หมอไร้พรมแดนกร้าว สหรัฐอย่าขวางรัฐบาลขิงแก่ใช้มาตรการผลิตยาถูกให้ผู้ติดเชื้อ

ประชาไท - 6 ม.ค.2550 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.49 องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ได้ทำจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการกระทำใดๆ ที่เป็นการขัดขวางและกดดันรัฐบาลไทยให้หยุด "การบังคับใช้สิทธิ" เพื่อนำเข้าและผลิตยาต้านไวรัส efavirenz ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์จำนวนหลายหมื่นคนเข้าถึงยาที่มีราคาถูกลงได้ โดยการใช้มาตรการนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

 

รายละเอียดของจดหมายมีดังนี้ ....  

 

 

นิวยอร์ค, 29 ธันวาคม 2006

 

เรียน ดร.กอนโดลิซ่า ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ เอกอัครราชทูต ซูซาน ชว็อปป์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ 

 

เราเขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงท่านเพื่อแสดงความกังวลขององค์การหมอไร้พรมแดน(Doctors Without Borders/Medecins Sans Frontieres (MSF)) ต่อการที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แทรกแซงการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่ประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อนำเข้าและผลิตยาต้านไวรัส efavirenz และเพื่ออธิบายเหตุว่า ทำไมสหรัฐฯจึงควรยุติการกระทำดังกล่าว

 

จากรายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯได้ขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร ก่อนที่จะประกาศบังคับใช้สิทธิ ทั้งที่การกระทำดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้ในกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) ในกรณีที่เป็นการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ หรือแม้แต่ในกฎหมายของสหรัฐก็ไม่ได้ระบุไว้

 

สิ่งที่ WTO ระบุไว้ คือ หากจะประกาศบังคับใช้สิทธิ ประเทศไทยจะต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิทราบโดยไม่ชักช้า ซึ่งประเทศไทยได้ทำไปแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯไม่ควรยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในของประเทศไทยกับผู้ทรงสิทธิ ตราบเท่าที่ประเทศไทยปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (Trade-related Aspects of Intellectual Property - TRIPS) ขององค์การการค้าโลก

 

เมื่อ พ.ศ.2544 รัฐบาลสหรัฐและประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก ได้ประกาศการลงนามคำประกาศโดฮาว่าด้วยทริปส์และการสาธารณสุข (the Doha Declaration on TRIPS and Public Health) ข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ระบุว่า

 

"รัฐมนตรีเห็นพ้องว่า ความตกลง TRIPS จะต้องไม่ห้ามและไม่ควรที่จะขัดขวางประเทศสมาชิกที่จะใช้ มาตรการเพื่อปกป้องสาธารณสุขของประเทศสมาชิก เพื่อเน้นย้ำข้อผูกพันตามความตกลง TRIPS ในเรื่องดังกล่าว ประเทศสมาชิกยืนยันว่า ความตกลง TRIPS ควรตีความและนำไปปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนสิทธิของประเทศสมาชิก/ส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชนโดยรวม

 

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกขอยืนยันอีกครั้งถึงสิทธิของประเทศสมาชิกที่จะใช้มาตรการในความตกลง TRIPS ได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์ ซึ่งความตกลงดังกล่าวได้ให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศสมาชิกในการนำ มาตรการไปปฏิบัติ"

 

ประเทยไทยกำลังพยายามทำในสิ่งที่ระบุไว้ในคำประกาศโดฮาว่าสามารถทำได้ การเคารพการตัดสินใจ ของประเทศไทยที่จะทำตามสิทธิในคำประกาศโดฮามีความสำคัญสำหรับความกังวลเร่งด่วนของผู้ป่วยในประเทศไทยที่ต้องการยาต้านไวรัสราคาถูก

              

ยาเอฟาไวเร้นซ์ (efavirenz) ซึ่งได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลกในการรักษาไวรัสเอชไอวี/เอดส์

มีสิทธิบัตรในประเทศไทย และการผูกขาดดังกล่าวสร้างผลกระทบทั้งอุปทานและการเข้าถึงยาดังกล่าวของประเทศไทย บริษัท Merck ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตร คิดค่ายา efavirenz กับกระทรวงสาธารณสุขไทย (1,400 บาท/เดือน—$39) แพงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับราคายาชื่อสามัญจากอินเดีย (650 บาท/เดือน— $18) ยิ่งไปกว่านั้น

 

หลายครั้งที่บริษัท Merck ไม่สามารถจัดส่งยาในประเทศไทย ประมาณการตัวเลขผู้ที่ต้องใช้ยา efavirenz

ในไทยอย่างน้อย 12,000 คน แต่จากราคาและปัญหาของอุปทาน ทำให้ผู้ที่เข้าถึงยาได้จริงมีจำนวนน้อยมาก

              

องค์การหมอไร้พรมแดน ทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ ค.ศ. 1976 และเริ่มโครงการให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่

ค.ศ. 2000 เราเห็นพัฒนาการของโครงการรักษาโรคเอดส์ในประเทศไทย การผลิตยาชื่อสามัญเป็นปัจจัยสำคัญในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย ก่อนหน้าที่ไทยจะผลิตยาชื่อสามัญได้ ราคายาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานแพงกว่า 33,000 บาทต่อคนต่อปี (US $924) ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพียง 3,000 คนเท่านั้นที่ได้รับการรักษาในขณะนั้น

 

ต่อมาในปี ค.ศ.2002 ประเทศไทยได้ผลิตยาต้านไวรัสชื่อสามัญชนิดเม็ดรวม ทำให้ค่ารักษาลดลงไปมากถึง 18 เท่า และทำให้ปัจจุบันนี้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 85,000 รายได้รับการรักษา โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) รายงานระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงประเทศเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วยเอดส์ได้มากกว่าครึ่งของผู้ที่ต้องการการรักษา

 

ทั้งองค์การอนามัยโลก (สิงหาคม 2005) และธนาคารโลก (สิงหาคม 2006) คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาในไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผู้ติดเชื้อฯที่ดื้อยาต้านฯสูตรพื้นฐานจะต้องเปลี่ยนสูตรยาไปสู่ยาใหม่และแพงกว่า ซึ่งทั้งสององค์กรได้แนะนำให้ใช้มาตรการปกป้องสาธารณสุขในคำประกาศโดฮาว่าด้วยทริปส์และสาธารณสุข

 

การประกาศและดำเนินการบังคับใช้สิทธิเพื่อการนำเข้าและผลิตยา efavirenz จะช่วยเพิ่มอุปทานและทำให้ราคาลดต่ำลงซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยไทยมาก การสร้างการแข่งขันยาชื่อสามัญของยา efavirenz

และยาต้านไวรัสใหม่ที่ติดสิทธิบัตรในไทย และตลาดอื่นๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดูแลผู้ติดเชื้อฯที่โดยธรรมชาติจะดื้อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานเมื่อใช้ไปสักพัก เช่นเดียวกับมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขยายการรักษาผู้ติดเชื้อฯ

 

การตัดสินใจของประเทศไทยมีผลลัพธ์สำคัญอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่ต้องการยาชื่อสามัญราคาถูก ถ้าประเทศไทยเริ่มซื้อยาจากผู้ผลิตยาชื่อสามัญจะทำให้ตลาดยาชื่อสามัญใหญ่ขึ้น สร้างการแข่งขันและลดราคายาใหม่ๆในทุกๆที่

 

ขณะที่ผลประโยชน์จากการแข่งขันของยาชื่อสามัญเป็นเรื่องน่ายินดีในวงกว้าง แต่ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศไม่เต็มใจที่จะบังคับใช้สิทธิ เพราะประเทศเหล่านี้กลัวว่ารัฐบาลสหรัฐจะต่อต้านและกดดันการกระทำดังกล่าว เราขอให้รัฐบาลสหรัฐฯยุติการกระทำใดๆ ที่เป็นการต่อต้านหรือแทรกแซงความพยายามของประเทศไทยที่จะใช้มาตรการยืดหยุ่นขององค์การการค้าโลกเพื่อซื้อยาต้านไวรัสชื่อสามัญ

รวมทั้งยุติการกดดันหรือโน้มน้าวให้รัฐบาลไทยต้องเจรจากับบริษัท Merck แทนที่จะเดินหน้าบังคับใช้สิทธิตามที่ประกาศไปแล้ว

 

ขอแสดงความนับถือ

 

นิโคลาส เดอ ทอร์เรนเต

ผู้อำนวยการองค์การหมอไร้พรมแดน สหรัฐ

 

พอล คอว์ธอร์น

ผู้อำนวยการองค์การหมอไร้พรมแดน

เบลเยี่ยม (ประเทศไทย)






 


มาตรการบังคับใช้สิทธิสำคัญกับหลายแสนชีวิตอย่างไร ?


 


 


สัมภาษณ์- นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์


 


 


มาตรการบังคับใช้สิทธิคืออะไร


การบังคับใช้สิทธิ หรือ  Compulsory License  (CL) เป็นมาตรการหนึ่งในกฎหมายสิทธิบัตรที่เป็นเครื่องมือของรัฐที่จะถ่วงดุลระหว่างเจ้าของสิทธิบัตรกับประชาชนผู้บริโภค


 


ของอันไหนที่มันติดสิทธิบัตรแล้วทำให้คนเข้าไม่ถึง คนใช้ไม่ได้อันเนื่องจากมันมีน้อย ขาดแคลน แพง แต่มันมีความสำคัญมีความจำเป็นต้องใช้ เช่น กรณียาต้านไวรัส ไม่ใช้ก็ตาย ในกฎหมายสิทธิบัตรก็บอกว่ารัฐบาลมีสิทธิไปเอาของที่ติดสิทธิบัตรมาผลิตแล้วขายในราคาถูกหรือให้ฟรีก็แล้วแต่รัฐ ถ้ารัฐผลิตเองไม่ได้ก็ให้คนอื่นผลิตแทนได้ เป็นการใช้สิทธิแทนรัฐ


 


กฎหมายไทยมีเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่


ในกฎหมายของเรามีมาตั้งแต่ปี 2528 ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในเรื่องเอดส์ ชมรมเภสัช กลุ่มศึกษาปัญหายา ฯลฯ ก็อยากจะให้รัฐบาลไทยใช้ แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ใช้ จนกระทั่งปัญหาเอดส์มันโดดเด่นขึ้นมาทำให้เห็นว่ายาหลายตัวที่จำเป็นต่อผู้ป่วยเอดส์มันติดสิทธิบัตร ราคาแพงมาก แล้วรัฐก็ไม่ยอมใช้


 


ทำไมรัฐไม่ยอมใช้มาตรการนี้


ภาครัฐจะอ้างตลอดว่า คุณกำลังจะทำให้เสียบรรยากาศการค้า การลงทุน การคิดค้นเรื่องใหม่ๆ เพราะถ้าใครคิดอะไรขึ้นมาแล้วคุณไปเอาของเขามาผลิตขายในราคาถูกมันจะทำให้เสียบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศที่เป็นต้นสังกัดของบริษัทยาข้ามชาติเหล่านั้น โดยเฉพาะอเมริกา


 


ขณะเดียวกันในอีกภาพหนึ่ง ในอเมริกาใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิมากกว่า 20 ครั้งแล้วในหลายๆ เรื่องรวมถึงเรื่องยาต้านไวรัสที่ติดสิทธิบัตรในอเมริกาเองด้วย


 


ไปยังไงมายังไง ประเทศไทยถึงเริ่มใช้มาตรการนี้ได้เป็นครั้งแรก


กรณีเรื่องยาเอดส์ เราก็เรียกร้องว่ายาพวกนี้จำเป็น มันจะช่วยเซฟเงินแล้วทำให้คนได้ใช้ยามากขึ้น ช่วงครั้งแรกที่เราประท้วงให้ทำเรื่องนี้ในสมัยที่ กร ทัพพะรังสี เป็นรมว.สาธารณสุข ก็ไม่ใช้ มาสมัยชวน หลีกภัยก็ไม่ใช้ จนกระทั่งช่วงแรกของทักษิณก็ยังไม่ยอมใช้ มาถึงช่วงพินิจ จารุสมบัติ เป็นรมว.สาธารณสุขก็ยังไม่ยอมเซ็นให้ใช้ แม้ว่าตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ในคณะกรรมการระบบหลักประกันสุขภาพจนมีมติให้ใช้มาตรการนี้แล้วก็ตาม


 


เพิ่งมาได้ทำในสมัยหมอมงคล ณ สงขลา (รมว.สาธารณสุขคนปัจจุบัน) นี่เอง จนกระทั่งมีจดหมายขององค์การหมอไร้พรมแดนที่ออกมา เพราะมันก็มีสัญญาณคล้ายๆ กับว่าอเมริกาไม่ค่อยพอใจ ทำไมถึงใช้มาตรการนี้ ทำไมไม่เจรจากัน ขอให้เขาลดราคาก่อน ทูตสหรัฐก็มีการขอเข้าพบรัฐมนตรีสาธารณสุข พาณิชย์


 


เวลาจะบังคับใช้สิทธิต้องทำยังไง


ก่อนประกาศบังคับใช้สิทธิต้องมีกติกาชัดเจนเช่น ต้องมีช่วงเวลาที่ชัดว่าจะใช้กี่ปี จะใช้ในปริมาณแค่ไหน แล้วต้องกำหนดด้วยว่า รัฐจะจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของสิทธิเท่าไร ซึ่งโดยทั่วไปก็ตั้งแต่ 1-3% ของราคาต้นทุนของจำนวนของที่ผลิต เมื่อแจ้งไปยังเจ้าของสิทธิแล้วถ้าเขาไม่พอใจก็อุทธรณ์ได้ กฎหมายก็เปิดช่องให้เขาอุทธรณ์กับอธิบดีกรมทรัพย์สิน แล้วอธิบดีก็จะเรียกมาพิจารณาหาค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ถ้ายังตกลงไม่ได้ก็ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาพิจารณาต่อไป กฎหมายก็เขียนไว้คลอบคลุมว่าต้องชัดเจน ไม่ให้รัฐไปรังแกเอกชน


 


แล้วเรากำหนดกรณีนี้ไปเท่าไร เริ่มประกาศบังคับใช้สิทธิเมื่อไหร่


เราได้แจ้งไปว่าจะทำการผลิต 5 ปี ผลิตประมาณ 500,000 กว่าขวด จ่ายค่าธรรมเนียมให้ 0.5% และประกาศไปแล้วเมื่อ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตอนนี้ให้องค์การเภสัชดำเนินการผลิต แต่ว่าช่วงนี้ยังผลิตไม่ได้ ก็ใช้วิธีไปเอาเข้ามาจากอินเดีย


 


เรียกว่าตกลงกันได้แล้ว


มันไม่ใช่เรื่องตกลง แค่แจ้งไป กฎหมายไม่ได้บอกว่าต้องขออนุญาตบริษัท


 


ราคาถูกกว่ากันเยอะไหม


ถูกกว่ากัน 2-3 เท่า จากราคาประมาณ 2,000 บาทต่อเดือนต่อคน ของอินเดียเหลือประมาณ 700


 


ยาตัวนี้มีคนต้องใช้ประมาณเท่าไร


ปัจจุบันคนที่ใช้อยู่แล้วมีประมาณ 10,000-15,000 คน แต่ถ้าราคายามันถูกลง มันก็จะได้ใช้เป็นสูตรพื้นฐานสำหรับทุกคนที่จะเริ่มกินยาต้านไวรัส เพราะมันมีประสิทธิภาพยาที่องค์การผลิตได้ในปัจจุบัน (จีพีโอเวียร์) ที่มีผลให้ดื้อยาง่ายและอาจมีอาการแพ้รุนแรง


 


แล้วทำไมเลือกอันที่มีประสิทธิภาพไม่ค่อยดีมาเป็นตัวพื้นฐานให้ผู้ติดเชื้อ


เพราะ efaviranz มันแพงเพราะติดสิทธิบัตร เลยต้องเอาไว้เป็นสูตรทางเลือกหรือสูตรสำรองในคนที่แพ้สูตรพื้นฐาน ปัจจุบันก็มีคนเปลี่ยนมาประมาณหมื่นกว่าคนอย่างที่บอก


 


ตอนนี้เรามีผู้ติดเชื้อประมาณเท่าไร


น่าจะอยู่ที่ 700,000-800,000 คน คนที่ป่วยต้องกินยาแล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 80,000-100,000 บาท คนที่จำเป็นต้องเริ่มยาใหม่แต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 20,000 คนแล้วก็เป็นตัวเลขสะสมไปเรื่อยๆ


 


การล็อบบี้กันทางการเมืองจะมีผลกระทบ หรือไปขัดขวางการบังคับใช้สิทธินี้ไหม


คิดว่าไม่มี หรืออาจจะมีก็ได้ถ้านักการเมืองเกิดไม่กล้าขึ้นมา ไปเดินตามก้นอเมริกา


 


แล้วผลที่เกิดขึ้นตอนนี้เมื่อมีการบังคับใช้สิทธิแล้วเป็นยังไงบ้าง


พอเราประกาศใช้มาตรการนี้แล้ว บริษัทอื่นก็กลัวว่าเราจะใช้มาตรการเดียวกันยาของบริษัทเขาด้วย ก็เริ่มมีการเจรจาต่อรองราคายากันขึ้นมา บริษัทพร้อมจะลดราคาให้ถูกลงกว่านี้ อันนี้เป็นปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากการบังคับใช้สิทธิ ถ้ารัฐบาลไทยไม่แข็งขันว่าจะทำ เราก็ไม่มีอำนาจต่อรอง พอเราเอาจริงพยายามจะทำให้มากขึ้นกับตัวอื่นๆ ที่จำเป็น บริษัทยาก็แห่มาขอเจรจาเรื่องราคา ผมว่านี่เป็นเรื่องดีที่เรามีอำนาจต่อรอง แต่เราก็ต้องรู้จักใช้อำนาจว่าจะผลิตตัวไหนต่อ ราคายาที่เหมาะสมเป็นธรรมคือเท่าไร


 


ในต่างประเทศใช้มาตรการนี้กันมากน้อยแค่ไหน


มาเลเซีย อินโดนีเซียใช้แล้ว ใช้มาก่อนเราเกือบ 2 ปี  ในอินเดียยังไม่ใช้ แต่อินเดียผลิตยาสูตรพื้นฐานได้เยอะแล้ว ไปไกลกว่าเรามาก ในอเมริกาก็ใช้มาตรการนี้บ่อย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท