Skip to main content
sharethis

ภาคต่อของชีวิตบนดอยสูงที่ถูกรัฐบังคับให้ต้องระหกระเหินมายังพื้นที่ใหม่ที่แห้งแล้ง...พื้นที่ที่ไม่มีบ้าน ไม่มีไฟฟ้า ต้องอยู่เพิงหมาแหงนเป็นเวลากว่า 3 ปี "อานุภาพ นุ่มสง" ถ่ายทอดเรื่องราวโดยละเอียด...

โดย  อานุภาพ นุ่นสง

 

 

 

ชีวิตบนผืนป่าเต็งรัง

สำหรับข้าพเจ้าแล้วแม้ครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกที่มาเยือนที่นี่ หลายครั้งที่มีโอกาสนั่งสนทนาพูดคุยกับคนที่นี่ในปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาหลังถูกอพยพ กล่าวได้ว่าข้าพเจ้าพอจะรับรู้ชะตากรรมของคนที่นี่อยู่บ้าง

 

แต่จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนดั่งว่าสิ่งที่ข้าพเจ้ารับรู้เป็นแค่ภาพปรากฏเพียงผิวเผินเท่านั้น ยังมีเรื่องราวต่างๆ อีกมากที่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ ยังมีเรื่องเศร้า ความสูญเสียอีกนานัปการที่ยังไม่มีการพูดถึง และยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ถูกอำนาจที่มองไม่เห็นทำให้ต้องได้ปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้ เพื่อรอวันปะทุขึ้นในอนาคต

 

คมสันต์บอกว่า หมู่บ้านทั้ง 5 หมู่บ้านที่ถูกอพยพลงมาได้ตั้งถิ่นฐานบนดอยไม่ต่ำกว่า 50 ปี ระยะแรกๆ ชาวบ้านดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่น ทำไร่ข้าว ต่อมาช่วงปี 2513-2517 หมู่บ้านได้รับการจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นอย่างเป็นทางการ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเหมือนหมู่บ้านทั่วไป ชาวบ้านได้รับสัญชาติไทย กว่า 80% มีบัตรประชาชน หลังจากนั้นจึงมีหน่วยงานราชการเข้าไปพัฒนา เช่น สำนักงานการประถมศึกษา ศูนย์สาธารณสุข กรมประชาสงเคราะห์ เป็นต้น

 

กระทั่งปี 2528 โครงการพัฒนาที่สูงไทย-นอร์เวย์และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดร่วมกับกรมประชาสงเคราะห์ได้เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ บ๊วย สาลี่เพื่อลดพื้นที่การปลูกฝิ่น โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปีตั้งแต่ปี 2528-2532

 

ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ผลผลิตที่ได้จากการส่งเสริมทั้งกาแฟ บ๊วย สาลี่มีการนำมาขายข้างล่างบ้าง มีพ่อค้าคนกลางไปรับซื้อที่หมู่บ้านบ้าง เงินที่ได้ก็พอกินพอใช้ ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นหนี้เป็นสิน

 

นับแต่นั้นชาวบ้านจึงเริ่มลดพื้นที่ปลูกฝิ่นลง ไม่นานนักไร่ฝิ่นก็หายไปจากหมู่บ้านจนกลายเป็นหมู่บ้านปลอดฝิ่น ไร่ฝิ่นเก่าจึงถูกปล่อยทิ้งให้เป็นป่าที่รอการฟื้นตัว

 

แต่แล้วปี 2531 สัญญาณร้ายบางอย่างได้ปรากฏขึ้น

 

กรมป่าไม้มีคำสั่งห้ามโครงการไทย-นอร์เวย์และหน่วยงานต่างๆ ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ทั้งที่โครงการฯ นี้มีแผนดำเนินการจนถึงปี 2532 ซึ่งยังเหลือระยะเวลาอีก 1 ปี

 

แน่ล่ะ ! คำสั่งดังกล่าวเป็นผลให้โครงการต้องยุติลงกลางครัน

 

และแล้ว ในปี 2532 รัฐบาลจึงประกาศให้พื้นที่หมู่บ้านป่าคาและหมู่บ้านใกล้เคียงอีก 4 หมู่บ้านเป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือลำปาง พะเยา และเชียงราย

 

หลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง หมู่บ้านทั้ง 5 ก็ถูกจำกัดการพัฒนา ทางราชการเริ่มตัดงบพัฒนาหมู่บ้านในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านสาธารณูปโภค สาธารณสุข การศึกษา มีการสั่งห้ามชาวบ้านสร้างบ้านเรือนหลังใหม่ จำกัดพื้นที่ทำกิน ห้ามนำสิ่งของเครื่องใช้จากภายนอก ทั้ง เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงเข้าหมู่บ้าน กรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นไปเพื่อกดดันให้ชุมชนอพยพออกจากพื้นที่

 

และแล้ว มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2535 ก็พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการการอพยพชาวเขาทั้ง 5 หมู่บ้านออกจากเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง

 

"ตอนอยู่บนดอยเราอยู่กันง่ายๆ พออยู่พอกิน อาหารพวกเห็ดพวกหน่อไม้หาได้จากป่า นกหนูก็ได้จากป่า อยู่กันสบายไม่ต้องใช้เงินซักบาทก็อยู่ได้ อากาศก็ไม่ร้อนเหมือนที่นี่" เขาย้อนอดีตถึงช่วงชีวิตสมัยอยู่บนดอยให้ฟัง

 

ข้าพเจ้าสังเกตเห็นถึงสีหน้าและน้ำเสียงเขาคล้ายถวิลหาอดีตที่เคยอยู่อย่างสงบเรียบง่าย แม้ว่าในอนาคตสิ่งเหล่านั้นยากยิ่งที่จะหวนคืนมาให้ได้เชยชมก็ตาม   

 

หลังจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าพื้นที่หมู่บ้านอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวงและอพยพชาวบ้านออกมา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ รวมทั้งวัฒนธรรม กรณีเหล่านี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกินชาวบ้านที่นี่มานานกว่า 10 ปีโดยที่ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาให้อย่างเป็นรูปธรรม

 

คมสันต์บอกอีกว่า เขายังจดจำวันที่เดินหันหลังให้กับบ้านเก่าบนดอยสูง มุ่งหน้าสู่บ้านวังใหม่ได้อย่างไม่มีวันลืม

 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นวันสุดท้ายที่เขาและครอบครัวได้ใช้ชีวิตที่บ้านป่าคา

 

วันนั้นเขาและครอบครัว ญาติพี่น้อง รวมทั้งชาวบ้านป่าคาทั้งหมดถูกสั่งให้เก็บสัมภาระ ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นขึ้นรถบรรทุกของทางราชการจำนวน 5 คันที่จอดรออยู่ในหมู่บ้าน สัมภาระทั้งหมดค่อยๆ ทยอยลำเลียงขึ้นใส่ท้ายรถบรรทุก เงียบ แทบไม่มีประโยคสนทนาใดๆ  บรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าสลด ลูกชายของเขาในตอนนั้นวัย 8-9 ขวบร้องไห้ระงม

 

ครั้นข้าวของสัมภาระทั้งหมดถูกลำเลียงขึ้นรถบรรทุกเสร็จ ล้อรถค่อยๆ หมุนพาชาวบ้านทั้งหมดลงจากดอยสูง หมู่บ้านเข้าสู่ภาวะแตกดับ วิถีชีวิตที่เคยดำเนินที่นั่นกว่า 50 ปีกลายเป็นเพียงเศษซากปรักหักพังทับถมในอยู่ความทรงจำ

 

เย็นของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 เมื่อรถบรรทุกมาถึงบ้านวังใหม่ ข้าวของสัมภาระทั้งหมดถูกขนลงจากรถ ชีวิตใหม่ในพื้นที่และสิ่งแวดล้อมใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้น

 

เขาและครอบครัว ญาติๆ รวมทั้งเพื่อนบ้านป่าคาและหมู่บ้านอื่นๆ ที่อพยพลงมาถูกเจ้าหน้าที่พามาอยู่รวมกันที่บ้านวังใหม่ ซึ่งขณะนั้นพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าแห้งแล้ง สลับกับต้นไม้เตี้ยๆ ที่อยู่กระจัดกระจาย ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ ที่รอบรับการอพยพ

 

สัมภาระถูกกองไว้เป็นจุดๆ ของใครของมัน ผ้าใบพลาสติกที่ใช้สำหรับตากข้าวหนึ่งในสัมภาระที่ขนลงมาถูกนำมากางขึงเป็นเต็นท์กันแดดลม คมสันต์บอกว่า เขายังจดจำค่ำคืนแรกที่มานอนที่บ้านวังใหม่ได้ดี

 

"ตอนนั้นยังไม่มีอะไรซักอย่าง ไม่มีบ้าน ไม่มีน้ำ แต่ยังดีที่มีรถบรรทุกน้ำจากอำเภอขนน้ำมาให้ใช้ เราทำกับข้าวกินกันข้างๆ เต็นท์ที่ทำเป็นเพิงหมาแหน ก็เอาผ้าใบเขียวที่ใช้ตากข้าวนั่นแหละมาขึงเป็นหลังคา แล้วลมก็แรงมากเพราะไม่มีต้นไม้ ลมพัดแต่ละทีต้องวิ่งกันช่วยจับของไว้ไม่งั้นลมพัดปลิวหมด ช่วงนั้นเราขวัญเสียมากไม่รู้จะเริ่มต้นอะไรอย่างไร ผมนี่ 3 เดือนแรกนอนตาไม่หลับเลย" เขาย้อนอดีตอันข่มขื่นให้ข้าพเจ้าฟังด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และบอกอีกว่าต้องอยู่ในเต็นท์เพิงหมาแหนนั้นนานถึง 3 ปีกว่าจะได้สร้างบ้าน

 

แม้ระยะเวลาจะผ่านไปนาน และแม้จะได้รับความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากราชการ ทว่าชะตาชีวิตของเขาและเพื่อนร่วมชะตากรรมทั้งหมดยังคงมืดมน ไร้ทางออกอยู่ดี

 

โศกนาฏกรรมห่มคลุมหมู่บ้าน

แสงแดดเริ่มร้อนอบอ้าว ไกลออกมองเห็นเปลวแดดเต้นยิบยับเหนือทุ่งหญ้าแห้งโล่ง ฉากหลังที่ปรากฏจึงเป็นภาพที่พร่ามัว ขณะที่ลมแล้งยังคงพัดแรง หอบเอาฝุ่นดิน เศษใบไม้ใบหญ้าปลิวไปตามลม ลมพัดเพียงนิดแต่ปลิดขั้วใบไม้แห้งบนต้นร่วงกราว บนถนนใหญ่ที่ทอดผ่านหมู่บ้านนานๆ จะมีรถแล่นผ่าน

 

คงจริงดังที่เห็น หากผ่านหมู่บ้านนี้เพียงผิวเผินอาจคิดว่าเป็นหมู่บ้านธรรมดาแห่งหนึ่งเหมือนหมู่บ้านอื่นๆ ที่พบเห็นได้ในแถบนี้ หมู่บ้านอยู่ติดถนนใหญ่ มีไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภคเพียบพร้อม บ้านเรือนก่ออิฐถือปูนค่อนข้างมั่นคงตั้งขนานสองฝั่งถนนกระจัดกระจาย และชุมชนทำการเลี้ยงชีพด้วยวิถีแห่งการเกษตร

 

แต่ใครจะรู้บ้างว่า 12 ปีที่ผ่านพ้นได้สร้างความเจ็บปวดแก่ชาวบ้านวังใหม่เพียงใด…

 

"เมื่อทั้ง 5 หมู่บ้านถูกอพยพลงมาอยู่ที่นี่เรียบร้อยแล้ว ทางราชการให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายบ้านเรือนแบบเหมาจ่ายครอบครัวละ 5,000 บาท และจ่ายค่ายังชีพอีกคนละ 20 บาทต่อวัน โดยคิดแบบเหมาจ่ายเป็นเงิน 1,200 บาทต่อคนเป็นเวลา 2 เดือนเท่านั้นเอง คุณคิดดูสิมันจะไปพออะไร ทั้งค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าอยู่ค่ากินเราต้องซื้อจากตลาดทั้งหมด" คมสันต์พรั่งพรูออกมา

 

แน่ล่ะ หากพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายที่ชาวบ้านทั้งหมดต้องใช้โดยเฉพาะการสร้างบ้านหลังใหม่ รวมทั้งการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาสินค้าจากตลาดแทบทุกอย่างทั้งข้าว ปลา อาหาร ดังนั้นเงินจำนวนทั้งหมดสำหรับคมสันต์และเพื่อนบ้านคนอื่นๆ แล้วจึงหมดไปในระยะเวลาไม่ถึงเดือน

 

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านทั้งหมดเดือดร้อนกันทั่วหน้า ขาดแคลนอาหาร แหล่งน้ำทั้งในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งความเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มิได้รับการดูแลรักษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

หลังจากถูกอพยพลงมาไม่นานนัก พื้นที่รองรับเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ทางราชการก็ทำการจัดสรรให้ชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้านทุกๆ ครอบครัว แบ่งเป็นพื้นที่ทำกินครอบครัวละ 10 ไร่ และเป็นที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 1 ไร่แต่ละเผ่ามีการแยกกลุ่มออกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน

 

หมู่บ้านป่าคาของคมสันต์ตั้งอยู่ติดกับหมู่บ้านแม่ส้านโดยมีถนนแบ่งหมู่บ้านทั้งสองออกจากกัน หมู่บ้านแม่ต๋อมถูกกำหนดให้อยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของถนนใหญ่สาย 1035 ที่ทอดผ่านหมู่บ้าน ถัดไปจากนั้นเป็นหมู่บ้านห้วยห้อม(ลั๊วะ) ขณะที่หมู่บ้านห้วยห้อม(ลีซู)ถูกแยกให้ไปตั้งบ้านเรือนบริเวณด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน

 

ดูเพียงผิวเผินคล้ายกับว่าการอยู่เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนของแต่ละเผ่าจะทำให้วัฒนธรรมชนเผ่าดั้งเดิม สายสัมพันธ์ในชุมชน ความเป็นเครือญาติยังคงดำเนินภายใต้วิถีดั้งเดิมได้ แต่แท้จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

 

คมสันต์บอกว่าแม้ราชการจะจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านแต่ละเผ่าแยกกันอยู่อย่างชัดเจน ทว่าแต่ละครัวเรือนในกลุ่มตระกูลเดียวกัน พ่อแม่ พี่น้อง มิได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กันเหมือนแต่ก่อน เพราะการตั้งบ้านเรือนี่นี่ต้องอาศัยการจับฉลากเลือกพื้นที่ ผลที่ออกมาคือบางครอบครัวพ่อแม่อยู่ท้ายหมู่บ้านแต่ลูกอยู่กลางหมู่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นวิถีความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่เคยดำเนินมาก็เริ่มโรยรา

 

ร้ายไปกว่านั้น ที่ดินทำกินที่ราชการจัดสรรให้ครอบครัวละ 10 ไร่นั้นดูเหมือนว่าเป็นพื้นที่กว้างใหญ่จนชาวบ้านสามารถใช้ทำมาหากินจนพึ่งพาตัวเองได้ในเร็ววัน แต่แท้จริงแล้วพื้นที่เหล่านั้นไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ได้อย่างเต็มที่ เพราะดินมีลักษณะเป็นหินปนดินลูกรัง ไม่มีธาตุอาหารให้พืชชนิดใดๆ เติบโตงอกงามได้

 

" 3 ปีแรกที่เราถูกอพยพมาชาวบ้านทุกครอบครัวต่างปลูกพืชผักในแปลงของตัวเอง เงินทองที่พอเหลือก็เอามาซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ชาวบ้านเองก็รู้ว่าลงทุนครั้งนี้เสี่ยงต่อการขาดทุนเพราะดินลูกรังใครๆ ก็รู้ว่าปลูกอะไรไม่ได้ แต่เราก็ต้องทดลองดูเพราะไม่มีทางเลือก ในที่สุดผลที่ได้ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คือชาวบ้านเจ๊งกันเป็นแถว" เขาเล่า

 

ช่วงนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ลงทุนปลูกข้าวโพด ถั่ว กว่าครึ่งของพื้นที่พืชที่ปลูกแห้งตาย ส่วนที่เหลือก็นำมาขายแต่กลับเจอภาวะราคาตกต่ำ

 

เมื่อการลงทุนลงแรงในที่ดินไม่ได้ผลประโยชน์กลับคืน ชาวบ้านจึงปรับเปลี่ยนจากการเป็นเกษตรกรมาเป็นแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรในพื้นที่ใกล้หมู่บ้าน แต่กระนั้นก็ยังประสบปัญหาการจ้างที่ไม่ต่อเนื่อง รายได้ไม่พอรายจ่าย

 

ดังนั้น หนทางสุดท้ายในการมีชีวิตรอดจึงถูกนำมาใช้นั่นคือการอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อเป็นแรงงานรับจ้าง.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net