Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เนื่องในโอกาสวันเด็กที่มีแค่ปีละหน จึงจำเป็นยิ่งที่ต้องทำลายบรรยากาศโรแมนติกของพวกผู้ใหญ่ และกล่าวถึงปัญหาของเด็กๆ ในส่วนที่ผู้คนรู้แต่แกล้งลืม โดยเฉพาะเด็กที่ต้องการโอกาส การดูแล ความเข้าใจเป็นพิเศษจาก "สังคมไทย"

ถึงวันเด็กทีไร เด็กๆ ก็จะได้มีกิจกรรม มีโอกาสพิเศษในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ กันอย่างคึกคักเสียทีหนึ่ง และปีนี้ก็เป็นปีอันไม่ธรรมดา เพราะเด็กไทยจะได้ใกล้ชิดรถถังมากกว่าปีที่ผ่านๆ มาท่ามกลางสถานการณ์ "เด็ดดอกไม้สะเทือนทั้งเมืองไทย" ไม่เชื่อลองอ่านหนังสือพิมพ์บางฉบับจะเห็นพาดหัวข่าวชวนขำ-ชวนเครียดทำนองว่า "วอนประชาชนอย่าตกใจ เคลื่อนย้ายอาวุธเข้ากรุง โชว์วันเด็ก" !!!!...ก็ว่ากันไป

 

นั่นคือภาพของเด็กๆ ส่วนใหญ่ที่จะได้มีโอกาสสนุกสนานกันในวันที่ผู้ใหญ่จัดให้ แต่เด็กไม่ได้สำคัญแค่ปีละ 1 วัน และมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสรื่นเริงบันเทิงใจ  กระทั่งไม่ถูกเหลียงมอง กล่าวถึง

 

ในโอกาสวันเด็กจึงมีความสำคัญยิ่งที่ต้องทำลายบรรยากาศโรแมนติกของพวกผู้ใหญ่ และกล่าวถึงเด็กๆ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเด็กที่ต้องการโอกาส การดูแล ความเข้าใจเป็นพิเศษจาก "สังคมไทย"

 

โดยในคราวนี้จะสำรวจปัญหาเด็กผ่านกลไกอันหนึ่งที่ทำหน้าที่ดูแลและคุ้มครองเด็ก นั่นคือ "คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก" ซึ่งได้มีการจัดเวทีสาธารณะว่าด้วยเรื่องนี้กันเมื่อเร็วๆ นี้ *

 

กลไกนี้เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 แม้จะผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่เราพบว่าคณะกรรมการคุ้มครองเด็กในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถดูแล คุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะที่ส่วนที่มีปัญหาและด้อยโอกาสได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นเรายังได้ยินเสียงสะท้อนเรื่องเด็กจากคนทำงานกับเด็กในด้านต่างๆ ที่น่าสนใจหลายประการ

 

 

000

 

 

เด็กแก๊งค์-การค้ามนุษย์

ชลบุรี เมืองท่าอันดับหนึ่งของประเทศเป็นตัวอย่างที่ดี

 

พันเอกแพทย์หญิงสุมน นาคเฉลิม คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดชลบุรีเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า ทุกวันนี้ชลบุรีมีโรงงาน 13,000  แห่ง นิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง ผู้คนที่เคลื่อนย้ายอพยพเข้ามารวมถึงแรงงานแฝงมีจำนวนประมาณ 500,000-600,000 คนมาจากทุกภาคทั่วประเทศรวมถึงคนต่างด้าวด้วย จนหลายพื้นที่กลายเป็นชุมชนแออัด

 

"สิ่งที่สะท้อนออกมาคือ มีปัญหาอาชญากรรม คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างมาก ความมั่นคงในชีวิแต่ละวันแทบจะหาไม่ได้ ที่นี่ไม่มีกลางวัน-กลางคืน และคุณมีโอกาสถูกจี้ถูกฆ่าได้เหมือนๆ กัน"

 

ขณะเดียวกันปัญหาเยาวชนแต่ละพื้นที่ก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ผู้นำชุมชนใช้สำนวนว่า เด็กๆ ที่มีปัญหา ไม่ได้เรียนหนังสือแล้วกลายเป็นแก๊งค์ซิ่งหรืออื่นๆ วันนี้มีเป็น "กองทัพ" โดยชลบุรีมีแก๊งสเตอร์ประมาณ 30-40 แก๊งค์ มีจำนวนสมาชิกตั้งแต่แก๊งค์ละ 30 คนไปจนถึงเกือบ 2,000 คน บางคนอยู่ในระบบ เรียนหนังสือแต่บางคนไม่ได้เรียน เด็กเหล่านี้จับกลุ่มกันเสพยา ซิ่งมอเตอร์ไซด์ ค้าหญิง ลักขโมย ก่ออาชญากรรมทุกอย่าง

 

"เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าตอนนี้คดีของเด็กพุ่งแซงคดีผู้ใหญ่แล้ว เพราะเด็กก่ออาชญากรรมถึง 60-70% ของทั้งหมด"

 

ขณะเดียวกันสถานการณ์ค้าเด็กในพื้นที่ก็รุนแรงมาก ประเทศไทยถือเป็นแหล่งการค้าเด็กในธุรกิจบริการทางเพศอันดับหนึ่งของโลกคู่กับบราซิล โดยมีการเคลื่อนเข้ามาของแก๊งค์ค้าเด็กเพื่อมาฝังตัวอยู่ที่พัทยา  สร้างเว็บลามกส่งขายทั่วโลก

 

"สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจังหวัดของความรุนแรง การตายทั้งหมดแม้รวมเหตุการณ์ความรุนแรงแล้วยังไม่เท่ากับชลบุรี แสดงว่าที่นี่มีความรุนแรงแฝงอยู่มากแม้ไม่มีลูกระเบิดก็ตาม"

 

 

เด็กเฮี้ยว-เด็กก้าวพลาด

เจ้าหน้าที่จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา สะท้อนประสบการณ์การทำงานกับเด็กมาเกือบ 20 ปีว่า

 

"รู้สึกรันทดใจมาโดยตลอดเพราะมีเด็กอีกจำนวนมากที่ดูเหมือนไม่มีแผ่นดินจะอยู่ทั้งในและนอกระบบ เด็กในโรงเรียนที่คิดไม่เหมือนครูคิดไม่เหมือนเพื่อน กลายเป็นตัวประหลาดและสุดท้ายต้องไปเป็นเด็กในสถานพินิจ หรือเด็กที่สมาธิสั้น บกพร่องในการเรียนรู้และฐานะไม่ดี ผู้ปกครองไม่ดูแลก็มาเป็นนักเรียนในสถานพินิจเป็นจำนวนไม่น้อย"

 

เธอนำเสนอว่า เป็นไปได้ไหมที่จะผลักดันให้เกิดสถานศึกษาทางเลือกแก่เด็กโดยมีค่าใช้จ่ายไม่แพง โดยยกตัวอย่างของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยชูเล่ของญี่ปุ่น นักศึกษาที่นั่นเป็นเด็กปกติทั่วไปที่ไม่ได้เกเรแต่ไม่อยากอยากเรียนในระบบ เมื่อเขามาอยู่ที่นี่เขาสามารถคิดหลักสูตรเองได้ และปรากฏว่าเด็กกลุ่มนี้กลายมาเป็นพลังให้กับสังคม เป็นอาสาสมัคร child line คอยให้คำปรึกษาชีวิตแก่เด็กๆ ด้วยกัน หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยเคออส ก็เป็นมหาวิทยาลัยศูนย์รวมของเด็กเกเร ซึ่งสามารถสร้างพลังให้กับสังคมได้อย่างมากมาย

 

ในส่วนกลุ่มเด็กที่กลับสู่ครอบครัวไม่ได้เพราะโดนล่วงละเมิดหรืออะไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กจะกำหนดให้มีสถานพัฒนาและฟื้นฟูคอยรองรับ แต่สภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ในภาคใต้มีแห่งเดียว กำลังจะเกิดที่สุราษฎร์ธานี ขณะที่ปัญหาที่เกิดมีเยอะมาก จนคนทำงานในพื้นที่ต้องคิดกันว่าจะตั้งสถานฟื้นฟูของตัวเอง เพราะไม่สามารถรอโครงสร้างราชการแล้วปล่อยให้เด็กร่วงหล่นไปทีละคนสองคนได้ ตรงนี้เอกชนจะสามารถช่วยเสริมได้อย่างไร เพราะมันเป็นสิ่งจำเป็นและควรมีอย่างทั่วถึง

 

 

เด็กที่ถูกล่วงละเมิด

พญ.วนิดา เปาอินทร์ หัวหน้าหน่วย child protection กล่าวว่า ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขยังมีปัญหามากในการคุ้มครองเด็กที่ถูกละเมิด ตัวอย่างคือ เมื่อส่งเด็กที่ถูกข่มขืนโดยพ่อไปแจ้งความ จะพบว่าตำรวจบอกว่าให้ไปตรวจก่อน ตรวจแล้วพบว่าผิดปกติจึงค่อยมาแจ้งความ พอเด็กไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าไปแจ้งความก่อน ถ้าตำรวจรับแจ้งความค่อยมาตรวจ

 

"สรุปแล้วเด็กคนนี้จึงหายไปจากวงจรของความช่วยเหลืออย่างน่าเสียดาย"

 

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก็จะบอกว่าอย่าเพิ่งออกข่าวไป เพราะโรงเรียนจะเสียชื่อ กลายเป็นการปกป้องผู้กระทำไม่ใช่ปกป้องเด็ก ทั้งที่หลายครั้งการปกป้องเกิดได้ด้วยการเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ที่สำคัญที่สุดคือหมอ ปัญหาสำคัญอันแรกคือเรื่องทักษะ ที่ผ่านมาพบว่าหมอไม่มีความมั่นใจเลยในการประเมินเด็กที่ถูกล่วงเกินทางเพศ วิธีการที่หมอจะปัดความไม่มั่นใจตรงนี้ออกไปได้คือ การไม่ยอมตรวจ หรือตรวจแต่ลงความเห็นแบบกลางๆ หรือบางครั้งก็เกิดความเข้าใจผิดแล้วทำให้คดีเปลี่ยน เช่น ไม่เจอร่องรอยแล้วเขียนว่าไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งตามทฤษฎีแล้วไม่ใช่ การไม่เจอร่องรอยไม่ได้แปลว่าไม่ถูกข่มขืน

 

ถามว่าจะปรับปรุงแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เธอระบุว่าต้องมีการพัฒนาคน แต่ไม่ควรพัฒนาคนทั้งระบบ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนทั้งหมดจะเชี่ยวชาญเรื่องที่ละเอียดอ่อนแบบการละเมิดเด็ก จะเป็นทางที่ดีกว่าหากมีคนที่มีความเชี่ยวชาญมากพอกลุ่มเล็กๆ แต่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ อาจจะไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ก็ได้ แต่ต้องให้ทุกฝ่ายรู้ว่าหากเกิดปัญหาแล้วต้องต่อไปยังใคร

 

 

เด็กบนแผ่นดินไทยแต่ไร้สัญชาติ

สันติพงษ์ มูลฟอง  นักพัฒนาเอกชนที่เดินทางไกลมาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า กลุ่มคนไร้สัญชาติมีจำนวนเท่าไรไม่ทราบแน่ชัด แต่ที่รู้ๆ พวกเขาเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมอยู่นอกระบบรัฐสวัสดิการ หรือจะว่าอยู่นอกระบบกฎหมายก็ว่าได้

 

เขานำเสนอตัวเลขที่น่าสนใจว่า เด็กที่อยู่ในสถานศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีจำนวน 4,777 คนเป็นคนที่ถูกใส่ตัว G คือไม่มีเลข 13 หลัก ไม่มีสถานะที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ต่อมาปี 2548  ที่คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาลงไปติดตามเรื่องนี้พบว่า เด็กเหล่านั้นเหลืออยู่จำนวน 3,600 คนเศษ

 

"ส่วนที่หายไป 1,091 คนไม่แน่ใจว่าไปอยู่ตรงไหน อาจจะออกกลางครัน หรือตกเป็นเหยื่อของพวกค้ามนุษย์หรือไม่ก็ไม่อาจรู้ได้"

 

ทั้งนี้ เด็กนักเรียนในโรงเรียนทั่วประเทศที่ไม่มีสัญชาติคาดว่ามีกว่า 180,000 คน บางจังหวัดก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเด็กที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนการเกิดมีเท่าไร พร้อมกันนั้นเขาได้ยกตัวอย่างโรงเรียนบ้านแม่สามแลบเพื่อให้เห็นตัวอย่างชัดๆ ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงในแม่ฮ่องสอนว่า ปัจจุบันมีนักเรียน 256 คนแต่มีสัญชาติไทยอยู่ 9 คน โรงเรียนบ้านแม่ดึ๊ นักเรียนไม่มีสัญชาติแม้แต่คนเดียว

 

 "เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า เด็กที่ไร้สัญชาติไม่มีโอกาสแม้แต่จะเดินทางมาพูดปัญหาตัวเองต่อสาธารณะ ไม่สามารถบอกกล่าวอะไรสักอย่างกับใครสักคน"

 

อีกเรื่องคือ หลักประกันสุขภาพ เด็กไร้สัญชาติไม่มีหลักประกันใดๆ เลย แม้ถึงที่สุดจะได้รับบริการทางการแพทย์ แต่สิ่งที่เขาได้รับตรงนั้นก็เหมือนมาเบียดบังใช้งบประมาณของคนอีกจำนวนหนึ่งที่มีหลักประกัน เพราะจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีคนที่ได้รับหลักประกันสุขภาพประมาณ 230,000 คน แต่ประชากรไร้สัญชาติก็มีเป็นแสนคนเช่นกัน ตรงนี้นับเป็นประชากรแฝง ต้นทุนหลายเรื่องสูงเพราะต้องดูแลคนเหล่านี้

 

"หลายรายที่ต้องพาส่งโรงพยาบาลไปถึงโต๊ะซักประวัติเด็กก็ร่วงแล้ว ไม่รู้จะตอบอะไรจริงๆ ผมได้แต่บอกว่าขอใช้สิทธิความเป็นคนแล้วกันเพราะอย่างอื่นไม่มีจริงๆ บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนแม่ฮ่องสอนก็ไม่ได้เลือกปฏิบัติ"

 

เขาสรุปในตอนท้ายว่า ทำอย่างไรจะใช้กลไกการคุ้มครองเด็กจึงจะคิดเผื่อไปถึงเด็กไร้สัญชาติด้วย อย่างน้อยที่สุด ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กก็ไม่ได้บอกว่าจะคุ้มครองเฉพาะเด็กไทย

 

"เพราะผมคิดอยู่เสมอว่า ความมั่นคงของชาติจะมีได้ก็ต้องมีความมั่นคงของมนุษย์ก่อน อย่าได้คิดว่าความมั่นคงของชาติเป็นตัวตั้งแล้วจะพาไปหาจุดเล็กจุดน้อย"

 

 

000

 

 

นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวกระจิดริดของปัญหาว่าด้วยเรื่อง "เด็ก" ที่อาจจะรู้กันดีอยู่แล้วในสังคมไทย และยังคงเป็นอยู่เช่นนั้น แม้จะมีความพยายามของใครหลายกลุ่มหลายคนในการแก้ปัญหา โดยคณะกรรมการคุ้มครองเด็กเป็นกลไกหนึ่งที่ถูกคาดหวังและถูกกระตุ้นให้ทำหน้าที่ดูแล คุ้มครองเด็กๆ ที่ต้องการความเข้าใจ การดูแลเป็นพิเศษ

 

ขณะเดียวกันกลไกและภาคส่วนอื่นๆ ก็คงต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วยในเรื่องนี้ เพราะอาศัยแต่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือภาครัฐอย่างเดียวไม่เพียงพอ

 

ดังที่ สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ เลขาธิการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และ กรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติชี้ว่า ถึงเวลาที่เราต้องมาดูเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และไปถึงขั้นมีการพัฒนาเด็กและเยาวชน พัฒนาส่งเสริมชีวิตครอบครัวที่ดี โดยที่กระบวนการการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถฝากไว้ที่หน่วยราชการใดหน่วยราชการหนึ่ง แต่ต้องมีความร่วมแรงร่วมใจในทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนของสังคม รวมไปถึงภาคธุรกิจด้วย

 

000

 

 

และแล้ววันเด็กแห่งชาติก็เวียนมาอีกครั้ง....

 

 

-----------------------------

* เรียบเรียงจากเวทีนโยบายสาธารณะ "คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กลไกแห่งความหวัง" จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net