Skip to main content
sharethis

ทั้งๆ ที่หลายๆ สหภาพแรงงานยังมีความเข้าใจผิดๆ กับแรงงานเหมาช่วง เหมาค่าแรง ว่าเป็นแรงงานอีกชนชั้น เป็นแรงงานอีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีเกียรติ ศักดิ์ศรีพอกับแรงงานประจำ รวมถึงกีดกันแรงงานเหล่านี้ออกจากการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ... แต่ที่สหภาพแรงงานคนทำยางไม่คิดเช่นนั้น

โดย  วิทยากร บุญเรือง

 

 

รายงานชุดประสบการณ์ต่อสู้ของสหภาพแรงงาน เป็นการนำเสนอประสบการณ์การต่อสู้ของสหภาพแรงงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำความเข้าใจถึงการถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรมจากฝ่ายที่ถือครองปัจจัยการผลิต ต่อแรงงาน , อธิบายสถานการณ์แห่งการต่อสู้  , เป็นบทเรียนสำหรับไว้ศึกษา ทบทวน ปรับปรุงวิธีการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน รวมถึงการสร้างพลังแห่งความสมานฉันท์ประสานกับกลุ่มนอกขบวนการแรงงาน สู่การร่วมกันสร้างสังคมใหม่ของภาคประชาชน.

 

รายงานย้อนหลัง

รายงานพิเศษ - ประสบการณ์การต่อสู้จาก "สหภาพแรงงาน" (ตอนที่ 1)

รายงานพิเศษ - ประสบการณ์การต่อสู้จาก "สหภาพแรงงาน" (ตอนที่ 2)

 

 

000

 

สหภาพแรงงานคนทำยาง จัดตั้งที่บริษัท Goodyear มาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว และเป็นสหภาพแรงงานแห่งแรกในย่านรังสิต ผู้นำในอดีตเคยเป็นผู้นำระดับหัวขบวนการแรงงาน เคยมีประวัติศาสตร์ว่าสหภาพแรงงานแป๊ปซี่ ในอดีตเคยมีปัญหากับนายจ้าง ถึงขั้นตกลงกันไม่ได้ สหภาพแรงงานคนทำยางซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำในกลุ่มย่านรังสิต ประกาศบอยคอตเครื่องดื่มแป๊ปซี่ โดยมีการรณรงค์ในหมู่คนงานไม่ให้ซื้อเป๊ปซี่ ปรากฏว่านายจ้างเป๊ปซี่ต้องหันกลับมาเจรจากับสหภาพและยุติข้อพิพาทแรงงาน เพราะแรงสมานฉันท์ของคนงาน

 

ล่าสุด ปัญหาที่สหภาพแรงงานคนทำยางต้องเผชิญในการต่อกรกับระบบเสรีนิยมใหม่ก็คือ การที่บริษัทนำการจ้างแรงงานแบบจ้างชั่วคราว (สัญญา 1 ปี) มาใช้ในแผนกคลังยาง (Warehouse)

 

ทั้งๆ ที่หลายๆ สหภาพแรงงานยังมีความเข้าใจผิดๆ กับแรงงานเหมาช่วง เหมาค่าแรง ว่าเป็นแรงงานอีกชนชั้น อีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีเกียรติ ศักดิ์ศรีพอกับแรงงานประจำ รวมถึงกีดกันแรงงานเหล่านี้ออกจากการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน

 

แต่ที่สหภาพแรงงานคนทำยางไม่คิดเช่นนั้น ..

 

000

 

การนำแรงงานจ้างเหมาช่วง - เหมาค่าแรง เข้ามาในโรงงานนั้น ถือว่าเป็นอุบายของฝ่ายนายทุนที่ต้องการกัดเซาะการรวมพลังของขบวนการแรงงานในรูปของสหภาพแรงงาน และทำให้การจ้างงานมีความยืดหยุ่น (flexible) อันเป็นโจทย์ข้อบังคับของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-libaralism) ต้องการที่จะให้ต้นทุนการผลิตสินค้าถูกที่สุด โดยการทำให้แรงงานไม่มีความมั่นคงในชีวิต กำหนดระยะเวลาการจ้างโดยนายทุนเอง ซึ่งที่จะสามารถทำให้นายทุนสามารถต่อรองบีบค่าแรงอันน้อยนิดจ่ายให้กับแรงงาน รวมถึงการที่จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ ให้กับแรงงานจ้างเหมาช่วง - เหมาค่าแรงเหล่านั้น

 

แน่นอนว่านี่มันคือลักษณะการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสหภาพแรงงานคนทำยางก็ได้มี ข้อตกลงสหภาพการจ้างที่สหภาพแรงงานคนทำยางทำไว้กับนายจ้าง Goodyear บอกไว้ว่าไม่ให้นายจ้างไปทำ "สัญญา" อันเป็นการทำให้ลูกจ้างเสียประโยชน์ ยกเว้นกรณีที่สัญญามีลักษณะเป็นคุณกับลูกจ้าง

 

แต่ทั้งนี้ปรากฏว่านายจ้างได้มีการทำสัญญารายบุคคลกับลูกจ้างในแผนกคลังยาง (Warehouse) จำนวน 25 คน อันเป็นผลให้ลูกจ้างได้รับเพียงแค่ค่าจ้างขั้นตำวันละ 180 กว่าบาท และสวัสดิการ รวมถึงวันหยุดอันน้อยนิดเมื่อเทียบกันคนงานประจำ

 

สัญญาการจ้างงานที่ทำกับคนงานคลังยางเป็นสัญญาปีต่อปี และต่อมาเรื่อยๆเป็นเวลาร่วม 10 ปี โดยพนักงาน 18 คนในคลังยางเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมาตั้งแต่ปี 2543 แต่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง สวัสดิการให้เหมือนทีให้กับคนงานประจำที่เป็นสมาชิกสหภาพคนทำยางอื่นๆ

 

ทั้งนี้ทางประธานสหภาพฯ ได้มีการพูดคุยเพื่อเจรจาต่อรองให้นายจ้างยุติการเลือกปฏิบัติต่อคนงานคลังยางหลายต่อหลายครั้ง ร่วม 20 ครั้งได้ แต่นายจ้างไม่ยอมในเรื่องนี้โดยอ้างว่าเขาทำได้ เพราะคนงานเหล่านี้เป็นลูกจ้างสัญญาระยะสั้น และบริษัทมีความชอบธรรมที่จะจ้างแบบนี้เพราะมีนโยบายลดต้นทุนการผลิต

 

ในที่สุด สหภาพแรงงานคนทำยางโดยมี นายอนัน พลอึ่ง เป็นประธานส่งเรื่องฟ้องศาลว่านายจ้างปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อคนงานคลังยางทำให้คนงานเสียสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้จากการทำข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงานกับฝ่ายบริหารเป็นเวลาร่วม 10 ปีที่คนงานเหล่านี้ไม่ได้สวัสดิการเหมือนคนงานประจำ และคนงานคลังยางเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานด้วย

 

โดยหลังจากเจรจานัดสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคมนายจ้างไม่ยอมในเรื่องนี้ พอเดือนธันวาคม นายจ้างเริ่มเดินเกมส์ของเขาโดยการ "ไม่ต่อสัญญาจ้าง" นายฉลอม โค้งนอก แกนนำคนงานคลังยาง ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับอนันในเรื่องนี้ โดยนายจ้างใช้วิธีเรียกคนงานมารายตัวและบอกให้คนงานเซ็นต์สัญญาเพื่อเป็นการต่อสัญญาการทำงานอีกหนึ่งปี คือปี 2548 (โดยปลายปี 2546 ไม่มีการเซ็นต์สัญญาและลูกจ้างทำงานต่อเนื่องมาในปี 2547) คนงานคลังยาง 24 คนตัดสินใจลงนามในสัญญาการจ้างปี 2547 ตามที่นายจ้างบอก และทั้ง 24 คนได้ทำงานต่อในปี 2547 แต่ ฉลอมตัดสินใจไม่เซ็นต์ เพราะถือว่าการเซ็นต์มีความหมายเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเราเป็นลูกจ้างสัญญาระยะสั้นทั้งที่เราทำงานต่อเนื่องมาสิบปีแล้ว หลังวันหยุดปีใหม่ต้นปี 2548 ฉลอมไปถึงโรงงานแต่นายจ้างไม่ให้เข้า โดยบอกว่าเพราะไม่ต่อสัญญา จึงหมดสัญญาจ้างแล้ว

 

จากนั้นสหภาพแรงงานคนทำยางด้วยการดำเนินงานของอนัน พลอึ่ง จึงยื่นฟ้องศาลแรงงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ร่วมกับคนงานคลังยางที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ต้องการต่อสู้ 18 คน (1 ใน 18 คือนายฉลอมเป็นการฟ้อง 2 กรณีคือ การถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและอีกกรณีหนึ่งคือไม่ได้รับสวัสดิการตามข้อตกลงสภาพการจ้างย้อนหลังเป็นเวลา 10 ปี)

 

โดย 17 คน เป็นการฟ้องสวัสดิการย้อนหลังที่ไม่ได้ตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ในขณะที่ยื่นฟ้อง 1 ใน 17 เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ศาลนัดหลายครั้งแต่ไม่จบ นายจ้างไม่ยอมรับว่าคนงานเหล่านี้เป็นคนงานประจำ อ้างแต่ว่าเป็นนโยบายการจ้างงานแบบเหมาช่วง แบบระยะสั้น อันเป็นนโยบายที่ Goodyear ระดับสากลกำลังใช้กันอยู่

 

14 มีนาคม 2548 นายจ้างประกาศเลิกจ้าง อนัน พลอึ่ง อ้างว่าอนันติดประกาศ "กล่าวร้ายเสียดสีนายจ้าง" ทำให้เสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ (อนันติดประกาศแจ้งสมาชิกบอกเล่าถึงการดำเนินงานของสหภาพแรงงานในการเจรจาต่อรองจนถึงกรณีฟ้องศาลกรณีนายจ้างปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อคนงานคลังยาง)

 

เดือนมิถุนายน - กันยายน 2548 ICEM ทำการรณรงค์สากลเรียกร้องให้ Goodyear รับอนัน พลอึ่งกลับเข้าทำงาน (ภายหลังจากพยายามเจรจากับนายจ้าง แต่นายจ้างบ่ายเบี่ยงอ้างว่าต้องรอศาลตัดสิน กรณีบริษัทประกาศเลิกจ้างนายอนัน) การเคลื่อนไหวรณรงค์ครั้งนั้นมีการแจ้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ Goodyear ประเทศไทย ไปยังคนงานโรงงาน Goodyear ทุกโรงงานทั่วโลก

 

26 กันยายน 2548 บริษัท Goodyear ประเทศไทยประกาศรับนายอนันกลับเข้าทำงาน และขอให้ ICEM ยุติการรณรงค์สากล

 

เดือนพฤศจิกายน 2548 คดีฟ้องสวัสดิการย้อนหลังยังไม่สิ้นสุด นายจ้างประกาศเลิกจ้างคนงานคลังยางทั้งหมด 24 คน และนายจ้างทำการว่าจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรง (Labour Agency) ให้เข้ามาดำเนินงานในแผนกคลังยางโดย Agency ดังกล่าวว่าจ้างคนงานชุดเดิมมาอยู่ภายใต้สังกัดของ Agency (เดิมลูกจ้างถูกจ้างโดยบริษัทGoodyear แต่เมื่อ Agency เข้ามา ลูกจ้างคนเดิมกลายไปเป็นลูกจ้างของ Agency ) แต่บริษัทไม่อนุญาตให้Agency จ้างคนงานคลังยาง 16 คนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและกำลังมีคดีฟ้องร้องบริษัท Goodyear อยู่ที่ศาล ดังนั้นคนงานคลังยางทั้งหมดที่พยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิตามข้อตกลงสภาพการจ้าง (CBA) ตกงานในปลายปี 2548

 

 

โดยคดีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ถูกยื่นฟ้องไปที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งชี้ขาดออกมาในเดือนเมษายน 2549 ว่าคนงานถุกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจริงและสมควรรับกลับเข้าทำงาน วันที่ 3 พฤษภาคม 2549 คนงานไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน แต่บริษัทไม่ให้เข้าทำงาน

 

สิงหาคม 2549 คนงานคลังยางอีกหนึ่งคน (อาทิตย์ ถี่ถ้วน) เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง ครอบครัวไม่มีเงินที่จะรักษา เมียต้องหยุดขายของอันเป็นรายได้เดียวที่เลี้ยงครอบครัวรวมถึงลูก 2 คน เพื่อมาดูแลสามี

 

17 สิงหาคม เช่นกัน บริษัท Goodyear ภายใต้การบริหารงานของ นาย Justin Foley ประกาศเลิกจ้าง อนัน พลอึ่ง อีกครั้ง โดยครั้งนี้ อ้างว่าอนัน แจ้งเท็จ ต่อนายจ้าง กรณีที่อนันใช้วันลาหยุดเพื่อไปประชุมสหภาพแรงงาน ไปเพื่อดูแลแม่ที่กำลังโคม่าอยู่ที่โรงพยาบาลเพราะเส้นลือดในสมองแตก และหมอเรียกครอบครัวไปโรงพยาบาล ด่วนเพราะกลัวว่าจะไม่รอด (เรื่องปัญหาวันลาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2549 สหภาพแจ้งนายจ้างว่ามีการประชุม และขอให้สิทธิวันลากิจกรรมสหภาพแรงงานสำหรับกรรมการสหภาพแรงงานทุกคน ขณะนั้นอนันเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ต้องไปร่วมการประชุม แต่บังเอิญแม่ป่วยหนักในวันนั้น จึงไม่ได้ไปประชุม นายจ้างอ้างว่าอนันไม่ได้แจ้งบอกนายจ้างว่าตัวเองไม่ได้ไปประชุมสหภาพแรงงานแต่ไปดูแลแม่แทน ถือเป็นการแจ้งเท็จ! และบทลงโทษคือการเลิกจ้าง โดยนายจ้างประกาศเลิกจ้างในเดือนสิงหาคม 2549)

 

31 ตุลาคม 2549 ศาลตัดสินให้ ฉลอม โค้งนอก ชนะคดีฟ้องเรื่องสวัสดิการย้อนหลัง และให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 50,000 บาท

 

30 พฤศจิกายน 2549 ศาลตัดสินให้คนงานคลังยางที่ยังมีชีวิตอยู่อีก 15 คน ชนะคดีฟ้องสวัสดิการย้อนหลังตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ..

 

.. ทั้งนี้สหภาพแรงงานคนทำยาง ยังร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้กับคนงาน Goodyear ในระดับสากล โดยสหภาพแรงงาน USW ได้เป็นหัวหอกในการต่อสู้นัดหยุดงานของคนงาน Goodyear 15,000 คนใน 16 โรงงานการผลิตของ Goodyear ที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ภายหลังจากที่ฝ่ายบริหารต้องการยกเลิกสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของคนงานเกษียนอายุพร้อมกับปิดโรงงานอีกหนึ่งโรงซึ่งจะมีผลทำให้คนงาน Goodyear ที่ทำงานมานานต้องตกงานทันที โดยคนงาน Goodyear ในประเทศไทยได้ทำจดหมายถึงสหภาพ USW ด้วยเพื่อแสดงความสมานฉันท์กับคนงาน Goodyear ในสหรัฐ และแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย

 

000

 

สิ่งที่สหภาพแรงงานคนทำยางได้ทำให้ขบวนการแรงงานเห็นในกรณีนี้ก็คือ การเข้าใจถึงปัญหาแรงงานจ้างเหมาช่วง-เหมาค่าแรง ว่าเป็นปัญหาที่แรงงานประจำจะต้องคำนึงถึงโดยไม่ละเลย โดยความผิดพลาดนั้นเกิดกับรูปแบบการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของนายทุน ซึ่งเป็นอิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ต้องการแทรกแทรงตลาดแรงงานให้มีความยืดหยุ่น เพื่อประโยชน์แก่ชนชั้นนายทุนเอง ซึ่งประโยชน์นั้นไม่ได้ตกแก่พนักงานเหล่าจ้างเหมาช่วง-เหมาค่าแรง หรือแรงงานประจำแต่อย่างใด

 

แรงงานทั้งหลายจำเป็นจะต้องช่วยเหลือกัน สร้างมาตรฐานที่เป็นธรรมในขบวนการเอง ร่วมมือกันปูทางไปสู่หนทางแห่งความเสมอภาคบนวิถีการผลิต

 

ในภาคการผลิต เราคนงานไม่ใช่อุปกรณ์, ไม่ใช่ขี้ข้า , ไม่ใช่ทาส , ไม่ใช่ผู้ที่เป็นหนี้บุญคุณใคร -- หากแต่เราคือ "หุ้นส่วนที่สำคัญที่สุด" ต่างหาก!

 

แหล่งข้อมูล :

 

วรัญญา ภคภัทร , ICEM ประเทศไทย

ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน (ศบร.)

International Federation of Chemical, Energy, Mine and General Workers' Unions (ICEM สากล)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net