Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 9 ม.ค.50 นายนิเดร์ วาบา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไข พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)บริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 โดยก่อนการประชุมพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเข้าพบปะคณะทำงานด้วย


 


ผศ.นิรันดร์ พันทรกิจ คณะทำงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายนิเดร์ วาบา กล่าวว่า ประเด็นหลักในการประชุมคือ การระดมความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.บริหารกิจการศาสนาอิสลามฯ ว่าใช้มาเป็นเวลา 10 ปีแล้วประสบปัญหาอะไรบ้าง หรือมีอะไรที่ก่อให้เกิดปัญหาองค์กรอิสลาม รวมทั้งมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขที่เป็นฉบับตุ๊กตาว่ามีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร


 


ทั้งนี้ ประเด็นใหญ่คือการเปลี่ยนวิธีการได้มาของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรศาสนาอิสลาม ตั้งแต่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทย และการได้มาของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี จากเดิมที่เป็นระบบเลือกตั้ง มาเป็นการสรรหา เพราะสะท้อนให้เห็นว่าระบบเดิมนำมาซึ่งการแตกแยก การได้บุคคลไม่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสลาม และมีการใช้เงินนำเข้าไปสู่ตำแหน่ง


 


อย่างไรก็ตามในส่วนรายละเอียดของการสรรหา เช่นใครจะเป็นผู้สรรหานั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันในรายรายละเอียดอีกหลายครั้งเพราะครั้งนี้เป็นเพียงการประชุมครั้งแรก


 


"ปัญหาสำคัญที่เกิดใน 3 จังหวัดทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมมาจาก พ.ร.บ.นี้ ก่อให้เกิดการแตกแยก การไม่เข้าใจ และหาข้อสรุปไม่ได้ ต้องมีองค์กรรับผิดชอบสูงสุด นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมากมาเป็นประธานเองและบอกว่า กฎหมายเปลี่ยนเมื่อเวลาเปลี่ยน เดิมทีอาจจะเหมาะสมแต่ไม่เหมาะเมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์ก็เปลี่ยน"


 


อย่างไรก็ตาม ผศ.นิรันดร์ กล่าวเน้นว่า ยังจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นกันอีกหลายครั้ง ทั้งจากกฤษฎีกา และความเห็นของบุคคลต่างๆ จะมีการลงไปรับฟังความเห็นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางอีกครั้ง ส่วนกำหนดการเมื่อไหร่นั้นยังไม่มีการกำหนด


 


นอกจากนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.บริหารกิจการอิสลามฯ จะทำให้เกิดองค์กรใหญ่ใหม่ 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานบริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ ในภาคส่วนราชการขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย


 


สำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งเดิมไม่มีชื่อตามกฎหมายจะถูกนำมาใช้เป็นชื่อหรือสำนักงานโดยควบรวมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งมีชื่อทางกฎหมายแต่ไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อให้เหลือเพียงองค์กรเดียว


 


สภาที่ปรึกษาสูงสุด (คล้ายสภาอูลามะอ์) มาทำหน้าที่วินิจฉัยข้อขัดแย้งเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและอาจมีบทบาทในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสลาม จากเดิมมีเพียงคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิของจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ให้ข้อมูลแต่ไม่มีอำนาจในตัวเอง


 


นายนิรันดร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรทางศาสนาอิสลามระดับบนเกิดปัญหาการยอมรับ ยกตัวอย่างเช่น การประกาศวันอี้ด (วันสำคัญทางศาสนาอิสลาม) 2 ครั้งในปีนี้ โดยใน 4 จังหวัดภาคใต้และบางส่วนของประเทศกว่า 3,000 แห่ง ไม่ยึดตามประกาศจุฬาราชมนตรี พ.ร.บ.นี้จะมาช่วยแก้ปัญหาองค์กร


 


ส่วนปัญหาที่จะมีการถกกันต่อไปคือจุฬาราชมนตรีจะมีหน้าที่อย่างไรระหว่างการไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารใดๆเลย หรือการเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทย


 


 


 


ด้านนายไพศาล พรหมยงค์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ.บริหารกิจการศาสนาอิสลามฯ กับ 'ประชาไท' ว่า ไม่ว่าการได้มาของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสลามจะเป็นรูปแบบไหนหากไม่บริสุทธิก็เป็นปัญหา เพราะการทำงานนั้นจะมี 2 อย่างประกอบกันได้แก่ คนกับระบบ ถ้าระบบดีคนไม่ดีก็ให้เปลี่ยนที่คน อย่างเช่นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่บอกกันว่าดีที่สุด พอคนนำมาใช้ไม่ดีวันนี้ก็เปลี่ยนทั้งระบบ ถ้าคนไม่ดีก็ให้เปลี่ยนที่คนไม่ใช่ระบบ พ.ร.บ.นี้ ก็เช่นกัน ปัญหาอยู่ที่คน


 


เมื่อใช้การคัดสรรต่อไปก็จะมีเรื่องอำนาจรัฐ การเมือง มาแทรกแซง แต่พอใช้การเลือกตั้งก็บอกว่าใช้เงินซื้อได้ เป็นเรื่องไม่ต่างกัน เพราะต้องยอมรับว่ามุสลิมไม่สามารถเอาหลักการอิสลามมาใช้ได้หมด เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐไทยด้วย เรื่องตำแหน่งก็อยากเป็นกันทุกคนก็มาอยู่ที่ว่าเป็นช่วงอำนาจของใครก็เอาความคิดของคนนั้นมาร่าง พ.ร.บ. ทั้งนี้ การที่มุสลิมจะผลักมติออกไปได้หมดนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรจะต้องไปสู่กระบวนการที่ไม่ใช่แบบมุสลิม เช่น การผ่านคณะรัฐมนตรีหรืออื่นๆ เพื่อผ่านกฎหมาย ซึ่งไม่เข้าใจหลักการศาสนา ต่อไปก็จะมีการต่อรองแลกเปลี่ยนกันอยู่ดีภายใต้กฎหมายของรัฐไทย ดังการบอกว่าเปลี่ยน พ.ร.บ. แล้วดีขึ้นนั้นใครจะรับประกัน


 


นายไพศาลยังแสดงความเห็นอีกว่า พ.ร.บ.ที่ใช้ตอนนี้ก็ดีที่สุดแล้ว เพียงแต่เอาไปใช้ไม่ถูกทั้งที่กระบวนการได้มาซึ่งบุคคลก็มาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเลือกตั้งระดับมัสยิด มาระดับจังหวัด มาคณะกรรมการอิสลามกลาง แต่มีการเมือง การเงินมาแทรก ก็กลายเป็นระบบการเมืองธรรมดาไป ก็เหมือนกับการเมืองไทยตอนนี้ สาเหตุก็มาจากการที่คนขาดความรู้ความเข้าใจ มุสลิมก็เช่นกัน ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้เรื่องการบริหารว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นต้องทำให้คนมุสลิมมารับรู้ก่อนว่าอำนาจหน้าที่ของตนคืออะไร ไม่ใช่การสบประมาท แต่พูดจากความจริง พอไม่รู้ ไม่บริสุทธิ์ใจที่จะนำมาใช้ ไม่ว่าเรื่องอะไรรวมทั้งเรื่องศาสนาไม่ว่าใคร ชุดไหนเวลาจะออก พ.ร.บ.ก็ไม่พ้นจะออกแบบมาเข้าข้างตัวเอง


 


ส่วนการจะตั้งสภาที่ปรึกษาสูงสุดมาทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาต่างๆ นั้น ไม่เชื่อว่าจะทำหน้าที่ได้เพราะแม้แต่การกำหนดวันอี้ด ก็ยังไม่ตรงกัน ปัญหาคือผู้รู้ต่างๆ ยังไม่สามารถเข้ากันได้ในเรื่องหลักการชัดๆ ของอิสลามที่สำคัญ ยังแบ่งกลุ่มในเรื่องนี้ เป็นปัญหาของเราเองเมื่อยังแก้ไม่ได้แล้วจะไปแก้ให้คนอื่นได้อย่างไร ตรงนี้ศาสนาอิสลามมีหลักการชัด แต่แค่หลักการชัดๆยังตกลงกันไม่ได้เลยเป็นเพราะอำนาจกับการเมืองครอบงำไปหมดแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม นายไพศาล ยังไม่ฟันธงว่าการแก้ไข พ.ร.บ. นี้เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี เพราะยังไม่เห็นร่างจริง แต่มองว่า พ.ร.บ.เดิมนั้นดีในระดับหนึ่งแล้วเพียงแต่ยังไม่ถูกใช้ตามเจตนารมณ์เท่านั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ พ.ร.บ. เพียงแต่ได้มองตัวเองกันหรือยัง และแน่ใจหรือไม่ว่าการเขียน พ.ร.บ.ใหม่ไม่ได้เขียนเพื่อตัวเอง เพราะหากเป็นอย่างนั้น สมมติอีก 3 ปี มีการเปลี่ยนอำนาจใหม่ก็ต้องมาตามแก้กันอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net