รากหญ้ารวมพลังลุกขึ้นคุม คมช.-รัฐบาล แก้ปัญหาเจ้าของประเทศตัวจริงด่วน !!

ประชาไท - 15 ม.ค.2550 ที่สำนักงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นอกจากจะมีการแถลงข่าวประเมินคณะรัฐมนตรีแล้ว ยังมีตัวแทนชาวบ้านจาก 3 กลุ่มร่วมแถลงข่าวความเดือดร้อนด้วย ได้แก่ เครือข่ายประชาชนอีสานที่เดือดร้อนจากหนี้สินและกำลังเดินเท้าลงมายังกรุงเทพฯ, กลุ่มอีสานกู้ชาติที่เดือดร้อนจากเรื่องวัวล้านตัว,กลุ่มประชาชนจากมาบตาพุด จ.ระยอง ที่เดือดร้อนจากการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ชาวอีสาน "หนี้ท่วม" บุกกรุงถามหานโยบายเพื่อคนจน

วิรัตน์ มังคะตา รองประธานเครือข่ายประชาชนอีสาน กล่าวว่า เกษตรกรอีสานได้รวมตัวกันเกือบพันคนเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นเวลาหลายวันแล้วเพื่อจะชี้แจงปัญหาต่อรัฐบาล ขณะนี้แวะพักอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เขากล่าวด้วยว่า เกษตรกรจำนวนมากในภาคอีสานมีปัญหาหนี้สินที่เริ่มรุนแรงเรื่อยๆ มาตั้งแต่ปี 2545 หนี้เฉลี่ยของเกษตรจากไม่กี่หมื่นบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 200,000-500,000 บาท และขณะนี้ชาวบ้านหลายรายถูกยื่นฟ้องคดี ยึดทรัพย์ ไล่ออกจากบ้าน

 

"สำหรับชาวบ้าน ที่ดินมันหมายถึงชีวิต อย่างป้าระเบียบ (ชาวบ้านที่มาร่วมแถลงข่าวด้วย) นี่ พอถูกฟ้องคดีก็ผูกคอตายเลย แต่ชาวบ้านไปช่วยไว้ทัน" นายวีรพล โสภา ที่ปรึกษาเครือข่ายกล่าว

 

ทั้งนี้ เครือข่ายเกษตรกรอีสานเดินทางมาเป็นวันที่ 6 เพื่อร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร 4 ภาค เข้ายึดบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างเร่งด่วน มีกำหนดถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 19 ม.ค.นี้ 

 

วีรพลระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.49 เคยไปยื่นเรื่องที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลกำหนดให้สถาบันการเงินระงับการฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ชาวบ้านก่อน เป็นการยืดการชดใช้หนี้ออกไปไม่ใช่การยกเลิกหนี้ ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดกับสถาบันการเงินก็คือได้กำไรลดลงเท่านั้น แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

 

วิรัตน์ กล่าวว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่เห็นนโยบายการแก้ปัญหาคนจนในภาคการเกษตรที่ชัดเจน เครือข่ายประชาชนอีสานถือเป็นคนส่วนน้อยที่ร่วมไล่ทักษิณ แต่คนส่วนใหญ่ยังชอบทักษิณ และทำให้ยิ่งเห็นว่ารัฐบาลนี้ยังไม่ได้แสดงผลงานอะไรเลย

 

"คนชนบทมองตรงข้างกับคนเมืองที่เห็นว่ารัฐบาลเก่ามีปัญหา และสร้างความแตกแยกอย่างรุนแรง แต่คนชนบทมองจากรูปธรรมที่พวกเขาสัมผัสได้ คมช.ต้องแสดงผลงานแก้ปัญหาให้คนจน มันคือตัวชี้ขาดการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นระบอบทักษิณจะเติบโตขึ้นมาใหม่ อาจจะไม่ใช่ตัวทักษิณ แล้วจะเป็นปัญหาประชาธิปไตยในอนาคต" วิรัตน์กล่าว พร้อมระบุว่า พ.ท.สะพรั่ง กัลยาณมิตร ได้นัดพูดคุยสถานการณ์ปัญหาในวันจันทร์นี้ (15 ม.ค.) ด้วย

 

เกษตรกรโครงการโคล้านตัวมึน เปลี่ยนรัฐบาลขาดทุนยับ

ด้านตัวแทนกลุ่มอีสานกู้ชาติ จากจังหวัดมุกดาหาร ร่วมแถงข่าวถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อยู่ในโครงการโคล้านตัวจำนวน 1,037 ครอบครัว จำนวน 43,119 คน ว่า ขณะนี้เกษตรได้ปลูกหญ้ากินนีสีม่วงที่ใช้เลี้ยงโคซึ่งเคยได้รับการสนับสนุนจากโครงการโคล้านตัว ขณะนี้ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์หญ้าเพื่อจำหน่าย ปรากฏว่าขายไม่ได้ราคา จากที่เคยขายได้ราคา 100 บาทในช่วง 4 ปีที่แล้ว

 

"ชาวบ้านปลูกกันเยอะและขาดทุนกันมาก ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ถ้าทักษิณยังอยู่คงขายได้ดีกว่านี้  เราจึงขอให้ทางรัฐบาลรีบจัดสรรงบประมาณมาซื้อเมล็ดพันธุ์หญ้า โดยชาวบ้านยอมขาดทุนขายกิโกกรัมละ 74-80 บาท และต่อไปจะเลิกปลูกอย่างเด็ดขาด" ตัวแทนจากมุกดาหารกล่าว

 

เขากล่าวต่อว่า ในวันพุธที่ 17 ม.ค.นี้ ตัวแทนชาวบ้านจำนวน 10 คนจะเดินทางเข้าชี้แจงปัญหานี้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ แล้วแต่พบว่าช่วงนี้เป็นช่วงใส่เกียร์ว่างจึงไม่มีใครออกมาแก้ปัญหา

 

"ถ้ายังแก้ปัญหาให้เกษตรกรไม่ได้ เกษตรกร 40,000 คน คงต้องลงมาพร้อมกับเอาเมล็ดพันธุ์หญ้ามาเทหน้ากระทรวงฯ และประชาชนจากที่เคยเข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ก็จะเข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของผู้ยึดอำนาจเท่านั้น" ตัวแทนจากมุกดาหารกล่าว

 

ชาวมาบตาพุดวอนอย่ายื้อประกาศเขตควบคุมมลพิษ

นายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวถึงสภาพปัญหาของชาวมาบตาพุดในพื้นที่ระยองซึ่งมีปัญหาหนักแต่รัฐกลับมีแผนจะขยายโครงการในเฟส 3 ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการให้มีการประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมาให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นศึกษาภายในเวลา 1 ปี

 

"พวกเราเห็นว่าน่าจะต้องมีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษก่อน เพราะการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาความสามารถในการรองรับมลพิษในพื้นที่ว่าเต็มหรือไม่นั้น จะมีหลักประกันใดว่าจะยังไม่ขยายเฟส 3" สุทธิกล่าว

 

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า อนุกรรมการรนี้ไม่มีชาวบ้าน นักวิชาการร่วมด้วย ทั้งที่ควรจะมีอย่างยิ่ง นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้มีการทบทวนการจัดสรรน้ำของบริษัทอีสวอเตอร์ที่จัดการน้ำในภาคตะวันออกโดยการผันน้ำจากแหล่งธรรมชาติมาหล่อเลี้ยงนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก เมื่อน้ำขาดแคลนจึงเกิดความขัดแย้งรุนแรงกับชาวบ้าน

 

ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ปัญหามลพิษของมาบตาพุดนั้นเข้าขั้นวิกฤต โดยข้อมูลของส่วนราชาการเองอย่างกรมควบคุมมลพิษก็สำรวจอากาศเมื่อปี 2548 พบว่ามีสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิดโดย 20 ชนิดในจำนวนนี้เป็นสารก่อมะเร็ง และหลายตัวมีค่าเกินมาตรฐานของสหรัฐตั้งแต่ 2-100 เท่า อีกทั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติยังพบว่าสถิติการเกิดมะเร็งและเนื้องอกตลอดจนความผิดปกติของโครโมโซมของคนในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงมีเพิ่มถึง 3 เท่าในระยะเวลา 7 ปี (2541-2548)

 

"คระกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจเต็มที่ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ที่จะประกาศเขตควบคุมมลพิษ" ศุภกิจกล่าว

 

เขายืนยันว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่ใช่การปิดกั้นไม่ให้เกิดการพัฒนาใดๆ อีก แต่เป็นโอกาสของการคัดกรองอุตสาหกรรมที่สะอาดเข้าไปในพื้นที่ นอกจากนี้จากการสำรวจเขตควบคุมมลพิษในหลายพื้นที่ทั่วประเทศพบว่าไม่ได้กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ สระบุรี สงขลา

 

เจริญ เดชคุ้ม ตัวแทนชาวบ้านมาบตาพุดกล่าวว่า "มันไม่ใช่แค่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่มันทำลายทรัพยากรมนุษย์ด้วย คนมาบตาพุดเสียสละมามากแล้ว อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงสุขภาพของคนที่นี่บ้าง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท