แรงงานนอกระบบโปรดอ่าน ความคุ้มครองประกันสังคมกำลังจะหมุนไป

ชื่อเดิม เปลี่ยนแนวขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ  

โดย บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ

 

 

 

คณะอนุกรรมการเตรียมการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ได้จัดประชุมครั้งแรกภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  ในวันที่ 9 ตุลาคม 2549 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 22 คน อนุกรรมการที่ไม่มาประชุม 4 ท่าน คือ นายไพโรจน์  สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายชวลิต อาคนธน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ผู้แทนองค์กรเอกชน และนางระกาวิน ลีชนะวานิชพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญแรงงานประจำสำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

           

นางจิราภรณ์  เกสรสุจริต ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สปส. เป็นประธานที่ประชุม ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ได้เคยมีมติคณะกรรมการประกันสังคม และคณะอนุกรรมการเตรียมการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ให้ความเห็นชอบในหลักการดำเนินการขยายความคุ้มครอง ประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบในรูปแบบสมัครใจ และจัดสิทธิประโยชน์เป็น 2ชุด ได้แก่ชุดแรก คือ สิทธิประโยชน์สวัสดิการขั้นพื้นฐาน 4 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย ชุดที่ 2 คือ สิทธิประโยชน์การออมเพื่อชราภาพ โดยรัฐบาล และแรงงานนอกระบบร่วมจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคม

           

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้นำเสนอหลักการ เพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2549 แต่เนื่องจากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เรื่องดังกล่าวจึงยังไม่ได้รับการพิจารณา สปส.จึงได้นำมาทบทวนหลักการดำเนินการใหม่ โดยจะดำเนินการในรูปแบบบังคับ จึงได้จัดประชุมหารือขึ้น

           

เหตุผล  ที่เปลี่ยนแนวทางดำเนินการจากรูปแบบสมัครใจเป็นรูปแบบบังคับ มีดังนี้

1.  สามารถตรวจสอบจำนวนแรงงานนอกระบบ เพื่อการจัดทำฐานข้อมูลได้ และเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ วางแผนดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และเหมาะสม

           

2.  สามารถวางแผนการเงินในระยะยาว เพื่อการจ่าย และออกแบบสิทธิประโยชน์ และกองทุนมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

           

3.  ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานนอกระบบได้อย่างทั่วถึงเป็นการป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากกองทุน และสามารถวางแผนขยายความคุ้มครองไปสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม

           

ที่ประชุมได้มีการพิจารณา และมีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอรวม 9 ประเด็น ดังนี้

           

(1.)  การขยายความคุ้มครองในระบบบังคับ กับกลุ่มอาชีพตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป และให้ทำความเข้าใจแก่แรงงานนอกระบบถึงการบังคับให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม 

(2.)  ให้แยกกองทุนประกันสังคม สำหรับแรงงานนอกระบบออกจากกองทุนประกันสังคมใหญ่

(3.)  การให้ประโยชน์ทดแทน 6 กรณี ได้แก่กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในระยะแรก 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย และให้ศึกษาต้นทุนการให้บริการทางการแพทย์ที่แท้จริง สำหรับกรณีชราภาพให้ประสานกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับความชัดเจนของนโยบายจัดตั้งกองทุนบำเหน็จ บำนาญ สำหรับแรงงานนอกระบบ

(4.)  การขยายความคุ้มครองเป็นรายกลุ่มอาชีพ โดยเริ่มจากกลุ่มที่มีความชัดเจนในเรื่องหลักแหล่ง รายได้ และความสนใจเข้าสู่ระบบก่อน และมอบฝ่ายเลขานุการไปศึกษารายละเอียดคุณลักษณะของทุกกลุ่มอาชีพ เช่น จำนวน รายได้เฉลี่ย ความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ ความพร้อม และจำนวนเงินที่คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการ โดยให้เน้นกลุ่มที่จะเริ่มขยายความคุ้มครองก่อนได้แก่ 

            1)  ขับรถรับจ้าง

            2)  มัคคุเทศก์

            3)  บริการในสถานบันเทิง

            4)  นวดเพื่อสุขภาพ

            5)  ขายสินค้าแผงลอยที่มีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

            6)  พนักงานขายตรง

สำหรับกลุ่มอื่นให้ดำเนินการศึกษารายละเอียดเช่นเดียวกัน   และนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

(5.)  ช่วงระยะเวลาการส่งเงินสมทบให้ฝ่ายเลขานุการประสานงานกองเงินสมทบ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการต่อไป

(6.)  อัตราเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทน 4 กรณี (ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย) ไม่เกิน 4.5 ของรายได้ และให้ฝ่ายเลขานุการไปศึกษาเพื่อกำหนดค่ากลางของรายได้เฉลี่ยแต่ละกลุ่มอาชีพ พร้อมทั้งเพดานรายได้ขั้นต่ำ และสูง นำเสนอคณะอนุกรรมการฯ ต่อไป

(7.)  ให้มีการศึกษาเกณฑ์ระยะเวลา เพื่อพิจารณาปรับฐานรายได้เฉลี่ยของแรงงานนอกระบบ

(8.)  การกำหนดสัดส่วนการจ่ายเงินสมทบระหว่างแรงงานนอกระบบ และรัฐบาล ให้ฝ่ายเลขานุการไปศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องแล้วนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ

(9.)  การเตรียมการด้านกฎหมาย และการบริหารจัดการมอบฝ่ายเลขานุการพิจารฯ เสนอในการประชุมคราวต่อไป

            การดำเนินการในปี 2550  คณะอนุกรรมการฯ วางแผนงาน ดังนี้ คือ

            1.  ศึกษาเพื่อจัดทำฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบรายอาชีพดังกล่าว ในด้านคุณลักษณะทั่วไป รายได้ และการส่งเงินสมทบ เป็นต้น เพื่อกำหนดอัตราเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกันตลอดจนประมาณการรายจ่ายของรัฐบาล

            2.  ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อให้มีภาพบังคับกับแรงงานนอกระบบ และการให้รัฐบาลมีส่วนร่วมจ่ายเงินอุดหนุน และออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการ

            3.  จัดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ

            4.  วางระบบบริหารจัดการ เช่น การจัดหน่วยงานบริการ และระบบสารสนเทศ เป็นต้น

            5.  ขอรับความเห็นชอบหลักการจากคณะกรรมการประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน

 

โครงการบูรณาการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กลุ่มงานขยายความคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบ สำนักนโยบาย และยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้จัดงานเสวนา เรื่อง "รัฐบาลใหม่กับแนวทางขยายการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ" โดยมีนางสาวนพมาศ ใจมั่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ สำนักงานประกันสังคมมาชี้แจงผลการพิจารณาทบทวนหลักการแนวทางการดำเนินการขยายความคุ้มครองฯที่คณะอนุกรรมการฯได้ประชุมแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2549

           

ที่ประชุมประกอบด้วยกรรมการและเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาแรงงาน และอาชีพ ผู้แทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆ และนักกฎหมาย นักวิชาการที่เกี่ยวข้องรวมประมาณ 30 คน มีความคิดเห็น และข้อเสนอที่กว้างขวางหลากหลาย พอจะสรุปประเด็นสำคัญเบื้องต้นได้ ดังนี้

           

1.  ควรสนับสนุนการจัดทำกองทุนบำเหน็จ บำนาญแห่งชาติ เพราะประชากรวัยสูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเป็นภาระแก่ประชากรวัยแรงงานที่ต้องดูแลมากขึ้นและรัฐมีข้อจำกัด ไม่อาจให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงเพียงพอในระยะยาวทั้งหมด โดยอาจแยกย่อยหลายกองทุนตามอาชีพทั้งแรงงานในและนอกระบบ มีอัตราเงินสมทบแตกต่างกัน 2-3 ระดับตามความสามารถในการจ่าย หรือรายได้ของแรงงานแต่ละกลุ่ม โดยเริ่มจากลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดใหญ่ก่อนแล้วค่อยๆขยายไปสู่สถานประกอบการขนาดเล็ก

           

2.  ควรมีการขยายกลุ่มอาชีพ ที่จะเริ่มขยายการคุ้มครองเพิ่มขึ้นจาก 6 อาชีพ ที่คณะอนุกรรมการฯมีมติเสนอไว้ คือ

           

ð         กลุ่มแรงงานรับงานไปทำที่บ้าน เพราะมีเครือข่ายการรวมกลุ่มที่ชัดเจน มีสมาชิกจำนวนมาก โดยจัดเก็บเงินสมทบผ่านกลุ่มอาชีพที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนต่างๆ เป็นแรงงาน มีบทบาทรับช่วงการผลิตจากสถานประกอบการ โรงงานขนาดใหญ่ ขนาดเล็กจำนวนมาก ที่มีการขยายตัวมากภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นสินค้าจำนวนมากที่ส่งออกสร้างมูลค่าเพิ่มและนำรายได้เข้าประเทศชาติ

           

ð         กลุ่มแรงงานเกษตรพันธะสัญญา เพราะเป็นเกษตรกรรับจ้างเลี้ยงสัตว์ หรือเพาะปลูกภายใต้การควบคุมของบริษัทต่างๆ เกษตรกรต้องถูกเอาเปรียบมากจากการที่ต้องลงทุนด้วยการใช้ที่ดิน เงินทุน และแรงงานของตนเอง ต้องแบกรับความเสี่ยงในการทำงานทุกอย่างโดยไม่เป็นธรรม โดยผ่านสัญญาจ้างทำของ หรือสัญญาซื้อขายวัตถุดิบผลผลิตระหว่างเกษตรกรกับบริษัท รายได้เกษตรกรจะไปเทียบกับภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะต้องทำงานตามฤดูกาลผลิต และสัญญาว่าจ้าง ไม่ได้ทำงานตลอดปี จึงต้องดูต้นทุนการผลิต และรายได้ตามฤดูกาลผลิตที่ผูกพันกับบริษัทมาคำนวณรายได้ เพื่อจัดเก็บเงินสมทบ

           

3.  ไม่ควรนำปัญหาการบริหารกฎหมาย หรือการบริหารจัดการ เพื่อเข้าถึงการจัดเก็บเงินสมทบแรงงานนอกระบบเป็นตัวตั้งในการตัดสินใจขยายความคุ้มครองแก่แรงงานนอกระบบ ควรพิจารณาถึงการพัฒนาฝีมือแก่แรงงาน ส่งเสริมการตลาด และการรวมกลุ่มไปด้วย ฯลฯ เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีรายได้ จากการประกอบอาชีพหลักที่เพียงพอ ไม่ต้องดิ้นรนทำหลายอาชีพโดยไม่มั่นคงต่อเนื่องตลอด

           

4.  ยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการประกันสังคมกรณีเจ็บป่วย โดยเฉพาะภาวะขาดรายได้ในระหว่างที่ไม่สามารถทำงานได้ ไม่เห็นด้วยที่เน้นประกันชราภาพเท่านั้น ต้องมีการจัดระบบบริหารเชื่อมโยงสวัสดิการชุมชน สวัสดิการที่รัฐมีหน้าที่จัดให้ประชาชนกับการประกันสังคมให้มีความชัดเจนเทียบเท่ากับสิทธิแรงงานที่จำเป็น แต่อาจไม่ใช่ทุกอย่างเท่ากันหมด

           

5.  กระทรวงแรงงาน ควรมีความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ (เช่นสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น) เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจัดตั้งเป็นคณะทำงาน หรือจัดเวทีประชุมหารือ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบรายกลุ่มอาชีพรวมทั้งการสำรวจความคิดเห็น ความต้องการของแรงงานนอกระบบเกี่ยวกับประกันสังคมในประเด็นต่างๆ

           

6.  สำนักงานประกันสังคม ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการประกันสังคม และรูปแบบแนวทางที่จะดำเนินการขยายความคุ้มครอง ให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ชัดเจนทั่วถึงมากที่สุด

           

7.  สิทธิการประกันสังคม ควรเปิดกว้างสำหรับแรงงานทุกกลุ่มอาชีพเป็นความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามหลักการรัฐธรรมนูญ และสิทธิมนุษยชนไม่ควรต้องมาร้องขอต่อรัฐบาล บางกลุ่มอาชีพในกลุ่มเป้าหมายที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดไว้ เช่น พนักงานบริการในสถานบันเทิงจำนวนมาก มีนายจ้างเป็นตัวตน มีการตอกบัตรเข้าออกที่ทำงาน ได้รับค่าจ้างเงินเดือนเป็นประจำ ไม่ใช่แรงงานนอกระบบ แรงงานเหล่านี้ต้องอยู่ในกองทุนประกันสังคมปัจจุบัน นายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบ และหักค่าจ้างลูกจ้างร่วมจ่ายด้วย แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมได้จริงจัง เพราะฉะนั้น ต้องมีความชัดเจนว่า เป็นลูกจ้างตามกฎหมาย หรือเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ใช่เหมารวมว่า แรงงานทุกคนในกลุ่มอาชีพนั้นๆ เป็นแรงงานนอกระบบ

 

8.  หลักเกณฑ์การพิจารณากลุ่มอาชีพที่มีความพร้อม และควรเริ่มขยายให้การคุ้มครองได้ก่อน ได้แก่ เป็นกลุ่มแรงงานที่มีการรวมกลุ่มอยู่แล้ว สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวได้ง่าย และมีรายได้ที่ต่อเนื่อง มีความยืดหยุ่นในรูปแบบวิธีการจัดเก็บเงินสมทบ การจ่ายประโยชน์ทดแทน และการสนับสนุนของรัฐบาล

 

ข้อพึงตระหนัก คือ การประกันสังคมอาจไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มนั้นๆ ทำให้อัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวตน ในการประกอบอาชีพ และการมีรายได้ของกลุ่มนั้นเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท