ความแตกต่างระหว่างพยานและหลักฐาน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย ซาเสียวเอี้ย

 

ทีแรกตั้งใจจะชวนคุยถึงหนังไทยเรื่อง "มากับพระ" ที่ (เหมือนว่าจะ) เป็นหนังตลกต้อนรับปีใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ดีๆ ก็มีระเบิดตกลงมากลางห้วงแห่งความหวาดระแวงและจับมือใครดมไม่ได้ เรื่องที่อยากพูดถึงก็เลยเปลี่ยนประเด็นไปโดยปริยาย…

 

000

 

 

ใครบางคนบอกไว้ว่า "หลักฐาน" ไม่เคยโกหก และแตกต่างจาก "พยานบุคคล" ตรงที่มันไม่มีอคติที่จะมาเบี่ยงเบนการตัดสินคดีหรือเหตุการณ์ต่างๆ  

 

ใครคนนั้นก็คือ "กิล กริสซัม" (William Peterson) ชายร่างท้วม หนวดเคราเฟิ้ม หัวหน้าทีมนิติวิทยาศาสตร์ในลาสเวกัส ผู้ลุ่มหลงในกีฏวิทยาและทุกๆ เรื่องที่ยังค้นหาคำตอบไม่ได้

 

เขาคือตัวละครสำคัญของซีรีส์ยอดฮิต CSI: Crime Scene Investigation ที่ฉายมาได้ 5 ปีกว่าและยังคงความแรงไม่มีตก

 

หน้าที่ของกริสซัมและลูกทีมซีเอสไอ คือการเข้าไปเก็บร่องรอยหรือหลักฐานในบริเวณ "ที่เกิดเหตุ" ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นก็เอาสิ่งที่รวบรวมได้ทั้งหมดไปวิเคราะห์ออกมาเป็นข้อมูลสนับสนุนการทำงานของตำรวจ เพราะเศษเนื้อ ลายนิ้วมือ หรือวัตถุแปลกปลอมเล็กๆ น้อยๆ ที่เก็บได้ อาจกลายเป็นหลักฐานชี้ตัวผู้กระทำความผิดได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานบุคคล...

 

(คงไม่แปลกถ้าใครจะคิดถึงคุณหญิงหมอพรทิพย์ขึ้นมา เพราะการทำงานของทั้งสองคนคือหน้าที่เดียวกันนั่นแหละ)

 

จะว่าไป การดูซีเอสไอแทบไม่ต่างอะไรกับการติดตามผลงานของยอดนักสืบสก็อตแลนยาร์ดอย่าง เชอร์ล็อก โฮล์ม (หรืออาจจะเป็นการ์ตูนโคนันยอดนักสืบของญี่ปุ่น) ด้วยการดำเนินเรื่องที่ปูพื้นคนดูก่อนด้วยคดีหรือการฆาตกรรม เพื่อให้คนดูสงสัยใคร่รู้ว่า 1.ใครทำ 2.ทำอย่างไร 3.แรงจูงใจคืออะไร ซึ่งเป็นสูตรตายตัวของหนังประเภทนี้

 

แต่สิ่งที่ทำให้ซีเอสไอกลายเป็นซีรีส์ยอดนิยมไปทั่ว (ไม่เว้นแม้แต่เมืองไทย) คือการจับเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นตัวไขปริศนาของแต่ละคดี หาใช่เป็นแค่ "ความฉลาดเฉลียว" ของนักสืบเพียงคนเดียวแบบเมื่อก่อน

 

การพิสูจน์หลักฐานด้วยการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย รวมถึงการใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการจำลองรูปคดี ช่วยให้ซีเอสไอดูมีเหตุผลและมีน้ำหนักจับต้องได้

 

สำหรับแฟนพันธุ์แท้ของซีเอสไอ การสร้างตัวละครแบบ "มาเป็นทีม" ก็เป็นการเฉลี่ยให้คนดูมีตัวละครที่รักและเอาใจช่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีกด้วย…

 

ในที่สุด ซีเอสไอ ก็แตกหน่อไปเป็น CSI: Miami และ CSI: New York ตามกระแสความแรง และกระแสเรียกร้องของแฟนๆ ซีรีส์ชุดนี้ที่อยากให้มีตัวละครใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

 

000

 

ตอนที่ซีเอสไอออกฉายในระยะแรก สถานี AXN คาดหวังแค่ว่ามันน่าจะเป็นซีรีส์ฮิตเช่นเดียวกับ Alias ที่เป็นซีรีส์แนว Action-Thriller ซึ่งออกฉายก่อนหน้า แต่กลายเป็นว่าซีเอสไอได้สร้างปรากฏการณ์ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมอเมริกันไปเลย

 

ปรากกฏการณ์ซีเอสไอ หรือ CSI Effect ในอเมริกา ส่งผลให้คณะลูกขุนจากหลายๆ คดี ขอผลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณาคดีในชั้นศาลด้วย

 

คณะลูกขุนให้เหตุผลเดียวกับที่ กิล กริสซัม เคยว่าไว้ นั่นคือ "หลักฐาน" ไม่โกหก ไม่บิดเบือน และไม่หวาดกลัวต่อการถูกคุกคามจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของคดี ในขณะที่พยานบุคคลอาจมีคุณสมบัติที่ว่ามาครบถ้วนทุกประการ

 

ในปีที่ 2 ที่ซีเอสไอออกฉายทางทีวี คณะที่เปิดสอนเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของวัยรุ่นอเมริกัน และเหตุผลที่วัยรุ่นหันมาเรียนด้านนี้มากขึ้นก็เพราะว่า "มันเท่ดี"

 

จากเดิมที่เคยมีคนเลือกเรียนปีละไม่ถึง 10 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยกว่าคน จนมหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องเพิ่มงบให้กับคณะที่เปิดสอนทางด้านนี้

 

ส่วนผลกระทบที่ตามมาถึงเจ้าหน้าที่ซีเอสไอตัวจริงก็คือ "ความคาดหวัง" อันหนักอึ้งที่พลเมืองอเมริกันทุ่มเข้าใส่แบบไม่ยั้งมือ

 

ตามข่าวที่บีบีซีเคยรายงานไว้ เจ้าหน้าที่ซีเอสไอของอเมริกามักถูกต่อว่าจากญาติผู้เสียหาย หรือไม่ก็เจ้าของคดี เพราะพวกเขาคิดว่าการทำงานของซีเอสไอควรจะรวดเร็วกว่านี้ (เหมือนอย่างที่เคยเห็นในโทรทัศน์) ทั้งที่เครื่องไม้เครื่องมือที่รัฐมีให้ ไม่ได้ไฮเทคสมบูรณ์แบบเหมือนในซีรีส์เลยสักนิด

 

ในความเป็นจริง กองพิสูจน์หลักฐานหรือหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ ค่อนข้างจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยซ้ำ เพราะบางครั้งรูปคดีที่ตำรวจสรุปก็ขัดแย้งกับหลักฐานที่พิสูจน์โดยซีเอสไอ ซึ่งหมายถึงว่าไม่ใครก็ใครจะต้องเป็นฝ่ายสรุปผิด แต่โดยทั่วไปแล้ว อำนาจการตัดสินใจหรือการออกหมายจับก็ยังอยู่ในมือตำรวจอยู่ดี

 

เรื่องแบบนี้...เป็นความคล้ายคลึงบางประการที่เกิดขึ้นในประเทศสารขัณฑ์เช่นกัน…

 

สุดท้ายเรื่องก็คงลงเอยว่าถึงแม้หลักฐานจะไม่มีวันโกหกเหมือนพยานบุคคล แต่เราก็ไม่มีวันรู้อยู่ดีว่า "คนเก็บหลักฐาน" ในโลกแห่งความจริงต้องทนต่อแรงเสียดทานประเภทไหนบ้าง

 

เพราะในโลกนอกจอทีวี นอกจากจะไม่มีหัวหน้างานแสนดีที่คอยปกป้องลูกน้องอย่างกริสซัม ไม่มีทีมงานที่กล้าหาญและสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวแบบพร้อมที่จะตายด้วยกันได้แล้ว พวกเขาก็เป็นแค่ปุถุชนเหมือนเรา

 

มีรัก มีโลภ มีหลง มีโกรธ มีหวาดกลัว

 

และพวกเขาก็มีชีวิตให้เสี่ยงแค่ชีวิตเดียว....

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท