Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 ม.ค. 50 เมื่อวันที่ 21 ม.ค. เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร จัดชุมนุม ณ ท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.30 น. ท่ามกลางผู้สนใจเข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 500 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยระหว่างการชุมนุม พร้อมทั้งมีแผงเหล็กกั้นให้มีขอบเขตแน่นอนและมีการตรวจค้นอาวุธเพื่อความปลอดภัยก่อนเข้าร่วมการชุมนุม


 


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ประสานงานเครือข่าย 19 กันยาฯ กล่าวว่า สื่อมีหน้าที่เป็นคนกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆซึ่งประชาชนจะได้รับฟังทั้ง 2 ด้าน เพื่อเลือกตัดสินใจเองจากเหตุผลที่ได้ฟังว่าควรจะเชื่อฝ่ายใด นี่คือประชาธิปไตย แต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ได้ทำการปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนในการแสวงหาข้อมูล การบอกว่ารัฐประหารเพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยนั้นจึงเป็นการกล่าวคำเท็จ และสิ่งที่สำคัญคือการกระทำของรัฐจะเป็นตัวชี้วัดความตั้งใจและเจตนาที่แท้จริง


 


นอกจากนี้ นายสมบัติยังได้วิพากษ์กรณีล่าสุดที่ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหาคดีระเบิดทั่วกรุงเทพในคืนวันที่ 31 ธ.ค. 49 ว่า กลุ่มทหารที่ถูกจับนั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มทหารกรณีคาร์บอมก่อนหน้านี้ แต่ พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 กลับมาแหย่ว่าระวังตำรวจจับแพะ สงสัยมื้อเย็นอาจกินปูนไปแทน ขอให้ใจเย็นๆเพราะหากตำรวจไม่มีหลักฐานคงไม่จับ และหากหาหลักฐานไม่ได้ก็ต้องแพ้ในศาลอยู่ดี


 


จากนั้นนายสมบัติได้กล่าวแนะนำหนังสือ "ลุงนวมทองสู้เผด็จการณ์" โดยระบุว่าคนจัดทำหนังสือเล่มนี้เจตนาขายหนังสือให้ได้ 100,000 บาท เพื่อนำรายได้มอบให้กับญาติของ นายนวมทอง ไพรวัลย์ ที่เสียชีวิตด้วยการอัตนิบาตกรรมประท้วงการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 แต่ด้วยการที่ปกหนังสือเป็นรูปรถถังทำให้สายส่งหนังสือไม่กล้านำไปขายทั้งๆที่เนื้อหาภายในไม่ได้มีอะไรน่ากังวล เป็นสิ่งที่แสดงว่าสังคมกำลังหวาดกลัว


 


นายแพทย์เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย ขึ้นเวทีของเครือข่าย 19 กันยาฯ โดยกล่าวว่า คมช.ได้สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนโดยได้แบ่งประชาชนออกเป็นคลื่อนใต้น้ำและบนน้ำ ขณะนี้ได้ส่งทหาร 1,800 คน ไปคุมคนยากจนในกรุงเทพ แบบนี้คมช.กำลังเห็นประชาชนเป็นศัตรูใช่หรือไม่ และยังได้ส่งทหารไปคุมชุมชนทั่วประเทศด้วย โดยอ้างว่าไปปราบคลื่นใต้น้ำ


 


"ที่ขอนแก่นผมอยู่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเชิญไปอภิปรายเรื่องการรัฐประหารกับผลกระทบประเทศไทยซึ่งเป็นงานวิชาการ งานนี้มีนักศึกษา 3 คน แจกแถลงการณ์คัดค้านการรัฐประหาร กลับถูกคมช. เรียกว่าว่าเป็นคลื่นใต้น้ำ" นายแพทย์เหวงกล่าว


 


ส่วนนางศิริวรรณ นิมิตรศิลป์ นายกสมาคมไทยแคลิฟอเนียภาคใต้ กล่าวว่ารู้สึกอับอายเพราะไปอยู่ประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางประชาธิปไตยเนื่องจากไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งถ้าอยากเป็นนายกฯก็ให้ลาออกมาเลือกตั้ง อยากเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน


 


การอภิปรายได้ดำเนินไปเรื่อยๆ รวมทั้งมีการอ่านบทกวีและเล่นดนตรี จนกระทั่งเวลาประมาณ 19.00 น. จึงเริ่มตั้งขบวนเพื่อเดินทางไปกองทัพบก ด้วยเหตุผลว่าวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันกองทัพไทย จึงต้องการเรียกร้องให้กองทัพกลับมาเป็นกองทัพของประชาชน


 


ในการจัดขบวนชุดหน้าเป็นการ์ดหนุ่มสาวจากเครือข่าย 19 กันยา ฯ ตามมาด้วยขบวนป้ายข้อความต่อต้านการรัฐประหาร และรถเครื่องเสียง ส่วนหลังสุดเป็นแถวประชาชนผู้มาเข้าร่วมเกือบ 1,000 คน โดยขบวนได้เดินออกมาจากสนามหลวงทางฝั่งตรงข้ามศาลฎีกาไปตามถนนราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ระหว่างทางมีช่างภาพจาก ASTV มาถ่ายในขบวนจึงถูกโห่ไล่ และขว้างด้วยขวดน้ำ การ์ดจึงรีบมากันออกไปแต่ช่างภาพไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง เป็นการชุลมุนครู่หนึ่ง ทว่าขบวนก็เคลื่อนไปถึงหน้ากองทัพบกโดยสันติ


 


ทั้งนี้ ในช่วงเดินขบวนบนถนนราชดำเนินนั้น นายอุเชนทร์ เชียงแสน จากกลุ่มโดมแดงต้านรัฐประหาร กล่าวเล่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นบนถนนราชดำเนินเมื่อ 15 ปีก่อนว่า ที่ผ่านมากองทัพมีบทบาทน้อยมากในการจรรโลงประชาธิปไตย ในเหตุการณ์พฤษภา 35 มีผู้นำกองทัพคนหนึ่งนำทหารมาจากป่าหวายมาฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่มีแค่ 2 มือ ผู้นำคนนั้นคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แล้วแบบนี้จะเรียกว่าเป็นผู้มีคุณธรรมได้อย่างไร จากนั้นจึงได้ นำตะโกนคำว่า "คมช. ออกไป" และ "สนธิ สนธิ" "ออกไป ออกไป"


 


สำหรับบรรยากาศหน้ากองทัพบกมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารักษาความปลอดภัยประมาณ 200 นาย บางส่วนมีโล่ป้องกัน ส่วนหน้าประตูกองทัพบกคล้องด้วยกุญแจสายยู รอบนอกล้อมด้วยแผงเหล็ก กลุ่มผู้ชุมนุมจึงนั่งหน้ากองทัพบกบริเวณถนนราชดำเนินเส้นกลาง โดยหันหน้าเข้าหากองทัพ แต่เว้นพื้นที่สำหรับการจราจรจึงไม่ได้ติดขัดนัก สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าห้องน้ำร้านลิขิตไก่ย่างข้างเวทีมวยราชดำเนินประกาศให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ใช้ได้ตลอดเวลา


 


กิจกรรมบริเวณนี้เป็นการอภิปรายต่อเนื่องจากสนามหลวง จากนั้นเมื่อเวลา 20.45 น.จึงเผาป้ายชื่อกระดาษแทนสัญลักษณ์ผู้มีส่วนและมีผลได้ผลเสียจากการรัฐประหารได้แก่ เปรม สุรยุทธ์ สนธิ ประติพันธ์ ชลิต สพรั่ง อนุพงษ์ บุญสร้าง วินัย นรนิติ และพันธมิตร จากรายชื่อพบว่าส่วนใหญ่เป็นแกนนำ คมช. นำโดย นพ.เหวง นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ จากมูลนิธิดวงประทีป และอดีต ส.ว.กรุงเทพฯ รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากเผาก็ใช้น้ำราดเพื่อดับไฟ


 


จากนั้น น.ส.อรุณวณา สนิกวาที นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงอ่านคำประกาศวันกองทัพไทย ก่อนอ่านระบุว่า ผู้ที่ควรจะตัง้ใจฟังอย่างยิ่งคือคนที่อยู่ในกองทัพและในทำเนียบรัฐบาลหากรักประชาธิปไตยดังที่พูดจริง


 


คำประกาศวันกองทัพไทย


 


นับแต่กองทัพไทยสมัยใหม่ก่อตั้งมาร้อยปีเศษ ผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สุดของกองทัพไทยคือ การทรยศประชาชนด้วยการรัฐประหารอย่างซ้ำซากที่สุดชนิดที่ไม่มีที่ไหนในโลกทำได้ขนาดนี้อีกแล้ว


 


การยึดอำนาจโดยทหารเมื่อ 19 กันยา 49 เป็นไปได้ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองระดับโครงสร้าง คือรูปแบบของรัฐและอุดมการณ์ และการเมืองในระดับสถานการณ์ ที่ถูกสร้างขึ้นก่อนหน้านี้นานนับปีโดยมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นตัวละครหลัก


 


การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่ามีกลุ่มอำนาจอื่นในการเมืองไทยที่เป็นผู้ควบคุมบงการกองทัพอย่างแท้จริง หาใช่รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ เมื่อกองทัพมิได้ถูกควบคุมโดยผู้แทนของประชาชนและไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการ/ความจำเป็นของประชาชนและระบอบประชาธิปไตย เราจึงกล่าวได้ว่า กองทัพไทย ณ วันนี้ยังมิใช่เป็นกองทัพของประชาชนอย่างแท้จริง ตราบใดที่กองทัพถูกควบคุมโดยคนนอก ตราบนั้นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองของการรัฐประหารย่อมเกิดซ้ำซากไม่สิ้นสุด


 


เนื่องในโอกาสวันกองทัพไทย(18 มกรา 50) พวกเรามารวมตัวกัน ณ ที่นี้เพื่อยืนยันว่ากองทัพเป็นของประชาชนทุกคนไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร กองทัพไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของอดีตผู้นำเหล่าทัพที่มากด้วยบารมี ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้นำเหล่าทัพในปัจจุบัน กองทัพมิได้เกิดขึ้นจากการประทานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์/ผีสางเทวดาที่ไหน หากแต่เกิดขึ้นโดยเจตจำนงค์ร่วมของคนในชาติ ดำรงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนและเงินภาษีของประชาชน แต่ความเป็นจริงวันนี้คือ ผู้นำเหล่าทัพเร่ขายการปฏิวัติรัฐประหารกับนายธนาคารด้วยเศษเงินไม่กี่ร้อยล้านบาท กองทัพจึงไม่ต่างอะไรจากสมบัติส่วนตัวชิ้นหนึ่งของคนเหล่านั้น


 


พวกเรา ณ ที่นี้ยืนยันว่ามิได้เป็นศัตรูกับทหารทั้งกองทัพ หากแต่พวกเราเป็นศัตรูกับชนชั้นนำบางกลุ่มในกองทัพและระบบโครงสร้างบางอย่างของกองทัพและการเมืองไทยที่ทำให้กองทัพแยกตัวถอยห่างจากประชาชน พวกเรายืนยันว่าต้องทำให้กองทัพเป็นกองทัพของประชาชนอย่างแท้จริงให้จงได้ แม้อดีตที่ผ่านมาจะไม่เคยเป็น


 


การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการด้วยการขับไล่ทหารกลับเข้ากรมกองและจัดการเลือกตั้งจึงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กองทัพกลายเป็นกองทัพของประชาชน สิ่งสำคัญกว่านั้นคือต้องจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการเมืองและประชาชนเสียใหม่ ด้วยการทำให้กองทัพอ่อนแอทางการเมืองแต่ยังคงเข้มแข็งทางการทหาร นั่นคือทำให้กองทัพหมดศักยภาพในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยเด็ดขาด อดีตที่ผ่านมาแม้สังคมไทยบางช่วงเวลาจะเป็นประชาธิปไตยพอสมควร แต่สังคมไทยก็ได้เสียโอกาสในการถกเถียงเรื่องนี้มาตลอด แม้แต่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็แทบไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เลย ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาตกค้างทางประวัติศาสตร์ ที่รอวันชำระสะสางอยู่


 


อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งที่ผู้ทำรัฐประหารอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยก็เป็นได้ คือ ผลในท้ายที่สุดของการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการขุดหลุมฝังตัวเองของเหล่าผู้นำเผด็จการในกองทัพ กลุ่มอำนาจที่อยู่เบื้องหลังกองทัพ และระบอบอำนาจนิยมโดยทหาร มิให้โงหัวขึ้นมาได้อีกอย่างถาวร เพราะวันนี้พี่น้องประชาชนจำนวนมากมายมหาศาลได้ตระหนักรู้แล้วและจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ คนเหล่านี้จะเป็นคนฝังเผด็จการด้วยมือของพวกเขาเอง กองทัพแห่งความชั่วร้าย จะถูกฝังไว้ ณ สนามหลวงและราชดำเนินแห่งนี้ คงเหลือไว้แต่กองทัพที่รับใช้ประชาชนและระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น พวกเขาจะร่วมกันทำให้ 19 กันยา 49 เป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


ประกาศ ณ หน้ากองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก


21 มกราคม 2550


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net