Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 ม.ค. 50 รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในการเสวนาปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 3 เรื่อง องค์กรอิสระ 2550 ซึ่งจัดโดยคณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ร่วมกับ ทีมวิจัย "การสร้างองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปการเมือง" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ว่า ภาพรวมขององค์กรอิสระ แม้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมามากที่สุด แต่ก็มีปัญหาทางกฎหมายเกิดขึ้นเรื่อยมาเกี่ยวกับบทบัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่ สถานะขององค์กรในทางกฎหมาย การตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กร และการแทรกแซงองค์กรอิสระ ระบบการสรรหาองค์กรอิสระไม่ทำงาน ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงได้  


 


ทั้งนี้ เวลาพูดถึงองค์กรอิสระมักจะเหมารวมกันไปว่าองค์กรที่ไม่เคยมีมาก่อนเลยก่อนปี 40 พอเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 40 แล้วเรียกว่าเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งในแง่มุมนี้ผนวกเอาศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองเข้าไปอยู่ในความหมายขององค์กรอิสระด้วย ซึ่งเขาเห็นว่า เป็นความเข้าใจที่น่าจะคลาดเคลื่อน


 


เขามองว่า องค์กรอิสระคือองค์กรที่เป็นอิสระจากการบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี แต่อิสระในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงอิสระที่ปราศจากการควบคุมหรือตรวจสอบในทางกฎหมาย


 


อย่างไรก็ตาม องค์กรอิสระของไทยมีความสับสนเชิงสถานะว่าใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ หรือใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. โดยพบว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน จึงเกิดปัญหาว่าใครจะเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระในเชิงโครงสร้าง โดยยกตัวอย่างกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งถูกตัดสินทั้งจากศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ โดยชี้ให้เห็นว่า หากผลของศาลทั้งสองออกมาต่างกันก็จะเกิดปัญหาตามมา 


 


เขาเสนอว่า หากจะร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ต้องระบุให้ชัดว่า จะให้เป็นองค์กรอิสระในระดับรัฐธรรมนูญ หรือในทางปกครอง ต้องไม่เขียนซ้อนทับกัน


 


สำหรับกระบวนการสรรหา เขาเสนอให้กำหนดรายละเอียดตัวบุคคลแล้วทำลิสต์รายชื่อโชว์ไว้ คนจะเห็นว่าใครเข้าเกณฑ์ ถ้าองค์กรไหนจะเลือก ต้องเลือกจากในลิสต์ ทำให้ทราบได้ว่า ใครเป็นคนเลือกใคร โดยองค์กรที่เลือกไม่มีสิทธิปลด แต่บุคคลนั้นจะถูกถอดถอนได้ หรือถ้าให้วุฒิสภาเลือกก็ต้องเปิดเผย จะรู้ได้ว่าใครเลือกใคร คนเลือกอาจรับผิดชอบมากขึ้น เพราะประชาชนจะไม่ต่อว่าเฉพาะคนในตำแหน่ง แต่ว่าไปถึงคนที่เลือกด้วย อย่างน้อยจะรู้ว่าใครเลือกใครมา ถ้าให้เงิน บล้อกโหวตก็เห็นได้ชัดเจนเลย


 


ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตต่อการทำรัฐธรรมนูญที่ระบุในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเรื่องกระบวนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการกันนักการเมืองออกไปจากการทำรัฐธรรมนูญ แต่ไม่กันคนขององค์กรอิสระ ว่า หากบอกว่า กันนักการเมืองเพราะมีส่วนได้เสีย ก็ต้องกันคนขององค์กรอิสระที่มีลักษณะขององค์กรออกไปด้วย เพราะเป็นการช่วงชิงต่อสู้ผลประโยชน์ทางการเมือง


 


 


ดาวน์โหลดไฟล์เสียงที่นี่ (1)


ดาวน์โหลดไฟล์เสียงที่นี่ (2)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net