Visible Man 2006#9 : นิวัฒน์ ร้อยแก้ว : ผู้เดิมพันชีวิตเพื่อรักษ์แม่น้ำโขง

นี่คือคนท้องถิ่นเล็กๆ อีกคนหนึ่ง ที่ได้ออกมาเรียกร้องในด้านสิทธิชุมชน การปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง โดยเริ่มจากกระบวนการการเรียนรู้ ด้วยภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่เดิม ผสมผสานกับการดำเนินการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในระดับประเทศและสากล

โดย องอาจ เดชา

 

"ครูตี๋" นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

 

 

 

 

1.

 

 "ไป มึงออกไป อย่าเข้ามาเหยียบแผ่นดินกู..."

 

คนที่อยู่ในเรือต่างสะดุ้ง ทุกคนหันขวับไปตามเสียงตะโกนเกรี้ยวกราดนั้น ภาพที่ปรากฏตรงหน้า ชายผอมสูง ผมยาวกระเซิง ยืนตระหง่านอยู่ริมฝั่งมือขวาชี้กราดมาที่เรือ เมื่อเรือแล่นไปเกือบประชิดท่าน้ำ

 

หากใครอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น คงจดจำภาพนั้นได้ดี...กลางสายน้ำโขงที่ไหลเชี่ยวแทรกผ่านระหว่างพื้นที่เขตเมืองเชียงของของไทยกับเมืองห้วยทรายของลาว เรือหางยาวทั้งสิบลำแล่นไปข้างหน้าอย่างเร็วและแรง ตีวงโค้งกระจายขนาบเรือลำใหญ่ปักธงชาติจีน ก่อนจอดนิ่งจอดเทียบอยู่ตรงนั้น เรือเล็กทุกลำถูกผูกติดแน่นกับเรือใหญ่ ชั่วเวลาไม่ถึงนาที ทุกคนก็ยืนประจันหน้ากันและกัน

 

ครูตี๋เดินนำปรี่เข้าไปหา..."นี่บ้านของพวกเรา อย่ามายุ่ง หยุดระเบิดแก่งเดี๋ยวนี้ ชาวบ้านเขาเดือดร้อน" เสียงตะคอกดังลั่นไปทั้งเรือ

 

"เขาเป็นพวกเจ้าหน้าที่สำรวจ แค่มาดูตำแหน่งแก่งหิน ไม่ได้มาระเบิด" ชายไทยหัวเกรียนคนเดียวในกลุ่มคนจีนพยายามอธิบาย

 

"จะระเบิดหรือสำรวจ มันก็พวกเดียวกันนั่นแหละ" ครูตี๋สวนคำพูด ก่อนร่ายเพลงสวดรวดเดียว

 

"น้ำโขงเป็นของมนุษยชาติ ทุกคนมีสิทธิหากินเสรีบนสายน้ำแห่งนี้ มันต้องมีความเท่าเทียมกัน ไม่รบกวนกัน แต่นี่คุณมาปุ๊บ คุณยึดหมดเลย คุณระเบิดแก่ง แล้วเอาเรือใหญ่เข้ามา เรือหาปลาก็อยู่ไม่ได้ สัตว์พืชอะไรก็อยู่ไม่ได้ คุณคิดเอาแม่น้ำเป็นแค่เส้นทางคมนาคม ไม่ได้คิดว่าแม่น้ำมันมีหลายมิติ พวกคุณคิดว่าคุณเป็นใครที่จะเข้ามายึดแม่น้ำโขง"

 

คนที่อยู่บนเรือต่างตื่นตระหนกกับท่าทีแข็งกร้าวดุดันของชายผมยาว หน้าตาเอาเรื่องเอาราว

 

"ฝากถึงรัฐบาลจีนด้วย คนไทยไม่ยอม ล้มโครงการซะ ไม่อย่างงั้นมีเรื่องใหญ่แน่" พูดจบครูตี๋ยื่นหนังสือฉบับหนึ่งให้ พร้อมตะคอกซ้ำ

 

"อย่าให้เจออีกนะไอ้เรือลำนี้!"

 

นั่นเป็นบางเรื่องราวของชายคนนี้ "ครูตี๋ ลูกผู้ชายสายน้ำของ" ที่ "ธวัชชัย จารนัย" เขียนเอาไว้ในชื่อ "พลเมืองของความเศร้า" หนังสือสารคดีรางวัลคนค้นคน ที่บันทึกเรื่องราวชะตากรรมของมนุษย์ผู้ใฝ่ดี คนท้องถิ่นที่ออกมาต่อสู้คัดค้านการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง หลังจากมีหนังสือลับและด่วนจากทางการไทย ที่ระบุว่าจะมีการระเบิดแก่งคอนผีหลง กระทั่งเขาและชาวบ้านเชียงของต้องออกมาเรียกร้องสิทธิในฐานะของคนท้องถิ่นคนหนึ่ง 

 

 

 

ว่ากันว่า การเคลื่อนไหวคัดค้านไม่ให้จีนเข้ามาทำการระเบิดแก่งคอนผีหลงในเขตไทยได้ครั้งนั้น ก็เพราะความเข้มแข็งกลุ่มอนุรักษ์ในท้องถิ่นนี้ จนทำให้ 2 สื่อมวลชนจีน คือ นายหลี่เหลียง จากหนังสือพิมพ์ South China Weekend ชื่นชมความกล้าหาญในการเจรจาเพื่อรักษาสิทธิของชาวบ้าน ในขณะที่นางยิน เจี๋ย จากนิตยสาร Chinese National Geography ก็รายงานบอกว่า "พลังประชาชน" ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงทักท้วงจากชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ ต่อผลกระทบในระยะยาวที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจีนกลับไม่สนใจ ยังคงเดินหน้าดำเนินการระเบิดแก่งในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนอย่างต่อเนื่อง

 

ในขณะที่ภาครัฐของไทยกลับอ้ำอึ้งเหมือนไม่รับรู้ยินดียินร้ายใดๆ  อีกทั้งยังดูเหมือนว่า อยากสนับสนุนให้ประเทศจีนรุกล้ำเข้ามาใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำโขงแถบนี้เสียอีก โดยอ้างเพื่อประโยชน์ของประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจในแถบลุ่มน้ำโขง

 

"ก็ลองดู ถ้ามันยังไม่หยุดกัน ก็คงจะได้เห็นดีกัน อาจแลกด้วยชีวิตก็ได้..." เขาเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเครียด

 

 

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ"ครูตี๋" ชายร่างผอม ผมยาวกระเซิงคนนี้ เป็นชาวเชียงของตั้งแต่กำเนิด แต่เดิมนั้น เขาเป็นข้าราชการครูสอนหนังสือให้กับเด็กชาวเขาบนดอยสูง แต่ต่อมาได้ตัดสินใจลาออกจากครู และหันมาทำงานรณรงค์ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ในนาม "กลุ่มรักษ์เชียงของ" และ "เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา" เป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวกัน โดยองค์กรท้องถิ่น 3 องค์กร ได้แก่ กลุ่มรักษ์เชียงของชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำอิง และโครงการแม่น้ำและชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกันในลุ่มน้ำโขง จนกระทั่ง ได้เกิดการพูดคุยถึงสถานการณ์ปัญหาการคุกคามแม่น้ำโขงอย่างรุนแรงและเกิดผลกระทบถึงพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและพื้นที่ใกล้เคียง อย่างเป็นระบบและมีรูปธรรมที่ชัดเจนภายใต้ชื่อ "เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา"

 

การทำงานของเครือข่ายฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนการพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม โดยการจัดการของชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบนของประเทศไทย นำเสนอข้อคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีในชุมชน และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น มีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้านและเยาวชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งดีงามในท้องถิ่นของตนให้คงอยู่ รวมไปถึงการผลิตสื่อรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ชุมชน และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สาธารณชนด้วย

 

 

2.

 

"ทำไมต้องคัดค้านการระเบิดแก่ง!?" เชื่อว่าหลายคนคงแอบตั้งคำถามเช่นนี้

 

"ก็มันทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน คนภายนอกที่ไม่เคยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ คงมองไม่เห็นความสำคัญหรอก นอกจากไม่เห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์ แล้วบางคนยังละเลยที่จะมองเห็นความสำคัญของคนท้องถิ่น และที่ผ่านมารัฐไม่ได้ตอบสนองคนท้องถิ่นเลย สถานการณ์ขณะนี้ โครงการพัฒนาต่างๆของรัฐที่ถาโถมลงมา จะมุ่งไปทำลายระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงด้วย"

 

"หากย้อนไปดูสาเหตุของตลิ่งพัง ก็มาจากกรณีที่ทางการจีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในตอนบน ทำให้ระดับแม่น้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นปกติ รวมทั้งมีการระเบิดเกาะแก่งต่างๆ เพื่อการเดินเรือ ทำให้น้ำไหลเชี่ยวขึ้น การพังทลายของตลิ่งแทบจะทำให้ไม่มีร่องน้ำเดิมเหลือ หรือในฤดูแล้งก่อนๆ นี้จะไม่เคยแห้งแล้งขนาดนี้ ตอนนี้ก็ได้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเรือแทบเดินไม่ได้เลย ต่อไปชาวบ้านลุ่มน้ำที่อาศัยแม่น้ำโขงดำรงชีพคงเดือดร้อนหนักกว่านี้"

เขายังบอกอีกว่า ภายหลังจากมีการระเบิดแก่งในเขตพม่า-จีนรวมทั้งการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ในเขตจีน ส่งผลให้สถานการณ์ระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำโขงบริเวณพื้นที่ อ.เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จ.เชียงราย อยู่ในภาวะวิกฤต เพราะตั้งแต่จีนระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเมื่อปี 2545 จนถึงปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าวเดือดร้อนอย่างหนักเพราะเกิดปัญหาขึ้นหลายอย่าง

"จีนมีโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ในเขตพม่า-ลาว ซึ่งห่างจากชายแดนไทยไปทางทิศเหนือประมาณ 30 กิโลเมตรเท่านั้น โดยก่อนหน้านั้น ทีมวิศวกรจากจีนที่รับผิดชอบการระเบิดแก่งได้ลำเลียงอุปกรณ์และวัตถุระเบิดเข้าตามจุดต่างๆที่กำหนดไว้ ในการระเบิดครั้งนี้มีแก่งที่ต้องระเบิดจำนวน 16 แก่ง"

 

 

เรือโดยสารของลาวยังคงใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางสัญจรไปมา

 

 

ในขณะบริเวณประเทศไทย ก็มีโครงการระเบิดแก่ง จำนวน 1 แก่ง คือแก่งคอนผีหลง ซึ่งเป็นแก่งหินยาวกว่า 1,600 เมตร กว้างกว่า 30 เมตร อยู่ในเขต ต.ริมโขง อ.เชียงของ นอกจากนั้น ยังมีโครงการระเบิดแก่งเพิ่มอีก 8 แก่งบริเวณ อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ของ จ.เชียงราย

 

โดยการระเบิดแก่งดังกล่าว ทางการจีนเพื่อปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ของจีนในแม่น้ำล้านช้าง-น้ำโขง ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากการผลักดันของประเทศจีน เพื่อตอบสนองนโยบายการค้าเสรี ด้วยการเปิดเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ให้เรือขนส่งสินค้าของจีนสามารถเดินเรือมาถึงตอนล่างจากเมืองซือเหมา มณฑลยูนานของจีน ผ่านพม่า ไทย ลาว มายังหลวงพระบางได้ตลอดทั้งปี โดยจะทำการระเบิดแก่งทั้งหมดกว่า 21 แก่ง

ทั้งนี้ การระเบิดแก่งขุดลอกแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในเขตจีน-พม่า ซึ่งเพิ่งดำเนินการเสร็จรวมทั้งการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงในเขตจีน โครงการเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ต่อกลุ่มประเทศท้ายน้ำขนานใหญ่โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ อ.เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จ.เชียงราย ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น ปัญหาตลิ่งพังเป็นแนวยาวหลายกิโลเมตร ปัญหาเกิดสันดอนทรายใหม่กลางแม่น้ำซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ปัญหาระดับน้ำที่ผันผวนขึ้นลงผิดปกติ รวมทั้งผลกระทบด้านระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ

ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาใหญ่ที่คนเชียงของกำลังเผชิญคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและเกษตรอุตสาหกรรมของคนจีนที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน ซึ่งเท่าที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อทำเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าจากเชียงรุ่งมายังเชียงแสน เชียงของ และหลวงพระบาง โดยที่เรือสินค้าที่มีระวางขับน้ำ 200-500 ตัน แล่นลงมาได้ ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จก็จะส่งผลให้เมืองประวัติศาสตร์สำคัญของชาติตกอยู่ในสภาพที่ถูกทำลายทั้งทางศิลปวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งได้ลงมือสำรวจอย่างเป็นจริงเป็นจังเมื่อปี พ.ศ.2534 โดยเป็นการสำรวจร่วมระหว่างประเทศจีนกับประเทศลาว ปัจจุบันเหลือเพียงที่อยู่ในเขตบริเวณประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ถูกระเบิด

 

แนวทางการทำงานเคลื่อนไหว เน้นอาวุธให้ชาวบ้าน คือ "องค์ความรู้"

 

เขาบอกว่า จะเน้นการทำงานร่วมกับองค์กรชุมชนระดับท้องถิ่น โดยมีการจัดทำแผนแม่บทของชุมชนขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูสิ่งต่างๆ ให้กลับคืนดังเดิม รวมทั้งหยุดยั้งการกอบโกยผลประโยชน์ของประชาชน หยุดการเปลี่ยน แปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่สำคัญคือต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมคิดและร่วมแก้ไขอย่างจริงจังมิใช่คิดแทนประชาชน

 

กระทั่งเกิด "งานวิจัยจาวบ้านเชียงของ-เวียงแก่น" ขึ้นมา โดยงานวิจัยจาวบ้านดังกล่าวเกิดขึ้นโดยชาวบ้านจำนวน 13 หมู่บ้าน ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ทางตอนบน ของอ.เชียงของและ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัย ซึ่งเป็นผู้ที่รู้ในเรื่องราวต่างๆ โดยผ่านวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงมายาวนาน

 

การศึกษานี้ ยังได้รวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งพบว่าการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในยูนนานทำให้ระดับน้ำโขงขึ้น-ลงไม่ปกติ ส่งผลให้ปลาไม่อพยพตามฤดูกาล เกิดการพังทลายของชายฝั่งและดอน ร่องน้ำเปลี่ยนทิศ และการทับถมของตะกอนทรายที่ทำให้ระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงเสื่อมโทรม การพังทลายของริมฝั่งและดอนยังทำให้บ้านเรือนของชาวบ้านเสียหาย รวมไปถึงพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยใช้ในการทำเกษตรริมโขง การที่น้ำโขงขึ้น-ลงไม่ปกติยังทำให้พื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ทำเกษตรริมโขงเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม

 

ซึ่งผลกระทบดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการควบคุมน้ำของเขื่อนจีนเพื่อทำการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนลาว-พม่าตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ปลาไม่อพยพขึ้นมาตามฤดูกาล และคนหาปลาไม่สามารถใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านได้ทำให้คนหาปลาจับปลาได้น้อยลงถึงประมาณร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับก่อนหน้าการระเบิดแก่ง ส่งผลให้คนหาปลาต้องหยุดหาปลา หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นซึ่งรวมถึงการรับจ้าง ส่วนไกลดลงเหลือประมาณ 30% เมื่อเทียบกับก่อนการระเบิดแก่ง

 

ผลกระทบนี้ ทำให้ชาวบ้านเดือนร้อนทั้งในมิติความมั่นคงทางอาหารและสุขภาวะ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงการสูญเสียความสามารถในการพึ่งตนเอง และปัญหานี้จะเกิดมากขึ้นหากมีการระเบิดแก่งคอนผีหลงและแก่งต่างๆ บริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบน นอกจากนั้น ยังจะทำให้คนหาปลามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการเดินเรือขนาดใหญ่ และคลื่นและเสียงจากการเดินเรือขนาดใหญ่จะรบกวนปลาและการหาปลาของชาวบ้าน (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม http://www.searin.org/Th/Mekong/mek_tb_research_c9.pdf)

 

 

ชาวบ้านกำลังหิ้วปลาแม่น้ำโขงขึ้นมาขายกับพ่อค้า

 

 

รายงานวิจัยจาวบ้าน ชิ้นนี้ ถือว่าเป็นงานวิจัยที่ทำการศึกษาโดยชาวบ้าน ที่แสดงให้เห็นว่า ระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงที่มีความหลากหลายสลับซับซ้อน เป็นงานวิจัยจาวบ้าน ที่พยายามจะสื่อให้คนภายนอกได้รับรู้ โดยเฉพาะรัฐที่กำลังมุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ได้รับรู้ว่า…แม่น้ำโขง คือแม่น้ำแห่งชีวิต แห่งการดำรงอยู่ของผู้คนและสรรพสัตว์มาเนิ่นนาน

และที่สำคัญคือ งานวิจัยจาวบ้าน ยังเสนอข้อมูลที่มีรายละเอียดลึกซึ้ง สอดคล้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ธรรมชาติและความเป็นจริงมากที่สุด ในขณะที่การสำรวจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ของรัฐ เพื่อโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงนั้น กลับไม่มีการสำรวจวิจัยในเรื่องเหล่านี้เลย
         

"เราต้องทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า อาวุธของเราคืออะไร ในการนำไปต่อสู้กับโครงการต่างๆ ที่มันจะเข้ามา อาวุธของเราคือองค์ความรู้ เราต้องบอกสังคมให้ได้ เมื่อก่อนเราบอกว่าผิดแค่คำพูดเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เรามีเหตุผลว่าผิดเพราะอะไร ไม่ว่างานวิจัยจะได้รับรางวัลแค่ไหนไม่สำคัญเท่ากับงานของชาวบ้านที่เป็นข้อเท็จจริง แต่นักวิจัยข้างบนไม่รู้ เราต้องปลุกชาวบ้านในเรื่องนี้ให้มาก" เขาเน้นย้ำให้ความสำคัญ

 

ในขณะที่เขาทำงานในระดับพื้นที่ เขายังประสานการทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาคมลุ่มน้ำโขงระดับภูมิภาค ระหว่างประเทศ มีการเข้าร่วมเวทีประชุมนานาชาติอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงขึ้น เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง โดยประสานไปยังลาว กัมพูชา และเวียดนาม

 

นอกจากนั้น เขายังเปิด "โรงเรียนแม่น้ำโขง" มีการสร้างทีมวิทยากรเผยแพร่รณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปตามชุมชนต่างๆ อีกทั้งยังได้ริเริ่มในการพัฒนาสื่อท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อใช้เป็นพลังในการขับเคลื่อนทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและสังคมวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น การทำ"วิทยุชุมชนคนลุ่มน้ำของ" โดยเน้นย้ำให้เป็น "จุดปฏิบัติการเตรียมความพร้อม" ที่จะออกมาเคลื่อนไหวได้ทุกเมื่อ รวมทั้งทำสื่อเป็นนิตยสารรายเดือน ชื่อ "แม่โขงโพสต์" พร้อมกับการทำเวบไซต์ www.mekonglover.com

 

 

 

ชาวบ้าน นักวิชาการร่วมกันถกปัญหาในเวทีวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ที่จัดขึ้นที่ อ.เชียงของ

 

 

 

 

"แม่โขงโพสต์" สื่อที่เกิดขึ้นด้วยคนท้องถิ่นเพื่อคนลุ่มน้ำโขง

 

 

 

อภิรักษ์  ปันมูลศิลป์

ศิลปินชาวเชียงราย นั่งวาดรูปธรรมชาติแม่น้ำโขง ก่อนที่จะไม่เหมือนเดิม

 

 

 

3.

 

"ดูเหมือนว่า แต่ละฝ่ายพยายามจะแย่งชิงกันใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงกัน แต่ไม่ค่อยมีใครดูแลรักษา"

 

"น้ำโขงนี่ มันเป็นแม่น้ำที่ใหญ่มาก แต่ไม่มีเจ้าภาพดูแลรักษา มีแต่คนจะใช้ มันมีแต่คนเห็นมันเป็นประโยชน์ อันนี้เราไปเปลี่ยนกระบวนทัศน์เขาไม่ได้ แต่ต้องพูดกับชาวบ้านที่ได้ใช้ประโยชน์กันอยู่ ให้หันมาดูเพื่อประโยชน์ของเขา เพื่อชีวิตของเขา เราต้องคุยกันให้มาก ตั้งแต่เรื่ององค์ความรู้ เรื่องภูมิปัญญา เรื่องอะไรต่างๆ อะไรที่เราทำมากัน มันสมควรจะทำ แต่รับรองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะทำสำเร็จง่ายๆ ในเวลานี้"

 

"บางทีความสำเร็จอาจไม่ได้อยู่ที่ล้มเลิกโครงการ แต่อยู่ที่ชาวบ้านลุกขึ้นสู้ด้วยตนเอง"

 

"ใช่ ในที่สุดแล้วต้องเป็นชาวบ้านลุกขึ้นสู้เอง"

 

"แต่มาถึงตอนนี้ ทางการจีนก็ยังพยายามจะรุกเข้ามา ยังอยากจะทำการระเบิดแก่งอยู่?"

 

"แล้วถ้าหากทางจีนยังไม่หยุด ยังเดินหน้าระเบิดแก่งต่อไปละ..."

 

"มันก็คงคิดว่ามันจะต้องทำ แต่เราก็บอกว่าเราไม่ได้กลัว แล้วก็ไม่รู้นะ เราไม่ให้ทำคนเดียว ถ้ามาก็เจอกันแน่ ถ้าชาวบ้านเอาด้วย พี่น้องที่เดือดร้อนเอาด้วย มันจะพูดขนาดไหนก็ช่าง เอากันเลย และผมจะใช้วิธีการเคลื่อนไหวแบบยอมตาย อันนี้เป็นขั้นตอนสุดท้าย ถ้าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ให้มันรู้เสียบ้างว่า มันจะเดินหน้าต่ออีกมั้ย" เขาเอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและจริงจัง 

 

ใช่ เขาบอกว่า การต่อสู้เคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายของเขา คือการต่อสู้ด้วยอหิงสา หรือทฤษฎีที่คิดขึ้นเองว่า "ทฤษฎีรบกวนหัวใจ" นั่นคือ หากในอนาคต รัฐบาลไทยยังเห็นดีเห็นงามกับรัฐบาลจีนให้มีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เขาบอกย้ำว่า พร้อมจะพลีชีพด้วยการนำร่างตัวเองผูกติดกับแก่งกลางแม่น้ำโขง

 

นั่นถือได้ว่า เป็นแนวทางการต่อสู้แบบมหาตมะ คานธี ผู้ใช้แนวทางอหิงสา อดข้าวประท้วงเรียกร้องเอกราชอินเดีย จากอังกฤษ และรวมไปถึงวิธีการของขบวนการเคลื่อนไหว แบบ กรีนพีซ ยกตัวอย่าง กรณี สมาชิกของกลุ่มกรีนพีซ ผู้ซึ่งใช้โซ่มัดตัวเองกับเรือสำรวจแผ่นดินไหวของบริษัทน้ำโคโนโค ซึ่งการเคลื่อนไหวเช่นนี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการรณรงค์ของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกรีนพีซ เพื่อหยุดยั้งการสำรวจขุดเจาะน้ำมันที่ได้ส่งผลกระทบทำให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไป

 

"ถ้าถามว่าจะสำเร็จหรือเปล่า ผมไม่รู้หรอก ถ้าตายไปแล้ว มันก็ยังมีคนคิดต่ออีก โลกนี้มันก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่ผมจะย้ำกับทุกคนเสมอว่า จงเคารพในธรรมชาติและความเท่าเทียมกันของมนุษย์"เขากล่าวทิ้งท้าย

 

ล่าสุด สำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลปักกิ่ง โดย Mr.Huang Junxion ผู้อำนวยการ Information Office of the State Council พร้อมด้วยสำนักข่าวสารของมณฑลยูนนาน นำตัวแทนคณะสื่อมวลชน-นักเขียนจีนหลายสำนักข่าวกว่า 50 ชีวิต ล่องเรือมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 17-23 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เดินทางมาศึกษาสำรวจเส้นทางคมนาคมแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง สู่อินโดจีน เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ/การเดินเรือในแม่น้ำโขง รวมถึงการเปิดเส้นทางการค้า - การลงทุน-การท่องเที่ยวจีน-ไทย ผ่านแม่น้ำโขงนั้น

 

ซึ่งประเด็นการต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวคงจะไม่จบลงอย่างง่ายๆ  และไม่มีใครรู้ว่าในอนาคต เหตุการณ์การต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนเพื่อพิทักษ์แม่น้ำโขงนั้นจะจบลงเช่นไร!?

 

และนี่เป็นคนท้องถิ่นเล็กๆ อีกคนหนึ่ง ที่ได้ออกมาเรียกร้องในด้านสิทธิชุมชน การปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง โดยเริ่มจากกระบวนการการเรียนรู้ ด้วยภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่เดิม ผสมผสานกับการดำเนินการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในระดับประเทศและสากล โดยมีการนำวิทยาการความรู้สมัยใหม่ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุชุมชน เวบไซต์ ฯลฯ มาเป็นพลังขับเคลื่อนให้สาธารณะให้สายตาสังคมชาวไทยและชาวโลกได้รับรู้.

 

 

.................................................................................

 

 

ข้อมูลประกอบ

http://www.searin.org/Mekong.htm

สำนักข่าวประชาธรรม,สำนักข่าวประชาไท,หนังสือพิมพ์มติชน

ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงตอนบน :การหายไปของปลา,อรรคพล สาตุ้ม,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,มี.ค.2548

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่/ขบวนการเคลื่อนไหวประชาสังคมในต่างประเทศ : บทสำรวจพัฒนาการสถานภาพและนัยยะเชิงความคิด/ทฤษฎีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย,ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร,2540

 

 

 

 

โครงการ Visibleman 2006

 

คือการมองย้อนหลังในระยะเวลา 1 ปี

และค้นหาคนที่เรา "ประชาไท" เห็นเด่นชัดที่สุด

 

Visibleman ของเรา ไม่ใช่ข้อสรุปจากผลการศึกษา มิใช่ผลงานทางวิชาการ หรือการวิจัยใดๆ

แต่เราปรารถนาให้ผู้อ่านเห็นถึงนัยที่เราเลือก

กระบวนการเลือก กระบวนการการทำงาน การถกเถียง ตลอดจนการหาข้อสรุปของเรา

 

เพราะเหตุนี้ เราจึงตระหนักดีว่า

ความน่าเชื่อถือและพลังของการเลือกบุคคลผู้ที่จะเป็น Visibleman ของเรานั้น อยู่ที่เราแต่ละคน

ยิ่งเราแต่ละคนเติบโตขึ้นเท่าไร ลุ่มลึกมากเท่าใด

ความน่าเชื่อถือในโครงการ Visibleman ก็มากขึ้นเท่านั้น

 

เราปรารถนาให้โครงการ Visibleman ได้แสดงถึงความอ่อนด้อยของเรา

ตลอดจนการเติบโต ความรู้ของเรา และรายงานต่อผู้อ่านอย่างซื่อตรง

 

กล่าวอีกอย่างก็คือ

โครงการ Visibleman

ไม่ใช่เพียงเพื่อการเสนอนัยของ "บุคคลที่เราเห็น" ในปีที่ผ่านมา

หากแต่ยังหมายถึงการรายงานพัฒนาการของเราต่อผู้อ่านด้วย

 

…………………………….

 

Visibleman 2006 ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ "ประชาไท" เสนอชื่อ

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549

ก่อนจะจัดทำข้อเสนอ ความเห็น ข้อมูล เพื่อร่วมถกเถียงหาข้อสรุป

ในวันที่ 18 ธันวาคม 2549

และทยอยนำเสนอต่อผู้อ่าน

ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549

จนไปสิ้นสุดที่รายชื่อผู้ที่สมควรเป็น Visibleman 2006 ของ "ประชาไท"

ในวันที่ 4 มกราคม 2550

โดยมีรายชื่อพร้อมผู้เสนอ ดังนี้

 

 

รายชื่อ  Visibleman 2006  และผู้เสนอ

 

กษัตริย์ คเยนทรา วีระ วิกรม ชาหะเทวะ    เสนอโดย  พงษ์พันธุ์  ชุ่มใจ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์   เสนอโดย  ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข และ
    พิณผกา  งามสม
นวมทอง ไพรวัลย์ เสนอโดย  มุทิตา  เชื้อชั่ง
จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอโดย  ภาพันธ์  รักษ์ศรีทอง
จูหลิง ปงกันมูล เสนอโดย  มูฮัมหมัด  ดือราแม
อังคณา นีละไพจิตร เสนอโดย  นัดดา  มะลี
น้องเดียว - ด.ช.พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ เสนอโดย  เสาวภา  พุทธรักษา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เสนอโดย  อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา
ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เสนอโดย  องอาจ  เดชา
พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร เสนอโดย  วิทยากร  บุญเรือง
สุรพล นิติไกรพจน์ เสนอโดย  จิรนันท์  หาญธำรงวิทย์ 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอโดย  พิณผกา  งามสม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสนอโดย  พิณผกา  งามสม

จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

เสนอโดย  ตติกานต์  เดชชพงศ

 

……………………………..

 

 

โครงการ Visibleman 2006
ดำเนินการถกเถียง แลกเปลี่ยน และหาข้อสรุป
โดย รุจน์ โกมลบุตร
คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการประชาไท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท