Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 ม.ค. 2550 กรณีบริษัทไทยซัมมิท อิสเทิร์นซีบอร์ด โอโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัด ปิดงานเนื่องจากไม่สามารถระงับข้อพิพาทแรงงานกับสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทยได้นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (10 ม.ค.) ตั้งแต่ช่วงเย็นมีแรงงานจากกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์ และแรงงานในจังหวัดระยอง ทยอยเดินทางเข้ามาที่กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการเจรจาข้อตกลงกันระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน โดยขณะนี้มีแรงงานประมาณ 300 คนปักหลักชุมนุมอยู่หน้ากระทรวงแรงงาน


 


นายสุรสิทธิ์ คำเลิศ เหรัญญิกและกรรมการสหภาพฟอร์ดและมาสด้า กล่าวว่า หลังจากบริษัท ไทยซัมมิท อิสเทิร์นซีบอร์ด โอโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัดปิดงานแล้ว การเรียกร้องไม่มีความคืบหน้าใดๆ นอกจากนี้ แม้นายจ้างจะอ้างว่า ไม่สามารถทำงานส่งได้ทันจึงต้องปิดงาน แต่เมื่อปิดงานแล้วกลับจ้างแรงงานเหมาช่วงซึ่งไม่มีประสบการณ์มาทำงานแทนแรงงานปกติที่ทำมานาน และส่งให้บริษัทอื่นทำแทนบางส่วน


 


ทั้งนี้ เดิมทีมีการนัดเจรจาข้อพิพาทกันในวานนี้ (10 ม.ค.) แต่นายจ้างขอคุยก่อนเมื่อวานนี้ที่แรงงานจังหวัด ซึ่งก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ วันนี้จึงเดินทางมาเนื่องจากเมื่ออยู่ที่ระยอง ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาสนใจ โดยก่อนหน้านี้ ขณะที่มีการชุมนุมกันที่หน้าบริษัทได้ถูกขัดขวางการชุมนุม เช่น เอาเหล็กพาเลทมาวางหน้าบริษัทเพื่อกันไม่ให้พนักงานมาชุมนุมกันได้ ไม่อนุญาตให้ใช้ห้องน้ำ ทำให้พนักงาน 200-300 คนไม่มีห้องน้ำใช้ ต้องนำรถมาพาผู้หญิงไปขอเข้าห้องน้ำที่อื่น นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบทหารอยู่ในบริษัทซึ่งไม่รู้ว่าเป็นทหารจริงหรือไม่  


 


เมื่อวานนี้ ช่วงเช้าตั้งแต่ 9.00 น. แรงงานถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตลอด โดยได้รับการบอกมาแต่ว่าผู้ใหญ่สั่งมา ช่วงเช้าที่นายอำเภอปลวกแดงมาคุยกับบริษัท หลังจากคุยเสร็จก็ตามมาคุยกับแรงงานระหว่างการเดินทางและว่าอยากให้กลับเข้าพื้นที่ นอกจากนี้ยังถูกรถที่เช่ามาทิ้งกลางทาง โดยคนขับบอกว่า เจ้าของไม่กล้าให้มาและกลัวถูกปรับ บางบริษัทบอกเลยว่า ถ้าเป็นสหภาพฟอร์ดและมาสด้าฯ ไม่ให้รับ กว่าจะทยอยกันเดินทางเข้ามาได้ก็ 17.00 น. ส่วนกลุ่มสุดท้ายมาถึงในเวลาประมาณ 19.00 น. เศษๆ


 


โดยเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ตัวแทนคณะกรรมการสหภาพฯ 10 คนได้เข้าประชุมร่วมกับตัวแทนของกระทรวงแรงงาน จากนั้น เวลา 23.00น. ตัวแทนของสหภาพได้เดินออกมาจากกระทรวงแรงงาน โดยนายสมศักดิ์ สุขยอด ประธานสหภาพฟอร์ดและมาสด้า ได้กล่าวว่า ได้เข้าไปนำเสนอปัญหากับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องไว้พิจารณาและรับจะประสานงานให้ ทั้งนี้ ในช่วงสายของวันนี้ (11 ม.ค.) คงจะพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง  


 


 แรงงานชุมนุมหน้ากระทรวงแรงงาน


 


 



 



 


ออกแถลงการณ์แจงสาเหตุนายจ้างปิดงาน


อนึ่ง สหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 19 วันที่ 5 มกราคม 2550


เพื่อชี้แจงเรื่องการปิดงานของบริษัทไทยซัมมิท อิสเทิร์นซีบอร์ด โอโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัด โดยระบุว่า เริ่มแรกของการมีสหภาพแรงงานเกิดขึ้นที่บริษัทไทยซัมมิท อิสเทิร์นซีบอร์ด โอโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัด


ที่จังหวัดระยอง ผู้ก่อการจัดตั้งได้ไปปรึกษารูปแบบการก่อการจะเริ่มต้นในการตั้งสหภาพฯ นับแต่ได้รับคำปรึกษาจากสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย


 


จุดเปลี่ยนที่คิดจะจัดตั้งสหภาพในบริษัทขึ้นเอง ผู้ก่อการได้แลกเปลี่ยนปรึกษาและเปรียบเทียบระหว่างที่จะตั้งสหภาพฯ เอง หรือจะไปรวมสหภาพฯ เข้าเป็นสมาชิกของฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย และได้มีแนวคิดว่า การรวมสหภาพฯ เข้าด้วยกันนั้นมีผลดีกว่าการที่จะจัดตั้งสหภาพฯ ในบริษัทฯ ขึ้นเอง และเริ่มมีการหาสมาชิกในบริษัทฯ ตามสายงานของผู้ก่อการโดยมีส่วนใหญ่ๆ อยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแผนกโรงงานเหล็ก คือปั๊มขึ้นรูปโลหะและนำมาประกอบ อีกส่วนคือ โรงงานพลาสติก คือ ฉีดขึ้นรูปพลาสติกและพ่นสีแล้วนำมาประกอบ ครั้งแรกมีพนักงานกรอกใบสมัครเป็นสมาชิกสหภาพจำนวน 414 คน


 


หลังจากประชุมใหญ่แล้วได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายจ้าง ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 และมีการเจรจากันในบริษัททั้งหมด 4 ครั้ง และตกลงกันไม่ได้จึงแจ้งเป็นข้อพิพาทแรงงาน และเจ้าหน้าที่แรงงานได้นัดการเจรจาด้วยกันทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้


 


ในระหว่างมีการเจรจาข้อพิพาทแรงงานที่สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ.ระยองนั้น ฝ่ายบริหารได้นำทหารที่แต่งชุดทหารพร้อมอาวุธเข้ามาอยู่ในบริษัทฯ ต่อมาบริษัทฯ ก็มีการแทรกแซงโดยมีการข่มขู่และขอร้องให้แยกตัวออกจากสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย โดยแนะนำให้ตั้งเองแล้วบริษัทฯจะให้ทุกอย่าง แต่คณะอนุกรรมการเห็นว่า ถ้าหากแยกตัวออกจากสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย ก็คงจะโดนทำลายแน่เลย จากการที่คิดจะแยกพนักงานออกจากสหภาพฯหลักไม่ได้ จึงคิดหาวิธีทำลายสหภาพฯ ใหม่ คือ สั่งปิดงานในวันที่ 26 ธันวาคม 2549 เวลา 17.30น.


 


"ข้อเท็จจริงของการปิดงานในครั้งนี้ เนื่องจากผู้บริหารต้องการทำลายขวัญกำลังใจของสมาชิกให้เข้าใจว่าบริษัทและสหภาพฯมีปัญหา จริงๆ แล้วบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่ มีการหยุดลายการผลิตตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2549 จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2550 รวม 13 วัน นายจ้างจึงได้ใช้ช่วงเวลานี้ฉวยโอกาสในการปิดงานเพื่อแยกพนักงานออกเป็นสองฝ่าย มีการให้ร้ายสหภาพฯ ว่าเป็นตัวก่อปัญหา และบอกว่าที่ต้องปิดโรงงานเพราะส่งสินค้าให้ลูกค้าไม่ทัน"


 


ที่น่าแปลกคือส่งงานไม่ทัน แต่สั่งปิดงาน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้พนักงานทุกคนทำงานตามปกติไม่เคยมีการผละงานหรือเฉื่อยงานอย่างที่กล่าวหา


 


"หลังจากประกาศหยุดงาน ผู้บริหารก็เริ่มเกมส์การแย่งมวลชน หรือที่เรียกว่า "วิชามาร" ตัวเองสั่งปิดงานแต่กลับมาตั้งโต๊ะรับสมัครสมาชิกที่จะสมัครใจเข้าทำงาน โดยที่ผู้บริหารเอาเรื่องเงิน 2000 บาทมาเป็นเรื่องต่อรอง เพียงเพื่อการเอาชนะให้ได้ แค่นั้นยังไม่พอ นายจ้างยังให้พนักงานที่ยินดีสมัครใจลงลายมือชื่อยินยอม เพื่อยืนยันการรับสภาพการจ้างเดิม และไม่ให้มีการสนับสนุนข้อเรียกร้อง ถือว่าเป็นการบ่อนทำลายสหภาพฯ ชัดเจน"


 


สหภาพฯ เชื่อว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีเท่าเทียมกันทุกๆ คนตั้งแต่เกิดมา การนำเอาเรื่องความได้เปรียบในด้านความเป็นอยู่ เอาเงินมาฟาดหัวพนักงานที่มีรายได้น้อย เพราะเห็นช่องว่างในจุดนี้ เอาเปรียบในด้านการจ้างงานยังไม่พอ ยังดูถูกพนักงานของตัวเองให้มีการซื้อขายศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงาน


 


"ที่น่าอายที่สุด คือ การให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงแก่พนักงานที่ไม่เข้าใจ นายจ้างสั่งปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพฯ (ให้สมาชิกสหภาพฯ หยุดทำงานชั่วคราว เพื่อหาข้อสรุปในข้อเรียกร้อง) แต่กล่าวหาว่าสมาชิกสหภาพนัดหยุดงานไม่ยอมเข้าทำงาน และมีการโทรศัพท์ไปหาสมาชิก มีการข่มขู่พนักงานว่าถ้าหากไม่เข้าทำงานจะมีการเลิกจ้าง มีการจะเอาพนักงานจากในเครือมาทำงานแทน โทรไปหาครอบครัวสมาชิกให้บอกสมาชิกให้มาทำงาน"


 


"และที่น่าเกลียดที่สุด มีการส่งไปรษณียบัตรไปบ้านเกิดของพนักงานที่อยู่ต่างจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้กับครอบครัวและพ่อแม่ของสมาชิก มีผู้บริหารบางคนสิ้นคิดถึงขนาดชวนพนักงานกินเหล้า เลี้ยงทุกอย่างเพื่อหวังผลในการเอาชนะทุกรูปแบบ"


 


"เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ใช่ว่าเป็นเรื่องใหม่ เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน มันเพิ่งคืบคลานมาที่ภาคตะวันออก เพราะมีผู้คนเลวๆ ที่มาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาหากินในภูมิภาคของเรา มีทีมงานที่ปรึกษาในการโค่นล้มสหภาพฯ อย่างเป็นกระบวนการ ลงทุนกันขนาดนี้ สมาชิกลองคิดดูว่า พวกมันได้ผลประโยชน์มหาศาล มันถึงกล้าทำขนาดนี้"


 


เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นสหภาพแรงงานจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการนัดชุมนุม โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่ไม่พอใจต่อการกระทำของนายจ้างและพร้อมที่จะขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน การปิดงานในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่บางคนที่ทำตัวเป็นขี้ข้านายทุน เปิดทางให้มีการปิดงาน เพื่อทำลายสหภาพฯ มีการร่วมมือของหลายๆ ฝ่ายที่ต้องการทำลายสหภาพฯ แค่สหภาพใช้สถานที่ในการชุมนุมเพียงแค่ไม่กี่ตารางเมตร นายจ้างก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่นิคมมาไล่ ข่มขู่จะรื้อเต็นท์และทำลายข้าวของ รวมถึงการแจ้งความว่าเป็นผู้บุกรุก ใช้สถานที่โดยไม่ได้ขออนุญาต พอเราย้ายอยู่หน้าโรงงานก็ขับไล่พนักงาน ไม่ให้ดื่มน้ำหน้าป้อมยาม ไม่ให้ใช้ห้องน้ำ ทั้งที่สมาชิกลงแรงกันมาตั้งแต่เปิดโรงงาน จนขยายใหญ่โต คนเหล่านี้ไม่ได้สิ้นไร้ไม่ตอกแต่เปิดโอกาสให้กับตัวเอง เพื่อหาทุนต่อยอดในอนาคตเนื่องจากมีที่นาเป็นของตัวอยู่ที่ต่างจังหวัด


 


ทั้งนี้ ตอนท้ายของแถลงการณ์ได้ระบุเชิญชวนให้ผู้ใช้แรงงานอย่าเข้าใจผิดตามคำของผู้บริหาร โดยระบุว่า หากใครลงชื่อรับเงินแล้วไม่เป็นไร เพียงแต่กรอกแบบฟอร์มยกเลิกการกดขี่จากบริษัท โดยสหภาพจะยืนยันและรับรองการยกเลิกให้แล้วจัดสำเนาส่งต่อให้กระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ยังเชิญชวนพนักงานให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพอีกด้วย


 


คนในเครื่องแบบทหารในโรงงาน


 



 



 



 


 


 


อ่านข่าวย้อนหลัง


สหภาพแจงนายจ้างมั่ว "สั่งปิดงาน" หลังตกลงกันไม่ได้ ชี้หวังทำลายขวัญคนงาน


 


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net