Skip to main content
sharethis

เมื่อข่าวจากฝั่งทำเนียบรัฐบาลแน่ชัดว่า ครม. รับร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พลันตลาดหุ้นไทยก็ดิ่งวูบ ประชาไทประมวลความเห็นมาเพื่อประกอบการติดตามบรรยากาศเศรษฐกิจไทยที่มีแววว่าจะซบเซาลงเรื่อยๆ กระทั่งบางคนว่านี่แค่เบาะๆ รอของจริงสัปดาห์หน้าโน่น

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา

 

แรงเหวี่ยงจากกรณีกุหลาบแก้ว ทำให้วานนี้ ครม.รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวแล้ว หลังจากที่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศในไทยเคลื่อนไหวขอให้มีการทบทวนหรือชะลอการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

 

สาระสำคัญของการแก้ไข คือการแก้ไขนิยามความหมายของคำว่า "คนต่างด้าว" โดยเพิ่มเงื่อนไขการพิจารณาความเป็นต่างด้าวจาก "สิทธิการออกเสียง" จากเดิมที่พิจารณาแต่เรื่อง "สัดส่วนการถือหุ้น"

 

หลายฝ่ายเชื่อว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสืบเนื่องมาจากปัญหาการใช้นอมินีในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการตั้งนอมินี เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจไทยมานาน โดยต่างชาติให้คนไทยเข้าถือหุ้นแทน เพื่อมิให้สัดส่วนการถือหุ้นเกินร้อยละ 50 โดยที่ยังมีอำนาจในการบริหารบริษัทต่อไป

 

หลังจากที่ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จนกว่าครม.จะเห็นชอบ ในวันนี้นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยแล้วถึงสาระสำคัญของการแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

 

1) แก้ไขคำนิยาม "คนต่างด้าว" จากเดิมที่พิจารณาความเป็นคนต่างด้าวจากสัดส่วนการถือหุ้น/ลงทุนของคนต่างด้าวเท่านั้น ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้แก้ไขโดยเพิ่มให้พิจารณาจากสิทธิออกเสียง (Voting Rate) ด้วย

คือ หากคนต่างด้าวมีสิทธิออกเสียงตั้งแต่กึ่งหนึ่งขึ้นไปของนิติบุคคลนั้น ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นเป็นคนต่างด้าว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการออกหุ้นบุริมสิทธิให้คนต่างด้าวที่ลงทุนน้อยกว่าคนไทย มีสิทธิออกเสียงมากกว่าคนไทย

 

สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้ว และได้รับผลกระทบจากการแก้ไขคำนิยามดังกล่าว ทำให้กลายเป็นนิติบุคคลต่างด้าว จะได้รับการผ่อนปรนให้สามารถประกอบธุรกิจนั้นต่อไปได้ โดยธุรกิจตามบัญชี 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ สามารถประกอบธุรกิจได้ต่อไปจนกว่าจะเลิก (ดูหมายเหตุบัญชีแนบท้าย)

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ต่างชาติที่ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ต้องลดสัดส่วนถือหุ้นลงภายใน 1 ปี หากบริษัทใดจัดอยู่ในบัญชีที่ 1 อาทิ กิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง เกษตรกรรม และบัญชีที่ 2 ซึ่งเป็นธุรกิจเฉพาะที่สงวนไว้สำหรับคนไทย และธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง หรือมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของไทย ที่ "ถือหุ้นในบริษัท" เกินร้อยละ 50 จะต้องเข้ามาแจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ และให้ดำเนินการลดสัดส่วนโดยการขายหุ้นออกไปภายใน 1 ปี

 

หากบริษัทใดที่อยู่ในบัญชีที่ 1 และ 2 ที่มี "สิทธิออกเสียง" เกินร้อยละ 50 จะต้องแจ้งภายใน 1 ปี และทำการปรับลดสัดส่วนการออกเสียงดังกล่าวให้เป็นไปตามเกณฑ์ภายใน 2 ปี นับจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

หากบริษัทใดเข้าเกณฑ์บัญชีที่ 3 อาทิ ค้าปลีก ค้าส่ง ที่มีการ "ถือหุ้น" เกินร้อยละ 50 และหาก "มีสิทธิออกเสียง" เกินร้อยละ 50 จะต้องแจ้งภายใน 90 วัน และสามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติต่อไป

 

2) แก้ไขบทกำหนดโทษ กรณีที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือถือหุ้นแทนซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ให้เพิ่มโทษปรับและปรับรายวันให้สูงขึ้น 5 เท่าจากเดิมปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท เป็น 5 แสนบาทถึง 5 ล้านบาท และเพิ่มโทษปรับรายวันจากวันละ 1-5 หมื่นบาท ส่วนโทษจำคุกให้เป็นไปตามเดิม

 

แต่จะมีการผ่อนปรนโดยให้ผู้กระทำความผิดก่อนหน้านี้มีระยะเวลาปรับตัวเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้แจ้งต่อทางราชการภายใน 90 วันและให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 1 ปี

 

3)ปรับปรุงบัญชีธุรกิจที่ควบคุม โดยยกเลิกธุรกิจที่กฎหมาย หรือมีหน่วยงานอื่นดูแลอยู่แล้ว และหน่วยงานดังกล่าวได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกการควบคุมธุรกิจนั้น ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเฉพาะที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องธุรกิจหลักทรัพย์ อนุพันธ์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน เครดิตฟองซิเอร์ รวมถึงให้ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาต

 

ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่เป็นประเภทอุตสาหกรรม ธุรกิจส่งออก และธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใด

 

สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาถือหุ้นในบริษัทไทยรายใหม่ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ออกกฎหมายดังกล่าวไป นักลงทุนต่างชาติจะต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมาทั้งหมด

 

นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า "ในส่วนของบริษัทกุหลาบแก้ว ขณะนี้หมดหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์แล้ว เพราะได้ส่งให้ตำรวจสืบสวน ว่าเป็นบริษัทต่างด้าวตามข้อวินิจฉัยของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกระบวนการจะสิ้นสุดหลังศาลตัดสิน แต่บริษัทกุหลาบแก้วมีสิทธิปรับตัวเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ซึ่งการจะแจ้งรายงานอย่างไรของบริษัทนั้น ต้องไปพิจารณาว่าเข้าข่ายบัญชีไหน เพราะกุหลาบแก้วทำธุรกิจหลายประเภท บางประเภทมีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่"

 

 

นักลงทุนเทหุ้นขาย เตรียมลาจากประเทศไทย

 

ทั้งนี้ หลังจากครม.เห็นชอบร่างแก้ไขพ.ร.บ.ต่างด้าว ฉุดหุ้นไทยร่วง 17 จุด ปิดต่ำสุดในรอบ 2 ปี นางวิริยา ลาภพรหมรัตน์ นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ดัชนีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ดิ่งลงหลังเปิดตลาดภาคบ่ายวันนี้ เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ประกาศเห็นชอบกับร่างแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นสาเหตุเดียวที่ส่งผลให้กระแสความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเคลื่อนไหวในทิศทางที่ลดลงตอบรับการกระทบจากกระแสดังกล่าวทันที

 

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า กลุ่มนักลงทุนมองว่าทั้งร่างแก้ไขพ.ร.บ.ต่างด้าวและมาตรการแบงก์ชาติ ต่างส่งผลกีดกันการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติทั้งสิ้น และการจะดึงมูลค่าการลงทุนให้กลับคืนมา คือการประกาศทบทวนมาตรการกันเงินสำรองการลงทุน ร้อยละ 30 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) ซึ่งสมาคมธุรกิจตลาดทุนไทย และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ มีการเรียกร้องให้ดำเนินการทบทวนมาตรการดังกล่าวจากอยู่ในขณะนี้ นายเกียรติก้อง เดโช ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ซิกโก้ กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศตื่นตกใจเทขายหุ้นออกมาทุกกลุ่ม หลังจากครม.รับในหลักการ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ขณะที่คาดดัชนีมีโอกาสปรับตัวลดลงตลอดสัปดาห์นี้ และมีโอกาสหลุดระดับต่ำกว่า 600 จุดได้

 

เขากล่าวว่า สถาบันการเงินที่นักลงทุนต่างประเทศถือหุ้น ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะมีพ.ร.บ.สถาบันการเงินคุ้มครองอยู่ แต่การที่ราคาหุ้นสถาบันการเงินปรับตัวลดลงมามาก เพราะเป็นผลทางอ้อมจากการที่นักลงทุนตื่นตกใจเทขาย

 

เขากล่าวว่า ปัจจัยเกี่ยวกับพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว จะเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต่างประเทศมองว่าเป็นปัจจัยลบ มากกว่ามาตรการสกัดเก็งกำไรเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพราะ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ถือว่าส่งผลกระทบโดยตรงกับนักลงทุนต่างประเทศ

 

นายเกียรติก้อง กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในวันพรุ่งนี้ คาดว่ามีโอกาสลดลงต่อได้อีก เพราะตลาดหุ้นยังไม่มีปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้น และแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศยังมีอยู่

 

  

นานาทัศนะ ที่มีต่อการแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว

 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และสภาหอการค้าไทยร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยนายปีเตอร์ จอห์น แวน ฮาเรน ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย (JFCCT) ซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ และสถานทูตประเทศสมาชิกประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่าการแก้ไขคำนิยามของคนต่างด้าวใหม่ จะปิดกั้นการลงทุน และจำกัดสิทธิของนักลงทุนต่างประเทศในไทย ทำให้บรรยากาศการลงทุนเสีย นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นลงทุนในไทย และอาจถอนการลงทุน

 

นายฮาเรน กล่าวว่า หากแก้ไขเช่นนั้น เท่ากับเป็นการเปลี่ยนกติกาการลงทุนในไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของบริษัทต่างชาติหลายพันแห่งในไทยซึ่งดำเนินธุรกิจมาหลายสิบปีแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น หาก

กฎหมายมีผลบังคับใช้ย้อนหลังก็จะเป็นการบีบบังคับให้บริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในไทยต้องขายหุ้นทิ้งด้วย เท่ากับบังคับให้บริษัทเหล่านี้ต้องขายหุ้นทิ้ง หรือหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน

 

"หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการอนุมัติ จะมีผู้ทบทวนการลงทุนในไทย แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนนักลงทุนและมูลค่าเงินลงทุนที่ชัดเจนได้" นายฮาเรน กล่าว

 

นายฮาเรน กล่าวอีกว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์มากมายที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงไม่ต้องการให้ขาดความเชื่อมั่นไปมากกว่านี้อีก

 

"การคัดค้านการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนมากมาย ทั้งจาก นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุน

ไทยที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ถ้ารัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายนี้เพราะการขายหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างไรก็ตาม หากจะมีการแก้ไขกฎหมายนี้ หอการค้าต่างประเทศได้เสนอแนวทางแก้ไขไปแล้ว 2 ประการ คือ 1.ธุรกิจที่จะถูกจำกัดการลงทุน ควรเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติและวัฒนธรรมไทยเท่านั้น และ 2.ควรเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศลงทุนในธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในข้อแรก

 

"เรารู้สึกผิดหวังต่อท่าทีของรัฐบาลที่เพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะของหอการค้าต่างประเทศ เพราะถึงขณะนี้ หอการค้าต่างประเทศยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ อย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าจะได้ยื่นจดหมายถึงนายกฯ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม เพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนการแก้ไข พ.ร.บ.นี้ไปแล้ว" นายฮาเรน กล่าว

 

โดยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา JFCCT ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความกังวลกับการแก้ไขกฎหมาย โดยขอให้รัฐบาลอย่านำสิทธิในการออกเสียงมาใช้พิจารณาความเป็นต่างด้าว ให้ใช้เฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังขอให้ถอดบางธุรกิจในบัญชีแนบท้าย 2 ออก (ธุรกิจเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณีและสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตอาวุธ ทำเหมือง ผ้าไหม นาเกลือ ธุรกิจการบิน) เพื่อเปิดให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุน ส่วนบัญชี 3 ให้ยกเลิก

 

 

ไม่ต้องห่วง คุยกับนักลงทุนรายใหญ่มาแล้ว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่หอการค้าต่างประเทศและทูตบาง

ประเทศแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวว่า เขาจะพูดคุยกับนักลงทุนโดยตรง เพราะคุยกับนักลงทุนมาเยอะแล้ว เพียงแต่เขายังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมด โดยในวันที่ 10 ม.ค.นี้ จะได้พูดคุยกับนักลงทุนโดยตรง ซึ่งได้ทดสอบความรู้สึกนักลงทุนรายใหญ่ๆ ที่ถือเกินเกณฑ์ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็บอกว่า ถ้าออกมาอย่างนั้นเขารับได้

 

"ไม่ต้องห่วง เพราะเราไม่ได้เป็นศัตรูกับเขา ประวัติศาสตร์ประเทศไทยต้อนรับนักลงทุนต่างชาติมาตลอด

เพราะการลงทุนช่วยทำให้ประเทศไทยเจริญมาตลอด รัฐบาลก็ถือแนวทางนี้ เราไม่ปฏิเสธการลงทุนต่างชาติแน่นอน ฉะนั้นไม่ต้องห่วง รมต.เกริกไกรเสนอมาผมก็ช่วยดูให้แล้วไม่ต้องห่วง และได้แอบไปคุยกับนักลงทุนใหญ่หลายราย ที่ถือเกินเกณฑ์ 51 เปอร์เซ็นต์อยู่เขารับได้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

 

 

ถอนเงินลงทุนแค่ระยะสั้น

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวผ่านสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น ว่า เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน โดยนักลงทุนต่างชาติจะถอนเงินลงทุนออกไปในระยะสั้น และจะกลับเข้ามาลงทุนใหม่ได้ อีกทั้งเชื่อว่าการถอนทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่มีผลจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่ออัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย

หากจะมีการยืดระยะเวลาในการนำร่างแก้ไข พ.ร.บ.คนต่างด้าวเข้าที่ประชุม ครม.ออกไปอีก 6 เดือน เนื่องจากจะมีผลต่อการแก้ไขปัญหากรณีบริษัทกุหลาบแก้วไปด้วย

 

 

เตรียมเผ่นจากไทย ย้ายไปจีน เวียดนาม

ขณะที่นายเคดิสุเกาะ มัทสึโมโตะ เลขาธิการหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่กังวลเรื่องสิทธิในการออกเสียง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เพราะชาวญี่ปุ่นส่วนมากมีสิทธิออกเสียงในแต่ละบริษัทเกิน 49% หรือบางรายเกิน 100% การให้เวลา 6-12 เดือน ปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องน้อยเกินไป ต้องอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป

 

"หากรัฐยืนยันเปลี่ยนแปลงนิยามคนต่างด้าว จะกระทบการลงทุน นักลงทุนญี่ปุ่นจะถอนการลงทุนจากไทยแน่ ซึ่งญี่ปุ่นลงทุนในไทย 7,000 บริษัท ไม่อยากให้แก้ไข พ.ร.บ.นี้ เพราะจะเกิดความสับสน และลังเลการลงทุนใหม่ โดยอาจย้ายฐานไปจีน เวียดนาม ส่วนธุรกิจที่อยากให้เปิดเสรีคือ ธุรกิจโฆษณา"

 

 

บรรยากาศไม่เอื้ออำนวยสำหรับต่างชาติ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตีพิมพ์การวิเคราะห์ของ นายคิม เอ็ง ตัน นักวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของเอสแอนด์พี ว่า ชื่อเสียงของไทยในสายตานักลงทุนเสื่อมถอยลงในปี 49 โดยความมีเสถียรภาพทางการเมืองได้รับผลกระทบจากการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกลุ่มคัดค้าน จนทำให้เกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.49 ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการขายหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และข้อตกลงการเปิดเสรีการค้า (เอฟทีเอ) บ่งชี้ว่าบรรยากาศในประเทศไม่เอื้ออำนวยสำหรับต่างชาติ

 

"บรรยากาศดังกล่าวยิ่งแย่ลงจากการคัดค้านแผนการขยายกิจการของบริษัทค้าปลีกข้ามชาติ ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติยังวิตกการตรวจสอบการใช้นอมินีเข้าซื้อหุ้นชินคอร์ป และบริษัทต่างๆ ในไทย ซึ่งเกรงว่า การถือหุ้น ของพวกเขาอาจผิดกฎหมาย และหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการคุมเงินทุนในเดือน ธ.ค.49 นักลงทุนยิ่งเพิ่มความระมัดระวัง การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน ถือเป็นหัวใจของการรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในอัตราเดียวกับปีที่ผ่านมา".

 

 

กฎหมายเดิมเหมาะสม แต่ไม่เคยได้ใช้

นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาคัดค้านการแก้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ด้วยเห็นว่าแก้ไม่ตรงจุด ส่งผลเอื้อต่อคนมั่งมีบางกลุ่ม เนื่องจากการแก้ไขนิยามซึ่งกำหนดให้จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นนั้น เป็นเพียงประเด็นปลีกย่อย โดยมองว่าการจำกัดให้กิจการแต่ละประเภทเป็นของคนไทยเท่านั้น ผลสุดท้ายเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นการปกป้องผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนทั่วไป ในขณะที่ไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ

 

ทั้งนี้ นายกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฉบับเดิมมีความเหมาะสมเนื่องจาก ได้กำหนดให้มีการทบทวนเรื่องความเหมาะสมของการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นในแต่ละอุตสาหกรรมทุกปีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยใช้อำนาจดังกล่าว

 

 

ใช้มาตรการแบบเหวี่ยง "อีกครั้งหนึ่ง"

 

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ตีพิมพ์คำสัมภาษณ์ของ นายเกียรติ สิทธิอมร ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งมองว่า จะเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อการลงทุนแน่นอน เขาตั้งคำถามว่า การแก้ไขกฎหมายตอนนี้ได้อะไร เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดหรือไม่ การจะดำเนินคดีกับผู้กระทบผิดเพียงบริษัทเดียว แต่รัฐบาลแก้ไขแบบเหวี่ยงแห จนเกิดผลกระทบรุนแรง

 

ปัญหาที่จะตามมาคือ บริษัทต่างชาติที่เคยครอบครองที่ดินเอาไว้จะทำอย่างไร เมื่อกฎหมายใหม่กำหนดให้บริษัทที่เข้าข่ายต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ตรงนี้ต้องดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการรองรับอย่างไร

 

 

อยากให้มองตัวเองเพื่อเปิดกว้าง

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา

ประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่หอการค้าต่างประเทศแสดงความเห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวไม่เปิดกว้างสำหรับเงินทุนจากต่างชาติเท่าที่ควร ซึ่งความจริงในบทเฉพาะกาลได้มีการผ่อนปรนให้เวลาในการปรับตัวพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายของข้าราชการมีความรักชาติสูง จึงรัดกุมในทุกด้าน เพื่อป้องกันต่างชาติเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศ แต่เห็นว่าการเขียนกฎหมายของไทยส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงอยากให้มองกันที่ความเป็นจริงมากกว่า

 

เพราะที่บอกว่าจะติดตามตรวจสอบ แต่เมื่อดูกำลังเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในส่วนทำหน้าที่ตรวจสอบมีไม่ถึง 10 คน ขณะที่ธุรกิจมีนับแสนราย คงตรวจสอบได้ไม่หมด และอยากให้มองตัวเองเพื่อเปิดกว้าง เพราะหากธุรกิจใดต่างชาติมีความเชี่ยวชาญ หรือเข้ามาดำเนินการได้ โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงกระทบต่อรายย่อย เกษตรกร หรือกลุ่มที่ต้องคุ้มครอง ก็ควรเปิดให้เข้ามาดำเนินการได้

 

"อยากให้แก้ไขกฎหมายให้มีความชัดเจน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ ไม่ใช่สีเทาตีความลำบาก เพราะระบบของไทยควรจะเปิดกว้าง ควรจะเอื้ออำนวยในทางปฏิบัติมากกว่าไม่ใช่กำหนดไว้แล้วไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ไม่เช่นนั้นอีก 10 ปี ก็จะเกิดวิกฤติปัญหาเรียกร้องให้มีการแก้ไขกันใหม่ เหมือนกับเมื่อมีปัญหานอมินี แล้วเรียกร้องให้แก้ไข ปว.281 โดยจะแก้ไขกันทุกครั้งมีปัญหาเกิดขึ้น" นายสมเกียรติ กล่าว

 

 

ไม่ต้องการให้มีสัญญาณพึ่งพาเงินทุนต่างชาติน้อยลง

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานสมาคมธนาคารไทย

กล่าวว่า การเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนเป็นกังวล โดยการประชุมของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เมื่อ 8 ม.ค. ได้หารือกันใน 3 เรื่องหลัก คือ สัดส่วนการเป็นเจ้าของในธุรกิจที่ขยายกิจการเข้ามาร่วมทุนกับคนไทย การออกคะแนนเสียงในการประชุมคณะผู้บริหาร และการบริหารงานในองค์กร

 

อย่างไรก็ตาม ด้านภาคการเงินไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะมีกฎหมายของ พ.ร.บ.สถาบันการเงิน ระบุไว้ให้ต่างชาติถือหุ้นได้เพิ่มจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 49 อยู่แล้ว แต่หากมีความจำเป็นไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้ และอาจมีความเสียหายได้ ทางการก็จะอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 49 ได้ ตามความเหมาะสม

 

แต่ในธุรกิจอื่น ๆ เอกชนต่างชาติต้องการทราบความชัดเจน เมื่อจะเข้ามาร่วมทุนในประเทศ ต้องตั้งบริษัทย่อย ต่างชาติจะถือหุ้นได้เท่าใด และส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และปัญหากลุ่มนอมินี หรือตัวแทนถือหุ้นของเทมาเส็ก ในกลุ่มชินฯ ต่างชาติก็ต้องการให้มีความชัดเจน ดังนั้น ทุกอย่างมีความชัดเจนจะทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยไม่ต้องการให้มีสัญญาณต้องการพึ่งพาเงินทุนต่างชาติน้อยลง เพราะในความจริงแล้ว การพัฒนาในยุคปัจจุบันยังต้องการอาศัยการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างงานในประเทศ เพราะอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็สามารถเลือกในสิ่งที่ต้องการนำเข้ามาได้เกิดประโยชน์มากที่สุด

เพิ่มเติม

บัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.. ๒๕๔๒

 



 

บัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.. ๒๕๔๒

 

 

บัญชีหนึ่ง

ธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษ

 

() การทำกิจการหนังสือพิมพ์ การทำกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์

() การทำนา ทำไร่ หรือทำสวน

() การเลี้ยงสัตว์

() การทำป่าไม้และการแปรรูปไม้จากป่าธรรมชาติ

() การทำการประมงเฉพาะการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยและในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย

() การสกัดสมุนไพรไทย

() การค้าและการขายทอดตลาดโบราณวัตถุของไทยหรือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศ

() การทำหรือหล่อพระพุทธรูป และการทำบาตร

() การค้าที่ดิน

 

 

บัญชีสอง

ธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศหรือมีผลกระทบต่อ
ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี หัตถกรรมพื้นบ้าน หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

หมวด ๑ ธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศ

() การผลิต การจำหน่าย และการซ่อมบำรุง

() อาวุธปืน เครื่องระสุนปืน ดินปืน วัตถุระเบิด

() ส่วนประกอบของอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด

() อาวุธยุทโธปกรณ์ เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะทางการทหาร

() อุปกรณ์หรือส่วนประกอบของอุปกรณ์สงครามทุกประเภท

() การขนส่งทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศในประเทศ รวมถึงกิจการการบินในประเทศ

 

หมวด ๒ ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และหัตถกรรมพื้นบ้าน

() การค้าของเก่า หรือศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรม หัตถกรรมของไทย

() การผลิตเครื่องไม้แกะสลัก

() การเลี้ยงไหม การผลิตเส้นไหมไทย การทอผ้าไหมไทย หรือการพิมพ์ลวดลายผ้าไหมไทย

() การผลิตเครื่องดนตรีไทย

() การผลิตเครื่องทอง เครื่องเงิน เครื่องถม เครื่องทองลงหิน หรือเครื่องเขิน

() การผลิตถ้วยชามหรือเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นศิลปวัฒนธรรมไทย

 

หมวด ๓ ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม

() การผลิตน้ำตาลจากอ้อย

() การทำนาเกลือ รวมทั้งการทำเกลือสินเธาว์

() การทำเกลือหิน

() การทำเหมือง รวมทั้งการระเบิดหรือย่อยหิน

() การแปรรูปไม้เพื่อทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้สอย

 

บัญชีสาม

ธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว

 

() การสีข้าว และการผลิตแป้งจากข้าวและพืชไร่

() การทำการประมง เฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

() การทำป่าไม้จากป่าปลูก

() การผลิตไม้อัด แผ่นไม้วีเนียร์ ชิปบอร์ด หรือฮาร์ดบอร์ด

() การผลิตปูนขาว

() การทำกิจการบริการทางบัญชี

() การทำกิจการบริการทางกฎหมาย

() การทำกิจการบริการทางสถาปัตยกรรม

() การทำกิจการบริการทางวิศวกรรม

(๑๐) การก่อสร้าง ยกเว้น

() การก่อสร้างสิ่งซึ่งเป็นการให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนด้านการสาธารณูปโภคหรือการคมนาคมที่ต้องใช้เครื่องมือ เครื่องจักร เทคโนโลยีหรือความชำนาญในการก่อสร้างเป็นพิเศษ โดยมีทุนขั้นต่ำของคนต่างด้าวตั้งแต่ห้าร้อยล้านบาทขึ้นไป

() การก่อสร้างประเภทอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๑๑) การทำกิจการนายหนา้ หรือตัวแทน ยกเว้น

() การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริการที่เกี่ยวกับการซื้อขายล่วงหน้าซึ่งสินค้าเกษตรหรือตราสารทางการเงินหรือหลักทรัพย์

() การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหรือจัดหาสินค้าหรือบริการที่จำเป็นต่อการผลิตหรือการให้บริการของวิสาหกิจในเครือเดียวกัน

() การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขาย จัดซื้อหรือจัดจำหน่ายหรือจัดหาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อการจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศอันมีลักษณะ เป็นการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ โดยมีทุนขั้นต่ำของคนต่างด้าวตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป

() การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนประเภทอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๑๒) การขายทอดตลาด ยกเว้น

() การขายทอดตลาดที่มีลักษณะเป็นการประมูลซื้อขายระหว่างประเทศที่มิใช่การประมูลซื้อขายของเก่า วัตถุโบราณ หรือศิลปวัตถุซึ่งเป็นงานศิลปกรรม หัตถกรรม หรือโบราณวัตถุของไทย หรือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศ

() การขายทอดตลาดประเภทอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๑๓) การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมืองที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามไว้

(๑๔) การค้าปลีกสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำรวมทั้งสิ้นน้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท หรือที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่ายี่สิบล้านบาท

(๑๕) การค้าส่งสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท

(๑๖) การทำกิจการโฆษณา

(๑๗) การทำกิจการโรงแรม เว้นแต่บริการจัดการโรมแรม

(๑๘) การนำเที่ยว

(๑๙) การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม

(๒๐) การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช

(๒๑) การทำธุรกิจบริการอื่น ยกเว้นธุรกิจบริการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net