ระดมข้อเสนอที่ควรปรากฏในรัฐธรรมนูญ "ผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง"

ประชาไท - 27 ธ.ค. 2549 คณะทำงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน จัดเสวนาครั้งที่ 2 เรื่อง ผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยมีองค์กรที่ทำงานในประเด็นผู้หญิงเข้าร่วม เพื่อเสนอปัญหาและทางออกอันจะนำไปสู่ข้อเสนอที่ควรจะปรากฏในรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาลในอนาคต เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา

 

เลิกนิยาม "วัฒนธรรมที่ดี" คืออะไร

นุ่มนวล ยุพราช โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังมีอคติเกี่ยวกับผู้หญิง เสนอว่า ต้องยกเลิกบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมในการนิยามว่า วัฒนธรรมที่ดีคืออะไร ด้านศาสนา ผู้หญิงควรได้บทบาทเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยหากจะบวช ควรได้บวช เพื่อทำลายทัศนคติแง่ลบต่อผู้หญิง ศาสนาควรเป็นเรื่องของปัจเจกมากกว่าเป็นสถาบัน

 

สำหรับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การอนุญาตสิทธิทำแท้งจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่า ผู้หญิงก็มีสิทธิ นอกจากนี้เห็นว่าควรส่งเสริมสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน โดยเห็นว่า หากสหภาพแรงงานเข้มแข็ง ก็จะเพิ่มอำนาจต่อรองต่างๆ ของแรงงานได้ ทั้งนี้ ไม่ควรแยกสหภาพออกเป็นหญิงหรือชาย เนื่องจากพันธมิตรของผู้หญิงก็คือสามีของพวกเธอซึ่งทำงานในโรงงานเช่นกัน

 

ชู "รัฐสวัสดิการ" ช่วยลดภาระผู้หญิง

นุ่มนวลเสนอว่า ด้านภาระทางครอบครัว หากรัฐนำเอารัฐสวัสดิการมาใช้จะลดภาระของผู้หญิงลงได้ รวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุด้วย

 

วิภา ดาวมณี วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดรัฐสวัสดิการควรครอบคลุมถึงการใช้งบประมาณด้วย เนื่องจากเมื่อเกิดวิบัติภัยใดๆ ผู้หญิงจะต้องรับภาระก่อน เช่น ลูกผู้หญิงจะถูกให้ออกจากโรงเรียนก่อนลูกชาย แม่ต้องรับภาระดูแลครอบครัว

 

ขอสิทธิในการไม่ทำแท้ง

จารุณี ศิริพันธุ์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อนผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ กลายเป็นผู้หญิงที่ถูกตัดสิทธิในการมีลูก โดยมักถูกบอกว่า ไม่ควรมีลูก ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น จึงอยากให้ผู้หญิงมีสิทธิในการไม่ทำแท้งและไม่ทำหมัน

 

นิยามคำว่า "หัวหน้าครอบครัว" กันใหม่

รัชดาภรณ์ แสงสนิท วีมูฟ กล่าวว่า อาจต้องมีการนิยาม คำว่า หัวหน้าครอบครัวกันใหม่ เนื่องจากหลังเกิดสึนามิ เมื่อมีการมอบเงินช่วยเหลือ ผู้ชายจะได้มากกว่าเนื่องจากถูกมองว่า เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือกรณีกองทุนหมู่บ้าน ก็กำหนดให้หัวหน้าครัวเรือนไปประชุม ซึ่งเป็นการกีดกันผู้หญิงและเยาวชนไปโดยปริยาย

 

หนุนชุมชนเข้าถึงทรัพยากร

เรวดี ประเสริฐเจริญสุข ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน เห็นว่า ทุกวันนี้ทรัพยากร เช่น ดิน น้ำ ป่า ทะเล ยังเป็นการกระจายอำนาจภายใต้การกำกับของรัฐ ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึง กลายเป็นว่าคนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ ที่แย่กว่าคือ เพศหญิงต้องเสียเปรียบยิ่งกว่า เนื่องจากต้องเสียสละตัวเอง ทำงานหนัก และเสียโอกาสต่างๆ ไป  จึงเห็นว่าควรรับรองสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงการใช้และการมีส่วนร่วมในทรัพยากร

 

อำนาจทางการเมืองที่ไม่เพิ่มตามบทบาททางเศรษฐกิจ

ราณี หัสสรังสี คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน รายได้ของไทย เกิดจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานของผู้หญิงเป็นหลัก แต่ขณะที่บทบาททางเศรษฐกิจเปลี่ยน อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองไม่ได้เปลี่ยนตาม คิดว่า คนงานหญิงทั้งในและนอกระบบควรมีปากเสียงได้มากขึ้น เช่น บทบาทในการพิจารณาข้อตกลง BOI ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

 

ระดมความเห็น/ข้อเสนอผ่านเว็บไซต์

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ประสานงานคณะทำงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน กล่าวว่า หลังปีใหม่จะมีเวทีเสวนาเพื่อเสนอปัญหาและทางแก้ในการร่างรัฐธรรมนูญ อีก 34 ครั้ง ในทุกวันพุธ ศุกร์และอาทิตย์ โดยต่อไปจะทยอยนำข้อเสนอต่างๆ เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกลุ่ม เพื่อเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นรวมทั้งแปรญัตติต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท