Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 







มุมคิดจากนักเรียนน้อย เป็นผลงานภาคปฏิบัติในชั้นเรียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ส่งมาให้ประชาไทพิจารณานำเผยแพร่ เยาวชนที่สนใจสามารถส่งผลงานมาได้ที่ netcord@prachati.com


 


 


อุษณีย์ กฤษณะประสิทธิ์


คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


"รางวัลเลขท้าย 2 ตัว เลขที่ออก 00" ..


 


พอสิ้นเสียงนี้ ก็มักจะมีทั้งเสียงเฮด้วยความดีใจ และเสียงโฮเพราะผิดหวังตามมา ซึ่งเป็นเสียงที่ชินหูที่เราๆ ท่านๆ มักจะได้ยินในวันที่ 1 และ 16 ของทุกๆ เดือน


 


แต่หลังจากที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลประกาศหยุดดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว หรือหวยบนดิน ตั้งแต่งวดประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2549 เป็นต้นมา (ซึ่งก่อนหน้านี้ ให้หยุดจำหน่ายเพียง 2 งวด คือ งวดวันที่ 1 และ 16 ธันวาคม 2549) จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ให้หวยบนดินเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย


ทำให้ทั้งเสียงเฮและเสียงโฮ ดูเหมือนจะซบเซาลงไป


 


คำถามก็คือ สมควรแล้วหรือที่จะทำให้การพนันซึ่งเป็นเรื่องผิดศีลธรรมมาทำให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย?


 


การทำเช่นนี้ ไม่ยิ่งทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลสนับสนุนให้เล่นหวยบนดินต่อไปหรือ?


การทำเช่นนี้ จะทำให้หวยใต้ดินหมดไปจริงหรือ?


การทำเช่นนี้ รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วหรือ?


 


การที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนำหวยมาไว้บนดิน นอกจากจะเป็นโครงการประชานิยมแล้ว ก็เพื่อไม่ให้เงินรั่วไหลออกไปนอกระบบ โดยการที่รัฐบาลรับเป็นเจ้ามือหวยเสียเอง เพราะที่ผ่านมานั้น หวยใต้ดินส่วนใหญ่จะมีกลุ่มนักการเมืองเป็นเจ้ามือและให้การสนับสนุน โดยเฉพาะช่วงที่กลุ่มนักการเมืองอยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง (เพื่อใช้หาเสียงและซื้อเสียง) เงินที่ได้...ก็ได้จากการเป็นเจ้ามือขายหวยเหล่านั้นนั่นเอง


 


แต่ถึงจะนำหวยมาไว้บนดินแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าหวยใต้ดินจะหมดไป


 


ที่ร้ายกว่านั้นคือ นอกจากหวยใต้ดินจะไม่หมดไปแล้ว ยังทำให้คนหันมาขายและเล่นหวยบนดินกันมากขึ้นอีก เพราะเป็นการเปิดตลาดให้กลุ่มผู้เล่นใหม่ๆ สามารถเข้าถึงและซื้อขายกันได้ง่ายขึ้น โดยไม่ผิดกฎหมายเหมือนหวยใต้ดิน เนื่องจากรัฐบาลรับเป็นเจ้ามือหวยเสียเอง


 


การที่รัฐบาลจะทำเรื่องหวยบนดินให้ถูกกฎหมายนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง


 


เพราะนอกจากเหตุผลที่รัฐบาลทำเพื่อเอาใจคน 30 ล้านคนที่เล่นหวยบนดิน และเหตุผลเรื่องรายได้ทางเศรษฐกิจที่ได้มาง่ายๆ จากการขายหวยบนดินแล้ว ผู้เขียนก็ยังไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลใดที่จำเป็นจะต้องมีหวยบนดินไว้


 


แน่นอนว่า การจะให้ยกเลิกหวยบนดินให้หมดไปเลยทีเดียวนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะจะทำให้คนขายหวยบนดินและคนเดินโพยกว่า 4 แสนคนต้องตกงานและขาดรายได้ อีกทั้งยังทำให้หวยใต้ดินกลับมาแพร่หลายอีกด้วย!!


 


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทำไมรัฐบาลไม่ลองหาหนทางอื่นออกมาต่อสู้กับ "ปรากฏการณ์หวย" เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบการออกสลากของทุกหน่วยงาน เช่น สลากของธนาคารออมสิน และสลากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ให้ออกเลขร่วมกับสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อลดงวดการออกสลาก จาก 4 ครั้ง ให้เหลือ 2 ครั้งต่อเดือน ตามที่หลายๆ ฝ่ายเสนอมา


 


นอกจากนี้ รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการปราบหวยใต้ดิน ทั้งกับผู้ขาย ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์ การให้สินบนนำจับเจ้ามือ รวมถึงจัดการกับตำรวจที่รับส่วยจากเจ้ามือหวยใต้ดินอย่างเข้มงวดด้วย


 


ที่สำคัญที่สุด รัฐบาลต้องส่งเสริมอาชีพสุจริตอื่นๆ และทำให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตัวเองกันมากขึ้น อย่าส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาแต่หวย หวังว่าจะรวยได้จากการซื้อ-ขายหวย จนไม่เป็นอันทำการงานอาชีพอื่น!


 


รวมไปถึง รัฐบาลต้องจำกัดพื้นที่การซื้อขายหวย นอกเหนือจากการกำหนดอายุผู้ที่จะซื้อหวยด้วย เพราะก่อนหน้าที่จะให้มีการงดขายหวยนั้น ไม่ว่าจะเดินไปที่ใด ก็จะมี หวยบนดินขายกันอย่างเกลื่อนกลาด ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงเหล้าที่หาซื้อง่ายตามร้านสะดวกซื้ออย่างไรอย่างนั้น


หวยบนดินก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน!


 


แต่หวยกับเหล้าต่างกันตรงที่เหล้าดื่มแล้ว เสียทั้งเงินและเสียทั้งสุขภาพ แต่กับหวย ถึงแม้จะเสียเงินเล็กน้อยเพื่อซื้อ แต่ถ้าถูกรางวัลก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า


 


ดังนั้น การแก้ปัญหาหวยจึงไม่ง่ายเหมือนการงดโฆษณาเหล้า


 


ถึงตอนนี้ รัฐบาลจึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่า จะเลิกหวยบนดิน หรือจะทำให้เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย เพราะไม่ว่าจะเลือกทางใด ก็ย่อมมีผลเสียตามมาเหมือนกัน


 


แต่จะเสียมากหรือเสียน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะใช้เกณฑ์เรื่องคุณธรรม จริยธรรม หรือเกณฑ์เรื่องรายได้ทางเศรษฐกิจมาใช้ตัดสินหวยบนดิน!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net