Skip to main content
sharethis

ประชาไท—10 ม.ค. 2549 เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา น.ส.รสนา โตสิตระกูลส่งจดหมายถึง พ.ต.ต.เอกชัย ศรีระหงษ์ พนักงานสอบสวน สน. ดุสิต เพื่อถามความคืบหน้ากรณีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แจ้งความบุคคลและองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวน 12 รายให้ข้อหาหมิ่นประมาทหลังจากที่ผู้ต้องหาทั้ง 12 รายยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่า สปน. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากไม่ระงับการจัดผังรายการของไอทีวี


 


000


 


 


วันที่ 9 มกราคม 2550


 


เรื่อง      ความคืบหน้าของคดีอาญา กรณีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)


            แจ้งความในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทเพื่อดำเนินคดีบุคคลและองค์กรภาคประชาชน


เรียน      พ.ต.ต.เอกชัย ศรีระหงษ์    พงส.(สบ.2) สน.ดุสิต


สิ่งที่ส่งมาด้วย      เอกสารสำเนาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.424/2549


คดีหมายเลขแดงที่ 349/2549 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2549 ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ฟ้อง และบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ผู้ถูกฟ้อง


 


            สืบเนื่องจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.ดุสิตเพื่อให้ดำเนินคดีในข้อกล่าวหาร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารต่อบุคคลและองค์กรภาคประชาชน ประกอบด้วย (1)นายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศ ในฐานะประธานมูลนิธิสุขภาพไทย (2)มูลนิธิสุขภาพไทย ในฐานะนิติบุคคล (3)รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ในฐานะประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (4)มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะนิติบุคคล (5)นายสุริยะใส กตะศิลาในฐานะตัวแทน ครป.     (6)นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ในฐานะตัวแทนสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (7)นายพิทยา ว่องกุล ในฐานะตัวแทนตัวแทน คปส. (8)สมาคมพิทักษ์สิทธิประโยชน์ ในฐานะนิติบุคคล(9)นายสมชาย ปัญญ์เอกรงค์ ในฐานะนายกสมาคมคนตาบอด (10)สมาคมคนตาบอด ในฐานะนิติบุคคล (11)นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด ในฐานะตัวแทนแนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง(12)นายทวีสิน สถิตย์รัตนชีวิน ในฐานะผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2547 ตามคดีอาญาที่ 171/47


 


โดยเมื่อเดือนเมษายนปี 2547 สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้มีการเปลี่ยนแปลงผังรายการประเภทข่าว สารคดีและสารประโยชน์จากเดิมรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เปลี่ยนเป็นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และขยายเวลาไพรม์ไทม์ในช่วงเวลา 19.00 น.-21.30 น.เป็นรายการประเภทบันเทิงนอกเหนือจากข้อสัญญาที่ระบุว่าต้องเป็นประเภทข่าว สารคดีและสารประโยชน์เท่านั้น ซึ่งองค์กรภาคประชาชนเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งข่าวสารที่จะกลับกลายเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เน้นธุรกิจเกมโชว์ จึงมีหนังสือถึงรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีขอให้สั่งระงับการกระทำผิดของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ องค์กรภาคประชาชนจึงได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองกลาง 2 กรณี (1)ในกรณีร้องคณะอนุญาโตตุลาการตัดสินกรณีไอทีวีไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ(2)ในกรณีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2547 ต่อมาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต กล่าวหาบุคคลและนิติบุคคลรวม 12 คนในข้อหาหมิ่นประมาท โดยผู้ถูกกล่าวหามิได้ทราบมาก่อนว่าทาง สปน.ได้ไปแจ้งความไว้ จนเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2549 พนักงานสอบสวน สน.ดุสิตจึงได้ออกหมายเรียกให้มูลนิธิสุขภาพไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 24 มกราคม 2549 ซึ่งคณะบุคคลที่ถูกกล่าวหาได้เข้าพบพนักงานสอบสวนที่ สน.ดุสิตแล้วนั้น


 


            จนถึงขณะนี้ทางคณะผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับทราบความก้าวหน้าของคดีแต่ประการใด ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2549ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ สปน.เป็นฝ่ายชนะคดีในกรณีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรายการประเภทข่าว สารคดีและสารประโยชน์รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และการขยายระยะเวลาช่วงไพรม์ไทม์(Prime Time)สำหรับรายการประเภทบันเทิง โดยมีคำพิพากษาว่าคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจชี้ขาดให้ปรับเปลี่ยนผังรายการและขยายระยะช่วงเวลาดังกล่าวได้ จึงให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว


 


ผลการชนะคดีของ สปน.ทำให้ไอทีวีต้องเสียค่าปรับเกือบแสนล้านบาท เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าคำทักท้วงขององค์กรภาคประชาชนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หาก สปน.ในสมัยรัฐบาลทักษิณได้ยับยั้งการกระทำผิดของไอทีวีตั้งแต่ต้นมือซึ่งอยู่ในวิสัยที่กระทำได้ จะไม่เกิดปัญหาดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเกิดความเสียหายทั้งต่อผู้บริโภคและบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน)


 


การแจ้งความดำเนินคดีกับองค์กรภาคประชาชนทั้ง 10 องค์กรต่อพนักงานสอบสวนถูกเก็บไว้กว่า 1 ปีครึ่ง และมีการออกหมายเรียกในระยะที่องค์กรดังกล่าวกำลังเคลื่อนไหวเรื่อง กฟผ.และหลังจากไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน คดีก็เงียบหายไป


 


บัดนี้เป็นเวลาครบ 1 ปีที่ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน ทางผู้ถูกกล่าวหาใคร่ขอทราบผลการดำเนินคดีว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 12 ยังมีสภาพการเป็นผู้ต้องหาอยู่หรือไม่ประการใด


หากคดียังไม่สิ้นสุด ทางผู้ถูกกล่าวหาจะได้ดำเนินการต่อไป


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดแจ้งผลการดำเนินคดีโดยเร่งด่วน


 


ขอแสดงความนับถือ


 


 


(นางสาวรสนา โตสิตระกูล)


เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net