Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ย้อนรอย 1ปีโบลิเวียในมือ "อีโว โมราเลส" ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงถล่มทลาย ผู้ยึดกิจการน้ำมันคืนจากบรรษัทข้ามชาติ ทวนกระแสแปรรูป ทำเอาอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เจ้าจักรวรรดิทุนนิยมหวั่นไหว และยังสร้างความเป็นปึกแผ่นในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ที่เตรียมต่อกรกับทุนนิยมเสรี

ที่มา : โลคัลทอล์ค

โดย สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์
ภาพจาก www.hoy.es

 

 

ช่วงกลางปี 2549 หนังสือพิมพ์ทั่วโลกต่างรายงานข่าวพุ่งเป้าไปที่ประเทศโบลิเวีย ประเทศในแถบละตินอเมริกาถึง "ประธานาธิบดีคนใหม่ และยังเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของโบลิเวีย ที่ผู้นำประเทศเป็นชนพื้นเมืองหรืออินเดียแดง ซึ่งกำลังเดินหน้า "ยกเครื่อง" กิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในโบลิเวียยกใหญ่ ด้วยการยึดทรัพยากรกลับคืนมาเป็นของชาติ หรือเป็นการทวงเอาผลประโยชน์เหล่านั้นกลับคืนมาให้แก่คนโบลิเวียนั่นเอง!"

ข่าวนี้ตกอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกในทันที ทั้งยังสร้างความตกตะลึงให้แก่บรรดานายทุน-บรรษัทข้ามชาติน้ำมัน ที่กำลังจะสูญเสียผลประโยชน์ขนานใหญ่จากกิจการน้ำมันในโบลิเวีย รวมไปถึงประเทศเสรีนิยมทั่วโลกที่มุ่งเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือโอนกิจการของชาติให้ไปอยู่ในตลาดทุนที่เสรีมากขึ้นต้องประหลาดใจอย่างมาก เพราะสิ่งที่ อีโว โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวียคนปัจจุบัน กำลังทำอยู่นี้ กลับสวนกระแสโลก และกระแสทุนนิยมอย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

 

โบลิเวีย : "บ้านเกิดมันฝรั่ง"

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโบลิเวียอยู่ในขณะนี้ คงต้องทำความรู้จักกับประเทศนี้เพิ่มเติมกันอีกสักเล็กน้อย...

โบลิเวีย (Bolivia) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐโบลิเวีย (Republic of Bolivia) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปอเมริกาใต้ มีอาณาเขตจรดประเทศบราซิลทางทิศเหนือ จรดประเทศปารากวัยทางทิศตะวันออก จรดประเทศชิลีและเปรูทางทิศตะวันตก และจรดประเทศอาร์เจนตินาทางทิศใต้

ปัจจุบันโบลิเวียมีประชากรประมาณ 9.1 ล้านคน (UN, 2005) โดยกว่าร้อยละ 70-80 เป็นชาวพื้นเมือง ซึ่งจากจำนวนนี้ทำให้โบลิเวียเป็นประเทศที่มีพลเมืองชาวพื้นเมืองมากที่สุดในภูมิภาค

ก่อนหน้า "กระแสการแปรรูปแบบทวนลูกศร" ในโบลิเวียจะเป็นข่าวครึกโครม ในมุมหนังสือวรรณกรรมเยาวชนตามร้านหนังสือที่บ้านเรา มีงานแปลชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ออกมาโดยสำนักพิมพ์มติชน ชื่อว่า "บ้านเกิดมันฝรั่ง (La tierra de las papas)" เป็นงานเขียนเชิงนวนิยายและอ้างข้อมูลข้อเท็จจริงบางส่วน เขียนโดย ปาโลม่า บอร์ดอนส์ วิศวกรด้านวิศวกรรมเทคนิคป่าไม้และนิรุกติศาสตร์ เขียนเรื่องนี้ขึ้นขณะที่ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในโบลิเวีย แปลโดย สถาพร ทิพยศักดิ์ (มิถุนายน, 2549)

ย่อหน้าหนึ่ง จากคำนำผู้แปล เขียนไว้ว่า "ภาพลักษณ์ของละตินอเมริกา คือ ภาพความยากจนของประชากรซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ความยากจนของผู้คนเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรแห่งความชั่วร้ายซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง"

นั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของชื่อหนังสือด้วย เพราะว่า "มันฝรั่ง หรือปาปาส เป็นอาหารของคนยากจนเนื่องจากมีราคาถูกและหาได้ง่าย (มีเพาะปลูกกันทั่วไป) และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งมิตรภาพ... (ของตัวละครหลักในหนังสือ)" แต่อย่างที่กล่าวกันไปแล้วนั้น ผู้อ่านหลายคนคงสงสัยว่าโบลิเวีย หรือบ้านเกิดมันฝรั่งแห่งนี้ กับคำว่า "ละตินอเมริกา" ทำไมถึงเป็นภาพลักษณ์ของความยากจนไปได้ล่ะ?

ต่อเรื่องนี้ คงต้องยอมรับกันในเบื้องต้นก่อนว่า ขณะที่สถานการณ์น้ำมันโลกผันผวนขึ้นลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ-การเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ล้วนส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงบรรษัทข้ามชาติที่ค้าน้ำมันทั้งหลาย ยังสามารถทำกำไรได้มากมายมหาศาล ถึงขนาดที่ว่าในบางช่วงที่มีการจำกัดการผลิตน้ำมัน ก็ทำให้ราคาขายน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมาก

แต่เมื่อหันกลับมามองความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง ประเทศที่มีฐานทรัพยากรมั่งคั่งแห่งหนึ่งของโลกอย่าง ประเทศโบลิเวียที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ประชากรกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนราว 9 ล้านคน มีรายได้ไม่ถึง 40 บาทต่อวัน อยู่ใต้เส้นวัดความยากจนของสหประชาชาติ ทั้ง ๆ ที่โบลิเวียมีแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวีปอเมริกาใต้1

เนื่องจากในยุคอาณานิคม ประเทศมหาอำนาจได้เข้ายึดครองโบลิเวีย และฉกฉวยประโยชน์ทรัพยากรเหล่านี้ไปอย่างมาก อีกทั้งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โบลิเวียก็ไม่ต่างไปจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่สนับสนุนการเปิดเสรีและการแปรรูปบริการสาธารณะให้เป็นของเอกชน ในโบลิเวีย กิจการทุกอย่างถูกแปรรูป ไม่เว้นแต่น้ำฝนหรือน้ำในแม่น้ำลำคลอง ในระหว่างปี 2531-2541 "ทำให้โบลิเวียมีอัตราการแปรรูปมากที่สุดในภูมิภาค"2

การแปรรูปดังกล่าว ทำให้โบลิเวียสามารถดึงดูดเงินลงทุนได้ในปริมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและการกีดกันทางสังคมภายในประเทศนี้ได้ ในช่วงปี 2542-2545 จำนวนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62 เป็น 65 ประเทศกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ของจีดีพีในปี 2540 เป็น 8.7 ในปี 2545 ในขณะที่งบประมาณสำหรับการศึกษาและสาธารณสุขลดลง

ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ประชาชนออกมารวมตัวกันที่ท้องถนน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยึดก๊าซธรรมชาติซึ่งถูกแปรรูปไปสู่เอกชนและนักลงทุนต่างชาติมากว่าทศวรรษคืนกลับมา...

แล้วหลายสิ่งหลายอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันเกิดขึ้นภายหลังจากนักการเมืองสังคมนิยม (ฝ่ายซ้าย) ซึ่งเป็นชาวอินเดียนแดงคนหนึ่ง รวมถึงเหล่ามิตรสหายเข้ามาสู่อำนาจในการบริหารประเทศนั่นเอง

 

โมราเลส - เปิดฉากภารกิจ "ยึด"

ปรากฏการณ์ "ยกเครื่อง" กิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในโบลิเวียใหม่แบบฉับพลันของ อีโว โมราเลส (Evo Morales) ประธานาธิบดีคนใหม่ วัย 46 ปี ก็เกิดขึ้น ซึ่งโมราเลสถือว่าเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์โบลิเวียที่ผู้นำประเทศเป็นชนพื้นเมือง (อินเดียนแดง) เขาได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2549

อีโว โมราเลส กล่าวถึงเหตุผลเบื้องหลังความยากจนของประชาชนในประเทศของตนว่า "เป็นผลมาจากการเอารัดเอาเปรียบ การฉกฉวยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่โบลิเวียมีอยู่ใต้ผืนมาตุภูมิของตนเองไปแบบหน้าตาเฉย ของบรรดาบริษัทต่างชาติตะวันตกที่เข้ามาในประเทศ"

ประธานาธิบดีชนพื้นเมือง เรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็น "การปล้นสะดมภ์" จากประชาชนโบลิเวีย เขาจึงแก้ปัญหาที่ว่านี้ ด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไป "ยึด" ที่ทำการของบริษัท โรงกลั่นและโรงแปรรูป และหลุมขุดเจาะน้ำมันรวมทั้งสิ้น 56 จุดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ยึดทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของรัฐ และประชาชนโบลิเวียอีกครั้งหนึ่ง

ในขณะเดียวกันก็ได้ให้เวลาบรรดาบริษัทต่างชาติทั้งหลาย 180 วัน เพื่อเปิดการเจรจา และทำสัญญาใหม่โดยที่บริษัททั้งหมดต้องถือหลักที่ว่าด้วย "การเคารพในเกียรติภูมิของชาวโบลิเวีย" โดยการให้ผลตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่อประชาชนเจ้าของประเทศอย่างเหมาะสม

ด้าน ลาร์รี่ เบิร์นส์ นักวิชาการจากสภากิจการภาคพื้นอเมริกาในวอชิงตัน เชื่อว่าสิ่งที่โมราเลส ทำลงไปเป็นเพียง "สัญลักษณ์" ของการทวงอำนาจอธิปไตยคืนมามากกว่าเหตุผลอื่นใด

"เพราะถึงที่สุดแล้วโบลิเวียก็จะยังคงต้องพึ่งพาทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีในการขุดเจาะ ลำเลียง พลังงานทั้งหลายออกมาสู่ตลาด เพราะไม่เพียงแค่โบลิเวียมีก๊าซธรรมชาติมหาศาลแล้ว โบลิเวียยังมีน้ำมันดิบอยู่ใต้พื้นดินอีกเป็นจำนวนมาก"

จากการสำรวจเบื้องต้นเมื่อปี 2547 พบว่าปริมาณน้ำมันสำรองในโบลิเวีย มีอยู่ไม่น้อยกว่า 4,410 ล้านบาร์เรล และทั้งหมดแทบยังไม่มีการสำรวจเพื่อการขุดเจาะอย่างจริงจัง ดังนั้นโบลิเวียยังคงตกเป็นเป้าสายตาจากบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากทั่วโลก และทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ ช็อคความรู้สึกของบริษัทข้ามชาติเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม โบลิเวียเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในอีกหลายสิบหลายร้อยประเทศเท่านั้น ที่กำลังถูกบรรษัทข้ามชาติเข้ายึดครองทรัพยากรสำคัญในประเทศมาช้านาน จนทำให้ประชาชนในประเทศตกอยู่ในภาวะขาดแคลนและยากจน สถานภาพในสังคม คนยุโรปผิวขาวเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ส่วนคนพื้นเมืองเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองเท่านั้นเอง

ซึ่งสะท้อนให้เห็นเมื่อโมราเลสให้สัมภาษณ์กับสื่อเยอรมันว่า "ความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมและความยากจนของมวลชนส่วนใหญ่ ผลักดันให้เราต้องแสวงหาเงื่อนไขการดำรงชีวิตที่ดีกว่าเดิม ประชากรชาวอินเดียนแดงที่เป็นคนส่วนใหญ่ของโบลิเวียถูกกีดกันอยู่ชายขอบเสมอมา ถูกกดขี่ทางการเมืองและแปลกแยกทางวัฒนธรรม ในขณะที่ความมั่งคั่งของประเทศและทรัพยากรธรรมชาติถูกปล้น เมื่อก่อนชาวอินเดียนแดงถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์ชั้นต่ำในประเทศนี้" 3

"ในยุคทศวรรษ 1930 และ 40 เจ้าหน้าที่เอาดีดีทีมาฉีดฆ่าเห็บเหาตามเนื้อตัวและผมเผ้าของชาวอินเดียนแดง ก่อน เขาถึงจะเข้าเมืองได้ แม่ของผมไม่ได้รับอนุญาตให้เหยียบย่างเข้ามาในโอรูโร เมืองหลวงของแคว้นที่เป็นบ้านเกิดของนางเองด้วยซ้ำ วันนี้ พวกเราเข้ามาเป็นรัฐบาลและอยู่ในรัฐสภา สำหรับผม การเป็นฝ่ายซ้ายหมายถึงการต่อสู้กับความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียม แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องการชีวิตที่ดี" 4

ฉะนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำ คือ การปฏิรูปกฎหมายเพื่อจัดสรรทรัพยากรเสียใหม่ มิฉะนั้นแล้วทรัพยากรที่มีอยู่ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงและนำมาใช้ได้ สุดท้ายประชาชนก็จะประสบกับภาวะยากจนข้นแค้นบนแผ่นดินของพวกเขาเองตลอดไป...

ข้อมูลล่าสุด ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภายหลังรัฐบาลลงนามในสัญญาร่วมกับปิโตรบาส บริษัทน้ำมันและก๊าซยักษ์ของบราซิล และบริษัทเรปโซลของสเปน ซึ่งครองตลาดก๊าซของโบลิเวียเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 47 และ 27 ตามลำดับ รัฐบาลโบลิเวียก็ประกาศชัยชนะที่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐกับบรรษัทน้ำมันและก๊าซจากต่างชาติทุกรายได้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนเปลี่ยนอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในประเทศให้กลายเป็นสมบัติของชาติ

"ด้วยสัญญาฉบับใหม่เหล่านี้ สามารถแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันด้านสังคม (และปัญหาความยากจน...) นอกจากนี้เรายังสามารถรักษาสิทธิที่เรามีต่อแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ โดยไม่ต้องขับไล่ผู้ใดออกนอกประเทศ หรือยึดทรัพย์สินของใครแต่อย่างใด" โมราเลสกล่าว พร้อมทั้งชี้แจงด้วยว่า โบลิเวียจะได้รับสัดส่วนผลกำไรจากการเสาะหาก๊าซธรรมชาติในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 200 ล้านดอลลาร์ กลายเป็น 4,000 ล้านดอลลาร์ โดยประมาณ

 

เพื่อชาติ เพื่อชาวโบลิเวีย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้ว ชาวโบลิเวียส่วนหนึ่งนั้นกำลังคิดอะไรกันอยู่กันแน่ และในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ อีโว โมราเลส ผู้นำผิวเข้มคนนี้ ก็จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโบลิเวียครบรอบ 1 ปีแล้ว...ช่วงระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมาและกำลังจะผ่านไป "ชาวโบลิเวีย" รู้สึกอย่างไรกันบ้าง?

โรนัลโด วาชา - เปเรร่า โลคะ (Ronaldo Vaca-Pereira Rocha) อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์-วิทยุ และนักวิพากษ์สังคมการเมืองชาวโบลิเวีย ให้สัมภาษณ์ถึงทัศนะและปฏิกิริยาของชนชั้นกลาง หรือชาวยุโรปผิวขาวที่อาศัยอยู่ในโบลิเวียต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ภายใต้การนำของโมราเลสว่า

"หากจะถามผมว่า คนในโบลิเวียรู้สึกและคิดเห็นอย่างไรต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในขณะนี้ มันขึ้นอยู่กับว่า คุณถามถึงคนโบลิเวียในส่วนไหนของประเทศ เพราะเรื่องนี้ค่อนข้างสลับซับซ้อน แน่นอนว่าต่างพื้นที่ ต่างชนชาติ ก็ต่างระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอีกด้วย"

"กลุ่มชนชั้นกลาง หรือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการปฏิรูปด้านพลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการเกษตร (ที่ดิน) พวกเขาต่างก็มองว่า โมราเลสเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์และรายได้ของพวกเขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของประเทศ (แหล่งทรัพยากรสำคัญ)"

อีกทั้งรัฐบาลกำลังดำเนินแผนจัดสรรที่ดินที่ทำกินภายในประเทศ เพื่อช่วยให้ประชาชนซึ่งยากจนไร้ที่ทำกินได้มีที่ดินเป็นของตนเอง โดยประกาศใช้พื้นที่ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองซานตาครูซ อันเป็นเขตเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโบลิเวียนั่นเอง

ในขณะที่กลุ่มคนทางภาคตะวันตกของประเทศ ทั้งชนชั้นกลาง และชนพื้นเมืองกลับพอใจและให้การสนับสนุนโมราเลสกันอย่างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ดี โรนัลโด ยืนยันว่า ผู้นำคนปัจจุบันคนนี้ก็ครองใจ และได้รับการยอมรับอย่างอบอุ่นในกลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกา "ด้วยว่าภาพพจน์ของผู้นำชนพื้นเมือง แต่งตัว และพูดจาอย่างคนอินเดียนแดงช่วยโมราเลสได้มากทีเดียว"

โรนัลโด กล่าวต่อว่า แต่สำหรับสหรัฐฯ คงวาดภาพผู้นำคนใหม่ของโบลิเวียไม่ต่างไปจาก ฮูโก ชาเวซ (Hugo Chavez - ผู้นำของเวเนซุเอลา) ที่เป็นภัยต่อสหรัฐฯ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยเพราะที่นี่กุญแจสำคัญของความขัดแย้ง ล้วนเกี่ยวข้องกับน้ำมัน ส่วนในแถบยุโรป พวกเขาคงปลื้มที่คนพื้นเมืองได้ขึ้นมาครองอำนาจ แต่มันจะยาวนานตราบเท่าที่มันไม่ไปกระทบธุรกิจและผลประโยชน์ของพวกเขาเท่านั้นเอง

ส่วนข้อคิดเห็นต่อการเข้ายึด ควบคุมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศของรัฐบาล โรนัลโดกล่าวอย่างตรงมาตรงไปว่า การกระตุ้นกระแสชาตินิยม โดยใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมนี้ เป็นสัญลักษณ์นั้นทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างยิ่ง

"เพราะเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงอย่างเดียวกันนี้ ก็เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังปลุกกระแสชาตินิยมขึ้นมา ในช่วงศตวรรษที่ 20 เช่นกัน แต่โดยความคิดเห็นส่วนตัวผมแล้ว คิดว่าหากเรามองมันให้ละเอียด และลึกลงไปแล้ว มันอาจไม่ใช่กระแสชาตินิยม แต่เป็นการเปลี่ยนกฎกติกาบางอย่าง ที่บังคับให้บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายจ่ายภาษีเพิ่มมากขึ้น จ่ายส่วนแบ่งกำไรให้รัฐมากขึ้นนั่นเอง"

"โดยทางเทคนิค และแนวความคิดแล้วนั่นถือเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เงินไหลเข้ามาที่รัฐมากขึ้นไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่ามันจะจ่ายแจกกลับลงมาสู่ประชาชน และอย่างที่รู้ดีกันว่าโบลิเวียก็เป็นประเทศหนึ่งที่ติดอันดับประเทศที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค"

"ผมรู้ว่า อาจเป็นทัศนะที่มองโลกในแง่ร้ายอยู่บ้าง แต่มันเป็นความจริงที่ต้องยอมรับ ความหวังของชาวโบลิเวียจึงอยู่ที่ว่า รัฐบาลของโมราเลสจะสามารถปฏิรูประบบของรัฐ ขจัดคอรัปชั่นได้มากแค่ไหน แต่แน่นอนว่ามันคงไม่เกิดขึ้นภายในหนึ่งหรือสองปีนี้เป็นแน่" โรนัลโด กล่าว

 

เอฟทีเอโบลิเวีย - ไทยต้องชิดซ้าย

หันมาดูเรื่องการค้าขาย และเศรษฐกิจ โบลิเวียเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศในแถบเทือกเขาแอนเดียน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า แคน (Community of Andean Nations-CAN) สมาชิกดั้งเดิมของกลุ่มนี้ คือ โคลัมเบีย เปรู เอกวาดอร์ และเวเนซุเอลา ในปี 2547 แคนได้ตกลงกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะจัดให้มี "ข้อตกลงสมาคม" ร่วมกัน โดยสาระสำคัญคือการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ เอฟทีเอ ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะลงนามด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จุดยืนพื้นฐานสำหรับข้อตกลงสมาคมระหว่างประเทศแห่งชาติแอนเดียน (แคน) กับสหภาพยุโรป (อียู) ก็เป็นไปบนพื้นฐาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งมีหลักการ ประการหนึ่งที่สำคัญของข้อตกลง คือ

"ว่าด้วยการหนุนเสริมกันในระดับต่าง ๆ ระหว่างประชาคมแห่งชาติแอนเดียนและสหภาพยุโรป เพื่อที่ร่วมกันหาทางออกสำหรับประเด็นการอพยพย้ายถิ่น การค้ายาเสพติด การสงวนรักษาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งก่อให้เกิดความยากจนและการว่างงาน การเพิ่มความเข็งแกร่งให้เอกลักษณ์ของเรา และการเสริมอำนาจและฟื้นคืนรัฐของเรา และการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริง แบบมีส่วนร่วมและรวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองต่าง ๆ ซึ่งถูกกีดกันมากว่า 500 ปี"

นอกจากนั้น ในเดือนเมษายน 2549 โบลิเวียก็เข้าร่วมกับเวเนซุเอลา และคิวบาในการทำข้อตกลงการค้าประชาชน (People Trade Agreement- PTA) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ทางเลือกของทวีปละตินอเมริกา ที่หลุดไปจากกรอบแนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่บงการโดยสหรัฐฯ และฉันทามติวอชิงตันนั่นเอง

แต่หากย้อนกลับมาดูประเทศไทยของเรา จะพบว่าการทำการค้าเสรีหรือ เอฟทีเอ ส่วนมากหรือเกือบทั้งหมดจะมุ่งเน้นไปที่การขยายตัวทางการค้า การขยายตัวด้านกานส่งออก การเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศ การจำกัดบทบาทรัฐ การให้สิทธิเอกชน และเพิ่มการบริโภคของประชากร

จากข้อมูลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุถึง ยุทธศาสตร์การทำเอฟทีเอของไทย คือ เพื่อสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ปรับโครงสร้างการผลิต และเพิ่มโอกาสการส่งออกให้มากขึ้นฯลฯ

ไม่บ่อยนักที่จะหมายถึง การขยายการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนา หรือแม้แต่การรักษาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงคุณภาพการจ้างงาน การขยายการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชน การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการรักษา เสริมสร้างความมั่นคง-ความพอเพียงในการผลิตอาหารเลี้ยงตนเอง

ในการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปและละตินอเมริกา ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย กลางปีนี้ ประธานาธิบดีคิวบา โบลิเวีย และเวเนซุเอลา ยังได้แสดงจุดยืนในการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างชัดเจน ด้านประธานาธิบดี อีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย ก็ส่งสารแสดงเจตนารมณ์นี้ไปยังผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมการประชุมกว่า 60 ประเทศด้วยเช่นกัน

นี่ยังไม่รวมถึง แผนการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เอื้อต่อโครงการจัดสรรแจกจ่ายที่ดินให้แก่เกษตรกร และประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกิน นอกจากนี้ยังมีนโยบายผ่อนปรนกฎอัยการศึก "การควบคุมการปลูกต้นโคคา" ลงอีกด้วย ซึ่งเป็นกฎที่ใช้ต่อต้าน และสกัดการแพร่หลายของยาเสพติด (นำมาผลิตโคเคน) ในประเทศ

แต่แท้จริงแล้ว การปลูกต้นโคคาไม่ได้นำไปสู่การผลิตยาเสพติดอย่างบ้าคลั่งตามที่สหรัฐฯกล่าวหา แต่ "ต้นโคคา" เป็นพืชสมุนไพรที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต และประเพณีของชนพื้นเมืองมาเนิ่นนาน นับแต่บรรพบุรุษ เนื่องจากโบลิเวียตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง ความกดอากาศต่ำมาก สภาพอากาศเบาบาง ทั้งปริมาณออกซิเจนในอากาศมีน้อย ฉะนั้นการเคี้ยวใบโคคาช่วยลดอากาศหน้ามืด วิงเวียนศีรษะของชนพื้นเมืองท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ได้

"มองจากจุดยืนของเรา ต้นโคคาไม่ควรถูกทำลายหมดหรือถูกกฎหมายทั้งหมด ไร่โคคาควรอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐและกลุ่มสหภาพเกษตรกรโคคา เรากำลังเริ่มรณรงค์ในระดับนานาชาติเพื่อรับรองให้ใบโคคาเป็นพืชที่ถูกกฎหมาย และเราต้องการให้สหประชาชาติเพิกถอนใบโคคาออกจากรายการวัตถุมีพิษ นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์มานานแล้วว่า ใบโคคาไม่มีพิษ เราตั้งใจจะส่งเสริมให้จำนวนไร่ที่ปลูกต้นโคคาลดลงโดยสมัครใจ" 5

"ส่วนการที่สหรัฐฯ อ้างว่า ใบโคคาส่วนใหญ่ถูกนำไปผลิตเป็นโคเคน พวกเขาพูดจาเรื่อยเปื่อยไปสารพัด พวกเขากล่าวหาว่าเราไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการช่วยเหลือด้านการพัฒนา รัฐบาลโปรทุนนิยมชุดก่อน ๆ สนับสนุนการสังหารหมู่เกษตรกรโคคา มีคัมเปซิโน (เกษตรกร) กว่า 800 คน ต้องเสียชีวิตในสงครามยาเสพย์ติด สหรัฐอเมริกาใช้สงครามยาเสพย์ติดเป็นข้ออ้างในการขยายอิทธิพลเพื่อควบคุมละตินอเมริกาต่างหาก" โมราเลสกล่าว 6

ฉะนั้นขณะนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็กำลังหันมาส่งเสริม และต้องการจะหันกลับมาใช้ประโยชน์จากใบโคคา ทางด้านการค้าขาย และนำมาผลิตยารักษาโรค

 

"อนาคต" กำหนดไม่ได้ แต่สร้างได้

ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีคนใหม่ หลายฝ่ายมองว่าเป็น "นโยบายประชานิยม" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งในแถบละตินอเมริกา หรือแม้แต่ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในประเทศไทย ทว่า ประชานิยมนั้นมีรูปแบบหลากหลาย เพราะการนำไปใช้และการตีความด้วยนั่นเอง

โรนัลโด วาชา - เปเรร่า โลคะ แหล่งข่าวคนเดิม แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า "ประชานิยม" ที่ใช้กันอยู่ดูเหมือนจะเข้าใจเหมารวมกันไปหมด จริงแท้แน่นอนว่า โมราเลสเป็นนักประชานิยม เช่นเดียวกับ ชาเวซของเวเนซุเอลา หรือแม้แต่จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ผู้นำของสหรัฐฯ ด้วย

แต่ในขอบข่ายของแนวคิดประชานิยม มันเกี่ยวพันถึง "คุณงามความดี และบารมีของผู้นำด้วย" มากกว่าการนำมาใช้ในลักษณะของ "ผู้นำจอมปลอม มารชั่ว" (โปรยเงิน ซื้อความนิยม) การตีความในลักษณะอย่างหลังนี้ ถูกบิดเบือนโดยนักวิชาการ และสื่อกระแสหลักอเมริกัน ทั้ง ๆ ที่ผู้นำเหล่านั้นอาจมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน แต่กลับทำสิ่งที่ขัดกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และยุโรป!

"ผมจึงไม่เห็นว่า นโยบายประชานิยมเป็นสิ่งเลวร้ายตรงไหน เมื่อมองเห็น ถึงความหมายของมันอย่างแท้จริงแล้ว ยกตัวอย่างเรื่องการยึดคืนทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาเป็นสมบัติของประเทศอีกครั้ง หรือนโยบายการปฏิรูปที่ดินไร่นา และการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นร้อน เป็นกระแสที่ถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ต้องรอมติมหาชนด้วย"

"ส่วนผลลัพธ์ของการกระทำทั้งหมดจะออกมาเป็นอย่างไร ภายหลังการบริหารงาน 4 ปีของรัฐบาล ไม่มีใครรู้อาจเห็นผลใน (ระยะยาว) อีก 80 ปี 100 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ แต่สิ่งที่รู้แน่ชัดคือ เราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผม และชาวโบลิเวียคาดหวังไว้ คือ อยากให้สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย ทั้งเรื่องของรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปที่ดิน ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจ และเหนือสิ่งอื่นใด คือ อยากให้โบลิเวียไต่อันดับขึ้นมา เพื่อหลุดพ้นจากความยากจนเสียที" โรนัลโดกล่าวทิ้งท้าย

ในอนาคตข้างหน้า โบลิเวียจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป คงไม่มีใครสามารถตอบได้ แต่คำถามที่สำคัญสำหรับโบลิเวีย หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก คือ จะทำอย่างไรให้นโยบายการพัฒนา การค้าขายของประเทศดำเนินไปอย่างเป็นมิตรต่อกัน โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรเป็นสำคัญ รักษาสิ่งแวดล้อม รวมไปจนถึงเป้าหมายหลัก คือ ความยั่งยืน ในการพัฒนาประเทศ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติ

"ทำอย่างไรไม่ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก พึ่งพาแต่น้ำมันหรือก๊าซเพียงเท่านั้น ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นริเริ่มพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อลดภาวะการพึ่งพิงและการผูกขาดตลาดด้านพลังงาน ตลอดจนการเน้นย้ำถึง ความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์โลก-ความสมดุลของธรรมชาติด้วย" สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกประเทศต้องช่วยกันคิด และร่วมกันสร้าง

ณ วันนี้ แม้ว่าโบลิเวียจะยังคงยึดพลังงานปิโตรเลียมเป็นเสมือนอำนาจหลักในการเจรจาต่อรองกับนานาชาติ แต่โบลิเวียกับประเทศพันธมิตรในกลุ่มละตินอเมริกาก็กำลังสื่อสารออกมาอย่างดังและหนักแน่นว่า จะร่วมกันต่อต้านลัทธิการกดขี่ใด ๆ เหนือประชาชนในประเทศของพวกเขา หรือลัทธิที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ทุ่มความสำคัญให้แต่ภาคอุตสาหกรรม ลดคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนให้กลายเป็นเพียงเครื่องจักร-กลไกที่ตอบสนองการผลิต ละเลยภาคเกษตรกรรม และคนท้องถิ่น

"แต่พวกเขาเรียกร้อง การค้าที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และชนชั้นในสังคม มีหลักประกันขั้นพื้นฐาน มีที่ดินทำกิน มีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ ปราศจากการกีดกันทางด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และสีผิวใด ๆ ก็ตาม"

ว่าแต่ว่า.... ตอนนี้ รัฐบาลชุดใหม่ของเรา กำลังทำอะไรเพื่อประชาชนคนไทยอยู่บ้างน้า...

 

หมายเหตุ

กระบวนการแปรรูปโดยการโอนกิจการด้านทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ กลับคืนมาเป็นของรัฐ (Nationalization) ตรงข้ามกับการแปรรูปกิจการให้ไปเป็นของเอกชน (Privatization)

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

(1,2) มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1342

 

ปาโลม่า บอร์ดอนส์. บ้านเกิดมั่นฝรั่ง (La tierra de las papas). กรุงเทพฯ: มติชน, 2549

 

สัมภาษณ์ โรนัลโด วาชา เปเรร่า โลคะ (Ronaldo Vaca-Pereira Rocha) อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์-วิทยุ

และนักวิพากษ์สังคมการเมือง ชาวโบลิเวีย, 24 พฤศจิกายน 2549.

 

(3,4,5,6) Evo Morales and SPIEGEL, "Capitalism has only hurt Latin American" แปลโดย

ภัควดี วีระภาสพงษ์, ZNet, September 04, 2006.

 

Lucy Ash (2006). Bolivia goes back to the whip, www.bbc.com

 

Damian Kahya (2006). Bolivia land reform protests grow, www.bbc.com

 

www.wikipedia.org "วิกิพีเดีย" สารานุกรมเสรี

 

www.ine.gov.bo National Statistics Institute "สถาบันสถิติแห่งชาติ" โบลิเวีย

 

www.ftawatch.org "กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี"

 

www.prachatai.com หนังสือพิมพ์บนหน้าเว็บไซต์ "ประชาไท"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net