สัมภาษณ์นิเดร์ วาบา : แก้ พ.ร.บ.อิสลาม ตั้งสภาอูลามะอฺดับไฟใต้

พลันที่ "นิเดร์ วาบา" ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ออกมาผลักดัน "ร่างพระราชบัญญัติองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. …." และจัดให้มีสภาอุลามะอฺขึ้นมาเป็นองค์กรหลักในการทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาดในประเด็นหลักการศาสนาอิสลาม สายตาของเหล่าบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างจับจ้องมองก้าวย่างของโต๊ะครูผู้นี้ชนิดตาแทบไม่กระพริบ

พลันที่ "นิเดร์ วาบา" ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ออกมาผลักดัน "ร่างพระราชบัญญัติองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. …." ยกเลิกการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และจัดให้มีสภาอุลามะอฺขึ้นมาเป็นองค์กรหลักในการทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาดในประเด็นหลักการศาสนาอิสลาม

 

สายตาของเหล่าบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างจับจ้องมองก้าวย่างของโต๊ะครูผู้นี้ชนิดตาแทบไม่กระพริบ

 

ด้วยเพราะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การยกเลิกการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เท่ากับเป็นการยกเลิกหลักการสำคัญของ "พระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540" ที่ "เด่น โต๊ะมีนา" ใช้เวลายาวนานถึง 20 ปี ถึงผลักดันออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับได้สำเร็จ

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ตลอดเวลายาวนานมาแล้ว ที่ทั้ง "นิเดร์ วาบา" และ "เด่น โต๊ะมีนา" ต่างมีวิถีทางและความคิดแตกต่างกันเหมือนเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบพบกันได้เลย

 

"ร่างพระราชบัญญัติองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. …." ที่เสนอโดย "นิเดร์ วาบา" กับ "พระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540" ที่ "เด่น โต๊ะมีนา" ทำคลอดมากับมือ นับเป็นหนึ่งของรูปธรรมแห่งเส้นขนานของ 2 ผู้นำชาวมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้คู่นี้

 

เป็นรูปธรรม ที่ปรากฏออกมาในนามของกระบวนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้

 

ต่อไปนี้ คือ เนื้อหาสาระหลักๆ ของ "ร่างพระราชบัญญัติองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. …." จากคำให้สัมภาษณ์ของ "นิเดร์ วาบา"

 

0 0 0

 

 

ร่างพระราชบัญญัติองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ... มีหน้าตาอย่างไร

ขณะนี้ยังเปิดเผยไม่ได้ จนกว่าจะผ่านการประชุมพิจารณากันอีกครั้ง ในวันที่ 9 มกราคม 2550 ที่ทำเนียบรัฐบาล

 

จะว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ก็ได้ เพราะเรานำเนื้อหาในพระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และกฎหมายอิสลาม พ.ศ. 2489 ที่ยกเลิกไปแล้ว มาพิจารณาหาความเหมาะสมเพื่อนำมาปรับปรุงให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

ระยะเร่งด่วน คือการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรงนี้ก็ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ ต้องรอให้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อน ตอนนี้เรากำลังเร่งทำเนื้อหาให้เสร็จ ต้องเข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ต้องรอบคอบ

 

จะทำประชาพิจารณ์เมื่อไหร่

หลังจากพิจารณาเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารกิจการศาสนาอิสลาม โดยคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ที่เป็นคนในพื้นที่ทั้ง 35 คน จะขึ้นไปพิจารณาร่วมกับคณะทำงานที่กรุงเทพมหานครอีก 10 คน วันที่ 9 มกราคม 2550 ก็จะเชิญตัวแทนผู้นำศาสนาร่วมทำประชาพิจารณ์ในวันเดียวกันเลย ผมเองยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการเสร็จได้ทัน ภายในวันเดียวหรือไม่

 

สาเหตุที่เราต้องทำประชาพิจารณ์ในวันเดียวกัน ทั้งที่เราก็อยากให้แต่ละส่วน มีเวลานำเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กลับไปคิดพิจารณากันมากกว่านี้ เพราะเดิมเราคิดว่างานนี้เป็นงานของประชาชาติมุสลิม เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่ เราจึงของบประมาณมาใช้ดำเนินการไปพอประมาณ เงินทองที่ใช้จึงค่อนข้างจำกัด

 

หลังจากนั้น ก็จะลงมาทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยมีสำนักงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีส่วนหน้า ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีผมควบคุมดูแลเอง ทำหน้าที่ประสานงาน

 

พอทำประชาพิจารณ์เสร็จแล้ว เราจะให้ตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพ มาลงนามร่วมกัน

 

ในส่วนของคนที่ร่วมร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ ระดับอาจารย์ นักวิชาการ ปัญญาชน ผ่านประสบการณ์ในการร่างกฎหมายมาแล้ว มีความสามารถในการวินิจฉัยทางวิชาการ ถ้าเป็นมุสลิม ก็มีความรู้ทั้งในสายสามัญ ทั้งในทางกฎหมาย และศาสนาอิสลาม

 

สำหรับเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติฯ มาจากชาวมุสลิมระดับรากหญ้าในพื้นที่ ที่ได้จากการคุยกันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มร่าง เราคุยกันเป็นคนๆ คุยเป็นกลุ่มๆ แล้วก็ขายความคิดกันออกไป

 

ที่บอกว่าคุยกับทุกกลุ่ม มีกลุ่มไหนบ้าง

ประชาชนธรรมดา ผู้นำศาสนาอิสลาม ผู้นำท้องถิ่น ตอนคุยกันก็มีมติว่า ถ้ารัฐจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐควรทำในสิ่งที่สังคมต้องการ และมีหลักประกันให้กับประชาชน ที่จะร่วมกันสร้างเอกภาพ ลบรอยแตกแยกในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมจิตวิทยา ดังนั้น จึงต้องมีพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมารองรับ

 

พระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลาม ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมมุสลิมทุกระดับ ทำให้สังคมแตกแยกเป็นชิ้นๆ จึงไม่ควรใช้อีกต่อไป นี่คือ ที่มาของพระราชบัญญัติฉบับใหม่

 

เจตนารมณ์ของการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยกในสังคมมุสลิม เพราะการเลือกผู้นำมุสลิมที่ไม่ใช่การเลือกตั้งทางการเมืองนั้น ถ้าเราใช้วิธีการเลือกแบบเลือกตั้งทางการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้นำมุสลิม ก็จะเกิดความแตกแยก

 

ความแตกแยกที่เกิดขึ้นตรงนี้ ทำให้พวกมือที่สาม พวกไม่หวังดีต่อสังคม ไม่หวังดีต่อประเทศชาติและต่อมุสลิม แทรกเข้ามาทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตัวเอง

 

แผนของพวกเขาก็คือ เขาจะแบ่งแยกดินแดน เขาใช้ระบบเบรกแอนด์โรล คือ ก่อกวน ซึ่งเท่ากับบีบให้ประชาชนหันหน้าไปหาพวกเขา เมื่อหันไปหาพวกเขาแล้ว คนในพื้นที่ทั้งจังหวัดก็กลัวกันหมด

 

ตอนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้คุยกับกลุ่มไหนบ้าง

กลุ่มผู้นำมุสลิม หมายถึง กรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการประจำมัสยิด ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปัญญาชน นอกจากนั้น ก็มีนักวิชาการ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โต๊ะครูผู้บริหารสถาบันปอเนาะ บุคลากรในโรงเรียน และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ คุยกับคนที่เรียนจบตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก เขาก็เสนอว่า การแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ จะต้องมีกฎหมายออกมารองรับ เราจึงเชิญมาพบปะพูดคุยกัน แล้วกำหนดวันเวลาดำเนินการ กำหนดเนื้อหาของพระราชบัญญัติฯ ออกมาเป็นตุ๊กตานำมาใช้พิจารณากันในเบื้องต้น

 

แล้วเรื่องสภาอูลามาอฺ (นักปราชญ์) ทีจะทำหน้าที่วินิจฉัยหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม หรือการ "ฟัตวา" มีระบุอยู่ในร่าง พระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยหรือไม่

มี แล้วก็มีอยู่ในโครงสร้างของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยจะมีฐานะเป็นกอง เรียกว่ากองการฟัตวา แต่รูปแบบเนื้อหายังเปิดเผยไม่ได้ ทั้งหมดมีพร้อมสำหรับที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จากความแตกแยกในสังคม จนเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีแทรกตัวเข้ามา สร้างความปั่นป่วน

 

จะเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในสภาอูลามาอฺอย่างไร

การได้มาของสมาชิกอูลามาอฺ เราจะใช้วิธีการสรรหาคนจากกลุ่มต่างๆ จะไม่มีการเลือกตั้ง

 

ในส่วนโครงสร้างใหม่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้เสนอให้มีสภาผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่สภาที่ปรึกษา มีเรื่องอะไรจะต้องพิจารณา ก็ให้นำเข้าไปพิจารณากันในสภานี้

 

องค์ประกอบของสภาอูลามาอฺมีใครบ้าง

มีระดับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รอบรู้ที่สามารถวินิจฉัยฮูก่ม (กฎ) หลักการต่างๆ ในทางศาสนาได้

 

มุสลิมมีหลายกลุ่มจะเข้ามาอยู่ร่วมกันอย่างไร

เมื่อเราตกลงกันจะแก้ปัญหาร่วมกัน ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ คนส่วนใหญ่จะเอาอย่างนี้ คนส่วนน้อยไม่ยอมรับ มันไม่ใช่แล้ว

 

การที่มุสลิมมีหลายสำนักคิด หลายนิกาย มันเป็นอย่างนี้ของมันอยู่แล้ว แต่เรื่องหลักการศาสนา เรื่องการปฏิบัติศาสนกิจนั้น ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกนับถือแต่ละนิกายของศาสนา ทั้งหมดสุดท้ายต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ต้องไม่เกิดความแตกแยก

 

พวกวะหะบีจะปฏิบัติอย่างไร ก็ทำไป พวกชาฟีอีย์จะทำอย่างไร สำนักคิดไหนก็ทำไป แต่อย่าให้เกิดความแตกแยก

 

ในอิสลามจริงๆ ไม่มีความแตกแยก ไม่อย่างนั้นคงไม่เกิดหลายสำนักคิด ไม่ใช่มีแค่ 4 สำนักที่เรารูจัก คือ ชาฟีอีย์ซึ่งมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือ แล้วก็มีสำนักคิดฮัมบาลี, ฮานาฟี และมาลีกีย์ จริงๆ แล้วมีเป็นสิบสำนักคิด

 

คนมาทะเลาะกันเพราะอะไร เพราะคนที่ไม่รู้ไปฟังคนอื่นสอน โดยเฉพาะผู้สอนที่ต้องการประโยชน์ ต้องการสร้างพรรคพวก แสวงหาผลประโยชน์ ต้องการแนวร่วม

 

สภาอูลามาอฺ ต้องการลบสิ่งนี้

 

จะทำอย่างไร

ก็ต้องยึดถือหลักการของศาสนา ตามที่ท่านนะบีมูฮัมหมัด ศาสดาของอิสลามบอกว่า ความแตกต่างทางความคิดของประชาชาติของข้าพเจ้านั้น เป็นเราะห์มัต หมายถึง เป็นความโปรดปราน มีความสุข มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความดีเลิศ

 

ท่านยังบอกชัดว่า ถ้ามีปัญหาความขัดแย้งกัน ให้รีบกลับไปหาอัล - กุรอ่าน และฮาดิษ (วัจนะ วัตรปฏิบัติและการยอมรับของนะบีมูฮัมหมัด) ทันที

 

มีเหตุผลอะไรถึงเสนอให้มีการตั้งสภาอูลามาอฺ

ป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยกในสังคมนี้ ส่วนการปฏิบัติศาสนกิจนั้น เป็นเรื่องส่วนตัว

 

ขอตัวอย่างองค์กรที่ทำหน้าที่ฟัตวาในต่างประเทศ

ที่มาเลเซียมี คนที่ทำหน้าที่ฟัตวา เรียกว่ามุฟตี คือ ผู้ประกาศมติคำวินิจฉัยทางศาสนา ซึ่งเขาก็มีสมาชิกของเขาเหมือนกัน ที่สำนักจุฬาราชมนตรีของเราก็มี ผมก็เคยเป็น

 

อำนาจของมุสลิมอยู่ที่คนมุสลิมเอง ถามว่ามีคนต้องการอำนาจในการบริหารกิจการศาสนาอิสลามใช่หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า มีคนต้องการ แล้วจะให้ได้อำนาจกันด้วยวิธีอะไร ก็ด้วยวิธีสร้างความเป็นเอกภาพ เราจึงเสนอรัฐบาลว่า พี่น้องมุสลิมต้องการอย่างนี้

 

วันนี้ เราจะโทษรัฐเป็นต้นเหตุของปัญหา ไม่ให้ความเป็นธรรมกับมุสลิมก็ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า คนนอกมากระทำกับเราได้ เพราะเราอ่อนแอแตกแยกกันเองด้วย

 

ทำไมศาสดามูฮัมหมัด ถึงบอกกับศอหะบะห์ (สหาย) ของท่านว่า เป็นห่วงประชาชาติของท่าน ศอหะบะห์ถามว่า ทำไมท่านพูดอย่างนั้น เพราะมุสลิมมีจำนวนน้อยหรืออย่างไร ท่านตอบว่า ไม่ใช่ จำนวนมุสลิมเยอะมาก ในสมัยนั้นถ้าเทียบกับประชาชาติ มุสลิมมีมาก แต่ท่านบอกว่ามุสลิมเรามีมากก็จริง แต่เปรียบเสมือนฟองน้ำในทะเล ถูกอะไรหน่อยก็แตก

 

ท่านบอกว่า แล้วมุสลิมก็จะถูกดูถูก เพราะความรู้สึกน่าเกรงขามต่อมุสลิม ถูกถอดออกไปในสายตาศัตรูอิสลาม และจะเปลี่ยนความรู้สึกในใจของสูเจ้า เป็นความรู้สึกที่อ่อนแอ ถ้าเป็นอย่างนั้น มุสลิมก็จะเกิดอีกความรู้สึกหนึ่งที่อันตรายที่สุด คือความโลภ คือต้องการแค่โลกนี้ ต้องการแย่งผลประโยชน์กันในโลกนี้

 

ความรู้สึกนี้เรียกว่า รักดุนยา (โลก) และเกลียดความตาย คิดว่าจะไม่ตาย จะอยู่บนโลกนี้ตลอดไป

 

นี่คือ โรคของคนมุสลิมตอนนี้ มีตำแหน่งแล้วยังไม่พอ มีเงินเยอะแล้วยังทำธุรกิจโกงคนอื่น

 

แล้วกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จะสื่อสารกับเขาอย่างไร

พวกนี้ เขาไม่ได้ก่อการภายใต้หลักวิชาการ ไม่ใช่ด้วยหลักการศาสนาอิสลาม เป็นการต่อสู้เพื่อดุนยา (โลก) เขาต่อสู้จะเอาดินแดนปัตตานีกลับคืน

 

การต่อสู้เพื่อดุนยา เพื่อจะได้ตำแหน่งสูงๆ เพื่อจะได้ทรัพย์สินรวยๆ ถ้าต่อสู้อย่างนั้น อัลเลาะห์ (พระเจ้าของอิสลาม) ไม่ยอมรับ ท่านศาสดาพูดเอง ถ้าตายอย่างนั้นไม่ใช่ชาฮีด (ผู้ตายในวิถีทางต่อสู้เพื่อศาสนาอิสลาม)

 

การไปกล่าวหาคนอื่นว่า เป็นกาฟีร (คนนอกศาสนา) ทั้งที่รู้ว่าเขาเป็นมุสลิม แม้ว่าเขาจะกินเหล้าเมายา แต่วันนี้เขาอาจขออภัยโทษจากอัลเลาะแล้วก็ได้ เราไปว่าเขากาฟีรไม่ได้ ถ้าไปกล่าวหาอย่างนั้น คำว่ากาฟีรมันจะย้อนกลับมาหาคนที่กล่าวหาเอง

 

แล้วการที่เขาลุกขึ้นต่อสู้ในวันนี้ เขาต้องการอะไร ศัตรูของเราจริงๆ คือ ผู้ที่สร้างความไม่เป็นธรรม ต้องการทำลายหรือสร้างความเจ็บปวดให้กับสังคมของเรา หรือประเทศชาติของเรา ศาสนาของเรา กับคนพวกนี้แหละที่ควรลุกขึ้นต่อสู้

 

เท่าที่ติดตามข่าวพบว่า ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ก็มีอูลามาอฺและมีการฟัตวาของขบวนการเองด้วย

ใช่ บางทีการฟัตวาก็ใช้อารมณ์ ลักษณะอย่างนี้เหมือนกับที่อัลเลาะห์บอกไว้ในคัมภีร์อัล - กุรอ่าน ความว่า จงอย่าสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน แต่จะมีพวกหนึ่งตอบว่า เปล่า สิ่งที่เราทำ คือ การปรับปรุงแก้ไขให้มันดีขึ้น

 

นอกจากสภาอูลามาอฺแล้ว หน้าตาขององค์กรที่จะบริหารกิจการศาสนาอิสลามต่อไปจะเป็นอย่างไร

จะมาจากการสรรหา จากการแต่งตั้ง รายละเอียดให้รอดูหลังจากวันที่ 9 มกราคม 2550 สิ่งที่แตกต่างจากปัจจุบัน ก็คือ จะไม่มีการเลือกตั้ง

 

องค์กรบริหารกิจการศาสนาอิสลามจะมีเพิ่มอีกหนึ่งองค์กร คือ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามสูงสุด หน่วยงานทางศาสนาอิสลามทุกองค์กร รวมทั้งสภาอูลามาอฺ จะอยู่ภายใต้ศูนย์นี้ ถ้าจะมีการสรรหาใครในหน่วยงานข้างล่าง ก็จะส่งไปให้สภาบริหารกิจการศาสนาอิสลามสูงสุดพิจารณา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท