Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชนชั้นปกครองอาจได้กระทำความผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน โดยประเมินพลังอำนาจทางจิตวิญญาณของพวกตนสูงเกินไป ประชาชนชั้นล่างและชั้นกลางจำนวนหนึ่งได้ "ตื่นจากฝันในเทพนิยาย" รู้แจ้งว่า แท้จริงแล้ว อะไรคือปัจจัยขัดขวางประชาธิปไตยและเป็นรากเหง้าของรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดหลายสิบปีมานี้ ผู้ปกครองกำลังบีบให้ประชาชนชั้นล่างและชั้นกลางต้องตัดสินใจเลือกที่เจ็บปวดและอันตรายที่สุด....

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

คณะเศรษฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

การเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญ และก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นผลงานของแนวร่วมอำนาจนิยมขวาจัด ที่มีกลุ่มจารีตนิยมเป็นผู้บงการตั้งแต่ต้นจนจบ มีกลไกราชการ-ทหารเป็นแขนขา และมีปัญญาชนในเมือง ประกอบด้วยนักวิชาการ ครู อาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ราษฎรอาวุโส นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ ทำตัวเป็น "คนงานหามเสลี่ยงให้เผด็จการนั่ง" ช่วยสร้างวิกฤตปั่นป่วนให้เป็นเงื่อนไขรัฐประหาร

 

ในด้านตรงข้าม คือกลุ่มทุนใหม่ที่มีรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทน ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางในเมืองบางส่วน และที่สำคัญคือ ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากประชาชนชั้นล่างในเมืองและชนบททั่วประเทศ ได้แก่ ชุมชนแออัด แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจชุมชน เป็นต้น เพราะได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมซึ่งโอนย้ายงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมหาศาลจากในเมืองไปสู่ชนชั้นล่างในเมืองและชนบททั่วประเทศลงไปถึงระดับล่างอย่างค่อนข้างทั่วถึง

 

ประชาชนชั้นล่างในเมืองและชนบทมีวิถีชีวิตอยู่ในระดับต่ำสุดของสังคม ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์นำหน้าชื่อ ไม่มีปากมีเสียง ตลอดประวัติศาสตร์ จากฐานะไพร่และทาสในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น "ราษฎร" ในยุคหลัง 2475 ถึงปัจจุบัน ถูกปกครองในระบอบอำนาจนิยมที่มีเนื้อในเป็นอำนาจรัฐผูกขาดของกลุ่มจารีตนิยม-ราชการ ซึ่งบางช่วงก็เป็นเผด็จการทหารเต็มรูป และบางช่วงก็มีเปลือกนอกเป็นระบบเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง มีสภาและรัฐบาลพลเรือน แต่ปราศจากอำนาจจริง ไม่ว่ายุคสมัยใด ประชาชนชั้นล่างไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ได้รับดอกผลโดยตรงจากการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ที่ยกระดับขึ้นบ้างก็เป็นเศษเหลือจากผู้ปกครองและชนชั้นกลางในเมือง

 

ชีวิตของประชาชนชั้นล่างมีลักษณะ "จนและเจ็บ" วนเวียนอยู่กับการทำมาหากินที่ยากเข็ญ แสวงหาช่องทางอาชีพถูกกฎหมายทุกประเภทเท่าที่จะคิดได้ หารายได้พอยังชีพ อาชีพที่ต้องใช้ทุนเป็นสิ่งยากยิ่งเพราะไม่มีช่องทางการกู้เงินในระบบ สถาบันการเงินไม่ต้อนรับ อาชีพหลักมีทั้งขายแรงงานรับจ้างรายวัน รับจ้างเบ็ดเตล็ดรายได้ไม่แน่นอน เช่าหรือผ่อนปัจจัยทุน เช่น แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือทำการค้าขนาดจิ๋วด้วยเงินทุนน้อยนิด แต่ละวันได้เงินเข้าบ้านสักร้อยสองร้อยบาท บางครอบครัวจำยอมให้ลูกผู้หญิงทำอาชีพอบายมุขเพื่อจุนเจือการศึกษาของพี่น้อง รักษาการเจ็บป่วยของพ่อแม่ และซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิต การใช้จ่ายประจำวันต้องกระเบียดกระเสียร ข้าวแกงจานละ 15 บาทกับ 20 บาทคือความแตกต่างสำคัญ การพักผ่อนบันเทิงในชีวิตคือ วิทยุโทรทัศน์ราคาถูก ๆ ในบ้าน การฉลองทำบุญในโอกาสสำคัญของครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนบ้าน งานเทศกาล รวมทั้งหวยใต้ดินและการพนันเบ็ดเตล็ดเพื่อหลีกเลี่ยงความจำเจ ในหลายพื้นยังมีปัญหาสังคมที่เป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัว ทั้งยาเสพติดข้างบ้าน บ่อนพนันผิดกฎหมาย อาชญากรรมลักขโมยจี้ปล้นในชุมชน แล้วยังเผชิญการข่มเหงรังแกจากอิทธิพลเถื่อนและเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น

 

ปัญหาร้ายแรงในชีวิตคือ ความเจ็บป่วยซึ่งคนจนมักจะอดทนไม่รักษาและฝืนทำกินไปก่อน กระทั่งเจ็บหนักเสียแล้วจึงจำใจพึ่งโรงพยาบาลของรัฐในระบบคนไข้อนาถาที่อัดแน่น ขาดแคลน ทุกข์ทรมาน และไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างสิ้นเชิง หรือต้องพึ่งคลินิกแพทย์ซึ่งหลายแห่งก็ตั้งหน้าสูบเลือดขูดเนื้อ นอกจากนี้ ยังอาจมีปัญหาขัดแย้งกับอิทธิพลและเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตในครอบครัว และส่วนใหญ่จำต้องแก้ปัญหาด้วยเงินก้อนใหญ่ ทั้งหมดนี้ ทำให้ "การกู้หนี้นอกระบบ" เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนชั้นล่าง ซึ่งนอกจากจะกู้เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพแล้ว บางครั้งก็ต้องกู้มาจุนเจือการศึกษาของบุตรหลาน รวมทั้งใช้เงินก้อนรักษาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวและแก้ปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐและอิทธิพลเถื่อนดังกล่าว

 

ประชาชนชั้นล่างมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับกลุ่มอิทธิพลและนักการเมืองท้องถิ่นก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนและครอบครัว เป็นอำนาจช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกันเอง หรือระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพล ในยามฉุกเฉิน ก็เป็นแหล่งกู้ยืมหรืออนุเคราะห์ทางการเงิน เช่น เจ็บป่วย ลูกเข้าโรงเรียน งานบวช งานแต่ง งานศพ ประชาชนชาวบ้านจึงมักจะมีความสัมพันธ์ที่ผูกพันยาวนานกับผู้มีอิทธิพลและนักการเมืองในพื้นที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐไม่สามารถให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม และเป็นผลจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองชีวิตทรัพย์สินของพวกเขาได้ แล้วยังกลับเป็นภัยคุกคามประชาชนเสียเอง การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อคนชั้นล่างเสมอมา เป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อนักการเมืองในพื้นที่ และเป็นการเสริมหลักประกันที่มีอยู่น้อยนิดในชีวิตอันยากเข็ญของพวกเขา

 

ชีวิตของประชาชนชั้นล่างเป็นความลึกลับที่ชนชั้นกลางในเมืองไม่สามารถเข้าใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาชน อาจารย์ นักวิชาการ ข้าราชการ ไปถึงราษฎรอาวุโสและองค์กรพัฒนาเอกชนที่อ้างตัวเสมอมาว่า "เข้าใจชาวบ้าน" และสมอ้างเป็น "ตัวแทนชาวบ้าน" คนพวกนี้ใช้ชีวิตพรั่งพร้อมไปด้วยความสุขสบาย การศึกษาถึงมหาวิทยาลัยและต่างประเทศ อาศัยทุนการศึกษาและเงินภาษีของประชาชน มีอาชีพตำแหน่งงานมั่นคง เจ็บป่วยมีเงินรักษา มีสวัสดิการในหน่วยงาน มีเงินซื้อบ้าน รถยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวกและความบันเทิงทุกชนิด มีแหล่งเงินกู้ในระบบมากมายให้เลือก ไม่มีปัญหายาเสพติดใกล้บ้าน ไม่ต้องกลัวอิทธิพลอำนาจเถื่อน เจ้าหน้าที่รัฐไม่มายุ่งเกี่ยวรังแก ไม่ต้องพึ่งพานักการเมือง ผลก็คือ ชนชั้นกลางในเมืองนั่นแหละที่มักไม่สนใจการเลือกตั้งและประชาธิปไตย กระทั่งรังเกียจการเลือกตั้งและนักการเมืองว่า "ทุจริต"

 

ในยามที่มีการเลือกตั้ง ประชาชนชั้นล่างก็จะเลือกนักการเมืองเหล่านี้เข้าไปในสภาและรัฐบาลซึ่งมักจะมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ประชาชนชั้นล่างก็จะถูกกล่าวหาจากปัญญาชนในเมืองทุกครั้งว่า "เห็นแก่เงิน ขายสิทธิ์ขายเสียงให้นักการเมืองเข้ามาทุจริตทำลายชาติ" ทั้งที่สาเหตุรากฐานที่แท้จริงคือการผูกขาดอำนาจรัฐโดยกลุ่มจารีตนิยม-ราชการที่รวมศูนย์โภคทรัพย์ความร่ำรวยและความสะดวกสบายทุกชนิดเอาไว้ที่พวกตนกลุ่มเล็ก ๆ ในเมืองหลวง โดยมีชนชั้นกลางในเมืองได้รับเศษผลประโยชน์ ไม่แบ่งปันทรัพยากรความมั่งคั่งไปสู่ประชาชนชั้นล่าง ไม่พัฒนาบริการของรัฐให้ทั่วถึงเป็นธรรม ทั้งระบบราชการที่ทุจริต ข้าราชการสมคบกับกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนภูธร ทั้งหมดนี้กดทับอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชนชั้นล่างทั่วประเทศตลอดมา

 

ชนชั้นล่างเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง ชนะเลือกตั้งเข้ามาสู่รัฐสภาและจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็ง สามารถดำเนินนโยบายที่มีทิศทางเป็นเอกภาพได้ พวกเขาเลือกพรรคไทยรักไทยเข้าสู่สภาและเป็นแกนกลางของรัฐบาลในต้นปี 2544 เพราะว่านักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากที่พวกเขาผูกพันอยู่ได้ย้ายเข้าพรรคไทยรักไทย อีกทั้งพวกเขาต้องการทดสอบพรรคไทยรักไทยซึ่งหาเสียงเลือกตั้งด้วยนโยบายประชานิยมว่า จะนำประโยชน์ดังกล่าวมาให้พวกเขาได้จริงหรือไม่

 

ชนชั้นล่างในเมืองและชนบทจึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ 2540 และจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ที่สำคัญที่สุดคือ โครงการสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการพึ่งพาคลินิกแพทย์และระบบคนไข้อนาถาของโรงพยาบาลรัฐ ได้เข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพเป็นครั้งแรก ได้รับการรักษาเอาใจใส่เยี่ยงเพื่อนมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี พวกเขายังเริ่มมีช่องทางเข้าถึงปัจจัยทุนและเงินกู้ในระบบผ่านการพักหนี้เกษตรกร ธนาคารประชาชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การแปลงทรัพย์สินเป็นทุน แท็กซี่เอื้ออาทร บ้านเอื้ออาทร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โอนหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ เป็นต้น ทำให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปปลดหนี้นอกระบบหรือเป็นทุนประกอบอาชีพ ขยายโอกาสสร้างรายได้ เพียงแค่ให้การรักษาพยาบาลและเงินกู้ในระบบสองประการนี้ก็ทำให้คนชั้นล่างสามารถลดเลิกการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ มีเงินเหลือไปประกอบอาชีพหรือใช้จ่ายจำเป็นในด้านอื่น ชนชั้นล่างยังได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมด้านสังคม เช่น โครงการเอสเอ็มแอลให้สิ่งปลูกสร้างถาวรในหมู่บ้าน การลดอิทธิพลในพื้นที่ ปราบปรามยาเสพติด ให้มีหวยบนดินผนวกกับโครงการหนึ่งทุนหนึ่งอำเภอให้โอกาสลูกชาวบ้านชนบทได้ไปเรียนถึงต่างประเทศ เป็นต้น

 

แต่โครงการประชานิยมกลับเป็นที่เกลียดชังโดยชนชั้นปกครองและชนชั้นกลางในเมือง โดยเฉพาะพวกนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ราษฎรอาวุโส และองค์กรพัฒนาเอกชน พวกเขาด่าทอโครงการประชานิยมว่า "กระตุ้นลัทธิทุนนิยม-บริโภคนิยม" ในหมู่ประชาชน "มอมเมาซื้อเสียงจากชาวบ้าน" "ก่อหนี้ให้ชาวบ้านตกเป็นทาสที่พึ่งพารัฐบาลตลอดไป" คนพวกนี้ดูถูกดูแคลนคนชั้นล่างด้วยการวาดภาพว่า ชาวบ้านกู้เงินไปใช้จ่ายบริโภคฟุ่มเฟือย กินใช้ตะกรุมตะกรามจนหมดตัว ส่วนคนที่เอาเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ ก็โง่เง่าไร้ความสามารถจนขาดทุนสิ้นเนื้อประดาตัว สุดท้ายมีแต่หนี้สินท่วมหัว ในสายตาของผู้ปกครองและปัญญาชนชั้นกลางในเมืองกลุ่มนี้ ประชาชนชั้นล่างถึงอย่างไรก็เป็นพวกโง่ อ่อนแอและไร้ความสามารถอยู่วันยังค่ำ สิ่งที่คนชั้นล่างควรทำไม่ใช่การดิ้นรนต่อสู้ด้วยตนเอง แต่เป็นชะเง้อ "รอคอยหยาดฝนชุ่มฉ่ำอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัย" เท่านั้นพอ

 

ปัญญาชนพวกนี้ไม่มีวันยอมรับว่า ประชาชนชั้นล่างก็มีสติปัญญาความสามารถ คิดวางแผนชั่งน้ำหนักที่เป็นเหตุเป็นผลได้ไม่น้อยกว่าคนที่มีการศึกษาในเมือง เพียงแต่สิ่งที่พวกเขาขาดคือ โอกาสเข้าถึงทรัพยากรและทุน ปัญญาชนพวกนี้อ้างด้านเดียวว่า นโยบายประชานิยมทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากมาย แต่พวกเขาจงใจละเลยด้านคู่กันที่เป็นสาระสำคัญคือ การเพิ่มขึ้นของด้านทรัพย์สิน ซึ่งผู้กู้ใช้ประกอบอาชีพสร้างรายได้ เกิดเป็นกระแสเงินสด สะท้อนถึงความสามารถในการหารายได้และแบกรับภาระหนี้ของชาวบ้าน ข้อนี้เห็นได้จากข้อมูลซึ่งแสดงว่า ทั้งธนาคารประชาชนและกองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่มีหนี้เสียน้อยมาก เพียงร้อยละ 2-3 ของยอดเงินกู้รวมเท่านั้น ซึ่งยังต่ำกว่าสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในเมืองเสียอีก ปัญญาชนเหล่านี้แกล้งทำเป็นลืมไปว่า แม้แต่ในหมู่พวกเขาเองก็ต้องมีหนี้สินเพื่อจุนเจือบ้าน รถยนต์ การศึกษาของบุตร สิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิต และการประกอบธุรกิจของพวกเขาเอง

 

นโยบายประชานิยมทำให้ประชาชนชั้นล่างในเมืองและชนบทเข้าใจว่า ประโยชน์ที่ได้รับทั้งหมดนี้มากับระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ 2540 นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขารับรู้ว่า "ประชาธิปไตยนั้นกินได้และเห็นหัวคนจน" ประชาธิปไตยทำให้พวกเขามีโอกาสทำกิน มีเงินทุน มีอาชีพ ปลดหนี้ มีแพทย์พยาบาลและยารักษาโรค ลดหรือปลอดยาเสพติดและอิทธิพลเถื่อน พวกเขาจึงเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลายเป็นฐานพลังอันเข้มแข็งสนับสนุนผู้นำพรรคไทยรักไทย ปกป้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ 2540

 

ความนิยมของประชาชนชั้นล่างจำนวนมากที่มีต่อผู้นำพรรคไทยรักไทยได้ถูกเยาะเย้ยว่า "งมงายยึดติดตัวบุคคล" โดยไม่เข้าใจว่า คำว่า "รักทักษิณ" ไม่ได้หมายถึง "รักตัวบุคคลทักษิณ ชินวัตร" แต่หมายถึง รักประชาธิปไตย รักรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้อำนาจพวกเขาตัดสินใจเลือกคนที่จะนำประโยชน์ต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องการและความเจริญก้าวหน้าของประเทศมาให้ โดยไม่ต้อง "รอเทวดามาโปรด" อีกต่อไป

 

พลังสนับสนุนผู้นำพรรคไทยรักไทยแสดงออกชัดในการเลือกตั้งต้นปี 2548 ด้วยคะแนนท่วมท้นถึง 19 ล้านเสียง ซึ่งได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับกลุ่มจารีตนิยม-ราชการ-ทุนเก่า-ปัญญาชนขวาจัด ซึ่งสูญเสียประโยชน์ อำนาจ และสถานภาพจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและประชานิยมมาตลอด ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ แม้จะมีขบวนการปลุกปั่นบิดเบือนข้อมูล รุมโจมตีจากปัญญาชนและสื่อทุกชนิดรอบด้านตลอดช่วงปี 2548-49 แต่ผู้นำพรรคไทยรักไทยก็ยังคงได้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากประชาชนชั้นล่างทั่วประเทศและชนะการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ได้ถึง 16 ล้านเสียง รวมถึงครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ พวกอำนาจนิยมขวาจัดจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทย

 

รัฐประหาร 19 กันยายนมีลักษณะเช่นเดียวกับรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 และ 6 ตุลาคม 2519 คือ เป็นการกระทำของกลุ่มจารีตนิยมโดยตรงเพื่อโค่นล้มพลังการเมืองที่เห็นว่า "เป็นภัย" ต่อตน (จอมพล ป.พิบูลสงครามและส่วนที่เหลือของคณะราษฎรเมื่อ 16 กันยายน 2500 นิสิตนักศึกษาฝ่ายซ้ายเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 และผู้นำพรรคไทยรักไทยเมื่อ 19 กันยายน 2549) เป็นรัฐประหารเพื่อฟื้นหรือเสริมความเข้มแข็งให้กับอำนาจรัฐผูกขาดของกลุ่มจารีตนิยม มีการก่อตัวยาวนาน เดินแผนเป็นขั้นตอน ปล่อยข่าวลือ สร้างเรื่องเท็จ ขยายเรื่องเกินจริง ปลุกกระแสคลั่งชาติ ปั้นข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ให้เป็นความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับฝ่ายตรงข้าม สร้างกลุ่มมวลชนที่คลุ้มคลั่งเกลียดชังอย่างสุดขั้วออกมาเคลื่อนไหวสร้างวิกฤต เป็นเงื่อนไขรัฐประหารในที่สุด

 

แต่รัฐประหาร 19 กันยายน ก็มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างคือ เกิดขึ้นท่ามกลางการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างสูงและความยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างแรงกล้าในหมู่ประชาชนชั้นล่างและชั้นกลางจำนวนมาก ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงรัฐประหารทุกขั้นตอนเกี่ยวพันถึงสถาบันจารีตประเพณีอย่างชัดแจ้ง รัฐประหารครั้งนี้จึงมีผลสะเทือนทางการเมืองที่แตกต่างจากในอดีตทุกครั้ง นี่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนชั้นล่างรู้สึกต่อต้านรัฐประหารอย่างชัดเจนและเข้าใจว่า ได้ถูกปล้นชิงสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยไป พวกเขาโกรธเคืองเมื่อคณะรัฐประหารใช้กำลังอาวุธเข้าควบคุมพื้นที่และการสัญจรของประชาชน และยิ่งโกรธเคืองเมื่อรัฐบาลจากรัฐประหารตั้งหน้าบั่นทอนและทำลายนโยบายประชานิยมอย่างต่อเนื่อง ทำให้พวกเขายิ่งตระหนักชัดว่า รัฐประหารครั้งนี้ก็เพื่อแย่งชิงเอาผลประโยชน์ที่พวกตนเพิ่งได้มาตลอด 5 ปีนี้คืนไป

 

ชนชั้นปกครองอาจได้กระทำความผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน โดยประเมินพลังอำนาจทางจิตวิญญาณของพวกตนสูงเกินไป ประชาชนชั้นล่างและชั้นกลางจำนวนหนึ่งได้ "ตื่นจากฝันในเทพนิยาย" รู้แจ้งว่า แท้จริงแล้ว อะไรคือปัจจัยขัดขวางประชาธิปไตยและเป็นรากเหง้าของรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดหลายสิบปีมานี้ ผู้ปกครองกำลังบีบให้ประชาชนชั้นล่างและชั้นกลางต้องตัดสินใจเลือกที่เจ็บปวดและอันตรายที่สุดคือ การเลือกระหว่างระบอบอำนาจนิยมที่เป็นอำนาจรัฐผูกขาดของกลุ่มจารีตนิยม-ราชการและมีเปลือกนอกหุ้มห่อเป็น "ประชาธิปไตยแบบไทย" ในด้านหนึ่ง กับระบอบประชาธิปไตยมหาชนที่ปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นด้วยตนเองในอีกด้านหนึ่ง เป็นการตัดสินใจเลือกระหว่างการยอมเป็น "ราษฎร" ที่อยู่ "ข้างใต้ผงฝุ่นใต้ฝ่าเท้า" ของผู้ปกครอง กับการลุกขึ้นยืนหยัด ประกาศตนเป็น "พลเมือง" ที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียม มีสิทธิ เสรีภาพ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง

 

ประชาชนชั้นล่างในเมืองและชนบทกำลังครุกรุ่นไปด้วยความโกรธ พวกเขามีจำนวนนับสิบล้านคนทั่วประเทศ มีการจัดตั้งผ่านเครือข่ายธรรมชาติในชุมชนและองค์กรท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นกองทัพหลวงแห่งประชาธิปไตยที่รอวันยาตราทัพ มีเป้าหมายชัดเจนคือ เรียกร้องประชาธิปไตย ทวงอำนาจอธิปไตย เอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา ให้มีการเลือกตั้งโดยทันที วันนี้ ประชาชนชั้นล่างในเมืองและชนบทเปรียบเสมือนฟางแห้งกองสุมกระจายอยู่ทั่วประเทศ รอเพียงเกิดประกายไฟและลมพายุ โหมกระพือให้เป็นไฟป่าไหม้ลามทุ่งเท่านั้น!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net