Skip to main content
sharethis

โดย องอาจ เดชา


 



 


ดูเหมือนว่าปัญหาการอพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้านดั้งเดิม ยังคงเป็นปัญหาที่หมักหมมและซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการเลือกปฏิบัติ ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง อีกทั้งยังทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนพลัดถิ่น ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่รอการสะสาง ซึ่งหลายฝ่ายต่างกล่าวกันว่า ปัญหาดังกล่าวนั้น ล้วนเกิดจากความผิดพลาดจากนโยบายรัฐทั้งสิ้น...


 


ล่าสุด วันนี้(9 ม.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รุดเหนือระดมความเห็นถกปัญหารัฐอพยพชาวบ้าน เร่งหามาตรการรองรับคุ้มครองสิทธิ เผยหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา ต้องให้ชุมชนกำหนดชะตาชีวิตตนเอง เตรียมเสนอร่างข้อเสนอแนะต้องในขณะที่นักวิชาการชี้


ที่โรงแรมวิสต้า ณ คุ้มแก้วพาเลซ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสถาบันชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย และศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) ได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง)แนวคิดและการปฏิบัติต่อผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและการหารือการสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาคเหนือขึ้น


 


คุณหญิงอัมพร มีศุข




คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวเปิดในเวทีสัมมนาว่า การทำงานในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชนเผ่าหรือชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยภูเขา คนบนพื้นที่สูง หรือแม้กระทั่งชาวเลทางภาคใต้ ไม่ใช่เพียงแค่เราจะทำงานเพื่อเสนอให้เป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ในเชิงวิชาชีพ ในเชิงจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ด้วยกันด้วย ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้สังคม คนจำนวนหนึ่งที่มีอคติได้เข้าใจคนกลุ่มนี้เสียใหม่


"ดังนั้น เราจึงพยายามเสนอให้แก้ปัญหาโดยให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันสร้างความเข้มแข็งทั้งในระดับปัจเจก ทั้งในระดับชุมชน ซึ่งที่เราเรียกกันว่าเราใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในการส่งเสริมในด้านสิทธิมนุษยชนก็ดี ซึ่งหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาเหล่านี้ แท้จริงแล้ว จะต้องให้ชุมชนกำหนดชะตาชีวิตของตน ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งมากำหนดชะตาชีวิตของตนเอง"


ด้าน ดร.ชูพินิจ เกษมณี จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้หยิบรายงานของฟรานซิส เอ็ม เด็ง ผู้แทนด้านผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ใช้ประกอบการดำเนินงานโครงการจัดทำข้อเสนอแนะเปรียบเทียบผ่านกระบวนการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการกำหนดชะตากรรมตนเองต่อสิทธิการพัฒนาของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ในพื้นที่เสี่ยงต่อการอพยพโยกย้ายอันเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ 2548-2549


โดย ดร.ชูพินิจ ได้นำเสนอต่อวงสัมมนาว่า จากการสำรวจรายงานของสหประชาชาติ พบว่า ในปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนถึง 27 ล้านคน ที่เป็นผู้พลัดถิ่นถูกอพยพจากถิ่นฐานเดิมของตน มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดสาเหตุทำให้ผู้คนพลัดพรากจากครอบครัว จากเครือญาติ ตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่เคยมีอยู่ ทำลายโอกาสทางการศึกษา มีการปิดกั้นการเข้าถึงปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย หรือยารักษาโรค ซึ่งเราได้พบทั้งในต่างประเทศและในประเทศเราเอง


"ซึ่งผู้แทนด้านพลัดถิ่นภายในประเทศ ของเลขาฯสหาประชาชาติพยายามเสนอหลักการแนวคิดและการปฏิบัติต่อผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ เช่น มาตราการคุ้มครองผู้ถูกอพยพ ผู้พลัดถิ่นจะต้องมีสิทธิ เสรีภาพ เท่ากับคนทั่วไป ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ในกรณีของประเทศไทย ก็ถือว่ามีก็ยังมีการเลือกปฏิบัติให้เห็นกันอยู่"



นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) กล่าวว่า การจะแก้ปัญหากรณีการถูกอพยพออกจากพื้นที่โดยรัฐนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาหาข้อบกพร่องหลังการดำเนินการอพยพ ว่ารัฐบกพร่องตรงไหน และรัฐควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ประเด็นการถูกอพยพนั้นนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ต่อไป


"จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะมีการจัดทำฐานข้อมูลตัวผู้ถูกอพยพ ว่าหลังถูกอพยพแล้ว คนกลุ่มนั้นมีผลกระทบอย่าไรบ้าง ซึ่งต้องมีการสร้างระบบติดตามผลศึกษาในระยะยาว ว่าผู้ถูกอพยพกลุ่มนั้นได้สูญเสียต้นทุนทางสังคมอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ ปัญหาการทำลายต้นทุนทางสังคมของผู้ถูกอพยพนั้น ล้วนเกิดจากการพัฒนาของภาครัฐทั้งสิ้น"


นายไพสิฐ ยังได้เสนอข้อเสนอในทางกฎหมาย ด้วยว่า ต้องสร้างเส้นแบ่งให้ชัดเจน มีมาตราการในการอพยพ มีมาตรการคุ้มครองผู้ถูกอพยพ โดยเสนอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกา เหมือนกรณีกฎหมายการเวนคืนที่ดินในเขตเมือง และหากรัฐเวนคืนที่ดินเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือมีการทุจริต ชาวบ้านก็สามารถกลับไปใช้ ไปอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นได้


"เพราะฉะนั้น รัฐจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า พื้นที่เดิมนั้น จะเอาไปใช้เพื่ออะไร หากกระทำผิดตามข้อบังคับ ชาวบ้าน ชุมชนที่ถูกอพยพก็สามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมได้โดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรง มีการวางแผนร่วมกันกับชาวบ้าน นอกจากนั้น จะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบในการอพยพให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์"


นายไพสิฐ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างระบบในการติดตามผลในระยะยาว ว่าหลังถูกอพยพ แล้วพวกเขาเจอปัญหาอะไรอีกบ้าง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการรับรองสิทธิ ซึ่งเงื่อนไขทางสังคมเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ในปัญหาทั้งหมด


"ผมคิดว่า เราต้องมีฐานข้อมูลเหล่านี้ เพราะรัฐมักมีวิชามาร ที่จะสร้างปัญหาให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งอาจเกิดการเลือกปฏิบัติได้ รวมไปถึง ควรมีการสร้างระบบประเมินความคุ้มค่าของการอพยพ ว่าคุ้มหรือไม่ เช่น การถูกอพยพเพื่อสร้างเขื่อน โดยการอพยพชาวบ้าน 300 ครอบครัว ซึ่งเมื่อดูต้นทุนทางสังคมแล้วมันคุ้มค่า คุ้มทุนหรือไม่ที่ต้องอพยพ" นายไพสิฐ กล่าวทิ้งท้าย


ด้าน นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า ตนมองจากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับพี่น้องมากว่า 20 ปี เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า 20 ปีที่ผ่านมา เรามีทางออกให้ชาวบ้านหรือไม่ แต่ก็คิดว่าอย่างน้อยก็ทำให้คนในสังคมไทยเริ่มมีความเข้าใจประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิชุมชนมากขึ้น มีกระทั่งสื่อก็เห็นว่ามีความเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น


"แต่กับภาครัฐ จะเห็นว่ายังคงมีอคติกันอยู่ ดูจากเหตุการณ์อพยพชาวบ้านในอดีต รัฐมักอ้างเรื่องความมั่นคง และรุนแรงถึงขั้นมีการเผาหมู่บ้านไล่ชาวบ้าน ต่อมาก็อ้างเรื่องยาเสพติด กระทั่งในปัจจุบัน ก็อ้างเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ ซึ่งในที่นี้ ตนไม่อยากให้เจาะจงเฉพาะกลุ่มพี่น้องชนเผ่า พี่น้องชาติพันธุ์ แต่อยากให้คำนึงถึงกลุ่มชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศที่กำลังประสบปัญหาเดียวกันนี้ด้วย"


นายประยงค์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจความล้มเหลวของภาครัฐที่เกิดจากการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ พบว่า ชาวบ้านทั่วไปที่มีสถานะแบบนี้ มีสูงถึง 10 ล้านคนจากทั่วประเทศ ซึ่งคือ 1 ใน 6 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แต่ในจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบปัญหาดังกล่าวมีประมาณ 1ล้าน 3 แสนคน รวมไปถึงพี่น้องมอแกน ที่ภาคใต้ ซึ่งหากไม่ประสบสึนามิ ก็คงไม่พบปัญหาดังกล่าว


"อย่างกรณีการอพยพชาวบ้านคลองลาน จ.กำแพงเพชร นั้น จนถึงบัดนี้ ชาวบ้านกว่า 5,000 คนก็ยังไม่ได้มีชีวิตดีขึ้นเลย หรืออย่างกรณีบ้านผาช่อหรือห้วยวาด จ.ลำปาง ล้วนถูกมาตราการให้บีบบังคับให้จำยอมทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งบ้านห้วยปลาหลด จ.ตาก บ้านห้วยจะค่าน จ.เชียงใหม่นั้น รัฐก็มักจะอ้างว่าเป็นโครงการพระราชดำริ ซึ่งเมื่อไปถามชาวบ้าน เขาบอกว่า ถ้าเลือกได้ พวกเขาอยากกลับไปอยู่ที่เดิมมากกว่า หรือในหลายพื้นที่ เช่น ที่ปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ถูกทางการล้อมจับถึง 3 ครั้ง และจะขึ้นศาลในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนถูกใช้ให้เป็นเหยื่อทางการเมืองทั้งสิ้น และในปัจจุบัน ในชุมชนแออัดในเมืองเชียงใหม่ จะเห็นได้ว่ามีแต่พี่น้องชนเผ่าลงมาอยู่อาศัย รับจ้างทำงาน ซึ่งล้วนมีผลมาจากการถูกบีบให้ลงมาอยู่ในเมือง"


นายประยงค์ ยังกล่าวเสนอแนะว่า ดังนั้น จึงอยากมีข้อเสนอว่า หากในกรณีที่ต้องอพยพชาวบ้านจากพื้นที่จริงๆ จะต้องมีหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในกรณีการอพยพชาวบ้าน ไม่ใช่ไปรับปากชาวบ้านว่าจะให้น้ำประปา ไฟฟ้า แต่พอลงมาก็เอาเงื่อนไขอื่นมาอ้าง อีกทั้งจะต้องมีหลักประกันชีวิตให้ดีกว่าเดิม รวมทั้งจะต้องดูแลกลุ่มผู้ถูกบีบให้อพยพลงมาใช้ชีวิตในเมืองด้วย


ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐไทยไม่ค่อยแยแส หรือให้ความสำคัญในเรื่องพันธะกรณี หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ นานาชาติ หรือกฎหมายสากลต่างๆ เท่าไรหรอก แต่ไปรับปากเอาไว้ ก็เพื่อต้องการรักษาภาพลักษณ์ที่ดี แต่ในเวลาปฏิบัติจริง ถือว่าน้อยมากที่จะให้ความสำคัญ


"เพราะฉะนั้น ร่างข้อเสนอแนะนั้น จะต้องระบุอ้างถึงหลักการความชอบธรรมให้มากและชัดเจน ให้เห็นไปถึงหน้าตาของชีวิตจริง เช่น จะต้องคำถามและยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาสาเหตุหลังเกิดการอพยพนั้นมีอะไรบ้าง และการอพยพชาวบ้านที่ผ่านมา มันไม่ได้แก้ปัญหาได้จริง แต่มันก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าปัญหาทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ อย่างที่พูดกันว่ามีชนเผ่าได้ย้ายลงมาอยู่ในเมืองกันเยอะมาก เป็นต้น


นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า กรณีการอพยพที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเกิดจากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม โดยรัฐที่มีอำนาจมากกว่าได้ใช้อำนาจดังกล่าวสร้างเงื่อนไขเพื่อรังแกชาวบ้านซึ่งมีอำนาจน้อยกว่า ทำให้ชาวบ้านไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้ ซึ่งรัฐต้องยอมรับความจริงว่าปัญหานี้เป็นความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ เพราะว่ารัฐเป็นทั้งโจทย์และจำเลย


"และอยากเสนอว่าเราไม่ควรมุ่งที่จะเสนอเพียงแค่รัฐบาล แต่ควรขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อเสนอข้อมูลในแนวราบ เช่น สื่อหรือสังคมได้รับรู้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมให้เกิดพลังทางสังคมในการผลักดันในการแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่งด้วย ไม่ใช่เสนอต่อภาครัฐฝ่ายเดียว


ในตอนท้าย นายบัณฑูร ได้แสดงความเห็นว่าการที่มีการใช้ชื่อผู้ถูกอพยพ เป็น คนพลัดถิ่น นั้น อาจทำให้สับสน และอาจเป็นคำที่ไม่มีพลังทางสังคม ซึ่งรัฐเองอาจมองไม่เห็นความสำคัญ และอาจจะใช้เป็นข้ออ้างว่าต้องไปแก้ปัญหาอื่นๆ ก่อนได้


ทั้งนี้ การจัดสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอร่างแนวคิดและการปฏิบัติต่อผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ให้ข้อเสนอแนะรวมทั้งร่วมหารือแนวทางการผลักดันข้อเสนอดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติได้จริง รวมทั้งเพื่อการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากการประชุมสัมมนาครั้งนี้จะมีการประมวลเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลอันจะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net