Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดเสวนาหัวข้อ "ก้าวต่อไปการเมืองไทยจะเดินหน้าหรือถอยหลัง"


 


ในเวทีดังกล่าว ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์แนวโน้มการเมืองไทยในอนาคต ว่าจะเกิดปรากฎการณ์ทำให้พรรคการเมืองไทยอ่อนแอลง และสามองค์กร คือ ทหาร องคมนตรี และศาล จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองแทน ซึ่งเท่ากับว่า ชนชั้นนำของประเทศไทยกำลังแย่งชิงอำนาจกันโดยใช้ประชาชนเป็นเบี้ย


 


000


 



 


ผมคิดว่า ทุกวันนี้ เรามีความยากลำบากในการพูดถึงเรื่องการเมือง เพราะบางครั้ง เราอยากพูดถึงปัจจัยทางการเมืองให้ครบ ซึ่งไม่ได้มีแค่ ทหาร อาจารย์ หรือราชนิกูล มันมีมากกว่านั้น แต่พูดไม่ได้


 


ประการหนึ่งคือ รัฐประหารครั้งนี้ทำให้เกิดวิวาทะทางความคิดครั้งใหญ่ในหมู่ปัญญาชน คือซีกหนึ่งก็สนับสนุนการรัฐประหาร เพราะเห็นว่าระบอบทักษิณได้กลืนกินประเทศไทยจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้แล้ว เราจึงต้องอาศัยยอดมนุษย์อุลตร้าแมน ขี่รถถัง สวมเสื้อเหลืองมาช่วยยึดอำนาจ


 


ซึ่งคนในกลุ่มซีกนี้ เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนได้จากงานเลี้ยงเมื่อค่ำวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อราชนิกูล กลุ่มที่สนับสนุนการรัฐประหารได้จัดงานเลี้ยงขึ้นและเชิญกลุ่มต่างๆ ไปเข้าร่วม เช่น คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร หนึ่งในคณะรัฐประหาร เชิญคุณสนธิ ลิ้มทองกุล หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เชิญคุณสุริยะใส กตะศิลา แกนนำพันธมิตรฯ ราชนิกูลจัดงานเลี้ยงขอบคุณผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหาร นี่เป็นภาพที่ผมไม่คิดว่าในช่วงชีวิตผมจะได้เห็น กลุ่มนักวิชาการที่เห็นด้วยก็มีเหมือนกัน เช่น บรรเจิด สิงคเนติ ,ธีระภัทร เสรีรังสรรค์ หรือคนที่ไม่เอารัฐประหารแต่เข้าไปช่วย เช่น สุรพล นิติไกรพจน์ ฯลฯ


           


อีกซีกหนึ่งที่ไม่เอาคุณทักษิณ และไม่เอาอำนาจนอกระบบเข้ามาแก้ไขปัญหา คือ ยังเชื่อว่าตัวระบบที่มียังสามารถแก้ไขหรือจัดการกับปัญหาของระบบคุณทักษิณได้ เช่น ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นี่คือสองกลุ่มใหญ่ๆ แล้วอาจจะมีกลุ่มที่สามที่ไม่เอาทั้งสองกลุ่มนี้อีก แต่ถ้าแบ่งออกเป็นกลุ่มก็จะมีแค่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ นี้


           


ผมคิดว่าขณะนี้ มันเกิดภาวะอิหลักอิเหลื่อในกลุ่มนักวิชาการ คือทุกวันนี้ เรื่องการเมืองไทยมันคล้ายศาสนาเข้าไปทุกทีแล้ว คุยไม่ได้ ต้องหลีกเลี่ยงที่จะคุย เกิดวิวาทะแบบนี้ขึ้นในสังคมไทย ซึ่งผมคิดว่าจริงๆ แล้วถึงเราจะเห็นต่างกัน เราก็คุยกันได้ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมันมีเรื่องน่าพูดถึง ในเบื้องต้นมันควรจะเป็นอย่างนี้


           


ผมมองว่าแนวโน้มการเมืองไทยตอนนี้ มีอยู่ 2 ส่วน คือ หนึ่ง มันจะเกิดปรากฎการณ์ที่จะทำให้พรรคการเมืองไทยอ่อนแอลง ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็ตาม คือมองจากข้อเสนอของสภาร่างรัฐธรรมนูญหลายๆ ข้อที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานความกลัว เป็นไทยรักไทยโฟเบีย (Phobia - โรคกลัว)


 


รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อาจจะเป็น ทักษิณโฟเบีย หรือไทยรักไทยโฟเบีย คือเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองปัญหาเฉพาะหน้าที่เราเจอในช่วง 4-5 ปีหลัง ซึ่งทำให้พรรคการเมืองไทยอ่อนแอลง


 


ตรงนี้มีนัยยะที่นักประวัติศาสตร์การเมืองโลกคงทราบดีว่า ความอ่อนแอของสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นเพราะการเกิดของสถาบันพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 17 ซึ่งเกิดการปะทะกันของสถาบันกษัตริย์ กับผู้ที่สนับสนุนระบบรัฐสภา และในช่วงนั้น ระบบรัฐสภาโค่นล้มได้ เห็นได้จากอำนาจของกษัตริย์อังกฤษที่หายไปตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว แต่ผมคิดว่า ในเมืองไทยมันเกิดปรากฎการณ์ที่ตรงกันข้าม หลังจากที่พรรคการเมืองเคยยึดเวทีการเมืองมาเป็นเวลานานก็กำลังเข้าสู่ขาลง


 


และสอง ผมเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เราอาจจะเห็นสามองค์กรเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างสำคัญ คือ หนึ่ง คือ "ทหาร" ซึ่งถ้าถามว่าเขาจะสืบทอดอำนาจกันหรือเปล่า ผมไม่รู้ แต่เขาไม่สามารถลงจากอำนาจตรงนี้ได้ เพราะไม่งั้นถูกตามเช็คบิลแน่ๆ ไม่อยากอยู่ก็ต้องอยู่ และที่อยู่ของเขาก็อาจจะเป็นวุฒิสภา


 


เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยบอกว่า ถ้าวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ซึ่งก็อาจมีความเป็นไปได้จากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะมาจากสองกลุ่มคือ "ทหาร" กับ "เพื่อนทหาร" แต่สังคมไทยมีบทเรียนกับการที่ทหารสืบทอดอำนาจ ทหารเองก็มีบทเรียนเช่นกัน


 


สอง คือ "องคมนตรี" ซึ่งจะกลายมาเป็นสภาพัฒน์ฯ ตัวจริง ทำหน้าที่วางนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตอนนี้ในทางการเมือง องคมนตรีก็ทำหน้าที่เป็นหลักค้ำประกันให้รัฐบาลนี้อยู่ อย่างที่พูดว่า สุรยุทธ์ (จุลานนท์) ดีที่สุด พูดอีกอย่างคือ องคมนตรีจะเป็นดัชนีชี้วัดความชอบธรรมของรัฐบาล และนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลตอนนี้ก็เห็นได้จากเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นแนวนโยบายของรัฐบาล แม้องคมนตรีจะไม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง แต่จะแสดงตนผ่านสื่อเรื่อยๆ และสื่อก็พร้อมจะรับฟังและถ่ายทอดตลอดเวลา


 


สาม คือ "ศาล" จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองภายใต้ร่มเงาของมาตรา 7 จริงๆ ศาลเองก็เพิ่งจะแอคทีฟ หลังพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 เมษายน แต่ศาลจะมีช่องทางเข้ามา เราลองนึกถึง กกต. , ปปช. ในตอนนี้ คนที่มาทำหน้าที่ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ คมช. แต่งตั้งเข้ามาคือใคร


           


ทั้งสามองค์กรนี้ อาจทำให้นักรัฐศาสตร์อธิบายว่า นี่คือการหวนกลับของระบอบอมาตยาธิปไตย หมายความว่า กลุ่มข้าราชการจะกลับมามีบทบาทในการกำกับเวทีการเมืองไทย ส่วนหนึ่งผมก็คิดว่าอาจจะจริง แต่ส่วนหนึ่งผมก็คิดว่าทั้ง 3 องค์กรอยู่ภายใต้วัฒนธรรมไทยที่ว่า เป็นสถาบันที่พูดไม่ได้ แตะไม่ได้


 


เราต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎร์พยายามจัดวางกษัตริย์ให้อยู่นอกวงการเมือง ให้มีบทบาทเป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า บทบาทของกษัตริย์ในทางการเมืองมีอยู่และมากด้วย


 


หนังสือเรื่อง The King Never Smile ซึ่งห้ามขายในเมืองไทยระบุว่า ในสังคมการเมืองไทย กษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง หนังสือเขาบอกแบบนี้นะ ไม่ใช่ผมพูดเอง ในทางวิชาการ ข้อเสนอแบบนี้ย่อมเสนอได้ ใครไม่เห็นด้วยก็แย้งมา แต่หนังสือเล่มนี้ถูกห้ามนำเข้าและไม่มีใครกล้าพูดถึง


           


เราชอบพูดกันว่า การเมืองบ้านเราเอาอังกฤษเป็นต้นแบบ แต่จริงๆ แล้วการเมืองในอังกฤษเขาเกิดขึ้นจากการช่วงชิงอำนาจของกษัตริย์กับรัฐสภานับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา อำนาจของกษัตริย์ได้ถูกริดรอนลงเรื่อยๆ อำนาจระบบรัฐสภาเข้าไปแทน กษัตริย์มีหน้าที่เพียงสัญลักษณ์


 


แต่ถ้ากลับมาดูในบ้านเรา หรือหลายๆ ประเทศที่มีระบบกษัตริย์ เราจะเห็นได้ว่าระบบกษัตริย์จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น เช่น ประเทศเนปาลก็เป็นแบบนี้ ผมคิดว่าเราควรพูดถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ให้ครบ ไม่อย่างนั้นเราก็จะได้ภาพการเมืองไทยที่ขาดวิ่น ภาพการเมืองไทยที่หลอกตัวเอง


           


สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันเหมือนกับว่า ชนชั้นนำของประเทศไทยกำลังแย่งชิงอำนาจกันโดยใช้ประชาชนเป็นเบี้ย หรืออย่างภาพที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 มกราคมที่ผมพูดถึง เราไม่อาจจะวิเคราะห์ได้เลย ถ้าเราไม่พูดถึงปัจจัยทางการเมืองให้ครบ ผมคิดว่าในปี 2550 นี้เราอาจจะพูดถึงการเมืองกันได้น้อยลง ในทางรัฐศาสตร์ก็อาจขาดชิ้นส่วนสำคัญในการวิเคราะห์ไป เราจะไม่สามารถทำความเข้าใจกับการเมืองได้อย่างแท้จริง


 


ดังนั้น ผมจึงหวังว่าในปี 2550 นี้ สังคมไทยน่าจะพยายามทำความเข้าใจกับการเมืองไทยในภาพที่แท้จริงให้มากขึ้น


 


 


ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


 


ราชนิกูลเปิดบ้าน รำลึกวันวาน...กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ จากผู้จัดการออนไลน์


ประมวลภาพจัดเลี้ยง รำลึกวันวาน "พลพรรคกู้ชาติ" จากผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net