Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 







มุมคิดจากนักเรียนน้อย เป็นผลงานภาคปฏิบัติในชั้นเรียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ส่งมาให้ประชาไทพิจารณานำเผยแพร่ เยาวชนที่สนใจสามารถส่งผลงานมาได้ที่ netcord@prachati.com


 


 


ภัทธิพงษ์ ศิริปัญญา


คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


เวลานี้รัฐบาลได้จัดรายการ "สายตรงจากทำเนียบ" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงการทำงานของรัฐบาลและเปิดสายให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาซักถามได้ แต่ผมเข้าใจว่าโดยหลักๆ แล้วก็คงเป็นรายการนำเสนอผลงานของรัฐบาล


 


เคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีอยู่ท่านหนึ่ง ผมเชื่อว่าท่านคงหลงคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ เป็นเจ้าของคลื่นความถี่วิทยุ ก็ท่านเอาแต่พูดอยู่ฝ่ายเดียวทุกเช้าวันเสาร์ (คุ้นๆ ไหมครับ) สุดท้ายรถถังก็พากันวิ่งออกมา เอากระบอกปืนใหญ่ชี้หน้า บอกว่าพอได้แล้ว เอ็งหยุดพูดได้แล้ว


 


ตัวอำนาจนั้น หากผูกขาดเบ็ดเสร็จโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ก็จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด บางคนทนผู้นำบ้าอำนาจไม่ไหว ต้องเล่นนอกกติกาเพื่อยึดอำนาจ


 


เรื่องของการพูดก็เช่นกัน หากเอาแต่พูดอยู่ฝ่ายเดียว ไม่รู้จักฟัง ก็ระวังว่าสักวันจะไม่ได้พูด


 


ในกรณีของกฎอัยการศึก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลมีข้ออ้างว่าจะต้องคงกฎอัยการศึกไว้เพื่อรอดูสถานการณ์ "คลื่นใต้น้ำ" พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์หรือรายการข่าวในโทรทัศน์ก็พากันพูดถึงแต่คลื่นใต้น้ำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีสำนักข่าวแห่งใดที่ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจข่าวเรื่องคลื่นใต้น้ำจากประชาชนเลย


 


"คลื่นใต้น้ำ" จึงเป็นสภาวการณ์ที่สร้างขึ้นจากคำพูดของผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว


 


หากจะนิยาม "คลื่นใต้น้ำ" ตามความหมายของ คมช. และรัฐบาลแล้ว น่าจะหมายถึงคนกลุ่มเดียวกับที่อดีตนายกฯ ท่านหนึ่งเคยอ้างถึงอยู่บ่อยๆ ว่า ท่านมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ๑๖ ล้านเสียง (ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งล้วนเป็นคนของท่าน)


 


และหมายถึงนักเลือกตั้งกับกลุ่มหัวคะแนนที่เคยได้รับประโยชน์จากระบอบนายทุน-นักการเมือง ซึ่งยังคงพยายามเคลื่อนไหวอยู่ทั้งบนดินและใต้ดิน พร้อมกับความหวังลึกๆ ว่าสักวัน "นายท่าน" จะกลับมา


 


ประกอบกับการที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ออกมาเตือน คมช. ว่าระวังจะโดนปฏิวัติซ้อน พร้อมทั้งต่อรองให้ใครบางคนได้กลับเข้าประเทศ และพฤติกรรมขอมดำดิน เข้าประเทศโน้น โผล่ประเทศนี้ ของอดีตนายกฯ ท่านหนึ่ง ล้วนเป็นการเคลื่อนไหว "บนผิวน้ำ" ที่ส่งสัญญาณ "ปลุกผี" ไปยังคลื่นใต้น้ำอย่างชัดเจน


 


นอกจากนี้ยังมีคลื่นใต้น้ำอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการรัฐประหาร และกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจการทำงานของ คมช. และรัฐบาล ซึ่งนับวันยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ตามมุมมองของ คมช. "คลื่นใต้น้ำ" จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่สามารถระบุคุณภาพหรือปริมาณได้อย่างชัดเจน แต่ก็น่าจะมากพอจนอาจเกิดเป็น "สึนามิ" ได้ในอนาคต


คมช. จึงยังต้องคงกฎอัยการศึกไว้


 


ผมเห็นว่าการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเร่งทำ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องตระหนักถึงคือ เวลานี้การรัฐประหารได้เกิดขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


ดังนั้น คมช. รัฐบาล และผู้มีส่วนรับผิดชอบในการทำรัฐประหารล้วนมี "ราคา" ที่จะต้องจ่าย ขึ้นอยู่ว่าจะจ่ายแพงมากหรือแพงน้อยเท่านั้นเอง


 


เหตุผลหนึ่งในการเข้ามายึดอำนาจของ คมช. คือ ต้องการแก้ไขปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ แต่ทำไมตอนนี้กลับเข้ามาแบ่งกลุ่มสีขาว-สีดำ สร้างสถานการณ์ "คลื่นใต้น้ำ" เสียเอง? แล้วกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าคลื่นใต้น้ำเหล่านี้ไม่ใช่ประชาชนคนไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือ? เราจะไปถึงประชาธิปไตยได้อย่างไรหากไม่รู้จักเปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง?


 


ประชาธิปไตยไม่ใช่การสถาปนาความคิดเห็นของตัวเองให้เป็นใหญ่เพื่อล้มล้างความคิดเห็นของผู้อื่น แต่ความสวยงามของประชาธิปไตยก็คือการรู้จักยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย มีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ผู้ที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูประบอบประชาธิปไตยจะต้องเข้าใจตรงจุดนี้


 


รัฐบาลต้องแสดงจุดยืนที่ยึดมั่นในหนทางแห่งสันติวิธีด้วยการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดหลักประกันว่าประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสงบได้ โดยยังคงมีกฎหมายอื่นๆ ที่คอยกำกับดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอยู่ ทุกคนที่อยากพูดจะต้องได้พูด ให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ควบคู่ไปกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อที่ในท้ายที่สุดแล้ว เราจะได้หลักการที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับร่วมกัน และยึดมั่นในหลักการนี้เพื่ออยู่ร่วมกันต่อไปอย่างสันติ


 


หากรัฐบาลตั้งมั่นในความดีแล้ว จะกลัวอะไรกับคำวิพากษ์วิจารณ์และการเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบจากภาคประชาชน


 


แต่หาก คมช. และรัฐบาลยังคงเอาแต่พูดอยู่ฝ่ายเดียว ไม่รู้จักรับฟัง พยายามแบ่งแยกคนในสังคมออกเป็นกลุ่มๆ และกีดกันไม่ให้คน "กลุ่มอื่น" ได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ผมเกรงว่าเหล่าประชาชน "คลื่นใต้น้ำ" ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริงจะพากันลุกฮือขึ้นมากลายเป็น "คลื่นเหนือน้ำ" เพื่อทวงคืนอำนาจ หากถึงวันนั้น คมช. และรัฐบาลก็จะต้องจ่ายใน "ราคา" ที่แพงมาก


 


ผมอยากเห็นผู้ริเริ่มการปฏิรูประบอบการปกครองมีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตย


 


น่าเศร้ามากหากผู้ที่จะเข้ามาปฏิรูประบอบประชาธิปไตยคิดได้แค่เพียงรายการพูดฉอดๆ นำเสนอผลงานตอนเช้าวันเสาร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net