Skip to main content
sharethis

 



ประชาไท - 24 ม.ค. 2550 ภายหลังจากหนังสือพิมพ์ "เดอะนิวสเตรทไทมส์เพรส" แห่งประเทศมาเลเซียยื่นฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีกับ นายเจฟ อูอิ (Jeff Ooi) ผู้เป็นเจ้าของบล็อก Screenshots และ นายอาฮิรุดดิน อัตตาน (Ahirudin Attan) เจ้าของบล็อก Rocky's Bru ในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา บล็อกเกอร์จำนวนมาก ทั้งที่เป็นชาวมาเลเซียและชาวต่างชาติ รวมถึงองค์กรที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการฟ้องร้องครั้งนี้อย่างกระตือรือร้น


 


คดีของเจฟ อูอิ และอาฮิรุดดิน อัตตาน เป็น 2 คดีแรกในมาเลเซียที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบล็อกเกอร์ ซึ่งเป็นผู้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านทางพื้นที่บนอินเตอร์เน็ต กลุ่มบล็อกเกอร์ในมาเลเซียจึงเกรงว่าการฟ้องร้องครั้งนี้จะกลายเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลมาเลเซียนำไปใช่ในการควบคุมและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนอินเตอร์เน็ตต่อไป


 


สำนักข่าวเอพีรายงานว่าการ "บล็อก" หรือการแสดงความคิดเห็นบนเวบบล็อก (Weblog) ในมาเลเซีย เริ่มมีการพูดถึงประเด็นการเมืองและการทำงานของรัฐบาลปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการที่สื่อกระแสหลัก ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และสถานีโทรทัศน์วิทยุ จำเป็นต้องเซนเซอร์ตัวเอง หรือคอยคัดกรองข่าวสารข้อมูลที่จะนำเสนอ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีเรื่องหรือประเด็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล [1]


 


ทางด้านหนังสือพิมพ์ "เดอะนิวสเตรทไทมส์เพรส" หรือ NSTP ถือเป็นองค์กรสื่อกระแสหลักของมาเลเซีย และมีชื่อเสียงในต่างประเทศ เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในมาเลเซียฉบับแรกๆ ซึ่งก่อตั้งมานานหลายสิบปี แต่ NSTP มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านำเสนอแต่ด้านดีของรัฐบาล แต่ขาดการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน เพราะไม่เคยมีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเลย


 


ส่วนนายเจฟ อูอิ และนายอาฮิรุดดิน อัตตาน เป็นบล็อกเกอร์ที่ได้รับความนิยมในมาเลเซีย และมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองตลอดเวลา โดยเฉพาะนายอาฮิรุดดิน อัตตาน นั้น เคยเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ Malaysia Mail มาก่อน และเริ่มเขียนบล็อกของตัวเองเมื่อต้นปี 2549


 


หนังสือพิมพ์ NSTP ฟ้องร้องบล็อกเกอร์ทั้งสองราย โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาบางส่วนของบทความที่ถูกนำมาโพสต์ในบล็อกของอูอิและอาฮิรุดดิน มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ NSTP และตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว ทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อหนังสือพิมพ์ แต่ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าข้อความหรือบทความใดในบล็อกที่เป็นการพาดพิงหรือสร้างความเสื่อมเสียให้กับ NSTP


 


ตัวแทนของสื่อใหญ่ในมาเลเซียให้เหตุผลว่าต้องการเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ และนำไปให้การในชั้นศาลเท่านั้น


 


นักวิชาการสื่อสารมวลชนรายหนึ่งของมาเลเซีย แสดงความคิดเห็นผ่านทางสำนักข่าวอัลจาซีราห์ [2] ต่อกรณีดังกล่าวว่า การฟ้องร้องครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อชุมชนบล็อกเกอร์และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในมาเลเซียอย่างยิ่ง แม้จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหมดในมาเลเซียอาจจะมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร แต่ถือว่าคนกลุ่มนี้สามารถรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เป็นชุมชนออนไลน์ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนด้านการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี และทำให้บล็อกต่างๆ เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยน ถกเถียง และเผยแพร่ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพอีกช่องทางหนึ่ง


 


หากมีการดำเนินคดีทางอาญากับบล็อกเกอร์ทั้งสองราย จะทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาเลเซียที่ใช้อินเตอร์เน็ตถูกลิดรอนไปด้วย เพราะถึงแม้รัฐบาลมาเลเซีบจะยืนยันว่าไม่เคยมีการแทรกแซงสื่อ แต่สื่อกระแสหลักส่วนมากก็เลือกที่จะเซนเซอร์ตัวเองก่อนแล้ว


 


สำนักข่าวเอพียังรายงานอีกด้วยว่า รัฐบาลมาเลเซียเคยใช้การฟ้องร้องหมิ่นประมาทสื่อต่างๆ เพื่อนำไปสู่การยุติบทบาทสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และเป็นวิธีการที่ใช้กันมากในยุค 90"s


 


ด้วยเหตุนี้ องค์กรด้านสิทธิสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น SEAPA (The Southeast Asia Press Alliance) องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน รวมถึงบล็อกเกอร์ ทั้งที่เป็นชาวมาเลเซียและชาวต่างชาติหลายร้อยราย ได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่ม WWU: Walk With Us ขึ้นมา เพื่อคัดค้านการฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าว โดยระบุว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ต้องปกป้องและธำรงไว้ให้กับประชาชนทุกคน


 


นายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี แห่งมาเลเซีย ตอบโต้กลุ่มดังกล่าว โดยแสดงความคิดเห็นผ่าน หนังสือพิมพ์ เดอะสตาร์ ว่า "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ไม่มีความคิดเห็นที่ดี ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ"


 


"บล็อกเกอร์ที่แสดงความคิดเห็นผ่านอินเตอร์เน็ตอย่าหวังว่าจะสามารถหลบซ่อนตัวตนหรือสามารถหนีพ้นจากอำนาจของกฎหมายได้ บล็อกเกอร์ไม่ต่างจากนักหนังสือพิมพ์หรือคอลัมนิสต์ที่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเขียนขึ้นมา"


 


อย่างไรก็ตาม นายอาฮิรุดดิน อัตตาน หนึ่งในบล็อกเกอร์ที่ถูกฟ้อง ได้เขียนบทความในบล็อกของตัวเอง โดยระบุว่า [3] การแสดงความคิดเห็นพร้อมกับความรับผิดชอบเป็นอย่างไรนั้น เขารู้ดี เพราะเคยเป็นสื่อในกระแสหลักมาก่อน และเขาไม่ได้หลบหนีเมื่อได้รับหมายศาล เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่เขียนลงไปในบล็อกเป็นความจริงที่สามารถตรวจสอบได้ และไม่เคยคิดจะปิดบังสถานะของตัวเอง เพราะในบล็อก RockyBru มีการแสดงประวัติส่วนตัวและสถานที่ติดต่อเอาไว้เสร็จสรรพ


 


เช่นเดียวกับนายเจฟ อูอี ได้อ้างถึงบทความที่เคยโพสต์ไว้ในระยะแรกที่เริ่มต้นการเขียนบล็อกส่วนตัว ในบทความนั้นระบุว่า บล็อกเกอร์ทุกคนจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเขียนลงในอินเตอร์เน็ต ดังนั้นจึงควรจะคิดให้ถี่ถ้วนก่อนที่จะมีการโพสต์ข้อความใดลงไป พร้อมยังระบุอีกด้วยว่าการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งนี้ถือเป็นคุณูปการอีกอย่างหนึ่งของแวดวงบล็อกเกอร์ในมาเลเซีย เพราะจะทำให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหลายตระหนักถึงขอบเขตในการนำเสนอข้อมูลของตน ถ้าสิ่งใดไม่เป็นความจริง หรือเป็นเพียงการโจมตีบุคคลและสถาบันลอยๆ ความคิดเห็นเหล่านั้นจะได้รับการจัดการโดยอัตโนมัติ


 


ขณะเดียวกัน การต่อสู้ของบล็อกเกอร์ทั้งในและนอกศาลน่าจะนำไปสู่ "แนวทาง" หรือ นโยบายการจัดการเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านพื้นที่ในอินเตอร์เน็ตที่ดีต่อไปได้ และตนหวังว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะไม่ตกอยู่ในมือของคนบางกลุ่มอีกต่อไป


 


รายงานล่าสุดระบุว่ามีการจัดตั้งกองทุนเพื่อบล็อกเกอร์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการนำเงินที่ได้รับจากการบริจาคหรือสมทบทุนไปช่วยเหลือบล็อกเกอร์ที่ถูกละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างมีเงื่อนงำ


 


ที่มา:     Malaysian bloggers sued for libel


Press fears over Malaysia blogs lawsuit


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net