Skip to main content
sharethis

จรัล ชี้ บล็อกรายงานข่าว ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ระบุการสัมนานี้หลายกลุ่มมาไม่ได้เนื่องจากถูกข่มขู่อันเป้นผลกระทบจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. ยันหากมีปัญหาจะเรียกทหารมาพบ

ประชาไท - 17 ม.ค.50 คณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนา 'สิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น' ณ ห้องประชุม 101 สำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมทั้งออกแถลงการณ์สถานการณ์และปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละบุคคลได้รับหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49

 

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานอนุกรรมการ กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดในการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นว่า เกิดขึ้นสดๆร้อนๆเมื่อคืนวันที่ 15 ม.ค. 50 โดย ซีเอ็นเอ็นซึ่งเป็นสถานีข่าวของโลกได้ รายงานข่าวการสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แต่มีคนโทรมาบอกว่าเปิดแล้วไม่มีเพราะยูบีซีไม่ถ่ายทอด คาดว่าเป็นผลมาจากผู้ช่วยคณะมนตรีวามมั่นคงแห่งชาติ (คมช) ได้เชิญสื่อไปพบเพื่อขออย่าให้รายงานข่าวเกี่ยวกับอดีตนายกฯก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถทำให้ยูบีซีไม่ถ่ายทอดได้จริง จึงเรียกว่าการจำกัดเสรีภาพ

 

 "คือมีเสรีภาพบ้างแต่ถ้าการเคลื่อนไหวใดๆที่คมช.หรือมองว่ากระทบกระเทือนกับเขาก็จะจำกัด" นายจรัลกล่าว

 

นอกจากนี้ นายจรัล กล่าวอีกว่า สิทธิเสรีภาพเป็นความจำเป็นและเป็นความต้องการของมนุษย์ เช่น การพูด ถ้าไม่ได้พูดก็ลำบาก สมัยที่เป็นนักศึกษาช่วงเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ก็พูดลำบาก เพราะมีความกลัว แม้แต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็พูดไม่ได้บางเรื่อง เพราะอาจจะมีสันติบาลนั่งอยู่แบบนี้ก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูด เวลานี้ก็เช่นกันถูกจำกัดพูดหลายอย่างไม่ได้

 

หลังจากนั้น เมื่อตัวแทนชุมชนคลองเตยบอกเล่าสถานการณ์ว่าเวลาชาวบ้านมีการจัดประชุมเพื่อการพัฒนาชุมชนทหารได้เข้าไปขอดูวาระและบันทึกการประชุม นายจรัลจึงแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ทุกสิทธิเสรีภาพมีข้อจำกัด ใครๆก็รู้ เช่น อยากมีเสรีภาพไว้ผมแบบมิตร ชัยบัญชา แต่เวลาบวชก็ต้องสละก็ต้องโกน หรือไปเรียนายร้อยก็ต้องตัด หรือเสรีภาพในการการพูดก็ถูกจำกัด เช่น การฟังการพูดบนเวทีบางทีก็โต้ไม่ได้เพราะมันอาจมีปัญหา คือทุกคนรู้ขอบเขตอยู่แต่จะมาอ้างง่ายๆไม่ได้ว่า ห้ามพูด ห้ามประชุม สมัยสฤษดิ์- ถนอม ช่วง พ.ศ.2501-2511 ยังไม่ทำแบบนี้ คือไม่ขอวาระหรือบันทึกการประชุม

 

ในการสัมนานี้ นายจรัล ยังระบุด้วยว่า สิทธิเสรีภาพเริ่มมีปัญหาจากสาเหตุประการแรกคือ การรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งได้เปลี่ยนระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอันจัดตั้งและกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่หลายคนมีส่วนร่วมตั้งแต่การแสดงความเห็น ประชาพิจารณ์ เดินขบวนพลังสีเขียว จนมีสภา คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง มีองค์กรอิสระ จนเป็นระบอบ และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540ได้รับรอง ค้ำประกันสิทธิเสรีภาพประชาชนมากกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งนำเอาแนวคิดสิทธิมนุษยชนมาตราเป็นกฎหมายหลายมาตรา

 

แต่การรัฐประหารมายกเลิกและประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวและรับรองสิทธิเสรีภาพไว้มาตราเดียวคือ มาตรา 3 โดยมีอัยการศึกและคำประกาศที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่น ห้ามชุมนุนมเกิน 5 คน ซึ่งตอนนี้ไม่รู้ว่าการยกเลิกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วหรือไม่ เพราะถ้าไม่แสดงว่ายังไม่ยกเลิก การจะยกเลิกและมีผลต้องไปประกาศในราชกิจานุเบกษา ซึ่งก็คือหนังสือราชการ

 

ทั้งนี้ โดยสรุปคือประชาชนจำนวนหนึ่งถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนทั่วไปอาจจะยังไมกระทบกระเทือนนัก แต่บางกลุ่มกระทบกระเทือนไปแล้ว เช่น จะประชุมสัมมนาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็จะถูกข่มขู่ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชนหลายแห่งไม่กล้ามาสัมมนาครั้งนี้เพราะกลัวว่าเมื่อกลับไปจะถูกยึดเครื่องส่งเนื่องจากมีทหารคุมอยู่ด้วย ซึ่งบางครั้งก็มีเรียกไปพบ หรือกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวคัดค้านไม่ให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็ถูกข่มขู่โดยการคัดชื่อออกจากการเป็นคณะกรรมการองค์การนักศึกษา หรือกลุ่มส.ส.โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทยถ้าพูดอะไรก็จะถูกเรียกตัว

 

หรือเสรีภาพในการรวมกลุ่มชุมนุมบางเรื่องหายไปซึ่งก่อนนี้ทำได้เกือบทุกเรื่อง อีกประการคือ เสรีภาพที่ไม่ต้องมีชีวิตอย่างหวาดกลัวก็หายไป เวลานี้คนกลัว เช่น จะถูกเตือนถูกจับ บรรยากาศเหล่านี้เกิดขึ้นหลายกลุ่ม ในกรุงเทพฯ อาจยังไม่รู้สึกเพราะยังไม่เห็น แต่กรรมการสิทธิฯได้รับการร้องเรียนหลายกรณีแล้ว

 

"ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันมีคนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับรัฐประหาร การเปลี่ยนแปลงการเมือง และระบอบปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดอะไรก็จะบอกว่าพวกนี้พูดไม่จริง สื่อยังมีเสรีภาพเยอะ คมช.แค่ขอความร่วมมือ พวกที่พูดแบบนี้คือพวกลิ่วล้อทักษิณ กรรมการสิทธิฯก็รอการร้องเรียนเพื่อป้องกันคำกล่าวหาว่ากรรมการสิทธิฯบางคนเป็นลิ่วล้อทักษิณ แต่คาดว่าคงไม่มีปัญหาอะไรในการพูดวันนี้ แต่ถ้ามีสัปดาห์หน้าก็จะเริ่มเชิญทหารมา"

 

หลังการสัมนา คณะอนุกรรมการฯได้ออกแถลงการณ์สรุปสถานการณ์จากการสัมนาครั้งนี้ ความว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ได้มีการเชิญตัวแทนจากองค์กรต่างๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็นเช่น ชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจากกรณีเขื่อนราษีไศล กรณีเขื่อนปากมูน กรณีป่าดงมะไฟ กรณีเขื่อนหัวนา ซึ่งเป็นตัวแทนสมัชชาคนจน ผู้นำชาวบ้านชุมชนคลองเตย วิทยุชุมชนคลองเตยที่ถูกหน่วยงานของรัฐเข้าไปควบคุมแทรกแซงสื่อวิทยุชุมชนภายหลังจากมีการรัฐประหาร เพื่อแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

 

ผู้แทนจากกลุ่มสมัชชาคนจนได้บอกเล่าถึงปัญหาหลังจากการรัฐประหารถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐติดตามการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง บางกรณีมีการข่มขู่คุกคามโดยอ้างกฎอัยการศึก และประกาศ คปค. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งสถานการณ์ความกลัวในเรื่องคลื่นใต้น้ำได้ก่อให้เกิดการควบคุม ตรวจสอบ ห้ามปราม ข่มขู่แกนนำชาวบ้านไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้รับความเดือดร้อนได้ตามปกติ นับเป็นการจำกัดสิทธิของชาวบ้านอย่างมาก ส่วนที่ ตำบลยางตาล จังหวัดนครสวรรค์ ยังมีกรณีที่ทหารประกาศเขตพื้นที่ทับที่ดินของชาวบ้านอีกด้วย

 

ผู้นำชาวบ้านชุมชนคลองเตย กล่าวถึงปัญหาว่าไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆภายในชุมชนได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่ายังไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึกในการประชุมของชาวบ้านแต่ละครั้งจะถูกทหารขอดูวาระการประชุม และรายงานการประชุมทุกครั้ง แต่อยากให้ช่วยเหลือในสิ่งที่ชาวบ้านไม่สามารถจัดการเองได้ เช่น กรณีที่ชาวบ้านถูกกลุ่มมาเฟียรังแก

 

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญมาจากการประกาศกฎอัยการศึก จึงขอเรียกร้องให้มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 6 ที่ห้ามพี่น้องผู้ใช้แรงงานเคลื่อนไหวเรียกร้องใดๆ และประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยุติการกระทำใดๆที่เป็นการข่มขู่คุกคามอันจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น ทั้งนี้เนื่องจากสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น เป็นรากฐานสำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

 

ประการสำคัญ ประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้โดยปราศจากสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

 

000

แถลงการณ์

เรื่อง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

โดยคณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

วันนี้ (16 มกราคม 2550) นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น ได้เปิดแถลงข่าวภายหลังการสัมมนาเรื่อง "สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" โดยปรากฏรายละเอียดดังนี้

 

การจัดสัมมนาครั้งนี้ได้มีการเชิญตัวแทนจากองค์กรต่างๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็นเช่น ชาวบ้านกลุ่มผู้เดือดร้อนจากกรณีเขื่อนราษีไศล กรณีเขื่อนปากมูน กรณีป่าดงมะไฟ กรณีเขื่อนหัวนา ซึ่งเป็น ตัวแทนสมัชชาคนจน , ผู้นำชาวบ้านชุมชนคลองเตย , วิทยุชุมชนคลองเตยที่ถูกหน่วยงานของรัฐเข้าไปควบคุมแทรกแซงสื่อวิทยุชุมชน ภายหลังจากมีการรัฐประหาร เป็นต้น มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น บอกเล่าถึงสถานการณ์และปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละบุคคลได้รับ เพื่อแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

 

โดยในการสัมมนา ผู้แทนจากกลุ่มสมัชชาคนจนได้บอกเล่าถึงปัญหาหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐติดตามการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบางกรณีมีการข่มขู่คุกคาม โดยอ้างกฎอัยการศึก และประกาศ คปค. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งสถานการณ์ความกลัวในเรื่องคลื่นใต้น้ำได้ก่อให้เกิดการควบคุม ตรวจสอบ ห้ามปราม ข่มขู่แกนนำชาวบ้านไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตนได้รับความเดือดร้อนได้ตามปกติ นับเป็นการจำกัดสิทธิของชาวบ้านอย่างมาก และที่ ตำบลยางตาล จังหวัดนครสวรรค์ ยังมีกรณีที่ทหารประกาศเขตพื้นที่ทับที่ดินของชาวบ้านอีกด้วย

 

ส่วนผู้นำชาวบ้านชุมชนคลองเตย กล่าวถึงปัญหาว่าไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆภายในชุมชนได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่ายังไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึก ทั้งในการประชุมของชาวบ้านแต่ละครั้ง จะถูกทหารขอดูวาระการประชุม และรายงานการประชุมทุกครั้ง ทั้งนี้ชาวบ้านไม่ต้องการให้ คมช.มาคอยควบคุม โดยเฉพาะการเสนอให้ความช่วยเหลือชุมชนในสิ่งที่ชาวบ้านเองสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่อยากให้ช่วยเหลือในสิ่งที่ชาวบ้านไม่สามารถจัดการเองได้มากกว่า เช่นกรณีที่ชาวบ้านถูกกลุ่มมาเฟียรังแก

 

             ด้วยเหตุดังกล่าว คณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญมาจากการประกาศกฎอัยการศึก ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 6 ที่ห้ามพี่น้องผู้ใช้แรงงานเคลื่อนไหวเรียกร้องใดๆ และประกาศ คปค.ฉบับที่ 7 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยการยุติการกระทำใดๆที่เป็นการข่มขู่คุกคามอันจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น ทั้งนี้เนื่องจากสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น เป็นรากฐานสำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

ประการสำคัญ ประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้น และดำรงอยู่ได้โดยปราศจากสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

 

 

            รายชื่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น

 นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานอนุกรรมการ

 นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ อนุกรรมการ

 ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง      อนุกรรมการ

 ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ    อนุกรรมการ

 นายธนศักดิ์ จงชนะกิจ      อนุกรรมการ

 นายศราวุฒิ ประทุมราช     อนุกรรมการ

 นางสาวชนะกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ อนุกรรมการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net