Skip to main content
sharethis

ประชาไท—11 ม.ค. 2549 ก่อนหน้าวันเด็กแห่งชาติ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดเวที ถกแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน พิภพ ธงไชย เสนอ ใช้แนวทางสมานฉันท์และรัฐธรรมนูญ 2540 แก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน


 


วานนี้ (10 ม.ค.) ที่ห้องประชุมคอนเวนชั่น ฮอลล์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติจัดการอภิปรายเรื่องปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและแนวทางแก้ไข โดยนายพิภพ ธงไชย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก และอดีตกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ เสนอว่าปัจจัยความรุนแรงเชิงโครงสร้าง นั้นสามารถแก้ปัญหาได้ โดยอาศัยหนังสือ 2 เล่มคือ การระงับความรุนแรงเชิงสมานฉันท์ และ รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เน้นเรื่องสันติวิธี


 


ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ตามแนวทางสมานฉันท์แล้วจะพบว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในโรงเรียน มี 11 ปัจจัยได้แก่ปัจจัยของบุคคล คือครู ผู้ปกครอง และเด็ก เด็ก โดยเฉพาะผู้ปกครองเองก็มีส่วนในการทำให้เกิดความรุนแรงแต่ไม่มีการทำวิจัยของผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเด็กและนำไปสู่ความรุนแรง


 


ปัจจัยที่ 2 คือปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น อาคารเรียนมีลักษณะเป็นแถวแบบทหาร ไม่มีห้องว่างสำหรับเด็กทำสมาธิ หรือครูไปอยู่นิ่งๆ ระบบการบริหารแบบแถวตรง แนวดิ่ง ปัจจัยที่ 3 คือ ปัจจัยเรื่องการบริหาร กฎระเบียบเป็นกฎระเบียบที่เอื้อต่อความรุนแรง ปัจจัยที่ 4 ปัจจัยทางวัฒนธรรม ซึ่ง ต้องตรวจสอบว่า ในโรงเรียนใช้วัฒนธรรมอะไรในการดูแลเด็ก เป็นวัฒนธรรมอำนาจหรือไม่ ปัจจัยที่ 5 คือปัจจัยการใช้ความเป็นธรรม โรงเรียนจะต้องมีความเป็นธรรม แต่ครูไม่คิดว่าเด็กก็มีความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่เด็กสามารถรับรู้ได้


 


ปัจจัยที่ 6 ปัจจัยเชิงจิตวิทยา ครูไม่คำนึงถึงจิตวิยาเด็กกับจิตวิทยาของครูเอง ซึ่งเกิดจากกการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมเดิม ๆการเลี้ยงดูของไทยเป็นปัจจัยเรื่องปมเด่นปมด้อย ครูส่วนใหญ่ต้องผ่านการทำจิตวิเคราะห์ด้วย หรือไม่ก็ใช้วิธีแบบพุทธศาสนาในเรื่องการสำรวจตัวเอง ปัจจัยที่ 7 ความโปร่งใส เช่นครูกล้าไหมที่จะบอกว่าตัวเองตรวจข้อสอบอย่างไร การให้ความดีความชอบกับครูเด็กมีส่วนร่วมไหม ปัจจัยที่ 8 วิธีการเรียนรู้และการให้ความรู้ การให้ความรู้เต็มไปด้วนความจริงและความเท็จ วิธีการเรียน เต็มไปด้วยความเครียด


 


ปัจจัยที่ 9 เรื่องทุนนิยมและบริโภคนิยม ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความรุนแรง ปัจจัยที่ 10 สื่อมวลชน ซึ่งกระตุ้นเรื่องความรุนแรงตลอดเวลา และปัจจัยสุดท้ายคือปัจจัยเรื่องศาสนา ลัทธิ และไสยศาสตร์ ความเข้าใจผิดนำไปสู่ความคิดผิดและนำไปสู่ความรุนแรงได้ เราไม่เคยถามว่าครูมีความเชื่อทางศาสนาและไสยสาสตร์แบบไหน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงกับเด็กได้


 


นายพิภพ เสนอว่า แนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนก็เป็นเช่นเดียวกับแนวทางสมานฉันท์ นั่นคือ การเปิดเผยความจริงจะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงได้


 


"เราจะเห็นว่ามีการปิดบังความรุนแรงในโรงเรียน การแก้ปัญหาความรุนแรงต้องเพิ่มกระบวนการยุติธรรมในโรงเรียน เมื่อใดที่เด็กรู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรมนั่นจะเป็นความรุนแรง และมนุษย์รู้สึกได้เร็วเรื่องความยุติธรรม ในขณะเดียวกันครูขาดความรู้สึกพร้อมจะรับผิด ขาดเวทีเสวนา"


 


ทั้งนี้ นายพิภพกล่าวว่า แนวทางตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เป็นแนวทางแห่งสันติวิธีเช่นกัน หากโรงเรียนสามารถดำเนินไปตามแนวทางการเคารพสิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เป็นแนวทางที่จะยุติปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net