นพ.อำพล จินดาวัฒนะ : หรือว่าแพทยสภาป่วย

เมื่อไม่กี่วันมานี้ คณะกรรมการแพทยสภาชุดที่มี ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา เป็นนายกได้ออกประกาศแพทยสภา เรื่อง ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ จำนวน 9 ข้อ แม้ว่าเลี่ยงใช้ว่า ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ แต่ในเนื้อหาสาระก็ดูเหมือนเป็นการประกาศเรื่องสิทธิของแพทย์กลายๆ นั่นเอง

ไม่กี่วันต่อมาแพทยสภาก็ได้รับพวงหรีดดำจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และสังคมวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนัก

ในอดีตที่ผ่านมา วิชาชีพแพทย์ซึ่งสมเด็จพระราชบิดาทรงสอนให้แพทย์คิดถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่ 1 ประโยชน์ของตนเป็นกิจที่ 2 วิชาชีพแพทย์จึงเป็นวิชาชีพที่วางอยู่บนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานทางวิชาการอย่างจริงจังและต่อเนื่องควบคู่ไปกับการยกระดับคุณธรรมจริยธรรมของวิชาชีพ เพื่อให้ทำหน้าที่บริการประชาชน ดูแลผู้ป่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดมาโดยตลอด เมื่อปี พ.ศ. 2541 แพทยสภา ร่วมกับองค์กรอื่นอันประกอบด้วย สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา คณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ก็ได้ร่วมกันออก "ประกาศสิทธิผู้ป่วย" เพื่อให้คำมั่นสัญญากับสังคมว่า ผู้ประกอบวิชาชีพจะให้การดูแลผู้ป่วยและประชาชนอย่างดีที่สุด โดยไม่เคยมีนัยยะของการเรียกร้องสิทธิของพวกตนเอง

การที่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง ได้รับการยอมรับให้เป็น "วิชาชีพ" โดยอนุญาตให้ออกกฎหมายวิชาชีพมาดูแลกันเอง นั่นหมายความว่า สังคมให้เกียรติว่าอาชีพนั้นต้องมีการพัฒนาและควบคุมกำกับคุณภาพมาตรฐานทางวิชาการอย่างลึกซึ้ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาและควบคุมกำกับจริยธรรมอย่างเข้มข้นไปพร้อม ๆ กันด้วย เป็นสายตาที่สังคมมองอย่างให้เกียรติในวุฒิภาวะของวิชาชีพเหล่านั้น ซึ่งอาชีพแพทย์ก็ได้รับเกียรตินี้มานานทีเดียว

ในขณะที่สังคมให้เกียรติอนุญาตให้มีกฎหมายควบคุมดูแลกันเองในเชิงวิชาชีพ บุคคลในทุกวิชาชีพมิได้เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากสังคม ตรงกันข้ามบุคคลในวิชาชีพยังต้องอยู่ภายใต้บังคับใช้ของกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา จารีต ประเพณี วัฒนธรรมของสังคม เหมือนปลาที่ยังคงต้องอาศัยน้ำอยู่ตลอดเวลา จึงจะมีชีวิตอยู่ได้

ในอดีตที่ผ่านมา วิชาชีพแพทย์ได้รับเกียรตินี้จากสังคมอย่างสูง ผู้คนยกมือไหว้แพทย์ได้ไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อย เพราะวิชาชีพแพทย์ได้แสดงถึงความมีเมตตากรุณา มีน้ำใจ มีความรู้ดี มีความคิดดี เสียสละ เป็นผู้นำทางสติปัญญา รักษาโรคได้ทั้งทางกายและทางจิตวิญญาณ

เมื่อ 30 ปีก่อน สมัยผมออกไปทำงานในชนบท แม้เป็นแพทย์จบใหม่ ผมก็ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้จากชาวบ้าน นั่นเป็นเพราะครูบาอาจารย์รุ่นพี่ได้สั่งสมคุณความดีในการตั้งจิตตั้งใจช่วยเหลือผู้ป่วยดูแลประชาชน ดังที่สมเด็จพระราชบิดาทรงสอนมาโดยตลอด พวกเราไม่เคยคิดถึงสิทธิหรือสิ่งที่จะไปเรียกร้องจากคนไข้หรือประชาชน ด้วยเราตระหนักว่าเราเรียนวิชาชีพนี้มาก็เพื่อมาช่วยเหลือผู้ป่วยและประชาชน ไม่มีใครบังคับให้เรามาเรียน แต่เราเลือกมาเรียนเอง

ถ้าจะมีการเรียกร้องบ้าง เราก็จะเรียกร้องกับต้นสังกัด เรียกร้องกับรัฐบาลให้ดูแลส่งเสริมสนับสนุนพวกเราให้ทำงานเพื่อประชาชนให้ได้ดีที่สุด แต่เราไม่เรียกร้องจากประชาชนที่เรามีหน้าที่ดูแลเขา

ความรู้สึกนึกคิดที่จะมองผู้ป่วยหรือประชาชนอยู่คนละข้างไม่เคยมี

องค์กรแพทยสภาในยุคอดีตก็มักจะถูกพัฒนาให้เป็นกลไกกลางระหว่างแพทย์กับประชาชน ทำหน้าที่หลักในการพัฒนามาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานจริยธรรมเพื่อคุ้มครองให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ไม่ใช่การปกป้องหรือยืนอยู่เฉพาะข้างแพทย์ในลักษณะคล้ายสมาคมหรือสหภาพแพทย์

ซึ่งนั่นคือ จุดยืนของสภาที่ควรจะเป็นที่สังคมให้เกียรติและยอมให้มีกฎหมายเฉพาะ

จริงอยู่ วันนี้สังคมเปลี่ยนไป ปัญหาต่าง ๆ สลับซับซ้อนย้อนมาก สังคมที่เคยมีวัฒนธรรมประเพณีพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เริ่มเปลี่ยนไปเป็นสังคมสิทธิเหมือนในสหรัฐอเมริกามากขึ้น สภาพที่ผู้ป่วยฟ้องแพทย์มีมากขึ้น แพทย์ต้องทำงานหนัก แต่ขวัญกำลังใจตกต่ำ ไม่พึงพอใจในศักยภาพที่ได้รับเมื่อมองเทียบเคียงกับการทำงานอื่นมีมากขึ้น ในขณะที่ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อแพทย์นั้นยังคงสูงอยู่เช่นเดิม

คนในวิชาชีพแพทย์ส่วนหนึ่งจึงอาจเริ่มสั่นคลอนในหลักคิดและหลักปฏิบัติ

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปดูงานการบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฉือจี้ที่ไต้หวันกับคณะแพทย์ไทยหลายสิบคน เราพบว่าแพทย์ที่นั่นเขาเน้นพัฒนาบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ตั้งใจบริการผู้ป่วยอย่างสุดกำลังความสามารถด้วยหัวจิตหัวใจ โดยถือว่าได้ทำบุญทำกุศลตลอดเวลาเมื่อได้ดูแลผู้ป่วย เรื่องการเรียกร้องสิทธิ ค่าตอบแทน ขวัญกำลังใจ ไม่เคยมีอยู่ในหัวของพวกเขา สภาพอย่างนั้นการฟ้องร้องแพทย์ไม่มีเกิดขึ้น เพราะในสายตาของผู้ป่วยและประชาชน แพทย์ของเขายังคงเหมือนเทพเจ้าแห่งความเมตตากรุณา

ผมไม่ได้หวังว่าวงการแพทย์ของไทยจะพัฒนากลับไปสู่จุดอย่างที่ชาวฉือจี้ที่ไต้หวันเขาเป็นกัน แต่ผมก็ไม่อยากจะเห็นวงการแพทย์ของเราเดินไปอย่าง "ปลาที่แสดงความเป็นปฏิปักษ์กับน้ำ" เช่นที่กำลังเกิดขึ้น

ถ้าเป็นแพทย์รายบุคคลคิดอะไร ทำอะไร ที่อาจคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่ควรจะเป็นไปบ้าง ก็ยังไม่หนักหนาเพราะเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

แต่ถ้าองค์กรที่สังคมให้เกียรติและคาดหวัง คิดอะไร ทำอะไรที่ดูว่าอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากที่ควรจะเป็น นับเป็นเรื่องใหญ่และน่าหนักใจ

ผมหวังเพียงแค่ว่าจะเหมือนร่างกายของคนเรา คือเมื่อร่างกายป่วยไข้ จิตใจก็ว้าวุ่น คิดอะไรทำอะไรอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้บ้าง แต่เมื่อหายป่วย ทุกองคาพยพกลับมาเป็นปกติทุกอย่างจะกลับมาดีดังเดิม

ถ้าแพทย์สภาป่วย ผมก็อยากให้หายป่วยโดยเร็ว ขออย่าได้ป่วยเรื้อรังหรือป่วยหนักจนเกินเยียวยาเลย

************************

ที่มา: สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท