Skip to main content
sharethis

การจะทำประชาพิจารณ์เพียงเฉพาะกลุ่มในทำเนียบรัฐบาลไม่เป็นการเพียงพอเสียแล้วแต่รัฐบาลจะต้องถอยออกมา หนึ่งก้าว ให้ทางองค์กรมุสลิมได้พิจารณาดำเนินการด้วยตนเอง อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเสียก่อน เพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งที่จะมีขึ้น

อารีฟิน บินจิ

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

วันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2007 10:56. 

 

ชาวไทยมุสลิมทั้งประเทศต่างงุนงงกับการประกาศวันตรุษฮารีรายอ ฮัจญี  หรือตรุษอีดิลฮัฎฮาของชาวไทยมุสลิมในปีนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการประกาศ ตรุษอีต ถึงสองวัน  กล่าวคือ วันเสาร์ประกาศโดยผู้แทนจุฬาราชมนตรี คือคุณสมาน มาลีพันธ์ และประกาศตรุษวันอาทิตย์โดยท่านอาจารย์สวาท สุมาลยศักดิ์เพียงเท่านี้ก็พอมองออกแล้วว่าทั้งอดีตและปัจจุบันองค์กรทางศาสนาอิสลามมีความแตกแยกกันอยู่อย่างสม่ำเสมอโดยไม่เสื่อมคลาย

 

มาวันนี้ ได้ทราบว่าประธานชมรมโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามในพท.จว.ชายแดนภาคใต้ ดาโต๊ะ นิเด วาบา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เสนอรัฐบาลให้มีการออกกฎหมายจัดตั้ง "สภาอูลามา" (Majlis lamah) และจะมีการทำประชาพิจารณ์ในเร็ววันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความแตกแยก

 

จะป้องกันความแตกแยกได้ จริงหรือ....?

 

หลักการเบื้องต้นที่มีการเสนอให้มีการจัดตั้งสภาอุลามานี้วัตถุประสงค์เพื่อจะทำหน้าที่ในการฟัตวา(Fatwa)หรือพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาททางศาสนาอิสลามหมายความว่าขณะนี้ชาวมุสลิมในประเทศไทยกำลังแตกแยกกันและไม่มีองค์กรใดทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาทางศาสนา อย่างนั้นหรือ..?

 

เมื่อลองย้อนถามไปยังประเทศมุสลิมเกี่ยวกับสภาอุลามาพอจับความได้ว่าในประเทศอียิปต์นั้นสภาอูลามามิใช่เป็นองค์กร ของรัฐ แต่จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรมุสลิมและมหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร ก่อตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมโลกมุสลิมจนได้รับความเชื่อถือมีหลายประเทศที่นำข้อวินิจฉัย ไปใช้บังคับ

 

ในประเทศมาเลเซียนั้นสภาอูลามามิได้จัดตั้งโดยรัฐบาลเช่นเดียวกันแต่สภาอูลามาอยู่ภายใต้พรรคการเมืองอิสลาม หรือพรรคพาส เพื่อวินิจฉัยปัญหาศาสนาให้แก่พรรคในการกำหนดนโยบายทางการเมือง นอกจากนั้นแล้วยังมีสภาเยาวชน สภาสตรี ซึ่งเป็นองค์กรในภาคประชาชน

 

ผู้มีหน้าที่วินิจฉัยปัญหาทางศาสนาที่แท้จริงของมาเลเซียนั้น เขาเรียกว่า มุฟตี (Mufti)การวินิจฉัยอยู่ภายใต้ปรมาภิไธยของสุลต่านแห่งรัฐแต่ละรัฐเปรียบได้กับจุฬาราชมนตรีของบ้านเราเพียงแต่จุฬาฯบ้านเราไม่กล้าจะวินิจฉัยปัญหาหรือวินิจฉัยแล้วคนอาจไม่เชื่อฟังเหมือนดั่งที่จั่วหัวไว้ข้างต้น

 

ในอดีต สมัยท่านประเสริฐ มะหะหมัด เป็นจุฬาฯ ท่านเคยวินิจฉัยปัญหา "อะไรที่มุสลิมทำได้ อะไรที่มุสลิมทำไม่ได้" จำนวน ๒๓ หัวข้อ สำหรับข้าราชการไทยปฏิบัติต่อชาวมุสลิม ข้าราชการไทยจะใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

แต่ในปัจจุบันปัญหาการเมืองแทรกแซง จนจุฬาราชมนตรีท่านเรรวน หาจุดยืนอะไรไม่ได้ เช่น วันหนึ่งท่านวินิจฉัยว่ารัฐบาล (ทักษิณ) ทำถูกต้องแล้ว กรณีการตายที่มัสยิดกรือเซะ ๓๒ ศพ แต่มาวันนี้หลังจากปฏิรูปฯ ท่านกลับบอกว่ารัฐบาล (ทักษิณ) ทำผิด  

 

นี่จึงเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ประธานชมรมโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม เสนอจัดตั้งสภาอูลามา เพื่อทำหน้าที่ "ฟัตวา" ปัญหาศาสนา แทนจุฬาราชมนตรี จึงน่าจะเป็นปัญหาความแตกแยกข้อที่หนึ่ง

 

ประเทศไทยได้มีกฎหมายกำหนดให้มีดาโต๊ะยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ..2489 มาจนทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว เพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทของชาวมุสลิมใน4จังหวัดชายแดนภาคใต้และทำหน้าที่เป็นปรึกษาให้กับท่านผู้พิพากษาศาลจังหวัดเพื่อประกอบในการพิจารณาคดีที่มีมุสลิมเกี่ยวข้อง

 

หรือนัยหนึ่ง ดาโต๊ะยุติธรรม หรือในอดีตเรียกว่า โต๊ะกอฎี ก็มีหน้าที่ฟัตวาหรือพิจารณาข้อพิพาทในกฎหมายอิสลามนั่นเอง

 

ดังนั้นสภาอูลามาที่ท่านดำริจะจัดตั้งขึ้นจะทำหน้าที่แทนดาโต๊ะยุติธรรมด้วยหรือไม่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาของความแตกแยก เป็นข้อที่สองในประเทศไทย เช่นกัน

 

กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารกิจการศาสนาอิสลามให้มีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีจุฬาฯ เป็นประธานโดยตำแหน่ง และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้งหมดมีอยู่ 36 จังหวัดเป็นแหล่งรวมของบรรดาอูลามะอ์ ผู้ทรงความรู้สามารถจะประชุมหารือปัญหาทางศาสนาหรืออาจจะทำหน้าที่ฟัตวาปัญหาศาสนาได้คงมิใช่เพียงแต่ทำหน้าที่พิธีนิกะห์ (แต่งงาน) หรือรับรองตราฮาลาลอย่างเดียว อยู่ที่ท่านจะทำหรือไม่เท่านั้น

 

หากจะสืบค้นให้ลึกผู้เสนอจัดตั้งสภาอูลามาครั้งนี้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดบางจังหวัดและบุคคลบางคนในกลุ่มนี้ก็เคยมีปัญหากับจุฬาราชมนตรีมาแล้ว จึงเป็นมูลเหตุที่ต้องการให้มีองค์กรนี้ซ้อนขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่ง

 

ถ้ามีการจัดตั้งสภาอูลามาเท่ากับไปทำหน้าที่ซ้อนกับคณะกรรมการอิสลาม จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้ง เป็นข้อที่สาม

 

เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เห็นร่างกฎหมายที่จะให้มีประชาพิจารณ์ว่าเป็นอย่างไร แต่ก็อยากจะเสนอแนะเกี่ยวกับสภาอูลามา ดังนี้

 

. (หากจะต้องมี) ควรให้วิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้จัดให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อให้ทราบถึงข้อดีข้อเสียของการจัดตั้งเสียก่อน

 

. (หากจะต้องมี) สภาอูลามา ต้องมาจากสภาซูรอ (Majlis Suraw) ทำหน้าที่คัดสรรบุคคล ที่เป็นกลางไม่มีประวัติเกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์กับการเมืองมาก่อน

 

. (หากจะต้องมี) สภาอูลามา จะต้องเป็นอิสระปลอดจากอิทธิพลของการเมือง ไม่อยู่ภายใต้กระทรวง ทบวงกรมใดๆ และจะต้องมีความเชื่อมโยงกับองค์กรมุสลิมอื่นๆอย่างเป็นระบบ

 

. (หากจะต้องมี) สภาอูลามา จะต้องมีงบประมาณและการบริหารงบประมาณด้วยตนเอง จะอาศัยน้ำเลี้ยงจากใครไม่ได้

 

. (หากจะต้องมี) มติจากการวินิจฉัยของสภาอูลามา ให้ถือเสมือนเป็นกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เฉพาะมุสลิม) ผู้ละเมิด ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิพากษาลงโทษได้ เพียงเท่านี้ ก็น่าจะเห็นแล้วว่าการตั้งสภาอูลามานั้นมีอุปสรรคมากมายเป็นการเริ่มต้นของปัญหาความแตกแยกขัดแย้งและยังมี ผลกระทบต่อบุคลและองค์กรต่างๆ ในระดับกว้าง

 

การจะทำประชาพิจารณ์เพียงเฉพาะกลุ่มในทำเนียบรัฐบาลไม่เป็นการเพียงพอเสียแล้วแต่รัฐบาลจะต้องถอยออกมา หนึ่งก้าว ให้ทางองค์กรมุสลิมได้พิจารณาดำเนินการด้วยตนเอง อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเสียก่อน เพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งที่จะมีขึ้น ดั่งในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ว่า

 

"สิ่งที่บรรดาพวกเขาขัดแย้งกันในเรื่องของศาสนาและโลกดุนยากับพวกกุฟฟาร์หรือบรรดามุอฺมินด้วยกัน พระองค์ (อัลลอฮ์) เท่านั้นเป็นผู้ชี้ขาดตัดสิน ผู้ที่มีลักษณะเช่นนั้นคือพระเจ้าของฉัน ฉันขอมอบการงานทั้งหลายแด่พระองค์เท่านั้น และฉันต้องกลับไปหาพระองค์" (ซูเราะห์ 42: อัซซุรอ / อายัต 10)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net