สกน.ทวงสัญญานายกฯสางปัญหาที่ดิน-หนี้สินเกษตรกร

 

 

สกน.ชุมนุมทวงสัญญานายกฯแก้ปัญหาที่ดินทำกิน-หนี้สินเกษตรกร เผยหลังประชุมร่วมกับนายกฯนานกว่าเดือนเรื่องไม่คืบ จี้เร่งประชุมธนาคารยุติฟ้องร้อง-ขายทอดตลาด ชี้หากรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ถือว่าสอบตก แนะการแก้ปัญหาชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม

 

วันนี้(15 ม.ค.) ที่หน้าศาลากลาง จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)จาก จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง กว่า 100 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ เพื่อเร่งติดตามแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยมีนายธงชัย วงษ์เหรียญทอง รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ เป็นผู้รับแทน และอีกฉบับยื่นต่อแม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน

 

หนังสือทั้ง 2 ฉบับมีเนื้อหาอ้างอิงถึงผลการประชุมระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กับตัวแทนองค์กรเกษตรกร 4 ภาค เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2549 ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สัญญาและร่วมแถลงข่าวกับตัวแทนเกษตรกรว่าจะสั่งการให้สถาบันการเงินของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินหยุดฟ้องและระงับการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ดิน รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างของเกษตรกรไว้ก่อน ส่วนปัญหาที่ดินนั้นหนังสือฉบับดังกล่าวได้อ้างอิงถึงการแถลงนโยบายต่อสถานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2549 ที่ผ่านมาว่าจะบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตาม ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขตามที่รัฐบาลได้สัญญาไว้จึงเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ และแม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อเร่งประสานงานแก้ไขปัญหาตามที่รัฐบาลได้สัญญาไว้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือที่ยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรนั้น ระบุข้อเสนอคือ 1.ให้รัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจน ในการสั่งการให้สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ยุติการฟ้องร้อง และระงับการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างของเกษตรกรไว้ก่อน แล้วให้โอนบรรดาหนี้ทั้งหลายไปยังกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและปลดเปลื้องหนี้อย่างเร่งด่วน 2.ให้รัฐบาลโดยนายกฯ ซึ่งเป็นประธานกองทุนฟื้นฟูดังกล่าวให้เร่งประชุมเพื่อเจรจากับสมาชิกสมาคมธนาคารทั้ง 9 แห่งในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน 3.ให้รัฐบาลสั่งการให้เลือกผู้แทนเกษตรกรมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูข้างต้นที่ได้หมดวาระไป

 

ขณะที่หนังสือที่ยื่นต่อแม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินนั้น ระบุข้อเสนอว่า 1.ให้แม่ทัพภาคที่ 3 ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินโดยส่งตัวแทนที่มีอำนาจตัดสินใจลงมาเจรจากับตัวแทน สกน.ที่จะไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอทราบแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดิน ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล 2.ให้เร่งรัดไปยังประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ เพื่อเร่งตรวจสอบและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการการเดินสำราวจการออกโฉนดที่ดินเมื่อปี พ.ศ. 2533 ในพื้น อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ว่าพัวพันกับการทุจริตหรือไม่

 

นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขา สกน. กล่าวว่า ปัญหาที่ สกน.มาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขทั้งปัญหาหนี้สินและที่ดินทำกินนั้นส่งผลกระทบต่อชาวบ้านประมาณ 3,000 คน โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ได้แถลงนโยบายทางเศรษฐกิจในแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแต่ชาวบ้านยังไม่มีที่ดินชาวบ้านคงอยู่แบบพอเพียงได้ลำบาก

 

"ปัญหาที่ดินและความยากจนของเกษตรกรถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย โดยรัฐบาลชุดนี้ที่มาจากอำนาจพิเศษได้ให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานนี้ได้ผมถือว่าสอบตก" กองเลขา สกน.กล่าว

 

นายดวงทิพย์ ต๊ะวันนา สมาชิก สกน.จาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในพื้นที่ของตนตอนนี้มีชาวบ้านเดือดร้อนจากปัญหาข้างต้นกว่า 50 ครัวเรือน ตอนนี้ถูกฟ้องร้องไปแล้วกว่า 30 คน ซึ่งชาวบ้านเดือดร้อนมาก ไม่ใช่แต่เฉพาะพื้นที่ จ.เชียงใหม่เท่านั้น เพราะอย่างใน จ.เชียงรายเฉพาะปีที่ผ่านมามีเกษตรกรเครียดฆ่าตัวตายหนีหนี้สิน 6 คนถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

 

นายดวงทิพย์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องปัญหาที่ดินภาคเหนือที่ชาวบ้านเข้าไปปฏิรูปที่ดินรกร้างว่างเปล่าแล้วนายทุนกลับมาแสดงกรรมสิทธิ์ฟ้องร้องเป็นคดีอยู่หลายคดีนั้น ตนยืนยันว่าชาวบ้านไม่ได้เข้าไปหาประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เข้าไปสร้างชุมชนที่อยู่ได้อย่างเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ด้วยเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงอยากให้การออกเอกสารสิทธิ์มาในรูปแบบของโฉนดชุมชนไม่มีใครเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ทำมาหากินร่วมกันได้

 

"การแก้ไขปัญหาลักษณะนี้มักขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนใหญ่มีแต่คำสั่งจากส่วนกลางทำให้การแก้ปัญหาไม่จริงจังและไม่ถูกจุด ผมคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญมากเพราะหากลูกหลานเราไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน เขาก็ต้องเข้าไปขายแรงงานในเมือง บางส่วนก็เข้าไปแล้วกลายปัญหาในเมือง การแก้ปัญหานี้จึงสำคัญเพราะการแก้ไขปัญหานี้คือการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจระบบฐานราก หากรากไม่เข้มแข็งประเทศก็ไม่สามารถอยู่ได้" นายดวงทิพย์ กล่าว.

 

…………………………………………………………….

ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท