ข่าวมอนิเตอร์ - วันที่ 15 มกราคม 2550

การเมือง

 

สสร.เสียงแตกถกนอกรอบตีกลับรัฐบาล ยำพรฎ.ล็อกสเปกร่างรธน.

เว็บไซต์แนวหน้า -  สสร.เสียงแตก ถกนอกรอบ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 14 มกราคม นักวิชาการสับรัฐธรรมนูญใหม่ หวั่นได้เผด็จการสืบทอดคมช.

 

กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ได้จัดอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ : จากสมัยสฤษดิ์ สมัย 2540 ถึงสมัย คมช." โดย รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสัมมนา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ธรรมนูญการปกครองฉบับของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) มีมาตรา 25 ที่น่าสนใจเพราะมีโควตา 10 คน ที่ต้องมาจากคำแนะนำของประธาน คมช. ข้อสงสัยที่ตามมา คือ ไม่แน่ใจว่าการมาโดยวิธีดังกล่าวจะมีอิสระมากแค่ไหน เพราะการทำหน้าที่นี้จะไปรับใบสั่งจากใครไม่ได้ และในพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ไว้แคบมาก ตรงนี้มีข้อสงสัยว่าจะล็อคคนไว้หรือไม่

 

รศ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 26 ของธรรมนูญฉบับ คมช. กำหนดว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วต้องให้ 12 หน่วยงาน ซึ่งมี คมช. เป็นผู้พิจารณาและเสนอความคิดเห็น จากนั้นส่งไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อด้วยรัฐบาล กระบวน การดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คมช. ยังมีอำนาจตัดสินใจอย่างมากในการร่างรัฐธรรมนูญ

 

ด้านนางวิภา ดาวมณี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโครงการกำแพงประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยถูกเผด็จการทหารควบคุมความคิด โดยโฆษณาชวนเชื่อผ่านระบบราชการ ในขณะที่ผู้นำรัฐบาล รวมทั้ง คมช. มีความอ่อนไหวต่อความคิดเห็นที่แตกต่างและมีการตอบโต้ถึงขนาดเตือนว่าจะบังคับใช้กฎอัยการศึก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ได้ร่างโดยประชาชนก็ไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยได้

 

ส่วนนายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า วิกฤตของรัฐธรรมนูญที่ต้องจับตาดู คือ การสืบทอดอำ นาจ และที่ผ่านมาสังคมไทยมีการใช้ ส.ส.ร. 3 ครั้ง ล่าสุดคือปี 2549 ยุคที่เกิดจากการรัฐประหารของ คมช. ดังนั้นองค์ประกอบส่วนใหญ่จึงเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการผู้ใหญ่ ไม่มีสัดส่วนของคนชั้นล่างเข้าไปเป็นตัวแทนของคนยากจน

 

ขณะที่นายจรัล ดิษฐาพิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะกลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ชี้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการหลอกลวงว่าเมื่อร่างเสร็จแล้วจะให้องค์กรต่างๆพิจารณาว่าดีหรือไม่ดี โดยจะจัดให้มีประชามติว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญหรือไม่ สำหรับประเทศไทยรูปแบบดัง กล่าวไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เชื่อว่า ส.ส.ร. เป็นเพียงกลไกของ คมช. โดยมาจากความเชื่อว่าประชาธิปไตยคือการมีรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใส่ใจว่าเป็นการปกครองภายใต้ทหาร "กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 จะคัดค้านต่อต้านไม่ร่วมกระบวนการใดๆ เว้นแต่ว่าสภาร่างฯ จะนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญ และจะไม่ค้ำจุนให้อำนาจ คมช. และรัฐ บาลดำรงอยู่ต่อไป ทั้งนี้ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มต่างๆที่เคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่มประชุมเพื่อเตรียมเข้ามามีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญ" นายจรัล กล่าว

 

ทางด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงคุณสม บัติผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สิ่งสำคัญควรมีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับรัฐ ธรรมนูญที่ผ่านมา 17 ฉบับ โดยเฉพาะจุดอ่อนจุดแข็งของการปฏิวัติแต่ละครั้ง เรื่องเหล่านี้สามารถนำ มาเป็นข้อเท็จจริงที่จะแก้ไขตัวบทกฎหมายและนำมาประกอบการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ตนไม่อยากให้ กมธ.ยกร่างฯ ยึดรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งโดยไม่ยึดถึงภาพความเป็นจริงของประเทศไทย

 

ส่วนนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษก ปชป. กล่าวถึงกรณี พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ว่า การออก พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวถือเป็นการล็อกสเปกที่ทำให้ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ไม่สามารถเข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างฯ ได้ ส่วน กมธ.ยกร่างฯ ในสัด ส่วน คมช. ตนเห็นว่าไม่ควรแต่งตั้งบุคคลที่มีภาพลักษณ์ผูกพันกับกลุ่มอำนาจเก่าหรือบุคคลที่ประชา ชนไม่ไว้วางใจ เพราะจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้ คมช. ที่จะถูกเป็นเป้าโจมตีและเป็นความหวาดระแวงจะมีการสืบทอดอำนาจหรือไม่

 

ด้านนายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า การที่มีการตรา พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยกร่างรัฐ ธรรมนูญได้โดยตรง นอกจากนี้การที่ ส.ส.ร.บางคนจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมาธิการกฤษฎีกา ตีความเรื่องคุณสมบัติของ ส.ส.ร. ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็น กมธ.ยกร่างฯ เป็นการเสียเวลาเปล่า แต่ควรเสนอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ "การแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะกลายเป็นสาเหตุหลักให้ประชาชนออกเสียงประชามติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยข้อหาว่ามาจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกระบวนการประชาธิปไตยและมีวาระซ่อนเร้น ซึ่งส่อว่าอาจร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ตัวเองมากกว่าประโยชน์ของชาติ" นายคณิน กล่าว

 

ส่วนนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป) แสดงความเห็นด้วยกับการที่ ส.ส.ร. บางคนเสนอให้ทบทวนแก้ไข พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว ซึ่งกำหนดคุณสม บัติไว้สูงเกินไป ทำให้โอกาสที่ภาคส่วนต่างๆที่จะเข้าร่วมเป็น กมธ.ยกร่างฯ ถูกตัดสิทธิ ในส่วนของ กมธ.รับฟังความคิดเห็นของประชาชนควรแยกย่อยให้เป็น กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นทั้ง 6 ภาค โดยเชิญตัวแทนภาคประชาชนและองค์กรต่างๆให้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด

 

ขณะที่นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ หนึ่งใน สนช. กล่าวว่า พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวอาจไม่เหมาะสม เพราะการที่ระบุว่าต้องเป็นศาสตราจารย์หรือเคยเป็นอธิบดี ทำให้คนที่มีโอกาสเป็น กมธ.ยกร่างฯ เหลือน้อยลง ตนขอคัดค้านเพราะกติกานี้ให้กลุ่มคนเล็กๆกลุ่มหนึ่งเข้าไปมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญ และการตีความก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะการเป็นศาสตราจารย์ไม่ได้หมายความว่ามีความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่ควรเอามาตรฐานทางวิชาการมาเป็นหลักเกณฑ์กีดกันคนจำนวนมาก

 

ทางด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง หนึ่งใน ส.ส.ร. กล่าวว่า ตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ออกมา ตนก็รู้สึกว่า ส.ส.ร.ไม่ใช่สภา แต่เป็นรูปแบบคณะกรรมการมากกว่า นอกจากนี้การที่ กมธ.ยกร่างฯ ออกโดยกฎ เกณฑ์จากฝ่ายบริหารถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก และคิดว่าทางออกที่ดีที่สุด คือ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ต้องถอนออกไป โดยการออก พ.ร.ฎ.ฉบับใหม่แล้วเปิดให้ ส.ส.ร.หาวิธีการสรรหา กมธ.ยกร่างฯ เอง หรือในการประชุม ส.ส.ร. วันที่ 15 มกราคม เราประชุมร่วมกันกำหนดเกณฑ์ของผู้ที่จะเป็น กมธ.ยกร่างฯ แล้วให้ ครม. แก้พระราชกฤษฎีกาตามข้อเสนอของ ส.ส.ร.

 

"ขอเตือนว่า ส.ส.ร.ควรจะขจัดความสงสัยของประชาชนว่าอาจมีการล็อคคนที่จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะข้อสงสัยเหล่านี้จะเป็นช่องโหว่ทำให้ฝ่ายที่จ้องจะล้มรัฐธรรมนูญโจมตี จนรัฐ ธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ ซึ่งเป้าจะมาตกอยู่ที่ คมช.ทั้งหมด ถึงเวลานั้นลำบากแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญที่ คมช.กับรัฐบาลหยิบมาใช้จะถูกโจมตีว่าเป็นเผด็จการ" นายเจิมศักดิ์ กล่าว

 

ณะที่นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธาน ส.ส.ร. กล่าวว่า การส่ง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าวกลับไปให้ ครม.ทบทวนใหม่จะเอาเวลาที่ไหนไปทำได้ ทั้งนี้ตนเชื่อว่า ครม.คงพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว จึงกำ หนดกรอบเวลาและคุณสมบัติไว้อย่างนี้ อย่างไรก็ตามถ้า ส.ส.ร. ยังสงสัยก็อภิปรายแสดงความเห็นได้ในการประชุมนอกรอบ วันที่ 15 มกราคม นี้ แต่ถ้าถึงขั้นต้องโหวตลงมติก็ต้องเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มกราคม

 

โครงสร้างใหม่ตำรวจให้อำนาจ กตช.ล้นฟ้า

เว็บไซต์คมชัดลึก - โครงสร้างตำรวจใหม่ส่งนายกฯ 15 ม.ค.ลดอำนาจผบ.ตร.ดูแค่นโยบาย ก.ต.ช.ทำบัญชีโยกย้ายเอง ยก ร.ร.นายร้อยเป็นสถาบันวิชาการตำรวจแห่งชาติ แผนปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่สรุปแล้ว โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน เตรียมเสนอให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบภายในวันที่ 15 มกราคมนี้

 

การปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ มีหน่วยงานเพิ่มอีก 2 หน่วย คือ คณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งจะได้รับการคัดสรรด้วยระบบที่โปร่งใส คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่คล้ายจเรตำรวจ แต่ติดดาบให้มีอำนาจสอบสวน สอบปากคำพยาน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ยังมีหน้าที่พิจารณาตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายอีกด้วย

 

ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังคงอยู่ในโครงสร้างตำรวจใหม่ แต่บทบาทและอำนาจจะลดลงคือ มีอำนาจกำกับดูแลด้านนโยบายเท่านั้น ส่วนอำนาจบริหารต้องผ่องถ่ายไปให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งจะถูกกำกับอีกชั้นด้วย คณะกรรมการนโยบายตำรวจภาคหรือคณะกรรมการนโยบายตำรวจนครบาล

 

ทั้งนี้ ตำแหน่ง ผบ.ตร.จะถูกเปิดกว้างให้คนภายนอกเสนอตัวเข้าสู่การคัดเลือกเป็น ผบ.ตร.ได้ โดยจะอยู่ในตำแหน่งเป็นวาระ 4-5 ปี มีอำนาจเฉพาะงานด้านปฏิบัติการ โดยมีกองบังคับกองปราบปราม และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นแขนขา

 

ด้านโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีการเสนอให้ยกเลิกการอบรมกึ่งทหาร และผู้ที่จะสอบเข้าเรียนนายร้อยตำรวจ ไม่ต้องสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารก่อนตัดสินใจแยกเหล่ามาเป็นตำรวจ โดยให้สอบเข้าเรียนเป็นตำรวจโดยตรง ในโครงสร้างใหม่จะเสนอให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจยกสถานะเป็นสถาบันวิชาการตำรวจแห่งชาติ มีการเรียนการสอนคล้ายมหาวิทยาลัยอบรมวิชาชีพตำรวจโดยเฉพาะ นอกจากเปิดรับนักเรียนายร้อยตำรวจแล้ว ยังต้องเปิดอบรมต่อยอดให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่นๆ ที่สนใจเข้ารับราชการให้เติบโตในสายงานตำรวจด้วย

 

ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 รวมถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล การปฏิบัติหน้าที่จะเบ็ดเสร็จในภาคคล้ายระบบของศาล มีอำนาจบริหารจัดการงานภายในภาค นอกจากนี้ แต่ละกองบัญชาการจะถูกกำกับด้วยคณะกรรมการนโยบายระดับกองบัญชาการ โดยรูปแบบของคณะกรรมการจะมาจากมีผู้แทนศาลภาค อัยการเขต สภาทนาย กรรมการสิทธิมนุษยชน นักปกครอง และนักการเมืองท้องถิ่น ร่วมเป็นกรรมการกำกับการทำงานของตำรวจระดับภาคและนครบาล รวมถึงมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายระดับภาค

 

ส่วนของโรงพักจะปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจจะถูกถ่ายโอนไปสู่ชุมชนและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อกระจายงานให้อาสาสมัครให้มากขึ้น ซึ่งจะสอดรับกับกฎหมายไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทในคดีทั่วไป ที่จะให้ไกล่เกลี่ยให้ยุติภายในชุมชน โดยโครงสร้างใหม่ตำรวจจะลดจำนวนลง งานที่ไม่ใช่งานปราบปราม เช่น งานธุรการ และงานเอกสาร ก็ไม่จำเป็นต้องมี

 

 

สังคม - การศึกษา

 

สนช.ผลักดันให้ นร.ที่ไร้สัญชาติได้สถานะ เริ่มมอบ ก.พ.นี้

กรมประชาสัมพันธ์ - ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายฯ สนช. ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ติดตามการดำเนินงานให้สถานะเด็กนักเรียนที่ยังไม่มีเลข ประจำตัว 13 หลัก ซึ่งคาดว่าจะมีการมอบสถานะในเดือน กุมภาพันธ์นี้ นำร่องที่เชียงราย และทั่วประเทศกว่า 3.3 หมื่นคน พร้อมจี้รัฐบาลเร่งสร้างมาตรฐานการบันทึกบุคคลทุกคนที่เกิดในประเทศ เพื่อลดปัญหาการไร้สถานะ

 

ล้มวงเงินจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ดีเอสไอ

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ในฐานะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เผยดีเอสไอจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์คิดมูลค่าเกินจริง บอร์ดคดีพิเศษมีมติยกเลิกการกำหนดมูลค่า 500,000 บาทขึ้นไปของสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นคดีพิเศษ เน้นให้ทำเฉพาะรายที่เป็นผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้อง กระทบต่อประชาชนมาก

"ที่ผ่านมา พอดีเอสไอไปจับนาฬิกาปลอมข้างถนน แล้วก็ไปเอาราคาของยี่ห้อนั้นที่ตั้งขายบนห้างมาคิดมูลค่า ให้เกิน 500,000 บาท เพื่อให้เป็นคดีพิเศษแล้วมาดำเนินการกับผู้ต้องหาที่ถูกจับสูงเป็นล้านๆ ตามของจริงทั้งที่การขายของเลียนแบบขายในราคาเรือนละไม่กี่ร้อยบาท นั่นคือความจริงผู้ค้านี้ก็ได้ไม่กี่ร้อยบาทต่อเรือน ไม่มีทางจะขายในราคายี่ห้อนั้นอยู่แล้ว การคิดมูลค่าเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรม"นายสังศิต กล่าว

 

ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมการคดีพิเศษ กล่าวว่า กคพ.มีมติเช่นนั้น แต่ในการปฏิบัติงานยังไม่ได้ประกาศออกไป เพราะยังต้องคิดทางออกในการทำงานของสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะมีการปรับปรุงในการแก้กฎหมายของดีเอสไอ ซึ่งจะมีการพิจารณาขอบข่ายงานและความจำเป็นของสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

 

วิทยาศาสตร์

 

กรมวิทย์แพทย์เปิดบริการ 'วิจัยในคน' ลดต้นทุนเอกชนส่งยาไปทดสอบนอก

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดบริการวิจัยในคน ภารกิจแรกทดสอบยาในกลุ่มปฏิชีวนะที่ผลิตในไทย ดูการออกฤทธิ์ในอาสาสมัคร เปรียบเทียบยาต้นตำรับ เผยมีความพร้อมด้านบุคลากรและห้องปฏิบัติการ มั่นใจรองรับการวิจัยทางคลินิกจากนานาชาติ

 

นอกจากนักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์ฯ จะทำวิจัยเองแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากหน่วยงานภายนอก ร่วมศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 ในอาสาสมัครไม่เกิน 100 คน ส่วนการทดลองระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งจำเป็นต้องใช้อาสาสมัครหลักพันขึ้นไป ศูนย์ฯ จะประสานงานมหาวิทยาลัยกับโรงพยาบาลในภูมิภาค ในการร่วมทำวิจัย ตลอดจนอบรมถ่ายทอดความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำวิจัยให้กับแพทย์ในโรงพยาบาลนั้นๆ ด้วย

 

การวิจัยทางคลินิกเป็นการทดสอบในคน วัตถุประสงค์เพื่อค้นคว้าหรือยืนยันผลการศึกษาทางคลินิกด้านเภสัชวิทยา  และเภสัชพลศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการวิจัย รวมถึงค้นหาอาการไม่พึงประสงค์  ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์วิจัย ตลอดจนศึกษาการดูดซึม การกระจายตัว การเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ เพื่อยืนยันความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องอาศัยโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานในการทำวิจัยทางคลินิก เพื่อให้ผลการทดลองน่าเชื่อถือ

 

แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานสำหรับการวิจัยในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย ทำให้นักวิจัยจำเป็นต้องทดสอบทางคลินิกร่วมกับโรงพยาบาลในต่างประเทศ ส่งผลให้ต้องใช้เวลานานและงบวิจัยค่อนข้างมาก ส่วนศูนย์วิจัยฯ ที่จัดตึ้งขึ้นใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

 

ต่างประเทศ

 

ผู้นำอิหร่าน-เวเนฯ ผนึกกำลังต้านสหรัฐ

เว็บไซต์คมชัดลึก - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (14 ม.ค.) ว่าประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดี เนจาด แห่งอิหร่าน และประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลาซึ่งเป็นปฏิปักษ์คนสำคัญของสหรัฐ ได้ผนึกกำลังกันต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยประกาศว่าพร้อมที่จะทุ่มเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 7 หมื่นล้านบาท) สนับสนุนโครงการต่างๆ ในประเทศที่สาม เพื่อให้ประเทศนั้นๆ ขจัดการครอบงำของสหรัฐให้หมดไป

 

อาเซียน เรียกร้องพม่าเร่งปฏิรูปสู่ประชาธิปไตย แต่ไม่กดดัน

ไอ.เอ็น.เอ็น. - บรรดาผู้นำชาติสมาชิกสมาคมอาเซี่ยน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ชาติสมาชิกจะช่วยกันผลักดันให้มากขึ้น ซึ่งการเรียกร้องให้พม่าเลิกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ กลายเป็นเรื่องซ้ำซาก ที่กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนต่างระบุว่า ไม่เคยประสบความสำเร็จในทุกครั้งของการประชุมประจำปีของบรรดาผู้นำจาก 10 ชาติเหล่านี้

 

การเรียกร้องครั้งล่าสุด มีขึ้นหลังรัฐบาลสหรัฐเสนอมติแก้ปัญหาของสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และเร่งปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ถูกวีโต้จากจีนและรัสเซีย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาขณะที่นายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี โซ วิน ของพม่า ได้รับเสียงตำหนิเพียงเล็กน้อยตอนที่ผู้นำชาติอาเซียนจัดการเจรจาเมื่อวันเสาร์ ในเมืองเซบู ทางภาคกลางของฟิลิปปินส์

 

ผู้นำมาเลเซีย กล่าวด้วยว่า ผู้นำอาเซียนยังไม่ได้หารือกันเป็นการเจาะจงเกี่ยวกับมติของสหประชาชาติ แต่ไม่เห็นด้วยเป็นการส่วนตัว เนื่องจากสถานการณ์ในพม่า ไม่ได้จัดเป็นประเด็นความมั่นคงที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาค ไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องหารือกัน ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่เป็นของที่ประชุมอื่น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท