สารคดี : เสียงกู่ร้องจากป่าเต็งรัง (3)

เมื่อทนสภาพแร้นแค้นของป่าเต็งรังไม่ไหว หลายคนออกไปหางานทำในกรุงเทพฯ บ้างทนการกดขี่จากนายจ้างไม่ไหวต้องออกมาสร้างรายได้จากการค้ายาเสพติด ปัจจุบันชาวบ้าน 20 คนของหมู่บ้านนี้อยู่ในคุก ขณะที่เด็กสาวอีกส่วนต้องฝากความหวังไว้กับแสงสียามค่ำคืน จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี

โดย อานุภาพ นุ่นสง

 

 

 

จากป่าเต็งรังสู่ป่าคอนกรีต

แดดตอนบ่ายเริ่มโผล่พ้นขอบเงาชายคาบ้าน พื้นที่ร่มแดดเริ่มแคบลง เขาชวนข้าพเจ้าไปนั่งในบ้านพร้อมเอ่ยปากชวนกินข้าวมื้อเที่ยง ข้าพเจ้าปฏิเสธเพราะมื้อเช้าจากปั๊มน้ำมันเชลล์ตรงสามแยกแม่ขะจานยังอัดแน่นอยู่ในท้อง ทั้งยังมีขนม 2-3 ถุงเป็นเสบียงตุนไว้พร้อมน้ำเปล่าอีกขวดใหญ่

 

วันนี้บ้านคมสันต์เงียบเชียบ เขาบอกว่ามันเงียบอย่างนี้ทุกวัน หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านยิ่งเงียบกว่า นานๆจะมีเสียงรถวิ่งผ่านไปบนถนนใหญ่ และนานๆ ก็จะมีเสียงเด็กที่วิ่งเล่นส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวดังมาซักครั้งหนึ่ง

 

"น้องเจี๊ยบไปไหน" ข้าพเจ้าถามถึงลูกสาวคนเล็กวัย 7-8 ขวบของเขา

 

"เล่นอยู่แถวนี้แหละ เดี๋ยวก็มา ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอม"

 

จริงอย่างที่คมสันต์บอก ผ่านไปไม่ถึง 10 นาที ลูกสาวคนเล็กของเขาก็มาที่บ้านกับเพื่อนหญิงในวัยเดียวกันอีกคน

 

"ไหว้น้าเขาสิลูก" ผู้เป็นพ่อบอกขณะทั้งสองมาถึงบ้าน

 

น้องเจี๊ยบยกมือไหว้ข้าพเจ้า เพื่อนอีกคนไหว้ตาม ข้าพเจ้าทักทาย ก่อนเจ้าหนูทั้งสองคนวิ่งหนีหายไปเล่นกันต่อในบ้าน

 

คมสันต์บอกว่าเขามีลูก 2 คน คนโตเป็นผู้ชายเกิดที่บ้านป่าคา ตอนนี้เป็นทหารเกณฑ์อยู่ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในตัวจังหวัดลำปาง ส่วนคนเล็กก็เจ้าเจี๊ยบนี่แหละเกิดที่นี่ พร้อมบอกว่าในอนาคตหากเป็นไปได้เขาต้องการให้ลูกทั้ง 2 คนรวมทั้งเด็กคนอื่นๆตั้งรกราก ทำมาหากินยังบ้านวังใหม่อย่างที่เขาทำ เขาไม่ต้องการให้ผู้กุมอนาคตของบ้านวังใหม่เหล่านี้อพยพเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อแสวงหาความอยู่รอดอย่างที่คนที่นี่เขาทำกัน

 

มิน่าล่ะ ! ทุกครั้งที่มาที่นี่ข้าพเจ้าแทบไม่พบคนหนุ่มคนสาว คนวัยแรงงาน มากี่ครั้งมักเจอแต่คนแก่กับเด็กเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หมู่บ้านซบเซา วัฒนธรรมจารีตบางอย่างไร้คนสานต่อ

 

ทั้งนี้เพราะชาวบ้านวังใหม่ในวัยแรงงานทั้งชายหญิงที่ล้มเหลวในอาชีพเกษตรกรรมต่างเริ่มทยอยออกนอกหมู่บ้าน มุ่งหน้าแสวงหาทางเลือกใหม่โดยการอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจให้แก่ชีวิตและครอบครัว                                                                 

 

แรงงานที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้านสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือคนที่พอมีทุนในการสร้างกิจการเล็กๆ เช่น ขายก๋วยเตี๋ยว น้ำเต้าหู้ กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ตามแหล่งที่มีคนพลุกพล่านในช่วงกลางคืนในจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง

 

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งยากจน ไม่มีทุนก็จะเป็นแรงงานรับจ้าง กลุ่มเหล่านี้จะกระจายไปในพื้นที่ไกลๆ ทั้งในประเทศโดยมุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ยังมีจังหวัดอื่นๆ เช่น อยุธยา สมุทรสาคร สงขลา ชลบุรี ลักษณะงานที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นกรรมกรก่อสร้าง เด็กปั๊ม ล้างจาน และแรงงานในสวนกล้วยไม้ เป็นต้น

 

แต่กระนั้น โอกาสในการเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองมิได้เปิดกว้างสำหรับทุกคนเสมอไป หลายคนถูกปฏิเสธการจ้างงานจากนายจ้าง ขณะที่อีกหลายคนที่ได้งานทนรับสภาพการกดขี่จากนายจ้างไม่ไหว คนกลุ่มนี้จำต้องออกมาสร้างรายได้จากอาชีพนอกกฎหมาย หนึ่งในนั้นคือการค้ายาเสพติด ซึ่งปัจจุบันพบว่าชาวบ้านวังใหม่กว่า 20 คนถูกจองจำอยู่ในคุก ขณะเดียวกันเด็กสาวอีกส่วนหนึ่งที่หางานทำไม่ได้ก็ต้องฝากความหวังไว้กับแสงสียามค่ำคืน ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจุบันชาวบ้านวังใหม่ส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี

 

นอกจากนี้ ในกลุ่มแรงงานรับจ้างยังพบว่ามีบางส่วนที่ออกไปขายแรงงานไกลถึงต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง จีน สิงคโปร์และบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง

 

กลุ่มที่ออกไปขายแรงงานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านบริษัทจัดหางานและต้องเสียค่าใช้จ่ายรายละ 30,000-50,000 บาท แน่ล่ะ จากเดิมที่มีฐานะยากจนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นการหาเงินจำนวนดังกล่าวมาให้บริษัทจัดหางานจึงต้องมีการกู้หนี้ยืมสินขึ้นมา

 

อย่างไรก็ตาม การก้าวเท้าออกจากผืนป่าเต็งรังอันแห้งแล้งสู่ป่าคอนกรีตในเมืองใหญ่เพื่อสร้างทางรอดแก่ชีวิตส่งผลให้จำนวนชาวบ้านวังใหม่ที่มีประมาณ 1,200 คนแต่ปัจจุบันมีอยู่จริงในหมู่บ้านแค่ประมาณ 700 คนเท่านั้น...

 

คมสันต์เองบอกว่า ครั้งหนึ่งเขาเกือบตัดสินใจเข้าไปทำงานที่เชียงใหม่ไปแล้ว เพราะมีน้าขายน้ำเต้าหู้อยู่แถวหน้าค่ายกาวิละในตัวเมือง น้าผู้หวังดีทนเห็นความแร้นแค้นของคมสันต์ไม่ไหวจึงเอ่ยปากชวนไปขายน้ำเต้าหู้ด้วยกัน แต่เขาปฏิเสธ

 

อีกทั้งที่ผ่านมา เขายังพูดคุยกับเพื่อนบ้านวัยเดียวกันที่ยังอยู่ในหมูบ้านว่าหากคนรุ่นเขาอพยพออกไปทำงานในป่าคอนกรีตกันหมด ปล่อยให้คนเฒ่าคนแก่ที่ไปไหนไม่ไหวกับเด็กๆ ที่ต้องเรียนหนังสืออยู่เฝ้าหมู่บ้านคงไม่เป็นเรื่องที่ดีแน่ ด้วยเหตุนี้ทำให้เขายืนหยัดท้าทายสภาพความแร้นแค้นอย่างไม่ท้อถอย อดทนทำการเกษตรเล็กๆน้อยๆในที่ดินที่พอจะเปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์พอที่จะแตกหน่อผลิใบได้บ้าง

 

ขณะเดียวกันเขาและเพื่อนบ้านยังพยายามฟื้นวัฒนธรรมของแต่ละเผ่าให้รักษาอัตลักษ์ความเป็นตัวตนไว้ พยายามใช้วัฒนธรรมเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพเท่าที่พอทำได้ เช่น งานเย็บปักถักร้อย เผาถ่านขาย รวมทั้งปลูกไม้ผลยืนต้น เช่น ลำไย กระท้อน มะม่วง เป็นต้น

 

 

ความหวังของคนเฝ้าบ้าน

ชาวบ้านวังใหม่ที่ยังคงปักหลักทำมาหากินเลี้ยงชีพในหมู่บ้านต้องดำรงชีวิตภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดโดยเฉพาะจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ทางเลือกในการดำรงอยู่ทางแล้วทางเล่าถูกนำมาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิต เทคนิคภายใต้ภูมิปัญญา วัฒนธรรมดั้งเดิมหลายแขนงถูกนำมาใช้ด้วยความหวังว่าท่ามกลางความมืดมนคงพอมีแสงสว่างหลงเหลืออยู่บ้าง

 

อย่างที่ดินจำนวน 10 ไร่ที่ได้รับการจัดสรรไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้เต็มศักยภาพ เพราะเนื้อดินเป็นดินปนหินและดินลูกรัง ในฤดูฝนดินจะอุ้มน้ำไว้เต็มที่ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งดินจะคายน้ำออกจนพืชต้องแห้งตาย หลายครอบครัวจึงหันมาปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เช่น ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง มะขาม เพราะไม้ผลยืนต้นเหล่านี้ทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้ดีกว่าพืชไร่

 

แต่ดูเหมือนว่าโชคไม่เข้าข้างนักเพราะนอกจากพืชผลเหล่านี้กว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต้องใช้ระยะเวลานานประมาณ 5 ปี ดังนั้นในระยะแรกต้องตั้งหน้าตั้งตารอคอยการเก็บเกี่ยวผลผลิต ครั้นเมื่อผลผลิตสามารถเก็บเกี่ยวได้กลับมีราคารับซื้อที่ต่ำมาก ดังนั้นหลายครอบครัวจึงหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทน เช่น เผาถ่านขาย แรงงานรับจ้างในไร่นา รับจ้างทั่วไปแบบรายวัน ซึ่งงานลักษณะรับจ้างรายวันนั้นตามความเชื่อของคนเผ่าเมี่ยนและลีซูแล้วถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอายเป็นอย่างยิ่ง

 

ขณะที่ด้านภูมิปัญญา พบว่ากลุ่มผู้หญิงโดยเฉพาะเผ่าเมี่ยนที่มีความสามารถในการปักผ้าเป็นลวดลายต่างๆก็เริ่มฟื้นฟูจารีตวัฒนธรรมนี้เพื่อเป็นทุนในการหล่อเลี้ยงชีวิต กอปรกับช่วงปี 2529 ผ้าปักชาวเขาเป็นที่นิยมของตลาด แม่บ้านเผ่าเมี่ยนจึงทำการปักผ้ากันอย่างจริงจังจนเกิดการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มปักผ้าขึ้นมา

 

คมสันต์บอกว่า ช่วงนั้นผ้าปักชาวเขาขายดีมาก นอกจากมีพ่อค้ามารับซื้อที่หมู่บ้านแล้ว ชาวบ้านต้องเปิดร้านค้าชุมชนริมถนนสาย 1035 ที่ทอดผ่านหมู่บ้านขึ้นมาเพื่อขายผ้าปักอีกด้วย ส่วนใครมีญาติพี่น้องที่ทำงานอยู่ในเมือง เช่น เชียงใหม่ ลำปางก็จะนำผ้าปักเหล่านี้ไปฝากขาย ทำให้เศรษฐกิจชุมชนของเผ่าเมี่ยนกลับคึกคัก พอมองเห็นลู่ทางในการมีชีวิตอย่างไม่อัตคัดนัก

 

ทว่า แสงสว่างที่ปรากฏท่ามกลางความมืดมนที่พอทำให้ชีวิตเห็นความหวังอยู่บ้างดูจะสั้นนัก เพราะหลังจากนั้นไม่นานชีวิตก็กลับอยู่ท่ามกลางความมืดดำเช่นเดิมต่อไป

 

ช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 ผ้าปักมีปัญหาด้านการตลาด กลุ่มผู้ซื้อมีจำนวนลดลง ผ้าปักไม่สามารถขายสร้างรายได้อย่างเคย ทำให้แม่บ้านที่เคยรวมกลุ่มเริ่มแตกกระจาย หลายคนจำต้องอพยพเข้าสู่เมืองตามกลุ่มที่อพยพไปก่อนหน้า ละทิ้งความแร้นแค้นไว้ข้างหลัง ร้านค้าชุมชนริมถนนสาย 1035 ที่เคยคึกคักถูกทิ้งร้างกลายเป็นความทรงจำอันขมขื่น

 

กล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้านที่ถูกอพยพมายังบ้านวังใหม่เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดอย่างเลวร้าย ความล่มสลายของชุมชน การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รวมทั้งการดิ้นรนเพื่อการมีชีวิตอยู่แม้อาจสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย แต่เพื่อการมีชีวิตรอดหลายคนจำใจก้าวเท้าเข้าไปภายใต้ภาวะจำยอม และแม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมากว่า 12 ปีแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่มีการจัดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม กรณีเหล่านี้ล้วนสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการของผู้ที่มีอำนาจได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม การอพยพชาวบ้านครั้งนั้นภาครัฐเองได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนถึงความเหมาะสมในการดำเนินการอีกทั้งกรณีที่เกิดขึ้นยังเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยการใช้นโยบายการจัดการป่าไม้เป็นข้ออ้างและใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือ

 

แต่ดูเหมือนว่าคำติติง คำวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งบทเรียนในปัญหาที่เกิดขึ้นจากการอพยพชาวบ้านนั้นภาครัฐมิได้นำมาพิจารณาทบทวนแม้แต่น้อย

 

เพราะในเดือนกันยายน 2546 โศกนาฏกรรมบทเก่าในการอพยพชาวบ้านครั้งใหม่ก็ก่อเกิดจากน้ำมือภาครัฐขึ้นอีกครั้ง นั่นคือราชการดำเนินการอพยพชาวเขาเผ่าลาหู่(มูเซอ) 4 หย่อมบ้านออกจากเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทลงมาอยู่บนผืนป่าเต็งรังอันแห้งแล้ง ณ บ้านห้วยวาดซึ่งอยู่ห่างจากบ้านวังใหม่ไปทางทิศใต้ไม่ถึง 10 กิโลเมตร...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท