นี่คือคำชี้แจงของสำนักเจรจาสำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศ ที่ส่งมาให้ "ประชาไท" เป็นการตอบข้อสังเกตในบทความของ "เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง" ก่อนหน้านี้ว่าด้วยเรื่อง "ของเสียอันตรายภายใต้เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น" ไล่เรียงกันแบบประเด็นต่อประเด็น .... รีบพิจารณาก่อนที่เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นจะผ่านสภา!
ชื่อเดิมของบทความ : JTEPA เปิดให้ญี่ปุ่นนำขยะเข้ามาทิ้งในไทยจริงหรือไม่ ?
โดย สำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น
หมายเหตุ : 17 มกราคม 2550 "ประชาไท" เผยแพร่บทความของ "เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง" จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม เรื่อง "ความเสี่ยงของสังคมไทยจากการเปิดเสรีนำเข้าของเสียอันตราย ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (Japan - Thailand Economic Partnership Agreement / JTEPA)" (คลิกเพื่ออ่าน) บทความดังกล่าวนำเสนอครั้งแรกในการชี้แจงคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 11 มกราคม นับเป็นบทความชิ้นแรกที่ชี้แจงข้อสังเกตและประเด็นปัญหาเกี่ยวกับประเด็น "ของเสียอันตราย" ที่มีการพูดกันได้อย่างเป็นระบบ ควรอ่านบทความดังกล่าวประกอบการชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศ |
ตอบข้อวิจารณ์จากบทความคุณ
1. ข้อเท็จจริงพื้นฐาน
ไม่มีข้อบทใดใน JTEPA ที่บังคับให้ไทยต้องยอมรับหรืออนุญาตหรือส่งเสริมให้ญี่ปุ่นส่ง "ขยะ" เข้ามาทิ้งในไทย ตรงกันข้าม JTEPA ยืนยันสิทธิโดยสมบูรณ์ของไทยที่จะรักษามาตรฐานสิ่งแวดล้อมไว้ตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
คำว่า "กาก" หรือ "ของเสีย" ที่ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 นั้น ถูกใช้เพียงเพื่อให้คำจำกัดความของ "สินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิด" เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าไทยมีพันธกรณีต้องนำเข้าสินค้าเหล่านั้น ส่วนคำว่า "กาก" หรือ "ของเสีย" ที่ปรากฏอยู่ในตารางภาษีในภาคผนวกก็เป็นส่วนหนึ่งของการจำแนกพิกัดอัตราภาษีศุลกากรตามระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System) ไม่ได้เป็นการกำหนดพันธกรณีให้ไทยต้องนำเข้าของเสียใดๆ จากญี่ปุ่นเช่นกัน
มาตรการห้ามและควบคุมการนำเข้าของไทย
1) กฎหมายไทย
พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ระบุชื่อหรือคุณสมบัติของวัตถุอันตราย ชนิดของวัตถุอันตราย กำหนดเวลาการใช้บังคับ และหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตราย รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับผู้ที่ประสงค์จะผลิต นำเข้า ส่งออก หรือครอบครองวัตถุเหล่านั้น หน่วยงานหลักๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นอกจากนี้กรณีที่มีการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติได้กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ทั้งจำและปรับ ตลอดจนได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะอื่นๆ เช่น การยึดหรืออายัดของกลางที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 5 กำหนดว่า "ในกรณีที่จำเป็นหรือสมควรเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สาธารณประโยชน์ การสาธารณสุข ... หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดของรัฐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยอำนาจของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจ ...(1) กำหนดสินค้าใดให้เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกหรือในการนำเข้า " หมายความว่า หากสินค้าใดจะมีผลกระทบเสียหายต่อสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สามารถห้ามการนำเข้าสินค้านั้นได้
2) อนุสัญญาบาเซล
ข้อ 11 วรรค 1 ของ JTEPA บัญญัติว่า คู่ภาคียืนยันสิทธิและพันธกรณีของตนภายใต้ความ
ตกลง WTO หรือความตกลงอื่นใดซึ่งภาคีทั้งสองฝ่ายเป็นภาคีอยู่
ไทยและญี่ปุ่นต่างเป็นภาคีของอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน ซึ่งควบคุมการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านของเสียอันตราย รวมทั้งป้องกันการขนส่งที่ผิดกฎหมาย (ภายใต้อนุสัญญาบาเซล หากพบว่ามีการลักลอบนำของเสียอันตรายมาทิ้งในประเทศ ภาคีผู้ส่งออกจะต้องนำกลับไปภายใน 30 วัน และต้องจ่ายค่าชดเชยด้วย) หมายความว่าการที่ญี่ปุ่นจะส่งของเสียอันตรายมาไทยก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้อนุสัญญาบาเซล JTEPA ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิทธิหรือพันธกรณีใดๆ ที่ไทยและญี่ปุ่นมีอยู่ในฐานะภาคีอนุสัญญาบาเซล
3) ข้อยกเว้นเรื่องสุขอนามัย คน พืช และสัตว์ และเรื่องสิ่งแวดล้อม ภายใต้ JTEPA ซึ่งสอดคล้องกับ WTO
บทบัญญัติข้อ 10 ของ JTEPA กำหนดให้ใช้บังคับข้อยี่สิบของความตกลงแกตต์โดยอนุโลม ซึ่งหมายความว่า ไทยสามารถใช้มาตรการใดๆ ที่จำเป็นในการปกป้องชีวิต หรือสุขภาพมนุษย์ สัตว์ หรือพืช (ข้อยี่สิบ อนุวรรค บี ของแกตต์) หรือมาตรการที่จำเป็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (ข้อยี่สิบ อนุวรรค จี ของแกตต์)
2. ตอบประเด็นของคุณเพ็ญโฉม
2.1 ข้อบทข้อ 28 ของ JTEPA
ประเด็นข้อวิจารณ์
คุณเพ็ญโฉมกล่าวว่า ประเด็นเรื่องการค้าของเสียอันตราย "..แอบแฝงรวมอยู่ในฐานะที่เป็นสินค้า โดยปรากฏอยู่ในบทที่ 3 ของร่างความตกลงฯ ที่กล่าวถึงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า " และได้อ้างถึงบทบัญญัติในข้อ 28 วรรค 2 ซึ่งกำหนดนิยามของคำว่าสินค้าที่ได้มาทั้งหมดหรือมีการผลิตทั้งหมดในภาคี (wholly obtained or produced entirely in a Party)
ข้อเท็จจริง
เจตนารมณ์ของข้อ 28 คือเพื่อระบุคุณสมบัติของ "สินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิด" ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ JTEPA กรณีที่มีการนำเข้าจากคู่ภาคี เพื่อไม่ให้ประเทศที่สามฉวยโอกาสใช้ประโยชน์เท่านั้น การเป็น "สินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิด" ไม่ได้หมายความว่าไทยมีพันธกรณีต้องนำเข้าสินค้านั้น
ข้อ 28 วรรค 1 ของ JTEPA กำหนดคุณสมบัติของสินค้าที่จะได้ถิ่นกำเนิดของภาคี ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ JTEPA โดยอนุวรรค เอ กำหนดว่า "สินค้าที่ได้มาทั้งหมดหรือมีการผลิตทั้งหมดในภาคี" ถือว่าเป็นสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิด
ข้อ 28 วรรค 2 กำหนดเพียงคำนิยามของ "สินค้าที่ได้มาทั้งหมดหรือมีการผลิตทั้งหมดในภาคี" ไม่ได้กำหนดพันธกรณีให้ไทยต้องนำเข้าสินค้าใดๆ การที่อนุวรรค เจ มีคำว่า "ของที่ใช้ไม่ได้" (scrap) หรือ "เศษ" (waste) อยู่นั้น ก็เพียงเพื่อระบุว่า "ของที่ใช้ไม่ได้" หรือ "เศษ" ที่ได้จากกระบวนการผลิตหรือการบริโภคในภาคีถือเป็นสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดในภาคีนั้น ส่วนการจะอนุญาตให้นำเข้าหรือไม่หรือจะควบคุมการนำเข้า-ส่งออกอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายไทย ข้อ 28 ของ JTEPA ไม่ได้บังคับให้ไทยต้องเปิดเสรีของเสียแต่อย่างใด
2.2 ตารางภาษี การลดภาษี
ประเด็นข้อวิจารณ์
คุณเพ็ญโฉมกล่าวว่า "...เมื่อนำนิยามข้างต้นมาเปรียบเทียบกับพิกัดศุลกากรของสินค้านำเข้า-ส่งออก และ "คำจำกัดความของสินค้า" ที่ประเทศภาคีจะต้องเปิดเสรีการค้าให้แก่กันตามที่ปรากฏอยู่ในตาราง Schedule of
ข้อเท็จจริง
ตารางภาษีในภาคผนวกของ JTEPA จัดทำขึ้นตามระบบฮาร์โมไนซ์ซึ่งเป็นระบบของพิกัดอัตราศุลกากรที่ใช้เป็นสากล ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงไทยและญี่ปุ่น ระบบฮาร์โมไนซ์กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรให้ครอบคลุมของทุกชนิด โดยมีวัตถุประสงค์ในการจำแนกประเภทของและมีการแตกย่อยลงไปอีกว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถบ่งชี้ได้ว่าของที่ถูกนำเข้ามายังด่านศุลกากรจัดเป็นสินค้าประเภทใด อยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรใดเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการอนุญาตให้นำเข้า
ดังนั้น การมีคำว่า "ของเสีย" "กาก" ฯลฯ ปรากฏอยู่ในตารางภาษีในภาคผนวกของ JTEPA จึงไม่ได้หมายความว่าไทยจะปฏิเสธการนำเข้าของเสียที่เป็นอันตรายไม่ได้ สำหรับของเสียบางประเภทที่ไทยอนุญาตให้นำเข้าได้ ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์สำคัญของกรมโรงงานอุตสาหกรรมคือ ต้องเป็นของเสียที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ต้องมีใบอนุญาต นำเข้าได้เฉพาะของเสียที่สามารถบำบัดได้เท่านั้น และห้ามนำเข้ามากำจัดโดยวิธีเผาหรือฝังในไทย
สำหรับของเสียที่ไทยอนุญาตให้นำเข้าได้ อัตราภาษีปัจจุบันของไทยคือ 1% และ 5 % หากมีการนำเข้าก็เป็นการนำเข้าโดยผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีในการคัดแยกวัตถุดิบมาใช้ในกระบวนการผลิต
ไม่ว่าอัตราภาษีจะเป็นเท่าใด ของเสียที่กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าก็เข้าไม่ได้ อัตราภาษีที่ลดภายใต้ JTEPA จะใช้กับของเสียที่กฎหมายอนุญาตให้นำเข้าได้อยู่แล้วเท่านั้นและอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายในปัจจุบัน
นอกจากนี้ อัตราภาษีที่ญี่ปุ่นลดให้ไทยสำหรับ "กาก" และ "ของเสีย" ทุกรายการก็เป็นศูนย์เช่นกัน หากการลดอัตราภาษีศุลกากรมีผลจะทำให้มีการไหลบ่าของขยะเข้าประเทศจริง
ก็ไม่สมเหตุสมผลที่ประเทศที่มีปัญหาวิกฤตขยะอยู่แล้วอย่างญี่ปุ่นจะลดภาษีเป็นศูนย์ อนึ่ง
ในส่วนของไทย ไทยมีสิทธิภายใต้อนุสัญญาบาเซลให้สามารถส่งออกของเสียอันตรายที่ไทยยัง
ไม่มีความสามารถกำจัดเองไปกำจัดที่ญี่ปุ่นได้ โดยเป็นไปตามเงื่อนไขของอนุสัญญาบาเซลและกฎหมายญี่ปุ่น
2.3 ปัญหาขยะในญี่ปุ่น การผลักดันกลไกการเปิดการค้าเสรี ท่าทีคัดค้าน
ประเด็นข้อวิจารณ์
คุณเพ็ญโฉมยังได้ยกประเด็นอื่นๆ มาสนับสนุนข้อวิจารณ์ของตน อาทิ ปัญหาวิกฤตขยะในญี่ปุ่น การผลักดันการเปิดการค้าเสรีของญี่ปุ่น ท่าทีของญี่ปุ่นที่คัดค้าน Basel Ban Amendment ซึ่งห้ามการส่งของเสียอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนา หรือแผนสร้างเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลขยะในเอเชียของญี่ปุ่น
ข้อเท็จจริง
ประเด็นเรื่อง ปัญหาวิกฤตขยะในญี่ปุ่น การผลักดันกลไกการค้าเสรี ท่าทีของญี่ปุ่นต่อ Basel Ban Amendment หรือแผนสร้างเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลขยะในเอเชียของญี่ปุ่น ที่คุณ
เพ็ญโฉมยกมานั้นเป็นเรื่องภายในของญี่ปุ่น ไม่เกี่ยวกับ JTEPA หรือมาตรการป้องกันของไทย
แต่อย่างใด ไม่ว่าปัญหาขยะของญี่ปุ่นจะวิกฤตแค่ไหน ไม่ว่าท่าทีของญี่ปุ่นต่อ Ban Amendment จะเป็นอย่างไร หรือไม่ว่าญี่ปุ่นจะมีแผนอะไร สิ่งที่ไทยไม่ให้นำเข้าตามสิทธิและมาตรการทางกฎหมาย ญี่ปุ่นก็ส่งมาไทยไม่ได้
2.4 ความอ่อนด้อยของไทยในการบริหารจัดการและกำกับดูแลของเสียอันตราย
ข้อวิจารณ์
คุณเพ็ญโฉมได้ตั้งประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลของเสียอันตราย 3 ประเด็นโดยกล่าวว่า "...มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับสถานการณ์การเปิดเสรีนำเข้าอันตรายภายใต้ความตกลง JTEPAโดยตรงก็คือ
1. หากมีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรม ระบบการควบคุมของไทยจะสามารถทราบเฉพาะรายการวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 ที่อยู่ในความดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น นอกนั้นจะไม่มีข้อมูล
2. แม้แต่รายการที่มีข้อมูลตามข้อ 1 ก็จะจำกัดอยู่เฉพาะข้อมูลการนำเข้าเท่านั้น ไม่มีระบบที่จะติดตามต่อในเส้นทางหลังจากนั้น ยกเว้นประเภทที่อยู่ใน 53 รายการ อย่างไรก็ดี วัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรมที่มีการควบคุม 53 รายการดังกล่าวล้วนแต่เป็นเคมีภัณฑ์ จึงไม่ใช่การควบคุมเรื่องของเสียอันตรายโดยตรง
3. การควบคุมของเสียอุตสาหกรรมในปัจจุบันเน้นที่การดูแลของเสียที่ผลิตจากโรงงานในประเทศ จึงยังมีช่องว่างของกฎข้อบังคับกรณีของเสียนำเข้า เช่น ในกรณีของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดเก็บ ย่อมจะไม่จัดเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ไม่ถูกบังคับตาม พ.ร.บ. โรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการดูแลเรื่องของเสียจากอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบัน"
ข้อเท็จจริง
3 ประเด็นข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า JTEPA เปิดเสรีการนำเข้าขยะอันตราย ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเพราะไม่มีสาระส่วนใดของ JTEPA ที่บังคับให้ไทยต้องนำเข้าของเสียจากญี่ปุ่น หรือจะกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมของเสียอันตรายของไทย
3. ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ
ดร.
4. สรุป
คณะเจรจาฯ ขอขอบคุณคุณเพ็ญโฉมและกลุ่มกรีนพีซ ที่ได้กรุณานำประเด็นสำคัญด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนี้เข้าสู่การพิจารณาของภาครัฐและสาธารณชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและสมควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้สาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ ในการนี้ หากทุกฝ่ายสามารถยอมรับข้อเท็จจริงกันได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และกลุ่มที่มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ก็น่าจะพิจารณาให้การสนับสนุนภาครัฐในการสอดส่อง ชี้เบาะแส ป้องกันและตรวจสอบผู้ที่จะฝ่าฝืนการกระทำผิดกฎหมาย อีกทั้งอาจใช้เครือข่ายที่มีอยู่กับกลุ่มในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แลกเปลี่ยนข้อมูล ชี้เบาะแส และเตือนภัยภาครัฐล่วงหน้าในกรณีที่ทราบว่าอาจจะมีการลักลอบนำขยะพิษจากประเทศนั้นๆ มายังประเทศไทย