Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเด็นเรื่อง "ของเสียอันตราย" ในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ยังคงเป็นประเด็นร้อนก่อนจะมีการลงนาม และหลังจากได้อ่านบทความ "ตอบกลุ่มเอ็นจีโอฯ" ของ "สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์"หัวหน้าทีมศึกษาเอฟทีเอฉบับนี้ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน คราวนี้มีบทความของเอ็นจีโอด้านมลพิษอุตสาหกรรมที่จะให้รายละเอียดบ้างในหลายเรื่อง โปรดพิจารณา....

อารัมภบท

ในเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งถูกรัฐบาลชั่วคราวหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นพิจารณาเพื่อเตรียมลงนามนั้น ประเด็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดตอนนี้คือเรื่องของ "ขยะพิษ" ที่ปรากฏอยู่รายละเอียดของข้อตกลง

 

ควรอ่านอย่างละเอียดก่อนที่ใครจะว่าว่านี่คือแผ่นเสียงตกร่อง เพราะงานนี้มีข้อมูลใหม่ๆ น่าสนใจหลายประการ

 

งานเขียนของ "เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง" เอ็นจีโอที่ทำงานด้านมลภาวะจากอุตสาหกรรมมายาวนาน ชี้ให้เห็นว่า แม้ข้อตกลงไม่มีการเขียนเรื่องการขนย้าย "ของเสียอันตราย" จากญี่ปุ่นมาไทยแม้แต่บรรทัดเดียว แต่ปรากฏมีรายการของขยะอันตรายที่จะได้ลดภาษีเป็น 0 ในฐานะ "สินค้า" ซึ่งมีมากมายหลายรายการแบบที่ใครไม่อาจปฏิเสธว่า "ไม่มี" ได้อีกต่อไป

 

นอกจากนี้บทความยังกล่าวถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่การค้ามองไม่เห็น โดยผ่านตัวอย่างรูปธรรมของปัญหาในประเทศไทย

 

นี่ทำให้เห็นมิติของการมอง "ขยะพิษ" ที่แตกต่างกัน มันเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม หรือเป็นสินค้าที่เอามาต่อรองกับผลประโยชน์อื่นๆ ได้ ?

 

ส่วนราชการมองว่าการใส่เรื่องนี้ไว้ในข้อตกลงเป็นเพียงเทคนิคการเจรจา เพราะอย่างไรเสียก็มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้วทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่เอ็นจีโอมองว่านี่คือ "ของจริง" เป็นกลยุทธแยบยลของญี่ปุ่นในการสอดไส้การระบายขยะอันตรายผ่านระบบการค้าเสรี โดยมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของไทยเป็นตัวหนุนเสริมความเป็นไปได้

 

คำถามคือ เราจะมองแยกส่วนระหว่างปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของไทยกับข้อตกลงการค้าหรือไม่ ?

 

ที่สำคัญ บทความนี้ยังได้เล่าถึงบริบทของประเทศญี่ปุ่นว่าทำไมจึงแรงจูงใจสูงยิ่งในการผลักขยะของตัวออกนอกประเทศ โดยอธิบายถึงปัญหาวิกฤตขยะภายในญี่ปุ่น, ประวัติการหลีกเลี่ยงกติการะหว่างประเทศ (สนธิสัญญาบาเซล) ที่พยายามห้ามการขนย้ายของเสียอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วไปประเทศกำลังพัฒนา, การวางแผนสร้างเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลขยะในเอเชียของญี่ปุ่น

 

อย่างไรก็ตาม ในล้อมกรอบด้านล่างจะเป็นตอบข้อกังวลว่าทำไมเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าห่วงในสายตาทีมเจรจา โดย "วีรชัย พลาศรัย" อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นผู้อธิบาย และสามารถอ่านความเห็นของทีมศึกษาวิจัยอย่าง "สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ได้ในข่าวประกอบ

 

 

000

 

 

ความเสี่ยงของสังคมไทยจากการเปิดเสรีนำเข้าของเสียอันตราย

ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น

(Japan - Thailand Economic Partnership Agreement / JTEPA)

 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม

 

 

 

ความตกลง JTEPA กับขยะอันตราย

ของเสียอันตรายกำลังกลายเป็นเรื่องที่ถูกจับตาและมีการตั้งคำถามอย่างมากในท่ามกลางหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในเวลานี้ ตาม (ร่าง) ความตกลง JTEPA ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งประกอบไปด้วยสาระสำคัญมากมาย มีข้อตกลงที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการค้าของและของเสียอันตรายบรรจุไว้ด้วย แต่การจะรู้เท่าทันความเสี่ยงหรือเพียงแค่มองเห็นประเด็นเรื่องของเสียนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากในร่างความตกลงฯ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ทว่าแอบแฝงรวมอยู่ในฐานะที่เป็นสินค้า (goods) โดยปรากฏอยู่ในบทที่ 3 ของร่างความตกลงฯ ที่กล่าวถึงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ข้อ 28 (Chapter 3 Rules of Origin, Article 28) มีรายละเอียดดังนี้

 

            "Article 28 Originating Goods

            "2. For the purposes of subparagraph 1 (a) above, the following goods shall be considered as being wholly obtained or produced entirely in a Party:

            "……………….    

            "(i) articles collected in the Party which can no longer perform their original purpose in the Party nor are capable of being restored or repaired and which are fit only for disposal or for the recovery of parts or raw materials;

            "(j) scrap and waste derived from manufacturing or processing operations or from consumption in the Party and fit only for disposal or for the recovery of raw materials

            "(k) parts or raw materials recovered in the Party from articles which can no longer perform their original purpose nor are capable of being restored or repaired

            "(l) goods obtained or produced in the Party exclusively from the goods referred to in subparagraphs (a) through (k) above".

 

เนื้อความข้างต้นนี้ที่เป็นการแจกแจงถึงลักษณะของสินค้าที่จัดว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศภาคี ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ตกลงกัน แม้ไม่มีคำว่าสิ่งปฏิกูล (garbage) กากของเสีย (waste) ของเสียอันตราย (toxic waste/hazardous waste) หรือคำใกล้เคียงอื่นใดโดยตรง ทว่าโดยความหมายก็ชัดเจนว่า สินค้าที่จัดว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศภาคีตามรายการ (i) ถึง (l) ตามข้อ 28 ของบทที่ 3 ของร่างความตกลงฯ นั้นไม่ใช่สินค้าในรูปแบบที่ปกติหรือสมบูรณ์

เมื่อนำนิยามข้างต้นมาเปรียบเทียบกับพิกัดศุลกากรของสินค้านำเข้า-ส่งออก และ

"คำจำกัดความของสินค้า" ที่ประเทศภาคีจะต้องเปิดเสรีการค้าให้แก่กันตามที่ปรากฏอยู่ในตาราง Schedule of Thailand (Annex 1 : Trade in goods > Schedule of Thailand) ซึ่งมีการจัดเรียงลำดับตามตัวเลขพิกัดศุลกากร 4 หลัก และ 6 หลัก พบว่าพิกัดศุลกากรที่เข้าข่ายรายการสินค้าตามรายการ (i) ถึง (l) ตามข้อ 28 ของบทที่ 3 ของร่างความตกลงฯ นั้น มีจำนวนมากมายหลายประเภท เฉพาะรายการที่เข้าข่ายเป็นกากของเสียอันตรายก็มีจำนวนไม่น้อย ตัวอย่างรายการดังกล่าวดังแสดงในตางรางข้างล่างนี้ โดยได้ค้นคว้าขยายผลเพิ่มเติมในระดับตัวเลขพิกัดศุลกากรจำนวน 10 หลัก หรือ "พิกัดรหัสสถิติ" ไว้ด้วย

 

 

พิกัดศุลกากร

ชื่อพิกัดศุลกากร

4 หลัก

10 หลัก

2618

 

 

 

2618000004

 - GRANULATED SLAG (SLAG SAND) FROM THE MANUFACTURE OF IRON OR STEEL

2619

 

 

 

2619000005

ขี้แร่ ขี้ตะกอน (นอกจากเม็ดขี้แร่) สเกลลิงและเศษอื่นๆ ที่ได้จากการผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า

2620

 

เถ้าและกาก (นอกจากที่ได้จากการผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า) ที่มีอาร์เซนิก โลหะหรือสารประกอบของของดังกล่าว

 

2620110006

 - ที่มีสังกะสีเป็นส่วนใหญ่ -ฮาร์ดซิงค์สเปลเตอร์

 

2620190003

 - ที่มีสังกะสีเป็นส่วนใหญ่ - อื่น ๆ

 

2620210000

- ที่มีตะกั่วเป็นส่วนใหญ่ - ตะกอนของน้ำมันเบนซินชนิดเติมสารตะกั่วและตะกอนของสาร

 กันเครื่องยนต์เคาะที่มีตะกั่ว

 

2620290000

 - ที่มีตะกั่วเป็นส่วนใหญ่ - อื่น ๆ

 

2620300009

 - มีทองแดงเป็นส่วนใหญ่

 

2620400000

 - มีอลูมิเนียมเป็นส่วนใหญ่

 

2620600002

 - มีอาร์เซนิก ปรอท แทลเลียม หรือของผสมของของดังกล่าว ชนิดที่ใช้ เพื่อการสกัดแยกอาร์เซนิกหรือโลหะ

 เหล่านั้น หรือใช้สำหรับการผลิต สารประกอบทางเคมีของของดังกล่าว

 

2620910000

 - มีพลวง เบริลเลียม แคดเมียม โครเมียม หรือของผสมของของดังกล่าว

 

2620990000

 - อื่น ๆ

2621

 

ขี้แร่และเถ้าอื่น ๆ รวมถึงเถ้าสาหร่ายทะเล (เคลป์) เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล

 

2621100000

 - เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล

 

2621900104

 - ขี้เถ้าแกลบ

 

2621900907

 - อื่น ๆ

2710

 

 

 

2710910000

 - เศษน้ำมันที่มีโพลิคลอริเนเต็ดไบฟีนิล (พีซีบีเอส) โพลิคลอริเนเต็ดเทอร์ฟีนิล (พีซีทีเอส)

 หรือโพลิโบรมิเนเต็ดไบฟีนิล (พีบีบีเอส)

 

2710990000

 - เศษน้ำมันอื่น ๆ

3006

 

 

 

3006800000

 - ของเสียทางเภสัชกรรม

3825

 

ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ที่ไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในที่อื่น ขยะเทศบาล ตะกอนจากน้ำเสียของเสียอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุ (6) ของตอนนี้

 

3825100000

 - ขยะเทศบาล

 

3825200000

 - ตะกอนจากน้ำเสีย

 

3825300000

 - ของเสียจากสถานพยาบาล

 

3825410000

 - ของเสียที่เป็นตัวทำละลายอินทรีย์ ชนิดฮาโลเจเนเต็ด

 

3825490000

 - ของเสียที่เป็นตัวทำละลายอินทรีย์ ชนิดอื่น ๆ

 

3825500000

 - ของเสียที่เป็นของเหลวกัดล้างโลหะ น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันเบรคและของเหลวกันการเยือกแข็ง

 

3825610000

 - ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็น

 สารอินทรีย์

 

3825690000

 - ของเสียอื่นๆ จากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน มีองค์ประกอบอื่นๆ

 

3825900000

 - อื่น ๆ

รายการของเสียข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งพอจะมองเห็นได้ชัดว่าเป็นของเสียที่มีอันตราย นอกจากนั้นยังมีขยะหรือของเสียทั่วไป รวมถึงรายการประเภทที่ไม่ได้ชี้ชัด (อื่นๆ) หรือเพียงแค่ในส่วนของชิ้นส่วนจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้ว (ข้อ 2 (k)) ก็มีพิกัดที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก

 

ตามร่างข้อตกลงได้เปิดเสรีให้มีการค้าขายของเสียทั้งที่ไม่อันตรายและอันตรายเหล่านี้ จริงอยู่ว่า ของเสียเหล่านี้อาจถูกนำเข้าหรือส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถานการณ์จากทั้ง 2 ฟาก คือ สถานการณ์ด้านความตีบตันในการจัดการปัญหาของเสียของประเทศญี่ปุ่น กับสถานการณ์ความอ่อนด้อย หละหลวมในการจัดการและควบคุมปัญหาของเสีย โดยเฉพาะของเสียอันตรายของประเทศไทย จะพบว่า มีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่งที่ไทยจะกลายเป็นถังขยะหรือแหล่งลงทุนของธุรกิจกำจัดหรือแปรรูปขยะของญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่ง

 

ญี่ปุ่นกับปัญหาวิกฤตขยะ

ประเทศญี่ปุนกำลังประสบปัญหาวิกฤตการณ์จากการมีขยะล้นประเทศที่เกิดจากการผลิตในภาคต่าง ๆ และการขยายตัวของการบริโภค ทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีการในการลดปริมาณขยะและสร้างธุรกิจการแปรรูปขยะเพื่อหมุนเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการกำจัดขยะด้วยวิธีการส่งออกไปยัง ประเทศต่าง ๆ

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหานี้ แต่นับจากปี 2537 - 2546 ปริมาณขยะในประเทศไม่ได้ลดลงเลย ปริมาณขยะทั่วประเทศยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ขยะชุมชนจากพื้นที่ต่าง ๆ เฉลี่ยมีปริมาณสูงเกิน 50 ล้านตันต่อปี หรือมีการผลิตขยะเฉลี่ยเกิน 1 กก. ต่อคนต่อวัน ขณะที่ขยะอุตสาหกรรมจะสูงเกิน 400 ลานตันตอป

 

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของญี่ปุ่นเริ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการกำจัดขยะสูงถึง 2 ล้านล้านเยน เฉลี่ยแล้วคนญี่ปุ่นจะต้องเสียค่ากำจัดขยะประมาณ 15,000 - 20,000 เยนต่อคนต่อปี

 

ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แต่ญี่ปุ่นขาดแคลนพื้นที่สำหรับการสร้างหลุมฝังกลบอย่างยิ่ง ดังนั้นการกำจัดขยะของญี่ปุ่นจึงนิยมใช้วิธีการเผา ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเตาเผาขยะมากที่สุดในโลก เฉลี่ยแล้วประเทศญี่ปุ่นจะใช้วิธีกำจัดด้วยการเผาประมาณร้อยละ 78 แต่สำหรับเทศบาลบางแห่งของญี่ปุ่นใช้วิธีการกำจัดขยะด้วยการเผาสูงถึงร้อยละ 98 มีโรงเผาขยะชุมชนประมาณ 1,850 โรง โรงเผาขยะอุตสาหกรรมประมาณ 10,000 โรง ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปัญหาการสะสมตัวของสารพิษในอากาศ โดยเฉพาะไดออกซิน ที่เกิดจากการเผาขยะเป็นอันดับหนึ่งของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

 

ปัญหาวิกฤตด้านขยะของญี่ปุ่นเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ นาโกยาเป็นหนึ่งในตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจน เมื่อปี 2541 รัฐบาลเมืองเมืองนาโกยาประกาศแผนฉุกเฉินในการแก้ปัญหาขยะชุมชนขึ้นมา เนื่องจากปีนั้นมีขยะมากถึง 1.2 ล้านตัน และรัฐบาลไม่สามารถหาพื้นที่สร้างหลุมฝังกลบในแถบอ่าวนาโกยาได้อีก แผนการแก้ปัญหานี้ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดทิ้งค่อย ๆ ลดลง แต่ปริมาณขยะที่รอการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหม่แบบใหม่คือ รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลลงไปในระบบการเก็บรวบรวมขยะและการสร้างคลังเก็บขยะเพื่อรอการแปรรูป

 

ด้วยสภาพปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องขยะที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะซึ่งแพงมากตามกฎหมายที่บังคับใช้ และการส่งเสริมให้ใช้วิธีกำจัดขยะจำพวกพลาสติกด้วยวิธีการเผาเพื่อต้องการลดพื้นที่ในการฝังกลบ

 

อย่างไรก็ดี นโยบายภายในประเทศนี้ทำให้เกิดกรณีการประท้วงคัดค้านและการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับขยะจากประชาชนญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการฟ้องร้องเพื่อคัดค้านการสร้างเตาเผาขยะและการสร้างหลุมฝังกลบขยะที่จะสร้างใกล้พื้นที่ของชุมชน เช่น การฟ้องร้องคดีกรณีการสร้างเตาเผาขยะที่มีผลกระทบต่อทะเลสาบฟูจิมิ และการฟ้องคดีการสร้างหลุมฝังกลบขยะในเมืองยามาดะ จังหวัดฟูกูโอกะ เป็นต้น

 

การเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นเพื่อเปิดเสรีการค้าขยะอันตราย

การผลักดันผ่านกลไกการค้าเสรี

นอกจากความพยายามแก้ไขปัญหาขยะด้วยการปรับปรุงนโยบาย การออกกฎหมายและมาตรการควบคุมเกี่ยวกับการจัดการขยะต่าง ๆ ภายในประเทศแล้ว ญี่ปุ่นยังได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบผ่านกลไกการค้าเสรีและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อสร้างช่องทางในการแก้วิกฤตการณ์ขยะในประเทศ

 

ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเปิดเสรีการค้าในระดับทวิภาคีไปแล้ว โดยล่าสุดได้ลงนามกับฟิลิปปินส์ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันดีในนาม JPEPA เมื่อเดือนกันยายน 2549 ที่ประเทศฟินแลนด์ ในความตกลงนั้น ก็มีเนื้อหาสาระเพื่อเปิดเสรีการค้าขยะและขยะอันตรายเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นกำลังดำเนินการกับประเทศไทยอยู่ รัฐบาลทั้งของญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ต่างยืนยันว่าการรวมเรื่องขยะเข้าไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคนิคการเจรจา และจะไม่ส่งผลกระทบต่ออนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (เรียกสั้น ๆ ว่า อนุสัญญาบาเซล) และกฎหมายภายในของฟิลิปปินส์

 

อนุสัญญาบาเซลมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศสมาชิกลดการเคลื่อนย้ายขยะข้ามประเทศ และเน้นให้แต่ละประเทศกำจัดขยะของตนเอง ไม่ใช่การผลักภาระแก่ประเทศอื่น ทั้งนี้เพื่อปกป้องประเทศกำลังพัฒนาในทวีปต่างๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการระบายขยะและของเสียอันตรายจากลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งมีกฎหมายควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อมเข้มแข็งกว่า แต่ประสบปัญหาวิกฤตการณ์ขยะที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าวิตกจากอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้สารอันตรายจำนวนมากและกิจกรรมการบริโภคที่เน้นความสะดวก สบายและมีอัตราการขยายตัวที่เข้มข้นมาก

 

การคัดค้าน Basel Ban Amendment

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ข้อบัญญัติในอนุสัญญาบาเซลไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นของการห้ามการค้าขายขยะระหว่างประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาก็ตาม เพราะไม่สามารถฝ่าแรงกดดันของกลุ่มชาติอุตสาหกรรมที่คัดค้านข้อบัญญัติดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี ในทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีความพยายามรอบใหม่ที่จะผลักดันให้อนุสัญญาบาเซลมีผลไปถึงการห้ามไม่ให้มีการค้าขายขยะและเคลื่อนย้ายขยะข้ามพรมแดน ด้วยการแก้ไขอนุสัญญาบาเซล หรือที่เรียกว่า สัตยาบันสารการห้ามการขนส่งขยะอันตราย (Basel Ban Amendment) โดยมีสาระสำคัญคือ การห้ามการขนส่งขยะอันตราย ย้ายข้ามประเทศ ซึ่งประเทศที่ให้สัตยาบันต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัตินี้

 

ในปี 2538 ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศที่เข้าร่วมการประชุมได้ลงฉันทามติเห็นชอบให้มีการแก้ไขอนุสัญญาบาเซล โดยจะห้ามการส่งออกของเสียอันตรายทุกชนิดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นและชาติอุตสาหกรรมอีกบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดา กลับเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ และในที่สุดกลุ่มประเทศนี้ รวมถึง เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ก็ปฏิเสธที่จะลงนามใน Basel Ban Amendment

 

จริงอยู่ว่าญี่ปุ่นไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะไม่ส่งขยะอันตรายไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัตยาบันสารการห้ามขนส่งและพันธกรณีทั่วไปในอนุสัญญาบาเซล และเมื่อมีการลงนามในข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีแล้ว ขยะและขยะอันตรายทั้งหลายจะมีสถานะกลายเป็น "สินค้า" ประเภทหนึ่งไปโดยทันที ซึ่งสามารถค้า-ขาย หรือนำเข้า-ส่งออกได้โดยเสรีตามข้อตกลงของประเทศภาคีนั้น ญี่ปุ่นจึงอยู่ในฐานะที่จะเรียกร้องให้ภาคีของตน "ต้องอนุญาต" ให้มีการนำเข้า "สินค้า" เหล่านี้ได้โดยชอบธรรม

 

แผนการสร้างเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลขยะในเอเชีย

ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้ทำการศึกษาวิจัยถึงแนวโน้ม ข้อดี-ข้อเสียของการลงทุนในธุรกิจขยะรีไซเคิลในหลายประเทศในเอเชีย เมื่อไม่นานนี้สถาบันเพื่อยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก (Institute for Global Environmental Strategies / IGES) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้เผยแพร่รายงานการศึกษาทางนโยบายชุดหนึ่งชื่อ "การสร้างเครือข่ายเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศในเอเชีย" (Networking International Recycling Zones in Asia) ส่วนหนึ่งรายงานนี้ระบุว่า

 

นโยบายที่เราเสนอขึ้นมาจะสนับสนุนให้เกิดตลาดข้ามพรมแดนสำหรับขยะรีไซเคิล ซึ่งจะดีต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

 

…ประเทศที่เข้าร่วมจะต้องจัดตั้งเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วยท่าเรือและพื้นที่ทางอุตสาหกรรมที่กำหนดขึ้นมา ท่าเรือที่ว่านี้จะอำนวยความสะดวกในการค้าขยะรีไซเคิลระหว่างประเทศ โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นการค้าขายระหว่างบริษัทที่ได้รับใบประกาศ

 

…กำแพงการค้า อย่างเช่น อัตราภาษีที่สูงขึ้น หรือกำแพงการค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับขยะรีไซเคิลได้จำกัดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบระหว่างประเทศและขัดขวางโอกาสการพัฒนาทางเทคโนโลยีในการเปลี่ยนขยะให้เป็นขยะรีไซเคิล นโยบายที่เสนอขึ้นนี้จะจัดการกับกำแพงเหล่านี้แก่บริษัทที่ได้รับใบประกาศในพื้นที่ที่กำหนด

 

…จำเป็นต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อให้นโยบายนี้ได้รับการปฏิบัติ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพีธีการศุลกากร การให้การปฏิบัติอย่างเหมาะสม และกำจัดขยะรีไซเคิลจะต้องได้รับความเห็นชอบและการลงนามร่วมกันโดยประเทศที่เข้าร่วม เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว เครือข่ายของเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้น

 

…ข้อดีประการหนึ่งของนโยบายที่นำเสนอนี้คือ สามารถนำไปปฏิบัติเป็นโครงการนำร่องร่วมกับบางประเทศหรือบางภูมิภาคได้ก่อน นี่จะเป็นก้าวแรกสำหรับการทำข้อตกลงในอนาคตและเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายที่นำเสนอ

 

…ตั้งแต่ปี 2542/43 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประสบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค (FTA) จึงคาดการณ์ว่าบนฐานของความเคลื่อนไหวปัจจุบันในเรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคีและภูมิภาคนั้น ประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asia Community) จะถูกจัดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกล การรวมเรื่องการขยายตลาดขยะรีไซเคิลข้ามพรมแดนในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้

 

…มาตรการในการสนับสนุนการค้าขยะรีไซเคิลและสินค้าที่นำมาผลิตใหม่สามารถจะนำเข้าไปรวมกับเอฟทีเอบางเอฟทีเอได้ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการนั้น ๆ ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับท่าเรือไม่กี่ท่าเรือที่กำหนดขึ้น"

 

จะเห็นได้ว่า เนื้อหาในรายงานชุดนี้กำลังเกิดขึ้นในความตกลงเรื่องการค้าเสรี หรือเอฟทีเอและกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำจัดกำแพงการค้า การยกระดับขยะชนิดต่าง ๆ ให้เป็น "สินค้า" ประเภทต่าง ๆ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศต่าง ๆ จึงเป็นก้าวย่างทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของญี่ปุ่นในการแก้ไขปัญหาของตน และการสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจโลกในธุรกิจตัวใหม่อย่างชาญฉลาด

 

ยุทธศาสตร์นี้ก็สอดคล้องกับการปรับปรุงนโยบายและการแก้ไขกฎหมายในประเทศที่ดำเนินการไปล่วงหน้าก่อนหน้านี้แล้ว นั่นคือ การส่งเสริมนโยบายแนวคิด 3 R คือ ลด (reduce) นำกลับมาใช้ใหม่ (re-use) และรีไซเคิล (recycle) และนโยบายของญี่ปุ่นที่ต้องการสร้างตลาดในภูมิภาคเอเชียสำหรับขยะรีไซเคิล รวมทั้งขยะอันตราย การจัดตั้งตลาดรีไซเคิลในเอเชียจะทำให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากความเสี่ยง ภาระต่าง ๆ และปัญหาในการกำจัดขยะโดยเฉพาะขยะอันตรายในประเทศของตน ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็สามารถขายเทคโนโลยีไปยังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้กำจัดขยะที่มาจากประเทศของตนได้อีกต่อหนึ่ง

ความอ่อนด้อยของไทยในการบริหารจัดการและกำกับดูแลของเสียอันตราย

พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายหลักที่ควบคุมดูแลเรื่องสิ่งของมีอันตรายทั้งหลาย ทั้งนี้รวมถึงของเสียอันตรายด้วย แม้ข้อบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวค่อนข้างมีความครอบคลุม แต่ในระดับของกฎหมายลูกที่เป็นกลไกในการปฏิบัติการจริงนั้นยังคงมีจุดพร่องและความหละหลวมอยู่มาก ขณะที่กลไกการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจความรับผิดชอบตามกฎหมายนี้ก็ยังคงไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้มาเกือบ 15 ปีแล้วก็ตาม

 

ระบบการควบคุมตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย กำหนดตามชนิดวัตถุอันตราย กล่าวคือ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 กำหนดให้ต้องแจ้งข้อมูล วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 กำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งดำเนินการ วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 กำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนและขออนุญาต และวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 กำหนดห้ามประกอบการใดๆ วัตถุอันตรายรายการใดจะเข้าข่ายได้รับควบคุมในระดับใดต้องมีการประกาศจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้เป็นรายการตามชนิด 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว ส่วนที่ไม่ได้ประกาศ แม้ในข้อเท็จจริงจะมีอันตรายก็ไม่มีการควบคุม สำหรับลักษณะการควบคุมตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย จะครอบคลุมทั้งกิจกรรมนำเข้า-ส่งออก, ครอบครอง, ใช้ และผลิต

 

ในส่วนของเรื่องการนำเข้าและส่งออกของเสียอันตรายจะมีการควบคุมตามอนุสัญญาบาเซลร่วมด้วย ซึ่งมีลักษณะการควบคุมสอดคล้องกับ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบได้ออกประกาศรายการของเสียอันตรายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ควบคุมตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ไว้ในประกาศเรื่อง "บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย" ในส่วนบัญชี ข ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งชิ้นส่วนที่ไม่ใช้แล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เช่นกัน ในการออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง "เงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วที่เป็นวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร" โดยประกาศให้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 29 รายการ รวมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบอีก 28 รายการ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ด้วย นอกจากนี้ยังมีประกาศควบคุมของเสียที่นำเข้ามาในประเทศชนิดต่างๆ ภายใต้มาตรการที่เข้มงวดแตกต่างกัน

 

อย่างไรก็ดี ในการติดตามตรวจสอบและควบคุมวัตถุอันตรายที่มีการนำเข้า ทั้งที่เป็นวัตถุอันตรายและของเสียอันตราย ยังคงมีข้อจำกัด เช่น ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมาตรการทางปฏิบัติชัดเจนที่สุด แม้มีข้อบังคับให้ผู้นำเข้าต้องแจ้งข้อเท็จจริงการนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 1, 2 และ 3 แต่การติดตามหลังจากการนำเข้ากระทำเพียง 53 รายการเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง "การให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. 2547"

 

ดังนั้นกล่าวได้ว่า ระบบการควบคุมดูแลของเสียอันตรายของประเทศไทยยังคงไม่มีหน่วยงานที่ดูแลในภาพรวมอย่างครบวงจร หน่วยงานที่มีกลไกและมาตรการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมของเสียอันตรายอย่างเป็นระบบในปัจจุบันคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในส่วนนี้แม้จะมีระบบและกลไกการติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จำกัดอยู่ที่การควบคุมของเสียที่มีแหล่งกำเนิดจากโรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศเท่านั้น

 

ภายใต้ระบบดังกล่าวนี้จึงมีประเด็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเปิดเสรีนำเข้าขยะอันตรายภายใต้ความตกลง JTEPA โดยตรงก็คือ 

1)             หากมีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรม ระบบการควบคุมของไทยจะสามารถทราบเฉพาะรายการวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 ที่อยู่ในความดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น นอกนั้นจะไม่มีข้อมูล 

2)             แม้แต่รายการที่มีข้อมูลตามข้อ 1 ก็จะจำกัดอยู่เฉพาะข้อมูลการนำเข้าเท่านั้น ไม่มีระบบที่จะติดตามต่อในเส้นทางหลังจากนั้น ยกเว้นประเภทที่อยู่ใน 53 รายการ อย่างไรก็ดี วัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรมที่มีการควบคุม 53 รายการดังกล่าวล้วนแต่เป็นเคมีภัณฑ์ จึงไม่ใช่การควบคุมเรื่องของเสียอันตรายโดยตรง 

3)             การควบคุมดูแลของเสียอุตสาหกรรมในปัจจุบันเน้นที่การดูแลของเสียที่ผลิตจากโรงงานในประเทศ จึงยังมีช่องว่างของกฎข้อบังคับกรณีของเสียนำเข้า เช่น ในกรณีของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออกโดยไม่มีการผลิต หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดเก็บ ย่อมจะไม่จัดเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ไม่ถูกบังคับตาม พ.ร.บ. โรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการดูแลเรื่องของเสียจากอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบัน

 

ตัวอย่างสถานการณ์การนำเข้าของเสียช่วง พ.ศ. 2545 - 2549

ของเสียที่น่าจะเข้าข่ายรายการสินค้าตามข้อตกลง JTEPA ที่ประเทศญี่ปุ่นต้องการส่งออกคือของเสียประเภทขี้เถ้าจากเตาเผาของเสียทั้งจากอุตสาหกรรมและชุมชน ซึ่งจะตรงกับพิกัดศุลกากรที่ 2621 จากการค้นดูสถิติการนำเข้าที่ผ่านมาของพิกัดนี้พบมีการนำเข้ามายังประเทศไทย ดังตาราง

พิกัดศุลกากร

ชื่อพิกัดศุลกากร

พ.ศ.

การนำเข้ารวม

จากญี่ปุ่น

จากออสเตรเลีย

4 หลัก

10 หลัก

ปริมาณ (กก.)

มูลค่า (บาท)

ปริมาณ (กก.)

มูลค่า (บาท)

ปริมาณ

(กก.)

2621

ขี้แร่และเถ้าอื่น ๆ รวมถึงเถ้าสาหร่ายทะเล (เคลป์) เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล

 

2621100000

เถ้าและกากที่ได้จากการเผาขยะเทศบาล

2545

2546

2547

2548

2549

233,600

28,000

-

-

-

4,258,557

384,005

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

-

 

 

2621900104

ขี้เถ้าแกลบ

2545

2546

2547

2548

2549

54,000

-

-

3,005,084

6,608,592

121,516

-

-

13,564,319

17,747,296

-

-

-

28,500

16,500

-

-

-

165,087

68,769

 

 

2621900907

อื่น ๆ

2545

2546

2547

2548

2549

57,307,386

339,160,807

353,589,171

286,239,547

302,748,042

315,331,776

241,080,708

347,086,164

370,238,063

340,588,532

54,747,701

334,629,924

349,492,792

280,692,841

299,426,427

49,954,093

188,434,494

289,302,502

294,321,793

276,574,115

245,850

153,400

202,520

270,500

345,440

จากตัวอย่างดังกล่าวมีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

 

1) จะเห็นว่ามีการนำเข้าขี้แร่และเถ้าชนิดที่ไม่ระบุประเภท (อื่นๆ) จากญี่ปุ่นในช่วงปี 2546- 2549 ประมาณ 300 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือประมาณ 300,000 ตัน สำหรับขี้เถ้าพิกัดนี้ มีสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ

1.1   ขี้เถ้าในพิกัดนี้เป็นวัตถุอันตรายภายใต้ พ.ร.บ. โรงงาน หรือไม่ เนื่องจากรายการในบัญชีวัตถุอันตรายแตกต่างจากรายชื่อพิกัด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตรวจสอบ

1.2   แม้ขี้เถ้ามีสมบัติความเป็นอันตราย แต่หากไม่ถูกประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ก็จะไม่เข้าสู่การขึ้นทะเบียนขออนุญาต ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย หรือต่อให้ได้รับการประกาศเป็นวัตถุอันตรายแล้ว แต่ถ้าหากหน่วยงานควบคุมไม่แจ้งต่อกรมศุลกากร ก็จะไม่มีการตรวจสอบและติดตามที่จุดนำเข้าเช่นกัน

1.3   ในกรณีที่สินค้ารายการดังกล่าวได้รับการประกาศเป็นวัตถุอันตรายแล้ว และหน่วยงานควบคุมแจ้งต่อกรมศุลกากร ทำให้มีการตรวจสอบและติดตามการนำเข้า แต่ก็จะไม่มีการติดตามต่อ หลังจากนั้นว่ามีการขนส่งไปยังที่แห่งใด เพื่อการใด เนื่องจากสินค้ารายการนี้ไม่ได้อยู่ในรายการที่บังคับให้ต้องรายงานการครอบครอง

 

2) ในกรณีของประเทศออสเตรเลียจะเห็นได้ว่า ปริมาณการนำเข้าขี้แร่และเถ้าชนิดที่ไม่ระบุประเภท (อื่นๆ) นั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 2 - 3 ปีหลังนี้ ซึ่งยังคงไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ว่ามีความสัมพันธ์ประการใดกับการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลียหรือไม่

 

000

ข้อมูลเพิ่มเติม : ตัวอย่างรูปธรรมของปัญหาขยะอันตรายในประเทศไทย

สัมภาษณ์ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

 

 

โรงงานขยะ

เมื่อปลายปี 2548 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ อ.ศรีเพท มีการตั้งโรงงานแยกและรีไซเคิลขยะ ของบริษัทแห่งหนึ่ง จากนั้นเกิดปัญหาทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ชาวบ้านไปร้องเรียนหลายที่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตอนหลังมีเด็กนักเรียนจาก 3 โรงเรียนที่ตั้งในบริเวณนั้นล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจกันนับ 1,000 คน เพราะได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นของสารเคมี

 

การลักลอบทิ้ง

ในช่วง 4-5 ปีที่แล้วจะมีข่าวการลักลอบทิ้งขยะอันตรายกันเป็นจำนวนมาก เป็นการจัดการที่ผิดกฎหมาย ดังเช่น เคยมีกรณีของรถบรรทุกที่ขนกากอุตสาหกรรมจากโรงงานเยื่อกระดาษเอาไปทิ้งในป่าเมืองกาญจนบุรีหลายแห่ง ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งต้นน้ำแม่กลอง

 

กากจากเยื่อกระดาษถือเป็นขยะอันตราย แต่ชาวบ้านก็ไม่กล้าฟ้องบริษัท เพราะเป็นเรื่องอิทธิพลและมีอันตรายเกินไป

 

นอกจากนี้ยังมีการลักลอบการนำน้ำเสียไปทิ้งเป็นข่าวใหญ่เมื่อปลายปี 2546 มีการบรรทุกน้ำเสียจากโรงงานไปแอบระบายทิ้งในที่ร้างทำให้หน้าดินเสียหาย ลักษณะเช่นนี้มีเป็นจำนวนมาก

 

การนำเข้าขยะพิษ

ในรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2548 เป็นการประมวลจากข่าวที่เกิดขึ้นว่า กรมควบคุมมลพิษตรวจเจอตู้คอนเทรนเนอร์บริเวณท่าเรือบางแห่ง และมีการร้องเรียนจากกรมศุลกากรว่ามีขยะพิษตกค้างอยู่ที่ท่าเรือกว่า 100 ตู้ หรือกรณีที่มีขยะพิษอีก 200 ตู้มาที่ท่าเรือคลองเตย ประเด็นที่เจอบ่อยๆ คือ มีการตั้งบริษัทขึ้นมาสำหรับนำเข้า แต่พอสินค้าพวกนี้มาถึงบริษัทพวกนี้ก็จะหายไป ยุบกิจการไป แล้วของก็จะมาตกค้างอยู่ที่ด่านศุลกากรในท่าเรือ โดยเราไม่รู้เลยว่าปลายทางมันจะไปอยู่ที่ไหน จะไปกำจัดยังไง

 

นอกจากนี้บริษัทขยะรีไซด์เคิลจากทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็พยายามมาขอการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ ซึ่งถ้าได้รับอนุมัติก็อาจเข้ามาตั้งได้โดยได้รับภาษีต่ำๆ หรือยกเว้นภาษี ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมเคยทำเรื่องไปถึงบีโอไอว่าขอให้พิจารณาดีๆ ว่าควรจะให้หรือไม่ เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้ประเทศเราในหลายด้าน

 

จุดยืนหรือข้อเรียกร้อง

ขยะประเทศไหนก็ควรจะต้องจัดการในประเทศนั้น ถ้ามีขยะมากจนจัดการไม่ได้ก็ต้องรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันผลิตขยะให้น้อยลง สร้างแนวทางการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ผลักภาระจากการบริโภคของตัวเองไปให้ประเทศอื่น โดยเฉพาะในแถบแอฟริกาที่เจอการนำขยะอันตรายไปทิ้งจนต้องรวมตัวกันกระทั่งมีอนุสัญญาบาเซล

 

แต่ภายใต้อนุสัญญานี้ก็ถูกชาติอุตสาหกรรมรวมตัวกันบล็อกไม่ให้มีข้อบัญญัติการห้ามขนย้ายของเสียอันตรายไปยังประเทศอื่น มันก็เลยกลายเป็นว่าเพียงให้พยายามลดและกำจัดภายในประเทศ แต่ก็มีความพยายามผลักดันข้อห้ามนี้ให้ได้ ท่ามกลางความพยายามบล็อกของชาติมหาอำนาจที่ใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจ และไม่ยอมลงนาม

 

สำหรับ JTEPA ควรจะมีการตัดข้อตกลงในส่วนนี้ออก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการค้าเสรี ภายใต้หลักการที่เคารพซึ่งกันและกัน

 

 

000

 

 

วีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ส่วนหนึ่งในคำชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550

 

 

เรื่อง Ban Amendment ถ้าญี่ปุ่นเข้าเป็นภาคีเขาก็จะมีพันธกรณีตามนั้น ทำให้ขยะอันตรายออกจากญี่ปุ่นไม่ได้ ความตกลงไทย-ญี่ปุ่นจะไม่ไปเปลี่ยนตรงนั้นหรือทำให้เจือจาง เพียงแต่ตอนนี้ญี่ปุ่นยังไม่ลงนามใน Ban Amendment ถ้าเขาไม่เป็นก็คือเขาไม่เป็น เราไปบังคับไม่ได้ ตอนนี้สิ่งที่ควรจะทำก็คือใช้แรงกดดันทางการเมือง ทางเศรษฐกิจทุกทางให้เขาเป็นภาคี

 

ส่วนความตกลงนี้จะทำให้เราต้องรับของเสียจากญี่ปุ่นไหม ความตกลงนี้ไม่ได้สร้างสิทธิให้ญี่ปุ่นส่งของเสียใดๆ มายังประเทศไทย แปลอีกทางว่าไม่ได้สร้างพันธกรณีใดๆ ให้ไทยต้องรับของเสียใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่สร้างคือ ถ้าเราจะรับอะไรเข้ามาในประเทศเรา เราจะเก็บอากรเท่าไร

 

ประเด็นที่สอง ความตกลงนี้ยืนยันสิทธิของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทยที่จะไม่ให้อะไรเข้าประเทศไทยก็ได้ ถ้าเราเห็นว่ามันขัดกับกฎหมายไทย หรือกฎหมายระหว่างประเทศ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็มีอำนาจตามกฎหมายทุกประการ

 

ประการที่สาม หากบังเอิญเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมาก็มีก๊อกที่สามเรียกว่า ข้อยกเว้น เป็นข้อยกเว้นที่เหมือนกันกับที่เรามีในดับบลิวทีโอ เป็นการยกเว้นจากการปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งก็คือการลดภาษีเหลือ 0 ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยเหตุผลหลายประการ

 

ประการแรก ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ประการที่สอง หากนำเข้ามาแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน พืช หรือสัตว์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราห้ามได้ทันที ความตกลงนี้ยืนยันข้อยกเว้นเหล่านั้น ฉะนั้น ไม่ว่าอากรจะเท่าไร ถ้าเข้าไม่ได้ก็เข้าไม่ได้

 

ส่วนประเด็นที่วิจารณ์เรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ว่าข้าราชการทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ ขอไม่วิจารณ์และมันไม่เกี่ยวกับความตกลงไทย-ญี่ปุ่น ถึงไม่มีความตกลงไทย-ญี่ปุ่น ข้อกล่าวหานี้ก็ได้ยินมานานแล้ว

 

ที่บอกว่ากฎ rules of origin ยกระดับ "ขยะ" เป็น "สินค้า" ผมคิดว่าไม่ควรใช้คำว่า "ขยะ" ควรใช้คำว่า "ของเสีย" จะเป็นศัพท์ทางวิชาการที่ถูกต้องกว่า การกำหนดว่าอะไรก็ตามที่จะเป็น originating goods ไม่ใช่การยกระดับหรือลดระดับ มันเป็นเรื่องที่จะบอกว่าอะไรมีสิทธิได้รับการลดอากรให้เหลือ 0 ซึ่งจะเป็นสิ่งของที่ส่วนใหญ่แล้วแนวคิดหรือปรัชญาในการตกลงทำการค้านั้นต้องเป็นของที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ยังค้าขายได้ พวกนักเจรจา ศุลกากรก็จะเอาไปใส่ไว้

 

ข้อกังวลว่าถ้าญี่ปุ่นจะมาลงทุนกำจัดขยะในประเทศไทยจะมีผลเสียหรือไม่ ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ ผมเป็นผู้เจรจาบทการค้าบริการ การค้าบริการมีหลายสาขามาก หนึ่งในนั้นคือการให้บริการกำจัดหรือเปลี่ยนแปลงขยะ ผมใช้คำว่าขยะให้เข้าใจง่าย แต่ความจริงแล้วขอยืนยันว่าควรเรียกว่าของเสีย บริการนี้ยืนยันได้เลยว่าเราไม่เปิดให้มาลงทุน ใครจะทำต้องมาขออนุญาต และมันมีกฎด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะควบคุม

 

 

ข่าวประกอบ

 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (ฉบับเต็ม) : ตอบกลุ่มเอ็นจีโอเรื่องผลศึกษาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net