Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหตุระเบิดอาจทำลายบรรยากาศวันเด็กของไทยให้สนุกน้อยลง แต่รายงานขององค์กรการกุศล Save the Children ระบุว่าเด็กๆ ในประเทศอื่นโชคร้ายกว่านี้ เพราะพวกเขาถูกปล้นสิทธิของตัวเองไป ด้วยปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ สงคราม การอพยพย้ายถิ่น และภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ตติกานต์ เดชชพงศ

 

หน่วยงานหลายแห่งในประเทศไทยประกาศงดจัดงานวันเด็กประจำปี 2550 ไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ไม่เหมาะแก่การพาเด็กไปทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น...

                 

แต่ดูเหมือนว่าเด็กไทยจะได้ฉลองวันเด็กล่วงหน้าไปแล้ว เมื่อตอนที่คณะทหารขับรถถังออกมาประจำการบนท้องถนน ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา เพราะนอกจากจะมีโอกาสได้เห็นแสนยานุภาพของกองทัพไทยในระยะประชิด เด็กไทยยังมีโอกาสได้เข้าไปมอบดอกไม้ให้ทหารและถ่ายรูปคู่กับรถถังหลากรุ่นหลากขนาดจนเป็นที่ฮือฮาทั่วโลกมาแล้ว

 

การประกาศว่าปีนี้ไม่มีกิจกรรมวันเด็ก จึงอาจเป็นเหตุการณ์ที่เด็กไทยพร้อมจะลืมมันไปอย่างง่ายดาย…

 

ทว่า เด็กๆ จากอีกหลายประเทศ มีสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำในแต่ละวัน คือการพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด  พวกเขาแทบจะไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จากผู้ใหญ่ และไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเบื้องต้น

 

พวกเขาเป็นเด็กที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า "วันเด็ก" ที่ผู้ใหญ่เฉลิมฉลองให้แก่ความเป็นเด็ก และเปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้กิจกรรมสร้างเสริมทักษะประเภทต่างๆ มีอยู่ในโลกด้วย

 

เด็กๆ เหล่านั้น มีประมาณ 43 ล้านคนทั่วโลก...

 

"สงคราม" - ตัวการอันดับหนึ่ง ปล้นการศึกษาของเด็กๆ  

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2549 มูลนิธิ Save the Children ซึ่งเป็นหน่วยงานการกุศลระดับสากลได้เปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเด็กวัยแรกเกิด จนถึงอายุ 17 ปี โดยสุ่มตัวอย่างจากเด็กในประเทศที่เกิดสงครามและความขัดแย้งภายในประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

ผลการศึกษาพบว่า เด็กๆ ในประเทศดังกล่าว ไม่ได้รับการศึกษาเบื้องต้น และ Save the Children ก็ใช้คำว่า "สงครามปล้นการศึกษาของเด็กๆ ทั่วโลก" มาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่าเด็กที่ถูกปล้นการศึกษาไปนั้น มีจำนวนถึง 43 ล้านคนทั่วโลก

 

มูลนิธิ Save the Children กล่าวว่า "โรงเรียน" คือสถานที่ที่สามารถพัฒนาทักษะของเด็กในการดำรงชีวิตและปกป้องสิทธิของตัวเอง พร้อมทั้งช่วยเยียวยาผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อสภาพจิตใจของเด็กๆ ได้ด้วย ซึ่งความสำคัญของโรงเรียนและการศึกษาเบื้องต้น มิได้หมายถึง "การรู้หนังสือ" เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเสมือนสังคมจำลองด้วย

 

แต่แล้ว "สงคราม" ก็เป็นตัวกีดกันไม่ให้เด็กๆ เข้าถึงการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ เนื่องเพราะครูจำนวนมากถูกฆ่าตาย หรือไม่ก็เสียชีวิตจากการถูกลูกหลงของสงคราม และโรงเรียนหลายแห่งก็โดนทำลาย

 

และถึงแม้ว่าในความหมายทั่วไป คำว่า "โรงเรียน" ควรจะหมายถึงสถานที่ที่ให้ความปลอดภัยแก่เด็กๆ เป็นอันดับสองรองจากบ้าน หากเมื่อบ้านของเด็กๆ ก็ยังลุกเป็นไฟเพราะสงครามและความขัดแย้ง โอกาสที่เด็กๆ เหล่านั้นจะเติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางสงคราม จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของมูลนิธิยังระบุอีกด้วยว่า เงินทุนหรือเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลแต่ละประเทศได้รับ มักถูกนำไปทุ่มให้กับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และอัดฉีดเงินให้กองทัพอย่างไม่อั้น แต่เงินจะถูกแบ่งมาใช้ในการทะนุบำรุงการศึกษาโดยเฉลี่ย ร้อยละ 2 ของเงินทั้งหมดเท่านั้น…

 

การพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อที่ประชากรในวันข้างหน้าจะมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ และสามารถหาหนทางแก้ไขปัญหาภายในประเทศ จึงแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยในความเป็นจริง

 

ส่วนปัจจัยอันดับรองลงมาจากสงคราม แต่ก็มีส่วนทำให้เด็กทั่วโลกไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น ได้แก่ ปัญหาเรื่องการลักลอบเข้าเมืองของผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ หลายคนไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษาเบื้องต้น เช่น รัฐบาลจีนสั่งปิดโรงเรียนสำหรับลูกหลานของแรงงานข้ามชาต ด้วยเหตุผลว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอ

 

หรือแม้แต่ประเทศไทย ก็ยังมีเด็กไร้สัญชาติอีกเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นลูกหลานของแรงงานอพยพ พวกเขาหมดสิทธิ์ที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนประถมของรัฐบาล ด้วยเหตุผลว่าพ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านั้นไม่ใช่คน "สัญชาติไทย"

 

ส่วนปัจจัยที่ปล้นการศึกษาของเด็กทั่วโลกเป็นอันดับสามก็คือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ เฮอริเคนแคทรินา คลื่นยักษ์สึนามิ และปัญหาน้ำท่วมในเอเชีย ที่ส่งผลกระทบให้เด็กอเมริกัน และเด็กๆ ในภูมิภาคเอเชียจำนวนมากกลายเป็นเด็กกำพร้า ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีโรงเรียน และไม่มีครูมาสอนหนังสือ

 

30 ประเทศที่ประชากรเด็กไม่สามารถเข้าเรียนชั้นประถมได้ เนื่องจากภาวะสงคราม

 

     ประเทศ                                      เด็กที่ไม่ได้เรียนชั้นประถม/ คน  เปอร์เซ็นต์

โซมาเลีย                                                1,580,000                                  89.2 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก                   5,290,000                                  65.2 

เซียราลีโอน                                            431,000                                     59.1 

อิสต์ติมอร์                                               75,000                                      58.6 

เอริเทรีย                                                 312,000                                     57.1 

สาธารณรัฐแอฟริกากลาง                            354,000                                     57.0 

เอธิโอเปีย                                               5,994,000                                  53.1 

ซูดาน                                                    2,405,000                                  51.1 

สาธารณรัฐคองโก                                     292,000                                     47.6 

บุรุนดี                                                     536,000                                     46.5 

เฮติ                                                       572,000                                     45.6 

แชด                                                      577,000                                     41.7 

ปากีสถาน                                               7,813,000                                  39.3 

แองโกลา                                                533,000                                     38.5 

กินนี                                                     493,000                                     38.1 

ไนจีเรีย                                                  7,662,000                                  38.1  

ไอวอรีโคสต์                                            955,000                                     36.2 

อัฟกานิสถาน                                           1,139,000                                  33.3 

ไลบีเรีย                                                  142,000                                     30.1 

ปาปัวนิวกินี                                              231,000                                     27.0 

เนปาล                                                    1,049,000                                  26.8 

อิรัก                                                       818,000                                     22.2 

อูกันดา                                                   1,068,000                                  21.1 

อุซเบกิสถาน                                          491,000                                     19.7 

ซิมบับเว                                                 498,000                                     19.5 

พม่า                                                     968,000                                     18.1 

รวันดา                                                    206,000                                     15.7 

กัมพูชา                                                  301,000                                     13.6 

โคลัมเบีย                                                497,000                                     10.6 

ศรีลังกา                                                  22,000                                      1.4 

  

(ข้อมูลจาก: Save the Children Foundation)

 

000

 

"การแก้ปัญหาวิกฤตการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน"

เมื่อครั้งที่ผู้นำประเทศจากทั่วโลกเคยตกลงกันไว้ตอนปี 2000 (พ.ศ.2543) ในการประชุมเพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในยุคสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ได้มีคำพูดเท่ๆ ที่เอ่ยถึงการผลักดันและส่งเสริมให้การศึกษาเบื้องต้นทั่วโลกได้มาตรฐานเท่าเทียมกันภายในปี 2015

 

รายงานของ Save the Children ระบุว่า สงครามคงไม่สามารถปล้นการศึกษาไปจากเด็กๆ ได้ ถ้าไม่มีใครคอยเลี้ยงให้ไฟแห่งสงครามปะทุอยู่ตลอดเวลา

 

แม้ด้านหนึ่งองค์กรการกุศลระดับสากลจะพยายามระดมทุนช่วยเหลือแก่ประเทศที่เกิดภัยจากสงคราม แต่รัฐบาลหรือผู้นำกองกำลังก็มักจะนำเงินช่วยเหลือไปใช้ในด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้ส่งเสริมการศึกษาสักเท่าไหร่ และความช่วยเหลือที่มาจากประเทศยักษ์ใหญ่ไม่กี่ประเทศนั้น ก็มักจะมาพร้อมกับการค้าอาวุธอย่างลับๆ (แต่ไม่เป็นความลับสักเท่าไหร่) ด้วย

 

การปฏิเสธความเกี่ยวข้องด้วยการพูดว่าปัญหาเด็กไม่ได้รับการศึกษาในประเทศที่เกิดสงคราม เป็นเพียง "กิจการภายในประเทศ" ที่ไม่ควรยุ่งเกี่ยว จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย่งกับสิ่งที่เคยตกลงกันไว้ในการประชุม MDG ที่ว่า เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง มีผลมาจาก "ปัจจัยภายนอก" พอๆ กับปัจจัยภายในเลยทีเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net