Visible Man 2006#6 : อังคณา นีละไพจิตร ผู้ทำให้ "สมชาย" มีชีวิตอยู่

ความเข้มแข็งของผู้หญิงคนหนึ่งที่เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง สะท้อนถึงความอ่อนแอของผู้ชายที่ใหญ่โตแต่อำนาจ หากหัวจิตหัวใจเสมือนเมล็ดงาเมล็ดหนึ่ง และเธอนั่นเองที่ทำให้ "สมชาย นีละไพจิตร" และการต่อสู้แบบ "สมชาย นีละไพจิตร" มีชีวิตอยู่

โดย นัดดา มะลี (นักศึกษาฝึกงาน)

 

 

"ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่าจะได้พบกับคุณสมชาย ไม่ว่าวันใดก็วันหนึ่ง ไม่โลกนี้ก็โลกหน้า และต้องตอบคำถามถึงหน้าที่ของเมียและแม่ที่ทำไปหลังจากคุณสมชายถูกทำให้หายไป โดยปราศจากผู้รับผิดชอบ"

 

สามปีแล้วกับการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่มีเพียงร่องรอย หากแต่ไร้ร่องรอย

 

แทบไม่มีใครปฏิเสธว่า สมชายตายแล้ว ไม่ว่าเขาจะตายด้วยวิธีใดก็ตาม แต่ในมิติของศาสนา เขายังไม่ตาย ในมิติของสังคมไทย สมชายก็ยังไม่ตาย เขาปรากฏในนามของอังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้เพื่อสามีของเธอเพื่อความเป็นธรรมสำหรับผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายในสังคมท่ามกลางแรงกดดันจากอำนาจมืดที่ตามคุกคามเธออย่างไม่หยุดยั้ง

 

อังคณา นีละไพจิตร คุณแม่ลูก 5 ที่จบการศึกษาจากคณะพยาบาลศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพยาบาลศิริราช อยู่กินกับสมชาย นีละไพจิตร มาตั้งแต่ปี 2523 กระทั่งมีลูก 2 คน จึงลาออกมาทำหน้าที่แม่บ้านของสามีที่ว่าความให้ผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคดีและถูกตำรวจซ้อมให้รับสารภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

การเป็นทนายจำเลยคดีปล้นปืนที่นราธิวาส และการเปิดเผยพฤติกรรมซ้อมผู้ต้องหาคดีนี้ เป็นฉากตอนสำคัญ ที่นำไปสู่ความตายเสมือนของสมชาย นีละไพจิตร

 

การหายตัวไปอย่าง(ไม่)ลึกลับของทนายสมชาย นีละไพจิตร สามียอดดวงใจของนางอังคณา (วงศ์ราเชนทร์) นีละไพจิตร แม้จะสร้างความสะเทือนใจให้กับเธออย่างที่สุด แต่เธอก็ไม่ได้ทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการท้อถอย มิใช่เป็นห้วงเวลาที่จ่มจ่อมอยู่กับความทุกข์และความหวาดกลัว เธอกลับใช้เวลาที่เหลือต่อสู้ เรียกร้อง และทวงถามอย่างไม่ย่อท้อต่อกระบวนการยุติธรรม ด้วยสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนผู้เสียหาย

 

ความเข้มแข็งของผู้หญิงคนหนึ่งที่เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง สะท้อนถึงความอ่อนแอของผู้ชายที่ใหญ่โตแต่อำนาจ หากหัวจิตหัวใจเสมือนเมล็ดงาเมล็ดหนึ่ง

 

มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่สามัญชนจะลุกขึ้นมาต่อกรกับอำนาจมืด โดยเฉพาะเมื่อมันแฝงเร้นอยู่ในนามของอำนาจรัฐ แต่ผู้หญิงธรรมดาๆ คนนี้ยืนยันว่าเธอต้องสู้ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยความปกติสุขของครอบครัวหรือแม้แต่ชีวิต

 

เธอได้จุดประกายไฟดวงเล็กๆ ภายในครอบครัว สู่บทเรียนเพื่อสาธารณชนได้อย่างน่าชื่นชม



ชื่อของเธอเป็น 1 ใน 200 คนที่ได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญรอบแรก อย่างน้อยก็เป็นการยอมรับของสังคมไทยระดับหนึ่ง

 

เธอยังคว้ารางวัลสตรีผู้มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2549 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มอบรางวัลดีเด่น "ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน" เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุนผู้หญิงที่ต้องสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและรณรงค์เผยแพร่ให้สังคมตระหนักถึงบทบาทภารกิจของผู้หญิงในการปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

รวมทั้งรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน กวางจู ไพรซ์ ประจำปี 2006 จากเกาหลีใต้ด้วย

 

แม้เธอจะไม่เคยมีคำตอบว่าชะตากรรมทนายสมชายเป็นไปอย่างใด มีเพียงการลงโทษเล็กๆ น้อยๆ ตำรวจหนึ่งนาย ทั้งที่รู้และเชื่อกันว่า ผู้สมรู้ร่วมคิดและคนบงการบางคนยังลอยนวล แต่เธอก็เยียวยาและรักษาบาดแผลตัวเองด้วยการพูดความจริง และทวงถามความจริง แม้ที่ผ่านมาไม่ว่าจะทวงถามอะไรก็ไม่เคยมีคำตอบก็ตาม

 

จากข้อมูลเบื้องลึกของชุดสืบสวนสอบสวน สังเคราะห์ได้ว่าการอุ้มหายไปของทนายสมชายเกิดจากบทบาทการทำงานของเขาเองที่คลุกคลีอยู่กับคดีความไม่สงบในภาคใต้ตั้งปี 2534 มีข้อมูลมากกว่า 10 ปี จนอาจเรียกว่านายสมชายเป็น "สารานุกรม" ของปัญหาอยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนไทยมุสลิมก็ว่าได้

 

สมชายจึงกลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในการสืบหาข้อมูลทางลึกต่อสถานการณ์ไฟใต้ จนกลายเป็นเครื่องมือในการตัดกิ่งริดใบ ซึ่งหากเป็นจริง วิธีการใต้ดินแบบนี้ต้องเป็นหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแน่นอน จึงไม่แปลกที่ทีมตำรวจจะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเอี่ยวในการหายตัวไปของนายสมชาย

 

อังคณากลายเป็นส่วนหนึ่งของการผ่าชำแหละให้สังคมรับรู้ถึงความเน่าแฟะของกระบวนการยุติธรรม เพราะการฉายภาพความเลวร้ายของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจมืดทำร้ายทำลายผู้บริสุทธิ์ให้ชัดเจนขึ้น ได้กลายเป็นกระจกส่องผ่านกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทยว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยล้มเหลวทั้งกระบวนชั้นผู้ใหญ่ลดระดับลงมาถึงชั้นผู้น้อยเลยก็ว่าได้

 

ในทางกลับกัน สิ่งที่เธอทำบนเส้นทางการทวงถามความเป็นธรรม ไม่ใช่เพราะเธอคือภรรยาของทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่ชื่อ 'สมชาย นีละไพจิตร' แต่เพราะความศรัทธาที่มีอย่างมั่นคงต่อกระบวนการยุติธรรมและความดีงามที่ยังไม่เหือดหายไปจากสังคมนั่นเองที่ทำให้เธอต้องสู้

 

เป็นลักษณะเดียวกับที่ สมชาย นีละไพจิตร ผู้เป็นสามี ที่ใช้กฎหมายสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพราะเชื่อมั่นในกฎหมาย

 

เธอนั่นเองที่ทำให้ "สมชาย นีละไพจิตร" และการต่อสู้แบบ "สมชาย นีละไพจิตร" มีชีวิตอยู่ แม้ว่าร่างกายของสมชายอาจจะไม่เหลืออยู่ในโลกใบนี้แล้วก็ตาม

 

 

 

 

โครงการ Visibleman 2006

 

คือการมองย้อนหลังในระยะเวลา 1 ปี

และค้นหาคนที่เรา "ประชาไท" เห็นเด่นชัดที่สุด

 

Visibleman ของเรา ไม่ใช่ข้อสรุปจากผลการศึกษา มิใช่ผลงานทางวิชาการ หรือการวิจัยใดๆ

แต่เราปรารถนาให้ผู้อ่านเห็นถึงนัยที่เราเลือก

กระบวนการเลือก กระบวนการการทำงาน การถกเถียง ตลอดจนการหาข้อสรุปของเรา

 

เพราะเหตุนี้ เราจึงตระหนักดีว่า

ความน่าเชื่อถือและพลังของการเลือกบุคคลผู้ที่จะเป็น Visibleman ของเรานั้น อยู่ที่เราแต่ละคน

ยิ่งเราแต่ละคนเติบโตขึ้นเท่าไร ลุ่มลึกมากเท่าใด

ความน่าเชื่อถือในโครงการ Visibleman ก็มากขึ้นเท่านั้น

 

เราปรารถนาให้โครงการ Visibleman ได้แสดงถึงความอ่อนด้อยของเรา

ตลอดจนการเติบโต ความรู้ของเรา และรายงานต่อผู้อ่านอย่างซื่อตรง

 

กล่าวอีกอย่างก็คือ

โครงการ Visibleman

ไม่ใช่เพียงเพื่อการเสนอนัยของ "บุคคลที่เราเห็น" ในปีที่ผ่านมา

หากแต่ยังหมายถึงการรายงานพัฒนาการของเราต่อผู้อ่านด้วย

 

…………………………….

 

Visibleman 2006 ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ "ประชาไท" เสนอชื่อ

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549

ก่อนจะจัดทำข้อเสนอ ความเห็น ข้อมูล เพื่อร่วมถกเถียงหาข้อสรุป

ในวันที่ 18 ธันวาคม 2549

และทยอยนำเสนอต่อผู้อ่าน

ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549

จนไปสิ้นสุดที่รายชื่อผู้ที่สมควรเป็น Visibleman 2006 ของ "ประชาไท"

ในวันที่ 4 มกราคม 2550

โดยมีรายชื่อพร้อมผู้เสนอ ดังนี้

 

รายชื่อ  Visibleman 2006  และผู้เสนอ

 

กษัตริย์ คเยนทรา วีระ วิกรม ชาหะเทวะ    เสนอโดย  พงษ์พันธุ์  ชุ่มใจ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์   เสนอโดย  ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข และ
    พิณผกา  งามสม
นวมทอง ไพรวัลย์ เสนอโดย  มุทิตา  เชื้อชั่ง
จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอโดย  ภาพันธ์  รักษ์ศรีทอง
จูหลิง ปงกันมูล เสนอโดย  มูฮัมหมัด  ดือราแม
อังคณา นีละไพจิตร เสนอโดย  นัดดา  มะลี
น้องเดียว - ด.ช.พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ เสนอโดย  เสาวภา  พุทธรักษา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เสนอโดย  อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา
ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เสนอโดย  องอาจ  เดชา
พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร เสนอโดย  วิทยากร  บุญเรือง
สุรพล นิติไกรพจน์ เสนอโดย  จิรนันท์  หาญธำรงวิทย์ 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอโดย  พิณผกา  งามสม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสนอโดย  พิณผกา  งามสม

จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

เสนอโดย  ตติกานต์  เดชชพงศ

 

……………………………..

 

 

 

 

โครงการ Visibleman 2006

ดำเนินการถกเถียง แลกเปลี่ยน และหาข้อสรุป

โดย รุจน์ โกมลบุตร

คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการประชาไท

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท