ครป.ประเมิน ครม.สุรยุทธ์สอบตกเพียบ เสนอเพิ่ม 2 รองนายกฯ

ครป.แถลงประเมินการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งฉายาว่า "ครม.เกียร์ว่าง" วิพากษ์รายกระทรวงโดยเฉพาะส่วนที่ต้องทบทวน คลัง-ต่างประเทศ-ศึกษาธิการ-มหาดไทย-เกษตรและสหกรณ์ พร้อมเสนอเพิ่มรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและการสร้างความสมานฉันท์,ฝ่ายแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบ

ประชาไท - 15  ม.ค.2550 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยจัดแถลงข่าว ประเมินการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน พร้อมให้ฉายาว่า "ครม.เกียร์ว่าง" โดยมีการวิพากษ์รายกระทรวงโดยเฉพาะส่วนที่ต้องทบทวน ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งเสนอตั้งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่ม 2 ตำแหน่ง คือ ฝ่ายความมั่นคงและการสร้างความสมานฉันท์, ฝ่ายแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบ

 

 

รายละเอียดมีดังนี้ ...

 

ครป.ประเมิน ครม.ขิงแก่

"ครม.เกียร์ว่าง"

 

ผลงานของครม.ขิงแก่กว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ในภาพรวมยังขาดงานรูปธรรมเชิงรุก โดยเฉพาะนโยบายที่แถลงต่อสภา หลายนโยบายยังไม่ริเริ่ม จนนายกรัฐมนตรีตกเป็นเป้าและกำลังถูกยกฐานะเป็น CEO คนใหม่ ทำหน้าที่ทั้งแก้ต่าง ปกป้องหรือตัดสินใจแทนรัฐมนตรี หลายๆ กระทรวง

 

กลุ่มครม.ที่ต้องทบทวนบทบาท

 

1.ทีมเศรษฐกิจ และ รมว.กระทรวงการคลัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งมีแกนกลางอยู่ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงการคลัง การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของ "หม่อมอุ๋ย" ไม่เป็นไปตามที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติ กล่าวคือ เรื่องที่แถลงไม่ทำ แต่เรื่องที่ทำกลับไม่แถลง ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นกรณีหวยบนดินที่ขาดความชัดเจน จนเกิดอาการชักเข้าชักออก และลู่ตามกระแสการเมือง กรณีมาตรการกันเงินลงทุนสำรองจากต่างประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดหลักทรัพย์ในเวลาอันรวดเร็ว ท่ามกลางความเคลือบแคลงของสังคม ว่า มีคนใกล้ตัวได้ประโยชน์จากข้อมูลอินไซด์ครั้งนี้ และกรณีการผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการทุนต่างด้าวเพื่อแก้ปัญหาบริษัทนอมินี ได้ถูกสังคมกังขาอีกครั้งว่าเป็นยุทธศาสตร์นิรโทษกรรมให้กับบริษัท กุหลาบแก้ว ซึ่งเป็นนอมินีของกองทุนการเงินเจ้าปัญหาอย่างเทมาเส็กหรือไม่

         

เวลาผ่านไปคำถามตัวโตเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของ รมว.กระทรวงการคลัง เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น แต่ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ และตรงไปตรงมาจากปากหม่อมอุ๋ย มิพักต้องพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Green GDP ตามวิสัยทัศน์ที่แถลงต่อสภา ยังไม่เห็นรูปธรรม และไม่มีความพยายามผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติแต่อย่างใด

         

หากทุกอย่างยังคลุมเครือและขาดความโปร่งใส ปล่อยให้ทำงานต่อไปจะเป็นเรื่องลำบาก ความมั่นใจและความเชื่อมั่นของสังคมต่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะหดหายและกลายเป็นความไม่ไว้วางใจในที่สุด

 

2.รมว.กระทรวงต่างประเทศ นายนิตย์ พิบูลสงคราม

ขาดงานเชิงรุก คลุกคลีอยู่กับงานประจำจนเกินเหตุ เดินหน้าลงนามเขตการค้าเสรี หรือ FTA ทั้งที่สภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จนสหรัฐอเมริกาต้องชะลอทำข้อตกลง แต่กระทรวงการต่างประเทศของไทย กลับพยายามอ้อนวอนขอเจรจา

 

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ถือเป็นกลไกที่ต้องสร้างภาพลักษณ์และความเข้าใจอันดีของประชาคมโลกต่อเหตุการณ์ภายในประเทศ แม้ว่าการยึดพาสปอร์ตทูต ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นเรื่องที่สมควรทำ แต่กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทย ไม่ได้ใส่ใจที่จะทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรชี้แจงประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อไม่ให้มิตรประเทศสับสนหรือเกิดความเข้าใจผิด

 

ถ้าจำกันได้ในสมัยขาลงของระบอบทักษิณ ที่มีการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงประเทศต่างๆ หลายสิบประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ กลุ่มประเทศอาเซียน หรือแม้แต่ประเทศจีน เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ภายในประเทศในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง และกล่าวหาฝ่ายต่อต้านต่างๆ นานา

 

จึงมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศ รวมทั้งจีน อาจยังถือเอาจดหมายเปิดผนึกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งนั้น เป็นสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย จนอาจเข้าใจผิดหรือมีช่องว่างในการรับรู้และทำความเข้าใจข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

ฉะนั้น รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ ต้องมีท่าทีที่เป็นเอกภาพในการให้ข้อมูลหรืออธิบายเหตุผลของรัฐบาลไทยอย่างตรงไปตรงมา ประการสำคัญ ลำพังความผิดและข้อกล่าวหาของ คมช.ซึ่งเป็นที่มาของการรัฐประหารยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้ประชาคมโลกเข้าใจหรือยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาได้

 

จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล กระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการยกเอาประเด็นเรื่องคดีฆ่าตัดตอน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคดีความในศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือในระดับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เพื่อเป็นใบเบิกทางทำความเข้าใจกับนานาชาติต่อไป

 

3.รมว.กระทรวงศึกษาธิการ นายวิจิตร ศรีสอ้าน

การผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ขึ้นอยู่กับการกำกับของภาครัฐนั้น ไม่ได้เป็นนโยบายที่แถลงต่อสภา แต่นายวิจิตรกลับฉวยโอกาสใช้อำนาจบริหารในฐานะ รมต.กระทรวงศึกษาธิการ และวิสัยทัศน์ส่วนตัวที่มีแนวคิดนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาก่อนแล้ว ถือวิสาสะผลักดันนโยบายดังกล่าวท่ามกลางเสียงทักท้วงจากนักศึกษา นักวิชาการ และบุคลากรในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

 

นโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ถือเป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทิศทางของการศึกษาไทยแทนที่รัฐบาลจะชะลอไว้เพื่อจัดตั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์ที่น่าเชื่อถือและมีคุณภาพมากกว่านี้ แต่ รมว.กลับไม่สนใจเสียงทักท้วง และเดินหน้าดันทุรังต่อไป

 

ในขณะเดียวกัน รมว.กระทรวงศึกษา ก็ยังไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปการศึกษา หรือก่องานใหม่ขยายงานเพิ่ม แต่นายวิจิตรกลับขอโควตา รมช.เพิ่ม โดยอ้างว่างานเยอะ

 

4.รมว.กระทรวงมหาดไทย นายอารีย์ วงศ์อารยะ

บทบาทของกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ถือว่าสอบตก การบังคับบัญชาผู้ว่าฯ นายอำเภอ และข้าราชการในสังกัดขาดเอกภาพ หลายจังหวัดหลายพื้นที่เป็นแหล่งซ่องสุมเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่า เผาโรงเรียนกันโจ๋งครึ่ม แต่จับมือใครดมไม่ได้ รมว.ทำได้แต่ท้าตีท้าต่อย ปล่อยคนร้ายลอยนวล

 

นับจากนี้เป็นต้นไป ขั้วอำนาจเก่าจะทำสงครามจรยุทธ์ เปิดเกมปฏิบัติการโจมตีทำลายความชอบธรรมของอำนาจรัฐ ทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ถ้ากระทรวงมหาดไทยไม่สามารถบูรณาการข้าราชการในสังกัดให้เป็นเอกภาพ ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองของกลุ่มอำนาจเก่าจะคอยรังควานรัฐบาล และ คมช.จนล้มคว่ำได้ในที่สุด

 

นอกจากนี้ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บทบาทฝ่ายปกครองที่ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากกว่าทหารโดยเฉพาะ ศอ.บต.กลับยังไม่เห็นความคิดริเริ่มใหม่ๆ บทบาทไปตกอยู่ที่กองทัพเกือบทั้งหมด

 

5.รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ สูตะบุตร

สถานการณ์ปัญหาของเกษตรกรทั้งปัญหาหนี้สินและที่ดินทำกิน ถือเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องสะสมเรื้อรังมาหลายรัฐบาล การแก้ปัญหาเกษตรกรจึงต้องอาศัยวิสัยทัศน์ที่ก้าวข้ามระบบราชการและเข้าถึงปัญหา นอกจากนี้ ปัญหาส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากนโยบายของฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลที่ผ่านๆ มา รมต.จึงต้องกล้าริเริ่มที่จะแก้ปัญหาเกษตรกรในระดับนโยบาย แต่รัฐมนตรีกับนั่งทับบทบาทปลัดกระทรวง กลายเป็นกระทรวงที่มีปลัดพร้อมกันถึง 2 คน

 

หากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงยังไม่สร้างมาตรการเชิงรุกและเข้าถึงการแก้ปัญหาของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง จะทำให้รัฐบาลเผชิญหน้ากับการชุมนุมของเกษตรกรแบบรายวัน

 

 

กลุ่ม ครม.ส่วนใหญ่ยังใส่เกียร์ว่าง

 

กลุ่มรัฐมนตรีส่วนใหญ่ยังใส่เกียร์ว่าง หรือขยันทำงานรูทีน แย่งงานข้าราชการประจำทำ การก่องานใหม่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงพลังงาน กระทรงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว และ รมต.ประจำนักนายก

 

 

กลุ่ม ครม.ที่มีผลงานโดดเด่น

 

กลุ่มรัฐมนตรีที่มีผลงานโดดเด่นเป็นรูปธรรม ทั้งการตรวจสอบรื้อถอนความไม่ชอบมาพากลในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และรัฐมนตรียังมีวิสัยทัศน์ในการขยายงานใหม่เป็นระยะๆ เช่น กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม

 

 

ควรตั้งรองนายกฯ เพิ่มอีก 2 ตำแหน่ง

 

1.รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและการสร้างความสมานฉันท์

งานความมั่นคงที่ผ่านมาถูกผูกขาดโดย คมช.หรือ กองทัพ ทั้งที่เป็นงานละเอียดอ่อน ซึ่งต้องอาศัยพลเรือน หรือภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมให้มาก แต่เนื่องจากกองทัพเองก็มีช่องว่างกับภาคประชาชน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำงาน การขยายงานด้านความมั่นคงมาอยู่ในมือของพลเรือนหรือภาคประชาชน จึงเป็นงานเร่งด่วนที่สำคัญและจำเป็น

 

รองนายกด้านความมั่นคง ยังจะเป็นกลไกเชื่อมประสานระหว่างรัฐบาล กับ คมช.เพื่อสร้างเอกภาพในการทำงาน และสามารถผนึกกำลังจากทั้งภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่องในยามปกติตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภา

 

นอกจากนี้ งานด้านความสมานฉันท์ของรัฐบาลยังไม่ได้ริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา ปล่อยให้กองทัพหรือ คมช.รับผิดชอบผูกขาดงานสมานฉันท์นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะกองทัพแม้จะตั้งใจดีแต่ยังมีช่องว่างกับประชาชน

 

2.รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบ

จากนี้ไปขบวนการคนจนหลายกลุ่มปัญหาจะลุกขึ้นมาเดินขบวนทวงถามสิทธิและผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ และการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ จุดมุ่งหมายเพื่อให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาทั้งในระดับเฉพาะหน้าและในระดับนโยบาย ยังไม่ได้ไปไกลถึงขั้นล้มล้างรัฐบาล หรือ คมช.

 

การจัดการกับการเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มพลังต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในช่วงนี้ รัฐบาลต้องมีมาตรการรับมือเพื่อบริหารจัดการและแก้ปัญหาให้กับประชาชนกลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ได้ทันท่วงที แต่ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีกลไกหรือหน่วยงานที่ชัดเจนเพื่อทำหน้าที่บูรณาการกลไกทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้

 

ฉะนั้น ควรตั้งรองนายกฯ เพื่ออำนวยการแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบ ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นปัญหาร้อน และปัญหาระดับนโยบาย โดยมีอำนาจหน้าที่ทั้งบูรณาการและสั่งการหน่วยงานรัฐที่สังกัดกระทรวงต่างๆ หรือจัดตั้ง "กลุ่ม ครม.ที่รับผิดชอบปัญหาคนจน" เข้าไปแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ซึ่งนายกฯอาจนั่งเป็นประธานเอง เพราะการปล่อยให้กระทรวงต่างๆ ไปรับผิดชอบและแก้ปัญหาตามลำพังนั้น ไม่เคยเป็นจริง เพราะระบบราชการนอกจากล่าช้าแล้วยังมักผลักภาระไปให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแทน จนทำให้ปัญหาคนจนเรื้อรัง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท