Skip to main content
sharethis

ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเชียงใหม่ ร่วมกับนักวิชาการถกการปฏิรูปการเมืองและสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องดึงองค์กรชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารร่วมกัน ในขณะนักวิชาการเสนอถ้าจะปฏิรูปการเมือง ต้องปลดล็อคท้องถิ่น รัฐบาลฉลาดต้องวางแผนไม่ให้นักการเมืองโต แต่ต้องสร้างท้องถิ่นมาคานกับนักการเมือง

โดย องอาจ เดชา

 

 

 

ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเชียงใหม่ ร่วมกับนักวิชาการถกการปฏิรูปการเมืองและสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องดึงองค์กรชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารร่วมกัน ในขณะนักวิชาการเสนอถ้าจะปฏิรูปการเมือง ต้องปลดล็อคท้องถิ่น รัฐบาลฉลาดต้องวางแผนไม่ให้นักการเมืองโต แต่ต้องสร้างท้องถิ่นมาคานกับนักการเมือง

 

เป็นที่รู้กันว่า ในขณะนี้กำลังมีการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ คมช.ได้ล้มรัฐธรรมนูญ ปี 2540 นั้นทิ้งไป แน่นอนว่า รัฐธรรมนูญใหม่นี้จะสำเร็จหรือล้มเหลวหรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับสภาร่างฯ ว่าจะให้วางบทบาทอำนาจนิติบัญญัติ องค์กรอิสระ ภาคราชการ ภาคประชาชน ในแต่ละภาคส่วนเหล่านี้ให้มีความถ่วงดุลอย่างไร และจะทำอย่างไรถึงจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยไม่ถูกครอบงำและแทรกแซง รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งประเด็นเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งยังคงเป็นประเด็นปัญหาขัดแย้งกันอยู่ไม่รู้จับ

 

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ บ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

มีการจัดเวทีสัมมนา เรื่อง "ทิศทางชุมชนท้องถิ่นกับการปฏิรูปการเมืองและสังคม : มุมมองจากบทเรียนและประสบการณ์ของคนทำงานชุมชน" โดยมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การปรับทิศทางของชุมชนท้องถิ่นกับการปฏิรูปการเมืองและสังคมในอนาคต รวมทั้งเพื่อนำข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การร่างกฎหมายชุมชนท้องถิ่น

 

นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในฐานะนายก อบต.แม่ทา พอจะเรียนรู้และเห็นความแตกต่างหลายๆ อย่าง จากเดิมนั้นเป็นสภาตำบล แต่พอเปลี่ยนเป็น อบต.เริ่มเห็นความแตกต่าง คือ การพัฒนาและการปกครอง ไม่สอดคล้องกัน สุดท้ายคนที่สูญเสียก็คือชุมชน ซึ่งแต่ก่อนจะทำงานไปด้วยกัน ทั้งการปกครองและการพัฒนา และเกิดความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง พอเป็นรูปแบบ อบต. จะเห็นได้ว่า อบต.ไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วม จึงทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น คือ ต่างคนต่างทำงาน ในขณะที่องค์กรชาวบ้าน บางครั้งถ้าองค์กรท้องถิ่นไม่ให้การสนับสนุนก็ถือว่าเป็นการทำงานที่ลำบาก ทำให้งานที่ผ่านมาหยุดชะงัก

 

"ต่อมาเมื่อได้อาสาเข้าไปเป็นนายก อบต. งานที่เข้าไปเริ่มทำคือ ทำอย่างไรที่จะให้ชาวบ้าน และองค์กรท้องถิ่นสนับสนุนชาวบ้าน บางเรื่องต้องเป็นผู้นำ แต่บางเรื่องต้องเป็นผู้ตาม ทำงานเป็น 3 ระดับ คือ 1.ทำให้ผู้นำชุมชน องค์กรชาวบ้านกลับมาเหมือนเดิม 2.ทำให้เกิดสภาตำบลที่มีความเข้าใจของการทำงาน และ 3.ทำให้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน"

 

นายก อบต.แม่ทา ยังได้กล่าวถึงจุดเด่นของการทำงานของอบต.แม่ทา ที่ผ่านมาว่า ได้เน้นการขับเคลื่อนในเรื่องของฐานทรัพยากรในท้องถิ่น มีเครือข่ายทรัพยากรฯ เข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งมีทั้งเครือข่ายเกษตรยั่งยืน มีการขับเคลื่อนร่วมกัน โดยมีความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ อบต. องค์กรชาวบ้าน โดย อบต.เป็นผู้หนุนเสริม

 

ด้านการบริหารงานภายใน อบต.แม่ทา นายกนกศักดิ์ กล่าวว่า มีการกระจายเรื่องของการทำงาน ของสมาชิกอบต. โดยมีการตั้งคล้ายรัฐบาลเล็กๆ ภายในองค์กร มีรัฐมนตรีของการจัดการทรัพยากร อำนาจต่างๆ ก็กระจายสู่คนทำงานร่วมกัน

 

"เราสลายในกรอบของนิติบัญญัติ เราไม่มีฝ่ายค้าน ซึ่งเราจะมีการร่วมกันคิดกันในสภา เจ้าหน้าที่ด้านใน ตอนแรกเข้าไปก็จะมีปัญหาบ้าง ตอนแรกก็มีการต่อสู้กับพรรคการเมืองใหญ่ พอได้เข้าไป ก็มีเจ้าหน้าที่บางคนก็จะย้าย แต่พอเราเข้าไปทำงาน ก็มีการปรับตัว ทั้งปลัด อบต. และเจ้าหน้าที่ส่วนโยธา ก็มานั่งคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เจอกันครึ่งทาง เอาความเป็นไปได้คุยกัน มีการปรับทัศนคติให้เจ้าหน้าที่ที่พยายามปรับตัวเข้าหาชาวบ้าน เกิดการเรียนรู้ และมีการแบ่งงาน คือ 60 เปอร์เซ็นต์ทำงานหลัก 40 เปอร์เซ็นต์ทำงานร่วมกับชาวบ้าน มีการบริการถ่ายเอกสารฟรี พิมพ์ซองผ้าป่าฟรี ทำให้เจ้าหน้าที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน"

 

นายกนกศักดิ์ กล่าวอีกว่า แม้กระทั่งในส่วนของข้อบัญญัติรายจ่ายประจำปี เราพยายามดึงเอาองค์กรชาวบ้านมามีส่วนร่วมในการบริหาร คือ ถ้าชาวบ้านอยากจะทำ แต่บางอย่างถ้าทำไม่ได้ ดังนั้น ถ้าองค์กรปกครองท้องถิ่นจะทำ เราต้องกล้าที่จะถูกไล่ออก หรือตรวจสอบหรือไม่ เพราะในส่วนของการทำข้อบัญญัติต่างๆ ถือว่าเป็นการเรียนรู้ เราพยายามที่จะยกองค์กรชาวบ้าน สมาชิกบริหาร เรารู้อยู่ว่าจะทำอย่างไร มันอยู่ที่การบริหารของเรา เราตกลงกันแล้วว่าทุกคนมีทางออกของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการทรัพยากรฯ ภาคประชาชน มีทั้งเรื่องจิตสำนึก เราต้องเข้าถึง หากชาวบ้านพร้อมที่จะทำร่วมกันเรา เราก็พร้อมที่จะทำ ยกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือ การจัดการป่าของแม่ทา ก็มีการเขียนเป็นข้อบัญญัติ การออกข้อบัญญัติร่วมกับชาวบ้าน

 

"หลายๆ เรื่องที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าไม่ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ก็ถือว่าดีขึ้น แม้กระทั่งในเรื่องการจัดทำงบประมาณ ก็มีคณะกรรมการระดับตำบล ทั้งตัวแทนองค์กรชาวบ้าน สภาอบต. ตั้งงบประมาณร่วมกัน ซึ่งก็เห็นได้ว่าองค์การชาวบ้านเริ่มมีการตื่นตัวในการทำงานมากขึ้น" นายก อบต.แม่ทา กล่าวในตอนท้าย

 

นายจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนชนเผ่า กล่าวว่า ในส่วนของนักปกครอง ใครจะเปลี่ยนแปลงหรือต่อรองได้นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ซึ่งแต่ละ อบต.ถ้าจะมีการฟื้น จะแหกกฎหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับคนส่วนใหญ่ อบต.สามารถสร้างการเรียนรู้ให้ชาวบ้านมากขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะเสียเวลาไปมาก แต่ในระยะยาวได้ผลที่ดีในการสร้างการเรียนรู้ให้กับชาวบ้าน

 

ในขณะที่ นายอนุสรณ์ คำอ้าย ประธานสภา อบต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ประเด็นใหญ่ คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งควบคู่กับ อบต.เข้มแข็ง ปัจจุบัน ผู้ควบคุม คือ ข้าราชการประจำ และผู้บริหารบางคนขึ้นมาทำงานตอนแรกเป็นคนดี แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มที่จะเป็นปีศาจ พอจะลงจากอำนาจพวกเขาก็เริ่มมีเงินกันแล้ว และที่สำคัญ ฝ่ายบริหารนำ แต่สภาตามไม่ทัน และมีการคอรัปชั่นสูง

 

ด้านนายวิชิต เหว่ยเญอกู่ สมาชิก อบต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การได้เข้าไปอยู่ในอบต. ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง บางครั้งก็ค่อนข้างลำบากในการทำงาน ทางด้านการบริหารไม่ค่อยจะรับฟังความเห็นของสมาชิก อบต. ในเรื่องบางเรื่องถ้าเราไม่เห็นด้วย ก็ถูกบังคับให้เห็นด้วย

 

"ในตัวงบประมาณ ในส่วนของค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในส่วนของสำนักงาน สมาชิกเองก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปตรวจสอบงานบริหาร ร่างงบประมาณค่าใช้จ่ายไม่ได้มีการดูร่วมกัน ดูแต่ว่าหมู่บ้านของตัวเองจะได้จัดสรรงบประมาณเท่าไร แต่ไม่ได้ดูภาพรวม ปรากฏว่างบประมาณท้องถิ่น ครึ่งหนึ่งเป็นเงินค่าใช้จ่ายของสำนักงาน"

 

ทั้งนี้ นายสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) กล่าวว่า สถานการณ์ข้างหน้าซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมกันคิด จุดยืนของเราคือ ท้องถิ่น ซึ่งเราไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมกับส่วนกลาง ไม่เคยจะมองเห็นท้องถิ่น ถ้าย้อนเข้าไปในประวัติศาสตร์จะเห็นว่าท้องถิ่นมีการจัดการตัวเองโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ป่า ประเพณี วัฒนธรรม การศึกษา มีการจัดการกันเองในชุมชน

 

"แต่เดิมนั้น ท้องถิ่นมีการดูแลตัวเองมาโดยตลอด ต่อมาพอมีการพัฒนาเศรษฐกิจ เราก็ลำบากมาเรื่อยๆ เราไม่ได้รวย แต่เขาก็ต้องการใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัด และกระทั่งในขณะนี้ก็เกิดความยุ่งเหยิงมากขึ้น ตอนนี้ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง อะไรเข้าไปในหมู่บ้านก็รับเอาหมด จนทำให้เป็นหนี้สิน อัตราเฉลี่ยต่อครอบครัวละ 1แสน 2 หมื่นบาท ซึ่งหากทุนนิยมเข้าไป เราไม่ต่อต้านก็จะเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ เราต้องมีการวิเคราะห์มากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ใน จ. แม่ฮ่องสอน ถึงแม้รายได้ต่อคน จะต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ถ้าถามว่าคนแม่ฮ่องสอนมีความสุขไหม ตอบได้ว่า คนแม่ฮ่องสอนมีความสุข เปรียบเทียบกับคนกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ด้วยความแออัด ก็ไม่มีความสุข คนรวยก็ไม่มีความสุข"

 

นายสวิง กล่าวอีกว่า จะเห็นว่าในขณะที่เราสูญเสียท้องถิ่นของเราไป กลับมีการระดมระบบทุนเข้ามา ดังนั้น ทิศทางข้างหน้าเราควรจะทำอย่างไร หลายเรื่องในท้องถิ่นไม่เป็นอิสระ เรามีการปกครองทั้ง 3 ระดับ คือ ท้องถิ่น ภูมิภาคและส่วนกลาง ซึ่งในต่างประเทศเขามีแต่ ท้องถิ่น กับส่วนกลาง ซึ่งท้องถิ่น จะเป็นผู้หล่อเลี้ยงส่วนกลาง แต่ของเรา ท้องถิ่นรอรับการอุปถัมภ์จากส่วนกลาง ข้อเสนอก็คือ การปฏิรูปการเมือง ถ้าไม่ปลดล็อคท้องถิ่น ก็จะเป็นเหมือนเดิม เหมือนกันจิ๊กกุ่ง(จิ้งหรีด)ที่ถูกห้อยคอ และเสียบก้น ก็ไม่มีการปลดล๊อค ในที่สุดก็จะมีกระบวนการปลดแอก เมื่อใดถูกส่วนกลางบีบก็จะมีแรงต้าน ดังนั้น ท้องถิ่นต้องกำหนดระเบียบเองให้ได้ ซึ่งสมัยก่อนชุมชนของเรานั้นมีระเบียบของตนเองอยู่แล้ว

 

"ที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีการรวบ อบต. สิ่งที่เขาจะรวบได้คือ เขาจะด่าเราก่อนว่า คอรัปชั่น โกงกิน ไม่ซื่อสัตย์ แต่รัฐบาลส่วนกลางนั่นแหละที่คอรัปชั่น ดังนั้น สิ่งที่เสนอคือ ไม่มีส่วนภูมิภาคได้หรือไม่ ไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีนายอำเภอ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ทำอย่างไรที่ให้อำนาจรัฐน้อยลง แต่อำนาจส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ถ้ารัฐบาลฉลาดต้องวางแผนไม่ให้นักการเมืองโต แต่ต้องมีการสร้างท้องถิ่นมาคานกับนักการเมืองนี่อุตส่าห์มีการปฏิวัติ ดังนั้นต้องทำอะไรให้ดีกว่านี้"

 

ด้าน นายสุมิตรชัย หัตถสาร จากสภาทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การปกครองส่วนท้องถิ่น นั้นมีที่มาที่ไป คือ เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 มีการกระจายการปกครองให้ลงสู่ท้องถิ่นมากที่สุด แต่ว่ารูปแบบยังไม่มีแน่นอน มาตร 76 และหลายๆ มาตรา นำมาสู่การออกแบบ แต่สิ่งที่เราพลาด คือ เราไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่มีส่วนในการออกแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เราโยนกลับไปให้รัฐเป็นคนออกแบบ เขาก็เอารูปแบบเดิมมาทำ หลังจากมีกฎหมาย อบต.แล้ว มีพ.ร.บ.การกระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งสมาชิก สอบต. ค่อยทำไปแต่ละส่วน ซึ่ง 7-8 ปีที่ผ่านมาทำให้มี อบต. ครบหมด

 

"แต่ถ้ามองในแง่กฎหมาย ก็คือ คนท้องถิ่นถูกครอบงำ คือมีการลงไปผ่านกำกับของหัวคะแนน เพราะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เป็นสมาชิกสภา อบต. เอาเงินลงไป ใช้อำนาจการปกครองท้องถิ่นกำกับ ดูได้จากกรณีที่ไทยรักไทยได้ที่คะแนนเสียงที่ผ่านมา คือ ฐานของอำนาจการปกครอง ไปเอาเงื่อนของท้องถิ่นเป็นตัวสร้าง รูปธรรมในการปกครองเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขของสังคม พอนักธุรกิจคิดว่างบประมาณมีเท่าไร เอาตัวนี้ลงไปหาเสียงก็จะได้คะแนนเสียง"

 

นายสุมิตรชัย กล่าวอีกว่า ดังนั้น เราต้องกลับมาหาท้องถิ่น เราถูกครอบงำมาเป็นเวลานาน ท้องถิ่นเราต้องเข้มแข็งและมีการตรวจสอบ แต่มีกฎหมายมาล๊อคไว้หมด ข้อบัญญัติใครต้องเซ็น งบประมาณเสนอขึ้นไปใครต้องเซ็น ซึ่งต่อไปท้องถิ่นจะต้องมีการจัดเก็บงบประมาณเอง"

 

ตัวแทนสภาทนายความ กล่าวอีกว่า กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือในการใช้ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ด้วยว่าจะเอาไปทำยังไง 250 ภารกิจของท้องถิ่น ต้องโอนให้ อบต.ทั้งหมด ตั้งแต่ครู การศึกษา สาธารณสุข เคยไปตรวจสอบหรือไม่ว่าภารกิจที่โอนมานั้นเหลืออีกเท่าไร ที่ผ่านมายิ่งเพิ่มอำนาจมากขึ้น ยิ่งเพิ่มกลไกเข้ามากำกับทำให้ อบต.ขยับตัวยาก และเรื่องทรัพยากรฯ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อท้องถิ่น ซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้ชาวบ้านมาก เมื่อทุน หรือ นักการเมือง เข้ามาเบียดบังเอาทรัพยากรฯของท้องถิ่นไป สร้างความเดือดร้อนในท้องถิ่น วันนี้วันที่รัฐธรรมนูญไม่มีแล้วคนท้องถิ่นจะทำยังไง

 

"ฉะนั้น ถ้าเรากล้าพอที่จะยืนอยู่กับความถูกต้อง ถ้าเราอยากจะเป็นอิสระ เราต้องสู้ หากมีการยุบ เราก็จะกลับมาเหมือนเดิม ส่วนใหญ่จะไม่กล้าพอจะที่สู้ กลัวที่จะมีการไม่เห็นด้วย หลายพื้นที่นายอำเภอกร่างมาก ซึ่งทิศทางที่ผ่านมา กฎหมายเปิดช่องทางให้ เพียงแต่เราจะกล้าพอหรือไม่ ข้อเสนอก็คือ ความอิสระอยู่ที่ตัวเรา ซึ่งเรากล้าพอหรือไม่"

 

ทั้งนี้ ในเวทีสัมมนายังได้มีการสรุปประสบการณ์จากการทำงานในแต่ละพื้นที่ พร้อมเตรียมข้อเสนอไปยังสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเดินหน้าทำงานกันอยู่ในขณะนี้ว่าทำอย่างไร จึงจะให้รัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่ล้าหลัง หรือต้องดีกว่า ปี 2540

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net