Skip to main content
sharethis

นี่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ชาวบ้านเคยอยู่บนผืนแผ่นดินนั้นมานานกว่า 50 ปี ก่อนรัฐจะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ต่อมายังอพยพผู้คนทั้งหมดลงมาอยู่ข้างล่าง หนำซ้ำยังให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเต็งรังอันแห้งแล้ง กระทั่งวิถีชีวิตที่เคยพึ่งพาเกื้อกูลกับผืนป่า ประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแกก็มีอันล่มสลาย

โดย อานุภาพ นุ่นสง

 

 

 

นี่เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ชาวบ้านเคยอยู่บนผืนแผ่นดินนั้นมานานกว่า 50 ปี ก่อนรัฐจะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ต่อมายังอพยพผู้คนทั้งหมดลงมาอยู่ข้างล่าง หนำซ้ำยังให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเต็งรังอันแห้งแล้ง กระทั่งวิถีชีวิตที่เคยพึ่งพาเกื้อกูลกับผืนป่า ประเพณีวัฒนธรรมอันเก่าแกก็มีอันล่มสลาย

 

 

...........................................

 

 

หญิงคนนั้นหากคะเนด้วยสายตาอายุไม่น่าจะเกิน 30 ปี หล่อนนั่งบนชานบ้านที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ว่าไปแล้วจะเรียกว่าบ้านซะทีเดียวคงไม่ถูกนัก เพราะดูจากสภาพที่ถูกสร้างขึ้นอย่างง่ายๆแล้วน่าจะเป็นกระต๊อบมากกว่า

 

หล่อนนั่งอุ้มลูกน้อยวัย 5-6 เดือนไว้แนบอก สายตาเหม่อลอยแฝงความวิตกกังวลอะไรบางอย่าง ข้าพเจ้าเดาว่าหล่อนคงกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมการใช้ชีวิตการดำรงอยู่ในอนาคตเป็นแน่

 

ข้าพเจ้าเดินผ่านโดยปราศจากคำทักทาย ปล่อยให้หล่อนนั่งจมกับตัวเอง ครุ่นคิดเพียงลำพังต่อไป ถัดจากนั้นไม่ไกลนักเด็กผู้ชาย 2 คนอายุราว 4-5 ขวบนั่งเล่นอยู่ที่ใต้ถุนบ้าน

 

"ไอ้หนู น้าปิ๊ก(กลับ)ก่อนเน้อ" ข้าพเจ้าตะโกนเป็นภาษาคำเมืองบอกเด็ก 2 คนนั้นขณะเดินไปที่เจ้ากุ๊ดจี่

 

เงียบ ! ไม่มีเสียงตอบ เจ้าหนูทั้งสองคนหันมายิ้มแว๊บหนึ่งแล้วเล่นกันต่อเหมือนดั่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น.....

 

 

เด็กน้อยชนเผ่านั่งอยู่ใต้ถุนบ้าน

 

 

สัญจรสู่แผ่นดินร้องไห้

เช้าของเดือนต้นฤดูร้อนที่ผ่านมา บนความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เจ้ากุ๊ดจี่คู่ใจพาข้าพเจ้าออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปบนทางหลวงหมายเลข 118 สายเชียงใหม่-เชียงราย มุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดลำปาง

 

เปล่า ! ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงการนั่งบนเจ้าแมลงปีกแข็งที่ชื่นชอบชอนไชกองขี้ควาย แต่เจ้ากุ๊ดจี่ที่ว่าคือรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อขนาดย่อมยี่ห้อซูซูกิ แคริเบี้ยน ขนาด 1,300 ซีซีต่างหาก ข้าพเจ้าเรียกมันว่าเจ้าแมงกุ๊ดจี่ด้วยความเอ็นดูในความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ มันสามารถตะลุยไปได้ทุกๆพื้นที่ที่มีทางให้ไปโดยมิเคยเกี่ยงงอน

 

แม้ว่าบางครั้งผู้โดยสารที่ไม่คุ้นเคยการทำหน้าที่ของเจ้ากุ๊ดจี่อาจหลุดคำพร่ำบ่นออกมาว่าช่วงล่างของมันช่างแข็งกระด้าง ผิวถนนขรุขระนิดหน่อยล้วนต้องกระเด้งกระดอน ไม่ต่างอะไรกับการนั่งเกวียนก็ตาม

 

ผ่านปั๊มน้ำมันบางจากในเขตอำเภอดอยสะเก็ดไม่ไกลนัก ถนนที่เคยราบเรียบเริ่มก็เริ่มเข้าสู่สภาพคดเคี้ยว ไต่ระดับความสูงข้ามเขาลูกน้อยใหญ่ลูกแล้วลูกเล่า นาทีนั้นเจ้ากุ๊ดจี่ต้องรีดกำลังออกมามากเป็นพิเศษ เสียงเครื่องยนต์คำรามผ่านท่อไอเสียดังกระหึ่มดูน่าเกรงขาม แต่อาจไม่สัมพันธ์กับความเร็วเป็นไปอย่างเชื่องช้า ช้าขนาดที่ว่าฮอนด้า ดรีมขนาด 125 ซีซี ซ้อน 2 คนแซงฉิว

 

แม้การเดินทางครั้งนี้เป็นช่วงต้นฤดูร้อน ทว่าอากาศยามเช้ายังสดชื่น ลมเย็นพัดเข้ามาทางหน้าต่างรถปะทะใบหน้าอยู่เป็นระยะ ขณะที่เลนส์ถนนฝั่งขวามือนานๆจะมีรถสวนมาซักคัน

 

ข้าพเจ้าตั้งใจเดินทางครั้งนี้เพียงลำพัง เพียงเพื่อต้องการอิสระ อยากแวะ อยากพัก อยากกลับตามใจตัวเอง ต้องการตัดสินใจเองคนเดียวบ้าง เพราะจากการเดินทางไปไหนมาไหนหลายๆคน หลายครั้งที่ผ่านมาพบว่าช่างเต็มไปด้วยความยุ่งยากวุ่นวายเสียเหลือเกิน

 

แน่ล่ะ ! ครั้งนี้ข้าพเจ้าจึงเลือกเดินทางเพียงลำพังโดยมีจุดหมายการเดินทางที่บ้านวังใหม่หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่าบ้านผาช่อ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

 

เจ้ากุ๊ดจี่พาข้าพเจ้ามาถึงสามแยกแม่ขะจาน เขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย หากตรงไปก็จะผ่านอำเภอแม่สรวย ก่อนจะเข้าสู่เขตตัวเมืองเชียงราย แต่หากเลี้ยวขวาตรงสามแยกก็จะผ่านอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปางก่อนจะไปสิ้นสุดถนนสายนี้ในเขตจังหวัดพะเยา

 

ว่ากันว่าตรงสามแยกแม่ขะจานแห่งนี้เป็นจุดกึ่งกลางระยะทางระหว่างเชียงใหม่-เชียงราย ด้านขวามือก่อนถึงสามแยกมีปั๊มเชลล์ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไปนักแต่มีคนใช้รถใช้ถนนแวะเวียนเข้าไปไม่ขาดสายดูพลุกพล่านวุ่นวาย บ้างแวะเติมน้ำมัน บ้างแวะพักรถ บ้างแวะกินข้าว ข้าพเจ้าก็แวะปั๊มแห่งนี้เพื่อกินข้าวเช่นเดียวกัน ออกจากปั๊มเชลล์ เจ้ากุ๊ดจี่เลี้ยวขวาตรงสามแยก แล่นไปบนทางหลวงหมายเลข 120 มุ่งหน้าสู่เขตอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ระยะทางจากสามแยกแม่ขะจานมายังตัวอำเภอวังเหนือแค่ 15 กิโลเมตร ลงเนินก่อนถึงตัวอำเภอวังเหนือไม่ไกลนักมีทางแยกขวาหมายเลข 1035 เพื่อมุ่งหน้าไปบ้านวังใหม่ ระยะทางจากทางแยกไปยังบ้านวังใหม่ประมาณ 25 กิโลเมตร สภาพเป็นถนนลาดยางขนาด 2 ช่องจราจร ถนนเส้นนี้มุ่งหน้าไปยังอำเภอแจ้ห่มก่อนจะไปสิ้นสุดที่เขตตัวเมืองลำปาง

 

บนถนนหมายเลข 1035 เจ้ากุ๊ดจี่แล่นไปบนทางที่แคบและคดเคี้ยวซ้ำยังขรุขระเป็นบางช่วง ข้าพเจ้าในสภาพนั่งหลังพวงมาลัยต้องกระเด้งกระดอนตามสภาพพื้นผิวถนน

 

แม้ถนนจะดูเล็กแต่เห็นรถบรรทุก 10 ล้อวิ่งกันขวักไขว่ ขณะที่สองข้างทางเห็นได้ชัดถึงสภาพป่าเต็งรังที่แห้งแล้ง บางช่วงต้นไม้เตี้ยๆที่ดูโปร่งโล่งพร้อมใจกันละใบร่วงหล่นใต้โคนต้น ปล่อยให้แดดลามเลียจนแห้งกรอบ สภาพพื้นที่อันแห้งแล้งเช่นนี้กระมังที่ทำให้แถบนี้แทบไม่มีพื้นที่การเกษตรให้เห็น

 

ไม่นานนัก โรงเรียนบ้านวังใหม่ปรากฏขึ้นด้านซ้ายมือ ถัดจากนั้นเห็นสถานีอนามัยบ้านวังใหม่ ข้างสถานีอนามัยมีซอยเล็กๆ แยกจากถนนใหญ่เข้าไป เจ้ากุ๊ดจี่ชะลอความเร็วแล้วเลี้ยวเข้าไปทางนั้น แน่ล่ะ ! เกือบ 3 ชั่วโมงจากเชียงใหม่ นาทีนี้ข้าพเจ้ามาถึงบ้านวังใหม่แล้ว

 

 

 

ถนนลูกรังที่ทอดผ่านหน้าบ้านคมสันต์

 

 

ย่างกรายสู่บ้านวังใหม่

บ้านวังใหม่ ตั้งอยู่ริมถนนหมายเลข 1035 สายวังเหนือ-ลำปาง หมู่ที่ 12 ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ อยู่ห่างจากตัวอำเภอมาทางด้านทิศใต้ประมาณ 25 กิโลเมตร

 

เดิมทีพื้นที่แห่งนี้มีสภาพเป็นทุ่งหญ้ากว้าง สลับกับป่าเต็งรัง มีต้นไม้เตี้ยๆขึ้นกระจัดกระจาย แห้งแล้ง รกร้างไร้สิ่งปลูกสร้าง ไร้อาคารบ้านเรือน ไร้ผู้คนอาศัย

 

ทว่าภายหลังที่ราชการอพยพชาวเขาที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวงออกจากพื้นที่ ผืนป่าเต็งรังอันแห้งผาก ณ บ้านวังใหม่ พื้นที่รวมกว่า 3,000 ไร่แห่งนี้ก็กลายเป็นสถานที่รองรับพวกเขาเหล่านั้น

 

ดังนั้น หากดูเพียงภาพที่ปรากฏหมู่บ้านแห่งนี้จึงเป็นหมู่บ้านธรรมดาหมู่บ้านหนึ่งที่หาได้มีเสน่ห์มนต์ขลังใดๆที่น่าสนใจเป็นพิเศษไม่ สภาพหมู่บ้านอยู่ติดถนนใหญ่ มีไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภคต่างๆเพียบพร้อม บ้านเรือนก่ออิฐถือปูนค่อนข้างมั่นคงตั้งกระจัดกระจายขนานสองฝั่งถนน รอบๆหมู่บ้านมีสภาพเป็นป่าเต็งรังที่แห้งแล้ง เฉกเช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่นๆในละแวกนี้

 

 "ลุงๆ คมสันต์อยู่บ้านไหมครับ" ข้าพเจ้าตะโกนถามลุงแก่ๆคนหนึ่งที่เดินสวนมา ขณะบังคับเจ้ากุ๊ดจี่เลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างๆสถานีอนามัย

 

"อยู่" ตอบสั้นๆ พลางมองข้าพเจ้าด้วยความแปลกใจที่เห็นคนต่างถิ่น บุคลิกท่าทางไม่น่าไว้วางใจเอ่ยถามชื่อบุคคลร่วมหมู่บ้าน ข้าพเจ้ากล่าวคำขอบคุณลุงแก่ๆคนนั้นพลางมุ่งหน้าไปยังบ้านคมสันต์ที่อยู่ท้ายหมู่บ้าน

 

ผ่านบ้านไปหลายหลังสังเกตเห็นคนแก่ๆทั้งชายหญิงนั่งหลบแดดร้อนตรงชายคาบ้าน ผู้หญิงสูงอายุหลายคนนั่งปักผ้าเป็นลายต่างๆ บางส่วนก็นั่งเย็บผ้า ขณะผู้ชายสูงวัยนั่งสนทนาในเรื่องใดข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ รอบวงสนทนาเห็นเด็กๆวัยประมาณ 7-8 ขวบกลุ่มใหญ่วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน

 

ใช่สินะ ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอม เด็กๆซึ่งเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่กำลังเติบโตเหล่านี้จึงมีเวลาว่างอยู่กับบ้าน อดสงสัยไม่ได้เช่นกัน ทุกครั้งที่มาที่นี่แทบไม่เห็นคนหนุ่มคนสาว คนวัยแรงงาน มากี่ครั้งมักเจอเฉพาะคนแก่กับเด็กๆ และคนในวัยกลางคนอย่างคมสันต์เพียงไม่กี่คนเท่านั้น

 

เจ้ากุ๊ดจี่จอดนิ่งหน้าบ้านคมสันต์ ภาพบ้านชั้นเดียวที่สร้างขึ้นง่ายๆปรากฏตรงหน้า ฝาบ้านทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก พื้นบ้านลาดซีเมนต์ หลังคามุงด้วยสังกะสี ข้างบ้านมีตุ่มใส่น้ำใบใหญ่วางใต้แนวชายคาสังกะสีไว้เก็บน้ำฝน หน้าบ้านมีมอเตอร์ไซค์เก่าๆคันหนึ่งจอดอยู่

 

ประตูบ้านถูกเปิดทิ้งไว้ แต่ในบ้านไม่มีคนอยู่ เงียบ ! ข้าพเจ้าตัดสินใจตะโกนเรียก

 

สักพักหนุ่มใหญ่วัยกลางคนในกางเกงขายาวสีหม่นเก่าคร่ำ เสื้อกล้ามสีน้ำตาลเข้มเก่าไม่แพ้กางเกงเดินหอบฟืนออกมาจากท้ายบ้าน

 

เขายิ้มแต่ไกลเมื่อเห็นข้าพเจ้า พลางกล่าวทักทายอย่างเป็นกันเอง

 

วางฟืนลงเสร็จ พูดคุยสักพัก ขวดน้ำดื่มจากตู้เย็นถูกยกออกมาพร้อมเก้าอี้เล็กๆ 2 ตัวนั่งคุยกันใต้ชายคาหน้าบ้าน ขณะที่เจ้าของบ้านยังไม่วายพร่ำบ่นถึงอากาศที่ร้อนอบอ้าวของฤดูร้อน

 

"เป็นไงบ้างอ้าย สบายดีไหม" ข้าพเจ้าเริ่มประโยคสนทนา

"ก็อย่างที่เห็นนี่แหละ" เขาตอบ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าคมสันต์หลุดคำตอบโดยที่มิได้ตั้งใจตอบด้วยประโยคนี้หรือไม่ เพราะหากข้าพเจ้าถามด้วยประโยคข้างต้นเขามักตอบข้าพเจ้าเช่นนี้ทุกครั้งไป

 

 

จากดอยสูงสู่พื้นราบ

คมสันต์ หรือนายคมสันต์ แซ่เติ๋น เป็นชาวบ้านวังใหม่วัย 43 ปี ถือเป็นแกนนำชาวบ้านคนสำคัญที่คอยเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบอกกล่าวชี้แจงต่อสังคมให้รับรู้ถึงชะตาชีวิตของชาวบ้านวังใหม่หลังจากราชการอพยพลงมาจากเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวงตั้งแต่ปี 2537

 

สำหรับคมสันต์แล้ว แม้ภาพภายนอกเขาพยายามแสดงออกด้วยความครื้นเครง แต่ลึกลงไปในแววตาสังเกตเห็นถึงความเหนื่อยล้า อิดโรยที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้

 

ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกว่าตั้งแต่ถูกอพยพมาอยู่ที่นี่ เขารวมทั้งเพื่อนบ้านหลายคนไม่เคยอยู่อย่างมีความสุข เพราะท่ามกลางความแห้งแล้งของภูมิประเทศทำให้หนทางในการดำรงชีวิตมีให้เลือกไม่มากนัก ชีวิตที่นี่ต้องดิ้นรนเพื่อสร้างโอกาสในการอยู่รอดให้ได้ด้วยตัวเอง ครั้นจะหวังให้ใครมาช่วยเหลือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะผ่านมา 12 ปีดูเหมือนว่าหลายๆเรื่องราวยังคงเป็นปัญหาที่ไร้การแก้ไขจากผู้มีส่วนรับผิดชอบ

 

ใช่สินะ 12 ปีเต็มแล้วที่เมล็ดพันธุ์จากดอยสูงที่ควรหยั่งรากแตกหน่อผลิใบบนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ กลับถูกพายุร้ายพัดกระหน่ำ ปลิวคว้างมาหยั่งรากแตกหน่อที่นี่...ที่ที่ผืนแผ่นดินแห้งแล้งทุรกันดาร

 

 

คมสันต์ แซ่เติ๋น

ชาวบ้านวังใหม่

 

 

...ย้อนหลังไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2537 สำนักงานป่าไม้เขตลำปาง กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อพยพกลุ่มชาวเขาเผ่าเมี่ยน ลีซู และลั๊วะที่อาศัยบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนบนและในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง เขตจังหวัดลำปาง จำนวน 5 หย่อมบ้านคือบ้านแม่ส้าน(เมี่ยน) บ้านแม่ต๋อม(เมี่ยน) บ้านป่าคา(เมี่ยน) บ้านห้วยห้อม(ลีซู) และบ้านห้วยห้อม(ลั๊วะ) จำนวน 880 คน 160 หลังคาเรือนออกจากพื้นที่โดยให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่รองรับบ้านวังใหม่ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

 

หลังการอพยพชาวบ้านครั้งนั้นนายเพิ่มบุญ จูตะเตมีย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยหลวงขณะนั้นได้ประกาศกับสาธารณะชนว่านี่เป็นครั้งแรกที่กรมป่าไม้ประสบความสำเร็จในการอพยพชาวบ้านออกจากป่า เพราะมีการเตรียมการอย่างดีที่สุด

 

แต่ข้อเท็จจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ !

 

"ตอนนั้นชาวบ้านสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงเหตุผลการอพยพ ได้รับคำตอบว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ เขาบอกว่าหมู่บ้านทั้ง 5 มีปัญหาเรื่องยาเสพติด ทั้งอยู่ห่างไกล การคมนาคมยากลำบากเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมดูแลไม่ได้ และที่สำคัญพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติฯ ตามกฎหมายแล้วชุมชนต้องอพยพออกไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี อีกทั้งยังบอกว่าพื้นที่หมู่บ้านยังอยู่ในเขตต้นน้ำวัง เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติชาวบ้านต้องอพยพออก" คมสันต์พรั่งพรูด้วยน้ำเสียงฟังดูเนือยๆ

 

คำชี้แจงที่ได้รับคมสันต์บอกว่าทำเอาชาวบ้านถึงกับพูดไม่ออก ผืนแผ่นดินที่เคยอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯกว่า 50 ปี วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่เคยพึ่งพาเกื้อกูลกับผืนป่าก็มีอันล่มสลาย ทุนทางวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรมที่ได้รับการสั่งสมมาหลายชั่วอายุคนไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ เพราะพื้นที่รองรับแห่งใหม่ที่บ้านวังใหม่นั้นมีสภาพเป็นผืนป่าเต็งรังอันแห้งแล้ง ยากยิ่งที่จะใช้ชีวิตยังชีพเยี่ยงวิถีเดิมได้

 

แม้ว่าชุมชนจะตั้งรกรากมานานกว่า 50 ปีก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง แต่การถูกอพยพครั้งนั้นชาวบ้านไม่สามารถทักท้วงหรือปฏิเสธใดๆได้ การตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่เจ้าหน้าที่ราชการฝ่ายเดียว โดยเฉพาะภายหลังการปักป้ายแสดงเขตอุทยานแห่งชาติชาวบ้านจึงกลายเป็นผู้บุกรุกไปโดยปริยาย

 

แน่นอนว่าโศกนาฏกรรมของคนทั้ง 5 หมู่บ้านที่ถูกอพยพลงมาเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่บัดนั้น

 

ทั้งหมดจำใจต้องเก็บข้าวของ ละทิ้งเรือกสวนไร่นาที่เคยเป็นแหล่งทำมาหากินหล่อเลี้ยงชีวิต เพื่อมุ่งหน้าไปยังพื้นที่ที่ราชการจัดสรรไว้ให้ โดยรู้อยู่แก่ใจว่าการอพยพครั้งนี้โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่กำลังอ้าแขนต้อนรับพวกเขาอยู่

 

ว่าไปแล้ว การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์โดยตัวของมันเองมิได้เป็นสิ่งผิดปกติหรือเลวร้ายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามการอพยพแต่ละครั้งนับเป็นการแสวงหาความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ดังที่นักวิชาการหลายท่านอย่าง อ.สมบัติ คำบุญเยือง นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ที่อธิบายว่า การเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ถือเป็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีสำคัญอย่างหนึ่งในการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดในการดำรงชีวิต และมักเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจต่อความมั่นคงของชีวิต

 

ในกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขาจะพบว่าประสบการณ์จากการโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีการสั่งสม เลือกสรร ผ่านการกลั่นกรองมานานหลายชั่วอายุคนได้กลายเป็นระบบความรู้ จารีตประเพณี ความเชื่อและแบบแผนทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เป็นการเฉพาะ เช่น ระบบความรู้ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่กล่าวได้ว่ามีความโดดเด่นมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ หรือระบบความรู้เกี่ยวกับภูมิพยากรณ์(Geomancy) หรือการเลือกที่ตั้งบ้านเรือนและถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและเมี่ยนซึ่งล้วนเป็นเรื่องของความเข้าใจต่อระบบธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง

 

การเคลื่อนย้ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขาในอดีตอาจดำเนินไปเพื่อหลีกหนีจากการใช้อำนาจและความรุนแรง การแพร่ของโรคระบาด รวมทั้งการอพยพเคลื่อนย้ายที่เกิดจากความเชื่อ หาถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์

 

การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้มีเป้าหมายสำคัญคือการรักษาความมั่นคงของชีวิต ยิ่งกว่านั้นการอพยพโยกย้ายเช่นนี้ชุมชนมีสิทธิ์และอำนาจในการกำหนดเลือกถิ่นที่อยู่ใหม่ที่เหมาะสมได้อย่างเต็มที่

 

ทว่า ภายใต้เงื่อนไขของการสถาปนารัฐชาติสมัยใหม่รวมทั้งการขยายอำนาจของรัฐ การเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขาไม่สามารถทำได้อย่างเสรี รัฐบาลพยายามเข้ามาจัดการ ควบคุมมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังเป็นผู้กำหนด ควบคุมการเคลื่อนย้ายอพยพด้วยตนเองด้วยซ้ำไป

 

แน่นอนว่า การที่รัฐบาลเข้ามาจัดการอพยพโยกย้ายชุมชนบนพื้นฐานของความไม่เข้าใจถึงจารีต วัฒนธรรม ประเพณี ย่อมนำไปสู่วิบากกรรมที่ตกกระทบถึงชุมชนเหล่านั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผลจากการอพยพยโยกย้ายล้วนทำให้ชุมชนต่างเผชิญอุปสรรคปัญหาในการดำรงชีวิต ทั้งในวิถีชีวิตประจำวัน และในทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

 

ซ้ำร้ายปัญหานานับประการที่เกิดขึ้นกลับถูกละเลย ไม่มีการศึกษาและทบทวนบทเรียนในปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง นั่นหมายถึงวิบากกรรมเหล่านี้ยังคงวนเวียนเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ เยี่ยงเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชุมชนทั้ง 5 หย่อมบ้านที่ถูกอพยพจากเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวงมาอยู่ ณ บ้านวังใหม่ในขณะนี้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net