Skip to main content
sharethis




 


 


ช่วงเย็นวันอังคารที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่อาคารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) สโมสรนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์และสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเวทีเสวนา "มช.ออกนอกระบบใครได้-ใครเสีย" โดยมีนักศึกษา มช. เข้าร่วมเป็นจำนวนมากเต็มโรงอาหาร


 


ออกนอกระบบไม่ห่วงค่าเทอมขึ้น กลัวเสรีภาพทางวิชาการ หวั่นนักศึกษาไม่สนใจสังคม


 




ทิฆัมพร รอดขันเมือง


 


ภายหลังการเสวนา "ประชาไท" มีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดย นายทิฆัมพร รอดขันเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งร่วมฟังการอภิปรายกล่าวว่า ในความเห็นของตนคิดว่านักศึกษาที่ออกมาคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะต่อต้านด้วยประเด็นที่เป็นกระแสสังคม คือประเด็นแรกคือคนจนไม่มีสิทธิเรียน ค่าเทอมจะแพงขึ้น เรื่องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งถ้ามองสังคมในมหาวิทยาลัยจริงๆ แล้วจะเห็นได้ว่าไม่ค่อยมีคนจนเข้ามาเรียนจริงๆ ส่วนมากที่เข้ามาเรียนคือชนชั้นกลางและคนที่มีรายได้ แล้วประเด็นต่อมาที่เขาใช้เรียกร้องกันคือค่าเทอมจะแพงขึ้น แต่มันก็เป็นปกติอยู่แล้วที่จะแพงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ เรื่องสุดท้ายคือเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากว่าสภาพชีวิตโดยทั่วไปของนักศึกษา คือขาดความใฝ่รู้ ไม่ได้สนใจสังคมเหมือนในสมัยก่อน


 


"ตอนนี้คิดว่ามหาวิทยาลัยจะออกหรือไม่ออกนอกระบบไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ถ้าผมคิด ผมคิดว่าไม่ออกนอกระบบจะดีกว่า เพราะว่าระหว่างสิ่งที่ดีอยู่แล้วมีอยู่แล้วกับเลือกในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือยังไม่มีอะไรรองรับ เรามาเลือกสิ่งที่ดีอยู่แล้วหรือว่าสิ่งที่มีเดิมดีกว่า ออกแล้วแน่นอนมันต้องไหลไปตามกลไกตลาด แต่ละคณะจะต้องผลิตวิชาชีพมากขึ้น วิชาทางสังคมลดลง แต่คณะทางวิทยาศาสตร์ ทางแพทย์ ทางวิศวกรรมศาสตร์ อาจจะผลิตมากขึ้น ประเด็นของการศึกษาที่จะสนใจสังคม สภาพแวดล้อม คนในสังคมหรือว่าสภาพโดยทั่วๆ ไปจะลดลง ทุกคนจะมีสภาพเป็นมนุษย์เงินเดือน" ทิฆัมพรกล่าว


 


ออกนอกระบบเพื่อความคล่องตัว แต่ออกแล้วต้องเปิดกว้างโอกาสทางการศึกษา


 




ธัชพงษ์ ไกรวัฒน์นุสรณ์


 


นายธัชพงษ์ ไกรวัฒน์นุสรณ์ นายกสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. ผู้จัดงาน มีความเห็นว่า โดยส่วนตัวเห็นว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องออกไปแล้ว คืออาจจะมองว่าสถานการณ์ส่งผลหรือสนับสนุนที่จะต้องให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบไป ซึ่งมองในการบริหารจัดการตนยอมรับว่า โอเค ทำได้ เพราะว่าจะทำให้การบริหารจัดการคล่องตัวขึ้น ซึ่งในบางครั้งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยในทุกวันนี้จะมีการยึดติดกับระบบราชการ มีบางประเด็นในบางเรื่องที่มหาวิทยาลัยตามกระแสไม่ทัน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่บริการทางวิชาการจึงไม่สามารถที่จะบริหารจัดการได้ ประเด็นนี้ตนเห็นด้วย


 


"แต่ในประเด็นต่อมา คือถ้ามองว่าออกนอกระบบแล้วมันจะเป็นอย่างไร คือเป็นสิ่งที่ต้องตามดูกันดีกว่าของนักศึกษาว่าจะมีผลอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องตามดูในส่วนของนักศึกษา เพราะว่าโดยที่ผ่านมานักศึกษาเป็นผู้ถูกกระทำ นโยบายอะไรสั่งการออกมานักศึกษาก็ก้มหน้าก้มตายอมรับ โดยไม่รู้ว่านโยบายนั้นออกมาแล้วทั้งๆ ที่มันมีผลต่อเรา"


 


นายธัชพงษ์กล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งคือตนคิดว่าโอกาสทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถ้าออกนอกระบบไปแล้ว โอกาสทางการศึกษาจะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้ามหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการเองได้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ แต่ถ้าออกนอกระบบไปแล้วโอกาสทางการศึกษานั้นยังลดน้อยลงให้กับผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ขาดโอกาสทางสังคม ประเด็นนี้คงจะเป็นสิ่งที่ต้องทำการทบทวน เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่จะผลิตคลังสมองให้กับประเทศชาติที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศชาติ คือมันต้องมีผลกระทบที่จะเปลี่ยนแปลงตามมาอยู่แล้ว


 


ตั้งคำถามแปรญัตติ พรบ.บ่อย หวั่นข้อความตกหล่น


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการรีบนำพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายธัชพงษ์ให้ความเห็นว่า ถ้าเราใช้ความคิดของรัฐบาลรักษาการหรือรัฐบาลเฉพาะกาลมาผลักดันตรงนี้ แล้วการจะผลักดันกฎหมายพวกนี้คิดว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะเร็วไปไหม เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลรักษาการหรือรัฐบาลเฉพาะกาลจะทำมันเป็นประเพณีที่ปฏิบัติก็คือจะต้องไม่ทำนโยบายที่จะเป็นการผูกพันหรือส่งผลให้เกิดขึ้นในรัฐบาลต่อๆ ไป "สิ่งที่เกิดขึ้นตามมามันอาจรวดเร็วไปหรือเปล่า?"


 


"อีกประเด็นที่ผมมองก็คือ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มันมีระยะเวลานานแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากที่มหาวิทยาลัยได้เสนอขึ้นไป ผมไม่แน่ใจว่ามีการปรับแก้ในทุกครั้งที่เสนอขึ้นไปมีการปรับแก้ตลอด คิดว่าแล้วปรับไปปรับมามันจะเหลืออะไร ซึ่งเข้าสภานิติบัญญัติผ่านขั้นตอนไปแล้วคือรับหลักการ ขั้นตอนที่สองคือแปรญัตติ และขั้นตอนที่สามคือลงมติ ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าขั้นตอนที่สองจะไปแปรญัตติอะไรกันอีกหรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่าถ้าแปรญัตติสุดท้ายจะเหลืออะไร"


 


"เพราะจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เป็นตัวร่างที่โอเค แต่ได้รับการปรับแก้โดยกฤษฎีกา ได้รับการปรับแก้โดยสภาผู้แทนราษฎร ได้รับการปรับแก้โดยวุฒิสภา แล้วก็จะได้รับการปรับแก้โดยคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภา และถ้าจะมีการปรับแก้โดยคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีก ผมคิดว่ามันจะตกหล่นหรือเปล่า แก้แล้วแก้อีกก็จะล่าช้า เพราะระยะเวลาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มีเวลาจำกัด และมีงานที่ต้องทำอีกเยอะ" นายกสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช.กล่าวในที่สุด


 


ผู้จัดดีใจคนสนใจเยอะ แต่สงสัยผู้บริหารพูดเลยเวลาไม่รู้อยากสื่ออะไร


 




เนตรชนก แดงชาติ


 


นางสาวเนตรชนก แดงชาติ นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มช. ผู้จัดงาน กล่าวว่ารู้สึกพอใจที่คนมาร่วมเสวนามากกว่าที่คิดไว้เยอะมาก มารับฟังข้อมูลข่าวสารกัน ถึงแม้ว่าหลายคนที่มาร่วมเสวนาจะอยู่ฟังไม่จบ ตนคิดว่าคงไม่ใช่เวทีสุดท้ายที่จะจัดก็คงจะมีเวทีต่อๆ ไปอีก งานวันนี้ที่มีปัญหาคือเวลา เพราะเชิญอธิการบดีมาและอธิการก็พูดเลยเวลาไปมาก ไม่รู้ว่าแกต้องการสื่ออะไร ทำให้การจัดเสวนามีปัญหาเรื่องเวลา อย่างไรก็ตามงานนี้มีคนให้ความสนใจดี มีการถามคำถาม แสดงความเห็นกันมาก


 


"วิทยากรที่เชิญมาครึ่งหนึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน อีกครึ่งเป็นฝ่ายคัดค้าน ถือว่าเป็นการแชร์ความคิดกัน ไม่ใช่เอาแต่คนสนับสนุนมาพูดหรือเอาแต่คนค้านอย่างเดียว ในเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบตนเห็นว่าอยากให้นักศึกษาคิดมากกว่าค่าเทอม ความเป็นอิสระทางวิชาการ อะไรที่สามารถต่อรองกับอำนาจทุนได้ หรือว่าอะไรที่เข้าไปถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารได้ จะต้องผลักกันให้มาก คิดกันให้มากขึ้น และอยากให้ชุมชนทั้งผู้ปกครองและผู้ได้รับประโยชน์จากมหาวิทยาลัยด้วยให้มาร่วมด้วยช่วยกันในเรื่องตรวจสอบมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนี้" นางสาวเนตรชนกกล่าวในที่สุด


 


ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการจัดเสวนาซึ่งมีนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าฟังกว่า 500 คนนั้น ภายหลังจากที่วิทยากรที่ผู้จัดงานเชิญมาพูดจบแล้ว นักศึกษาที่มาฟังก็ได้เริ่มทยอยกลับเนื่องจากวิทยากรที่ผู้จัดเชิญได้แก่ คณาจารย์ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ อาทิ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์  รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และคณาจารย์ฝ่ายผู้บริหารที่ผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดี เดินทางกลับและไม่ได้อยู่บนเวทีแล้ว


 


โดยในเวทีอภิปรายช่วงสุดท้ายเหลือเพียงฝ่ายผู้บริหารของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ คอยตอบคำถามของผู้ร่วมเสวนา อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ, รศ.นพ.รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ปฐม ปฐมธนพงษ์ ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net