เสนอสร้างอนุสาวรีย์ "จรัล มโนเพ็ชร" คืบ เทศบาลชม.ชงตั้งกรรมการศึกษา

เทศบาลนครเชียงใหม่เล็งตั้งคณะกรรมการศึกษาการก่อสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินล้านนาผู้ล่วงลับ หลังศิลปิน-นักวิชาการยื่นหนังสือเรียกร้องเมื่อกันยาปีก่อน "สุนทรี เวชานนท์" ศิลปินร้องคู่จรัลเสนอทำในหอศิลป์เพื่อเป็นที่รวบรวมผลงานให้คนรุ่นหลังศึกษา

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน

 

การหารือการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับจรัล มโนเพ็ชรเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา

 

หลังจากช่วงครบรอบ 5 ปีการเสียชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินเพลงคำเมืองผู้ล่วงลับ ได้มีนักวิชาการและศิลปินในเชียงใหม่ 36 รายนำโดย รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยื่นหนังสือเสนอให้มีการสร้างอนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชรต่อนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่นั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)

 

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้นายมนัส ศิริมหาราช รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เชิญนักวิชาการ ศิลปิน และผู้เกี่ยวข้องร่วมกันหารือเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่จรัล มโนเพ็ชร ณ ห้องประชุม หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

 

 

เสนอสร้างอนุสาวรีย์จรัลเป็นศักดิ์ศรีคนล้านนา

โดย รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จรัล มโนเพ็ชรเป็นที่รักของคนเมืองและคนทั้งประเทศ ตลอดจนคนไทยในต่างประเทศ จรัลเป็นคนวัดฟ่อนสร้อย ห่างจากประตูเชียงใหม่ร้อยกว่าเมตร แต่เมื่อเสียชีวิตแล้วได้ไปประกอบพิธีฌาปนกิจที่ จ.ลำพูน ซึ่งตนนับถือน้ำใจคนลำพูนมาก

 

ทั้งนี้จรัล ถือเป็นศักดิ์เป็นศรีของเมืองเชียงใหม่และล้านนา การสร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงคนดีที่จากไปนั้น ถ้าสร้างแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม คือ หนึ่ง เรื่องการศึกษา สอง เป็นการเคารพกตัญญู ยกย่องสรรเสริญคนที่เป็นแบบอย่างที่ดี สาม ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น มีนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูป ซื้อน้ำ ซื้อขนม ซื้อของที่ระลึก ซื้อเพลงอ้ายจรัล ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว การสร้างอนุสาวรีย์จะถือว่าทำเรื่องเดียวได้ทั้งหน้าตาของทั้งผู้บริหารและหน้าตาของบ้านเมือง

 

กรณีอนุสาวรีย์ของจรัล มโนเพ็ชรตนเห็นว่าหนึ่ง สมควรอย่างยิ่งที่จะสร้าง สอง ถ้าทำแล้วควรจะทำให้ดีๆ เพื่อให้เป็นหน้าตาของเมืองเชียงใหม่และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย คนรุ่นหลังจะชื่อชมคนรุ่นนี้ว่ามีสายตายาวไกล สาม เมื่อจะทำโครงการ อาจมีการปรึกษาหารือกันว่าจะสร้างจุดไหนดี หากสร้างไกลก็ไม่มีนักท่องเที่ยว ดังนั้นจึงต้องหาจุดที่ดึงดูด โดยเอาอนุสาวรีย์ของคนๆ นี้เป็นคนนำคนแรก ถ้าหากมีชุมชนต่างๆ ในเชียงใหม่เห็นว่าชุมชนของตนมีคนดีก็เห็นว่าสร้างอนุสาวรีย์ให้ได้

 

 

ให้ประชาชนสามารถส่งความเห็นเสนอต่อการสร้าง

"เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ น่าจะมีการเปิดเว็บไซต์ เปิดเวทีเพื่อให้มีการส่งความเห็นเข้ามา มีการประกวดแบบ หรือเอาเพลงอะไรใส่เข้าไปในอนุสาวรีย์กดปุ่มแล้วมีเพลงอะไรออกมา เช่น สาวมอเตอร์ไซค์ หรืออุ้ยคำ ก็สามารถหารือกันได้ เป็นหน้าตาของเมือง เทศบาลน่าจะผลักดันเรื่องนี้ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเทศบาล ต่อเมืองและประเทศ ซึ่งจะส่งผลสะเทือนทางเศรษฐกิจและเป็นจุดหนึ่งที่ดีที่งามของเมือง" รศ.ดร.ธเนศวร์กล่าว

 

ทั้งนี้ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เสนอถึงสถานที่สร้างอนุสาวรีย์จรัล มโนเพ็ชร 4 แห่ง คือ หนึ่ง ข่วงประตูท่าแพ เพราะมีบริเวณกว้าง แต่อยากให้สร้างไว้เล็กๆ มุมเดียว ไม่ใช่ใหญ่โตแบบอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

สอง คือสี่แยกกลางเวียง หรือ สาม หน้าวัดพระสิงห์ เพราะทั้ง 2 แห่งมีถนนคนเดินและมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และสุดท้ายก็คือประตูเชียงใหม่ ซึ่งมีลานกว้างและอยู่ใกล้บ้านเกิดของจรัล มโนเพ็ชร โดยยังเสนอให้มีคณะกรรมการที่มาจากหลายฝ่ายเพื่อพิจารณาการสร้างรูปปั้นของจรัล

 

 

"สุนทรี" เสนอตัวจัดคอนเสิร์ตหาทุน ชี้ควรหาสถานที่รวบรวมผลงานจรัล

สุนทรี เวชชานนท์ ศิลปินเพลงโฟล์คซองคำเมืองคู่กับจรัล กล่าวว่า เรื่องที่อาจารย์ธเนศวร์เสนอให้มีการสร้างอนุสาวรีย์สำหรับจรัล มโนเพ็ชรนั้น ตนเองก็คิดมานานแล้ว เพราะจรัลนั้นเป็นที่ยอมรับและอยู่ในใจของผู้คนมากมาย ในส่วนของงบประมาณที่สร้างอาจจะขาด แต่ตนของเสนอตัวในฐานะนักร้องที่ร้องคู่มากับคุณจรัลมาโดยตลอดก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ อาจจะมีการจัดคอนเสิร์ตเพื่อหาทุน และตนสามารถชวนบุตรสาวคือลานนา เพราะลานนาก็นับถือคุณจรัลตลอดมา

 

ส่วนอนุสาวรีย์ของจรัล มโนเพ็ชรนั้นตนเสนอให้สร้างภายในหอศิลป์ เพราะเป็นสถานที่ๆ มีความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยาก และทรัพย์สิน ของใช้ไม้สอย คุณจรัลก็ยังอยู่ และค่อนข้างกระจัดกระจาย แม้ผู้จัดการส่วนตัว (มานิต อัชวงศ์) ของจรัลดูแลส่วนหนึ่ง แต่ถ้าสิ้นเขาไปจะลำบาก แต่ถ้าอนุสาวรีย์ของจรัลอยู่ในหอศิลป์จะรวบรวมข้าวของคุณจรัลได้ คือมีจุดๆ หนึ่งไว้ให้คนเห็นรายละเอียด มีที่เก็บโน้ตเพลง แล้วจากนั้นจะไปสร้างอนุสาวรีย์ในที่สาธารณะก็ได้ไม่เป็นไร สุนทรีกล่าว

 

 

อยากให้คนมีส่วนร่วม "ต้องถามเหนือถามใต้"

แสวง มาละแซม อาจารย์วิชาสังคมศึกษา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวสนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์ของจรัล มโนเพ็ชร โดยเห็นว่า ประการที่หนึ่ง อนุสาวรีย์อ้ายจรัลจะเป็นเครื่องเตือนสติ เป็นที่ระลึกว่าคนรุ่นหลังยังไม่ลืมอ้ายจรัล ประการที่สอง เด็กๆ จะได้เห็นว่าคนที่มีผลงานเป็นที่ปรากฏ เป็นแบบอย่างที่ดีจะได้รับการสร้างอนุสาวรีย์ บุคคลสำคัญในท้องถิ่นจะเป็นแหล่งการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งนี้หลักสูตรท้องถิ่นเป็นวิชาที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของตัวเอง บุคคลตัวอย่างจึงควรปรากฏตัวอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่สาธารณะ และ ประการที่สาม ตนขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่าจารีตไทยในการสร้างอนุสาวรีย์มันมีหลายยุค เราคุ้นเคยกับการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับผู้นำหรือเจ้านาย แต่จารีตการสร้างอนุสาวรีย์ปัจจุบันมันไม่มีพรมแดน คือสิ่งที่จะปรากฏคือคุณงามความดี หรือผลงาน

 

ดังนั้นอนุสาวรีย์ถ้าสร้างเฉยๆ คงไม่ได้ ต้องมีบริบท ต้องมีองค์ประกอบ เพื่อให้คนเข้าใจว่าเหตุใดจึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ ตนจึงเสนอให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ และมีการรวบรวมผลงานของอ้ายจรัล เพื่อให้คนเข้าไปสัมผัสได้ไม่ใช่เงยหน้าดูแล้วเดินผ่านไป และประการต่อมาคงจะมีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่เพียงเฉพาะงานของอ้ายจรัล แต่รวมถึงองค์ความรู้ด้านเพลงพื้นเมือง และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมันจะต้องเชื่อมโยงกับบริบทอื่นนำไปสู่ความรู้ต่างๆ ต่อไป

 

อย่างไรก็ตามการสร้างอนุสาวรีย์ของจรัล จะต้องถามเหนือถามใต้ ถ้าทุกคนมีส่วนร่วมการสร้างอนุสาวรีย์จะเป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าคนกลุ่มหนึ่งทำ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง จะไม่เหมาะ จึงต้องพิจารณาให้ดี "ถ้าสามารถสร้างได้ก็จะสะท้อนว่าท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ไม่ใช่คนที่อื่นหรือราชการมีชี้นิ้วสั่งคิดแทนเรา" อาจารย์แสวงกล่าว

 

 

หวังสร้างอนุสาวรีย์ให้คนสำคัญในเชียงใหม่อีก

ชัยยงค์ ไชยศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้เคยเสนอทฤษฎีประวัติศาสตร์ว่าพระนเรศวรมหาราชสวรรคตที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ไม่ใช่ "เมืองหาง" ในประเทศพม่า กล่าวว่านอกจากการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับจรัล มโนเพ็ชร แล้ว ในวาระต่อไปน่าจะมีการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับบุคคลอื่นตามประวัติศาสตร์แต่ละยุค

 

โดยสมัยราชวงศ์มังราย น่าจะมีการสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าติโลกราชมหาราช และพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์สุดท้ายที่ท้าทายอำนาจพม่า และถูกจับไปสวรรคตที่เมืองพม่า ในสมัยที่ล้านนาเป็นประเทศราช ตนขอเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์ให้เจ้าชีวิตอ้าว (เจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยประเทศราชลำดับที่ 5 พ.ศ.2399-2413) ที่แม้แต่สยามก็ให้การยอมรับ อีกท่านคือพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และศรีโหม้ซึ่งเป็นคนเมืองคนแรกที่เดินทางรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลไปเมืองฝรั่ง และยุคปัจจุบันก็คืออ้ายจรัล อาจารย์ชัยยงค์กล่าว

 

 

ชี้หาสถานที่ต้องรอบคอบ และตอบได้ว่าสร้างทำไม

อินสม ปัญญาโสภา นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคเหนือแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำต่อที่ประชุมว่าการสร้างอนุสาวรีย์นั้นเรื่องที่ยากคือเรื่องหาสถานที่ โดยนายอินสมได้ยกตัวอย่างการสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่หรือศาลากลางจังหวัดหลังเดิมว่า กว่าจะได้สถานที่ตั้งดังกล่าวใช้เวลานานมาก นับจากการริเริ่มของนายชาญ สิโรรส และนายบรรจง ชูสกุลชาติ ซึ่งเป็นศึกษาธิการจังหวัด มีการเสนอให้ใช้ข่วงประตูท่าแพ แต่ก็มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง คนเห็นด้วยก็มี คนไม่เห็นด้วยก็มี กระทั่งนายบรรจงย้ายไปรับตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดที่อื่นก็ยังไม่ได้ข้อยุติ จนกระทั่งนายไชยา มารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ย้ายรั้วของศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เข้าไปข้างใน จนได้อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และจากการเรี่ยไรเงินเพื่อก่อสร้าง ก็เหลือเงิน 10 ล้านและสามารถทูลเกล้าฯ ถวายได้หลายล้านบาท สถานที่สำหรับก่อสร้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ว่าคนจะเห็นด้วยหรือไม่ ต้องมีคำตอบให้สาธารณะว่าสร้างเพราะเหตุใด นายอินสมกล่าว

 

นายมนัส ศิริมหาราช รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่

 

รองนายกเทศบาลฯ เห็นด้วยในหลักการ ตั้งกรรมการเพื่อหารือ

มนัส ศิริมหาราช รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ในฐานะประธานการประชุมกล่าวว่าควรจะสร้างอนุสาวรีย์ให้กับจรัลนั้น ตนมองในรูปของการท่องเที่ยว เพราะเชียงใหม่นั้นขาดแหล่งท่องเที่ยว ตนเคยไปฮ่องกง เห็นเขาเอาลายมือดาราฮ่องกงไปปริ้นท์ลงบนพื้น มีคนมามุงดูเต็ม ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เขาสร้างขึ้นมา แล้วก็มีปรับปรุงริมน้ำที่นั่น มีการเพิ่มแสงสีเสียงเข้าไป

 

ดังนั้นในข้อเสนอให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ให้กับจรัล มโนเพ็ชรนั้นในหลักการ ตนเห็นว่าควรสร้าง และสร้างแล้วต้องหาง่ายไม่ใช่สร้างแล้วกางแผนที่หา และมีการกำหนดขนาดของอนุสาวรีย์ให้ชัดเจน มีคณะกรรมการดูแลการก่อสร้าง ตนยอมรับว่าถ้าอยู่ที่ประตูท่าแพจะดูแลง่ายเพราะมีเจ้าหน้าที่ดูแล ประเด็นงบประมาณไม่ใช่สาระสำคัญถ้าทุกคนเห็นด้วย ก็ไม่น่าห่วง เพราะจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนเอง

 

ทั้งนี้ นายมนัส ศิริมหาราช เสนอต่อที่ประชุมว่า จะตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อศึกษา และหารือเกี่ยวกับการก่อสร้าง เลือกสถานที่ ขนาดของอนุสาวรีย์ และกำหนดงบประมาณ แต่คงกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการก่อสร้างไม่ได้เพื่อไม่ให้เป็นการบีบกรรมการที่ตั้งขึ้นมา ตนเห็นว่าโบรชัวร์การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ต่อไปก็จะบอกที่ตั้งอนุสาวรีย์จรัล มโนเพชร โดยการประชุมครั้งต่อไปตนจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่ายเข้ามาประชุมเพื่อร่วมกันสรรหาคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

 

 

ข่าวประชาไทย้อนหลัง

ห้าปีแห่งการจากไปของ "จรัล มโนเพ็ชร" โดย องอาจ เดชา 9/9/2549

เครือข่ายศิลปินเหนือ เสนอสร้างอนุสาวรีย์ "จรัล มโนเพ็ชร" 5/9/2549

รำลึก 4 ปี แห่งการจากไป ของ "จรัล มโนเพ็ชร" กับความฝัน "หอศิลป์สล่าเลาเลือง" - รายงานพิเศษ องอาจ เดชา รายงาน 3/9/2548

อ่านหนังสือ อ่านชีวิต ของ จรัล มโนเพ็ชร 3/9/2548

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท