สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (ฉบับเต็ม) : ตอบกลุ่มเอ็นจีโอเรื่องผลศึกษาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นกำลังจะเดินหน้า ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอก็ออกมาแล้วว่า ส.บ.ม.ย.ห. แต่เอ็นจีโอยังคงส่งเสียงคัดค้านในประเด็นน่าหวาดเสียวอย่างขยะพิษหรือการปกป้องการค้า สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หัวหน้าคณะศึกษาจึงลงมือแจงในแต่ละประเด็น พร้อมชวนเอ็นจีโอมาร่วมกันร่างกฎหมายเจรจาการค้าระหว่างประเทศด้วยกัน...

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

ที่มา : http://www.ftadigest.com/pdf/response-to-fta-watch.pdf

 

 

 

คอลัมน์เศรษฐทรรศน์ของหนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 5 มกราคม พ.. 2550 ได้ตีพิมพ์แถลงการณ์บางส่วนของกลุ่มเอ็นจีโดยพาดหัวว่า "กลุ่มเอ็นจีโอรุมค้านทีดีอาร์ไอ ผลศึกษาเอฟทีเอญี่ปุ่นไม่รอบด้าน คนไทยยังความเสี่ยงเหมือนเดิม" ผมในฐานะหัวหน้าคณะผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าวขอใช้สิทธิพาดพิงเพื่อให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าว

 

ก่อนอื่นผมขอเรียนว่า ถ้าอ่านดูเนื้อหาของแถลงการณ์ที่ตัดตอนมาลงโดยละเอียด จะเห็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการเจรจาของรัฐบาลไทยและการประชุมที่กระทรวงต่างประเทศ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันจัด โดยเรียกว่า "การประชาพิจารณ์" มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่พาดพิงถึงเนื้อหาการศึกษาของคณะผู้ศึกษาในเชิงสารัตถะ ผมจึงขอกล่าวถึงข้อวิจารณ์ในเชิงสารัตถะเหล่านั้นเป็นหลัก และขอแสดงความเห็นในประเด็นอื่นที่ไม่ได้ถูกพาดพิงโดยตรง แต่ผมเห็นว่า มีความเข้าใจผิดกันมากในสังคมไทย

 

มีผู้แทนเอ็นจีโอ 2 คนที่วิจารณ์การศึกษาของคณะผู้ศึกษาในประเด็นสารัตถะคือ คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม และคุณจักรชัย โฉมทองดี จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH) คุณเพ็ญโฉมกล่าวว่า "ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผลิตขยะมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นประเทศที่ผลิตสารไดออกซินสูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังมีกากตะกอนน้ำเสียที่ไม่สามารถหาที่กำจัดหรือบำบัดได้ สิ่งเหล่านี้อยู่ในความตกลงในตารางของไทยและญี่ปุ่น ซึ่งจะลดภาษีนำเข้าเหลือ 0%...." และ "... วัตถุอันตราย ปี พ..2535 เป็นแค่กฎหมายบังคับให้มีการขออนุญาต ในการส่งออก เคลื่อนย้าย กักเก็บ จัดการ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้ควบคุมถึงการลงโทษหากมีการกระทำผิด..."

 

ผมเข้าใจว่าคุณเพ็ญโฉม คงไม่เคยได้อ่านพ... วัตถุอันตราย พ..2535 เพราะถ้าพลิกดูครู่เดียวก็จะทราบว่า กฎหมายนี้มีบทบัญญัติลงโทษผู้ฝ่าฝืนทั้งจำคุกและปรับ ตลอดจนมีมาตรการเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะอื่นๆ เช่น การยึดหรืออายัดของกลางที่เกี่ยวข้อง ในหมวด 4 (มาตรา 70-89) ข้อวิจารณ์ของคุณเพ็ญโฉมจึงคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างยิ่ง และทำให้ผมตกใจว่า การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสำคัญนั้น สามารถทำได้โดยไม่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเลยหรือ หากคุณเพ็ญโฉมจะโต้แย้งว่า ไม่เชื่อถือการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยอย่างที่คุณกิตติคุณ กิตติอร่าม แห่งกลุ่มกรีนพีซพูดก็ยังพอรับฟังได้ แต่การ



 

ด่วนสรุปว่า JTEPA จะทำให้ญี่ปุ่นเอาขยะมีพิษจำนวนมากมาทิ้งในประเทศไทยก็ยังเป็นข้อสรุปที่ขาดเหตุผลและข้อเท็จจริงรองรับดังที่ผมจะอธิบายต่อไป

 

คุณเพ็ญโฉมบอกว่า "เมื่อมีผู้ตั้งคำถามเรื่องขยะ อาจารย์สมเกียรติบอกว่าไม่ทราบเรื่องนี้ จึงน่าสงสัยว่าอาจารย์ได้เข้าถึงความตกลงทั้งเล่มหรือไม่ และอาจารย์เข้าใจทั้งหมดหรือไม่" เรื่องนี้ ผมขอชี้แจงว่า ไม่ใช่ผมคนเดียวไม่ทราบเรื่องนี้ แต่แทบไม่มีใครในที่ประชุม "ประชาพิจารณ์" ทราบเลยว่า ผู้ที่หยิบยกประเด็นนี้พูดถึงเรื่องอะไร อ้างถึงบทบัญญัติเรื่องใด เพราะพูดตามๆ กันแบบคลุมเครือในทำนองที่ว่า "มีบทบัญญัติใน JTEPA ที่อนุญาตให้ญี่ปุ่นสามารถเอาขยะพิษมาทิ้งในประเทศไทยได้" ซึ่งขณะนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าคลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง แถม "นักวิชาการ" ในกลุ่ม FTA WATCH ยังไปไกลถึงบอกว่า JTEPA อนุญาตให้ญี่ปุ่นเอากากนิวเคลียร์มาทิ้งประเทศไทยได้ (ถ้าพูดกันต่ออีกคงไปถึงระเบิดนิวเคลียร์) กว่าจะทราบว่า ใครจุดประเด็นนี้ขึ้นมา การประชุมก็แทบจะเลิกแล้ว เมื่อผู้แทนจากกรีนพีซขึ้นมาอธิบายว่า หมายถึงมีการลดภาษีศุลกากรแก่ "ขยะ" ทุกคนจึงจะเข้าใจกัน เมื่อเข้าใจแล้วว่า คุณเพ็ญโฉมและเพื่อนๆ หมายถึงเรื่องอะไร ผมก็ขอยืนยันเช่นเดิมว่า การลดภาษีศุลกากรดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมต่อประเทศไทย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

ประการที่หนึ่ง ในทางกฎหมาย รัฐบาลไทยยังสามารถบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศได้อย่างเต็มที่ และ JTEPA ยืนยันสิทธิของไทยในเรื่องการควบคุมการนำเข้าของเสียอันตรายตามกฎหมายไทย วัตถุอันตรายที่ห้ามนำเข้า ก็ไม่สามารถนำเข้าได้ ไม่ว่าจะเก็บภาษีเท่าใด นอกจากนี้ JTEPA ยังให้สิทธิไทยใช้ข้อยกเว้นตามความตกลง GATT ในการมีมาตรการที่ขัดต่อข้อผูกพันของ JTEPA เช่น จำกัดการนำเข้าหรือ ขึ้นภาษีศุลกากร เพื่อคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์ สัตว์และพืช และเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หากเป็นการใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติ

 

ประการที่สอง ในความเป็นจริง เรานำเข้า "กากที่ได้จากการเผาขยะ ของเสียจากอุตสาหกรรมเคมี ตะกอนจากน้ำเสีย และของเสียอื่นๆ" ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของพ... วัตถุอันตรายน้อยมาก เช่น ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 ไทยนำเข้ากาก ขยะเทศบาล ตะกอนจากน้ำเสีย และของเสียอื่นๆ 44.9 ตัน มูลค่า 1.28 ล้านบาท โดยนำเข้าจากญี่ปุ่น 45 กิโลกรัม มูลค่า 38,435 บาท สาเหตุสำคัญก็เนื่องจาก "ขยะ" เหล่านี้มีมูลค่าต่ำและมีน้ำหนักมาก เฉลี่ยจากตัวเลขข้างต้นก็คือ "ขยะ" เหล่านี้มีราคากิโลกรัมละ 28 บาท สำหรับการนำเข้าจากทุกประเทศ และ 850 บาทสำหรับการนำเข้าจากญี่ปุ่น การประหยัดภาษีศุลกากรร้อยละ 1-5 ก็คงลดลงไปได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 40 บาท ก็อาจไม่คุ้มกับค่าส่งและค่าจัดการเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษด้านภาษีด้วยซ้ำไป อันที่จริง ก่อนเจรจากับญี่ปุ่น เราก็มีอัตราภาษีศุลกากรสำหรับ "ขยะ" ที่เป็นเศษเหล็กและโลหะอื่นๆ ที่ร้อยละ 0 อยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีการนำเข้าจากญี่ปุ่นเลย คำกล่าว



 

ที่ว่า การลดภาษีจะทำให้ "จะทำให้เกิดการไหลบ่าของขยะเข้าสู่ประเทศไทย" จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริง นอกจากนี้ มาเลเซียซึ่งคุณเพ็ญโฉมกล่าวว่า "มีการต่อรองเข้มแข็ง (เลยทำให้ไม่มีการลดภาษีให้แก่ญี่ปุ่น)" ก็มีอัตราภาษีศุลกากรสำหรับ "ขยะ" ต่างๆ ส่วนใหญ่ที่ระดับร้อยละ 0 มาตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่มีข่าวว่ามีปัญหาที่คุณเพ็ญโฉมคิดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเลย

 

ประการที่สาม ภาษีศุลกากรไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะสมในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ได้จัดเก็บกับขยะอุตสาหกรรมมีพิษที่ผลิตในประเทศ "ขยะ" หรือวัตถุใดที่มีผลด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม ชนิดเดียวกันไม่ว่าจะผลิตในประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ล้วนมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศของเราเหมือนกัน ในกรณีเช่นนี้ หากเชื่อกันว่า ภาษีหรือกลไกราคาจะสามารถช่วยลดปริมาณการมีวัตถุอันตรายในประเทศ เครื่องมือที่เหมาะสมกว่าก็คือ ภาษีสรรพสามิต ซึ่งรัฐสภาและรัฐบาลไทยมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการจัดเก็บในอัตราเท่าใดก็ได้ โดย JTEPA ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ที่สามารถริดรอนอำนาจดังกล่าวของประเทศไทยได้เลย

 

คุณเพ็ญโฉมยังอ้างอย่างคลาดเคลื่อนด้วยว่า เรื่องขยะอาจเป็นเหตุผลให้ญี่ปุ่นลดภาษีให้แก่ไทยมากกว่าประเทศคู่ค้าอื่น ซึ่งไม่ใช่ข้อสรุปของการศึกษาของทีดีอาร์ไอ เพราะญี่ปุ่นลดภาษีโดยรวมให้ประเทศคู่ค้าที่ทำความตกลงแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันนัก แต่อัตราภาษีเฉลี่ยที่ลดลงเมื่อคิดโดยถ่วงน้ำหนักอาจต่างกัน เพราะชนิดของสินค้าที่แต่ละประเทศค้าขายกับญี่ปุ่นไม่เหมือนกันนั่นเอง

 

โดยสรุป ข้อกล่าวอ้างของคุณเพ็ญโฉมในเรื่องนี้คลาดเคลื่อนในเกือบทุกประเด็น อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้มองข้อวิจารณ์ของกลุ่มเอ็นจีโอในเรื่องนี้ในด้านร้าย แต่กลับเห็นว่า เป็นคำเตือนให้ทุกฝ่ายช่วยกันจับตามอง และให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง

 

มาถึงข้อวิจารณ์ของคุณจักรชัยกันบ้าง ประเด็นแรก มาตรการปกป้อง (safeguard) ที่คณะผู้ศึกษาบอกว่ารัดกุมนั้น คุณจักรชัยแย้งว่า "ความรัดกุมจะไม่เกิด เพราะหากเปิดเสรีแล้ว เกิดผลกระทบเสียหายในประเทศจากการนำเข้าสินค้า และใช้มาตรการปกป้อง จะต้องมีการชดเชยความเสียหายให้คู่กรณี และยังมีช่องโหว่สำคัญคือ การใช้ระดับปริมาณการนำเข้าเป็นตัวกำหนดว่าจะสามารถใช้มาตรการนี้ได้หรือไม่ ซึ่งในหลายกรณีความเสียหายไม่สามารถชี้วัดจากปริมาณอย่างเดียวแต่มีด้านราคาด้วย"

 

ต่อประเด็นนี้ ผมเห็นว่า มาตรการปกป้องใน JTEPA มีความรัดกุมดี เพราะมีกลไกที่ต้องชดเชยความเสียหายให้แก่คู่กรณี หากนำมาใช้ และการมีขั้นตอนในการใช้มาตรการต่างๆ เช่นการปรึกษาหารือกันก่อนใช้ และกำหนดให้มีการไต่สวนที่โปร่งใส บทบัญญัติเหล่านี้จะช่วยป้องกันการนำเอามาตรการปกป้องไปใช้ในทางที่ผิด (abuse) ซึ่งแตกต่างจากมาตรการในตระกูลเยียวยา (remedy measure) อื่นๆ เช่น มาตรการป้องกันการทุ่มตลาด (antidumping) และการตอบโต้การอุดหนุน (countervailing) ที่ไม่มีความรัดกุม และถูกนำมาใช้ในการปกป้องการค้าบ่อยครั้ง จนเป็นข้อพิพาทที่เข้าสู่องค์การการค้าโลก โดยหลายกรณีผู้ประกอบการไทยเป็นผู้เสียหาย

 

ความเห็นของผมและคุณจักรชัยที่ต่างกันในเรื่องนี้ อาจมาจากเหตุผลสามข้อที่เกี่ยวโยงกันคือ หนึ่ง คุณจักรชัยอาจนิยมลัทธิปกป้องการค้า (protectionism) สอง คุณจักรชัยอาจเชื่อว่า ประโยชน์ของผู้ประกอบการสำคัญกว่าประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และสาม คุณจักรชัยอาจเชื่อว่า ประเทศไทยจะเป็นฝ่ายใช้มาตรการดังกล่าวฝ่ายเดียว โดยไม่ได้นึกว่า ญี่ปุ่นก็สามารถใช้มาตรการดังกล่าวกับเราได้เช่นกันในสินค้าที่เขาลดภาษีให้เรามากๆ

 

ส่วนประเด็นที่บอกว่า มาตรการปกป้องควรต้องดูผลกระทบด้านราคานอกจากดูผลด้านปริมาณนั้น ก็เป็นข้อเสนอที่น่าจะมีปัญหามาก เพราะจะทำให้มาตรการดังกล่าวถูกใช้ในทางที่ผิดได้ง่ายมาก เพราะราคาสินค้าย่อมเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณการผลิตและการบริโภคในประเทศ หรือการนำเข้าจากประเทศอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี ไปจนถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ราคาสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ การที่ราคาสินค้าตกต่ำแล้วเหมาว่าเป็นผลจากความตกลงการค้าจึงมีปัญหามาก แนวทางที่ถูกต้องก็คือ การใช้ปริมาณการนำเข้าของ "สินค้าที่ได้แหล่งกำเนิด" (สินค้าที่มาจากประเทศในความตกลงการค้าซึ่งได้รับการลดภาษี) เพราะเกี่ยวข้องกับความตกลงการค้าเสรีโดยตรง ด้วยเหตุผลเดียวกัน การตกต่ำของราคาหอม-กระเทียมของไทย ซึ่งสร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกร จึงไม่ได้เกิดจากความตกลงการค้าเสรีไทย-จีน อย่างที่เชื่อกันผิดๆ ในวงกว้าง เพราะปริมาณการนำเข้าตามความตกลงดังกล่าวถูกจำกัดโควต้าไว้ และเป็นโควต้าที่เล็กมากเมื่อเทียบกับปริมาณการค้านำเข้าทั้งหมดของไทย

 

ในประเด็นเรื่องการค้าบริการ คุณจักรชัยกล่าวว่า "JTEPA ไม่มีมาตรการปกป้องฉุกเฉิน (EMS) เรายอมฝ่ายญี่ปุ่นทั้งที่ผ่านมาเราเป็นผู้นำชูประเด็นนี้ใน WTO ต่อไปจุดยืนของไทยใน WTO จะเสียหาย" ผมขอเรียนว่า ไทยไม่ได้เปิดเสรีให้ญี่ปุ่นเกินกว่าที่กฎหมายในประเทศกำหนดไว้ในสาขาเกือบทั้งหมด ยกเว้น 8 สาขา ซึ่งไม่ใช่สาขาหลัก แต่สาขาเหล่านั้น เป็นสาขาที่ญี่ปุ่นไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขัน (ร้านอาหาร โรงแรม) หรือเป็นสาขาที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สามารถให้บริการได้อยู่แล้ว (บริการต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจงกับยี่ห้อสินค้าที่ผลิต) หรือประกอบการอยู่แล้วจำนวนมากในทางปฏิบัติ (โฆษณา) การเปิดเสรีตามกรอบ JTEPA จึงไม่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างสำคัญต่อผู้ให้บริการในประเทศไทย นอกจากนี้ JTEPA ยังกำหนดให้ทั้งสองประเทศเริ่มการปรึกษาหารือเพื่อเจรจาเรื่องมาตรการปกป้องฉุกเฉินภายใน 6 เดือนหลังจากที่ JTEPA มีผลบังคับใช้



 

ส่วนในเรื่องเกษตร โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เป็นความจริงที่ตามที่คุณจักรชัยกล่าวว่า JTEPA ไม่มีความตกลงด้านนี้ มีเฉพาะความร่วมมือ ซึ่งอาจจะทำให้การลดภาษีในหลายสินค้าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดู หากมีการลงนามความตกลงกัน โดยรัฐบาลไทยอาจต้องเจรจาต่อรองต่อไป เมื่อมีการทบทวนความตกลง หากพบว่าสินค้าเกษตรที่สำคัญของเราไม่ได้ประโยชน์จริง แต่ผมค่อนข้างแปลกใจกับการเปลี่ยนท่าทีของคุณจักรชัย เพราะถ้าจำไม่ผิด คุณจักรชัยเคยไปพูดที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับผมและผู้อำนวยการสำนักงาน JTEPA โดยคุณจักรชัยกล่าวว่า ไม่อยากให้มีการเจรจาการค้าสินค้าเกษตร เพราะไม่ต้องการ "ทำร้าย" เกษตรกรญี่ปุ่น ถ้าคุณจักรชัยยังคงเส้นคงวากับความคิดที่ว่า การค้าไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ร่วมกัน แต่เป็นการทำร้ายกันแล้ว ก็หมายความว่า ปัจจุบัน คุณจักรชัย อยากจะ "ทำร้าย" เกษตรกรญี่ปุ่น? ถ้าผมจำเรื่องนี้ผิด ก็ขออภัยมาล่วงหน้าด้วย

 

ผมยังไม่เข้าใจหลัก "เศรษฐศาสตร์เอ็นจีโอ" ของคุณจักรชัยด้วยที่บอกว่า "เรื่องสิ่งทอ เราต้องชี้แจงว่าผลประโยชน์ของเราจะได้แค่ไหน และจะตกกับคนกลุ่มใด จะเป็นแรงงานหรือผู้ส่งออก" เพราะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ถ้าต้องขยายกิจการตามปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจะไม่สามารถจ้างแรงงานเพิ่มได้จริงหรือ? แรงงานที่ได้ประโยชน์จึงไม่ใช่เฉพาะแรงงานในสาขาสิ่งทอ แต่เป็นแรงงานทุกสาขาที่ใช้ทักษะแรงงานพื้นฐานคล้ายๆ กัน เพราะถ้าตลาดแรงงานตึงตัวจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ค่าแรงก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าคุณจักรชัยคิดในสถานการณ์ตรงกันข้ามว่า สมมติว่าไทยส่งออกไปญี่ปุ่นลดลงในบางสาขา เพราะไม่มี JTEPA แต่คู่แข่งของเราเช่น มาเลเซียมี แล้วสรุปว่ามีแต่ผู้ส่งออกไทยเสียประโยชน์ โดยแรงงานไม่ได้รับผลกระทบเลย ผมก็จะยอมรับในความคงเส้นคงวาของคุณจักรชัย

 

ประเด็นเรื่องดุลการค้า เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมกลุ้มใจกับทั้งฝ่ายเอ็นจีโอ และฝ่ายรัฐบาล ก่อนอื่นขอให้ข้อมูลก่อนว่า การทำความตกลงการค้าเสรีที่ผ่านมาของไทย ทั้งกับจีน อินเดีย และออสเตรเลีย ไม่ได้ทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างที่เชื่อกันโดยทั่วไป และอย่างที่คุณจักรชัยบอกว่า "เมื่อถึงยุคที่เริ่มทำเอฟทีเอ การได้ดุลการค้าก็แคบลงจนเสียดุลอีก" ปัญหาที่เกิดการเข้าใจกันผิดก็เพราะว่า คนที่พูดไปดูดุลการค้าโดยรวม ไม่ได้ดูดุลการค้าเฉพาะสินค้าที่ได้แหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความตกลง แต่กับกรณีกับญี่ปุ่น ผมจะไม่แปลกใจถ้า ความตกลงการค้านี้จะทำให้เราขาดดุลเพิ่มขึ้น ประเด็นก็คือ ผมไม่คิดว่า ดุลการค้ากับประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าขาดดุลหรือเกินดุลเป็นปัญหาหรือเรื่องที่น่าดีใจ เพราะดุลการค้านั้นเป็นตัวเลขมหภาคที่ต้องพิจารณาโดยรวมกับทุกประเทศ ไม่ใช่มาดูว่าเรา "กำไร" หรือ "ขาดทุน" กับประเทศไหนประเทศเดียว และจะไม่เป็นปัญหาตราบใดที่ดุลการค้าสินค้าและบริการโดยรวมของประเทศไม่ขาดดุลต่อเนื่องมากๆ ไม่อย่างนั้น คุณจักรชัยก็คงต้องกลุ้มใจที่ "ขาดดุล" หรือ "ขาดทุน" คนขายก๋วยเตี๋ยวทุกครั้งที่ซื้อก๋วยเตี๋ยวรับประทาน

 

สุดท้าย คงจะต้องบอกว่า ผมเห็นด้วยกับกลุ่มเอ็นจีโอในบางประเด็น ประการแรก ผมเห็นด้วยกับทุกท่านว่า กิจกรรมวันนั้นไม่ใช่การประชาพิจารณ์อย่างแน่นอน ผมเองได้เคยแจ้งให้อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ทราบความเห็นดังกล่าวก่อนจัดงานแล้ว โดยขอให้ทบทวนการเรียกชื่อเสียใหม่ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาถกเถียงกันโดยไม่จำเป็น ประการที่สอง แม้ผมจะเห็นว่า ความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากวิธีการมองปัญหาของกลุ่มเอ็นจีโอเอง ผมก็เห็นใจว่า ความเข้าใจคลาดเคลื่อนอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่ท่านไม่ได้อ่านร่างบทบัญญัติอย่างเต็มที่ ผมเห็นด้วยอย่างแน่นอนว่า กระบวนการเจรจาและการทำความตกลงของไทยมีปัญหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงดังที่เคยกล่าวไว้ในหลายวาระ

 

ผมเชื่อด้วยว่า ทุกฝ่ายรวมทั้งข้าราชการที่เกี่ยวข้องเองก็อึดอัดกับกระบวนการที่เป็นอยู่ แต่ผมก็คิดว่า พวกเราควรจะหยุดบ่นเรื่องนี้ และลงมือกระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เสียที ผมเคยไปให้ข้อคิดเห็นกับกลุ่ม FTA WATCH ที่บอกว่า อยากยกร่างกฎหมายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อทำให้การเจรจามีความโปร่งใสและมีส่วนร่วมจากประชาชนตั้งนานแล้ว ไม่ทราบว่า ท่านทำไปถึงไหนกัน? ผมเองรอไม่ไหวแล้ว จึงกำลังเตรียมการจะยกร่างกฎหมายดังกล่าวเสียเอง

 

ถ้าเพื่อนๆ เอ็นจีโอ ไม่ได้ตั้งธงล่วงหน้าว่า จะต้องล้มหรือต้องค้านความตกลงการค้าเสรีทุกความตกลง เพราะเชื่อว่าการค้า-การลงทุนกับต่างประเทศ สร้างปัญหาในทุกกรณีโดยไม่ต้องดูสาระสำคัญเลย ผมก็พร้อมที่ให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นแก่ท่านเท่าที่จะสามารถทำได้ และถ้าท่านอยากเห็นกระบวนการการเจรจาการค้าเสรีของไทยที่โปร่งใส และมีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ ผมขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันร่างกฎหมายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศด้วยกัน จะสนใจรับคำเชิญไหมครับ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท