องคนที่เกิดในประเทศไทยควรได้รับรองสถานะบุคคล ปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่บางอย่างไม่สามารถระบุในรธน.ได้ทั้งหมด แต่ต้องระบุในกฎหมายลูก ซึ่งก็พบว่า ปัญหาเวลานี้อยู่ที่กฎหมายลูก

 

เรื่องการรับรองสถานะบุคคล ควรเขียนในรัฐธรรมนูญ แต่รายละเอียดต้องระบุในกฎหมายลูก ซึ่งก็ต้องให้เจ้าพนักงานปฏิบัติตามให้ถูก จากประสบการณ์พบว่าปัญหามาจากทั้งสองทาง ทั้งราชการ และเจ้าของปัญหา ต่างฝ่ายต่างทำไม่ถูก จนเกิดอคติต่อกัน ทั้งนี้ คิดว่า สิ่งที่จะเขียนในรธน.ได้น่าจะเป็นเรื่องการรับรองสถานะการเกิด ว่าหากเกิดในประเทศไทย ต้องได้รับรองสถานะบุคคล โดยสถานะบุคคลในประเทศไทย ต้องได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน กินอยู่หลับนอนเจ็บตาย

 

หากบุคคลนั้นควรจะได้รับสัญชาติไทย ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ จนให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย และคนที่รู้อยู่แล้วว่าเดิมทีไม่มีสัญชาติไทย และต้องการขอสัญชาติไทย เมื่อเขาผ่านหลักเกณฑ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net