เกิดมาเป็น "แหล่งข่าว"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 ภาพจาก banksy.co.uk

 

อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา

 

"เห็นชื่อก็ไม่อ่านแล้ว แต่ต้องเข้ามาขอด่าหน่อย"  เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นท้ายข่าวของประชาไท ที่โพสต์โดย 124.121.89.xxx

 

สำหรับเวบไซต์ข่าวนั้น การเอาใครสักคนมาเป็นข่าวในอินเตอร์เน็ต ก็ไม่ต่างจากพาเขาออกมายืนโด่เด่กลางสนาม ให้เสี่ยงต่อการถูกประชาทัณฑ์ โดยเจ้าตัวซึ่งเป็นฝ่าย "ถูกกระทำ" ไม่มีโอกาสเลือกได้ว่า จะรับหรือไม่รับทั้งดอกไม้และก้อนหินที่ผู้คนรุมขว้างเข้าใส่

 

ซ้ำร้ายคือ กิริยาที่ปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้น "เป็นสาธารณะ" ลำพังการถูกขว้างก้อนหินเข้าใส่มากๆ จนหน้าชา ก็หนักหนาพออยู่แล้ว แต่การถูกขว้างหินใส่กลางแจ้ง ดูจะทวีความเจ็บปวดให้มากยิ่งขึ้น

 

แหล่งข่าวมากมายที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะในเว็บไซต์ประชาไท ต่างก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ถูกวิพากษ์ด้วยอารมณ์ที่รุนแรง

 

น่าเศร้า ขณะที่เราต่างก็ประกาศเรียกร้องหาสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ก็หนีไม่พ้นที่เรื่องแบบนี้กัดกร่อนหัวใจเรา เมื่อเราเกือบจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า ดูโดยภาพรวมแล้ว ผู้ใช้เวบบอร์ดในเมืองไทย ไม่มีคุณภาพ

 

หรือจะต้องพูดว่า "ที่ใดมีเสรีภาพ ที่นั่นมีทุกข์"

 

หลายๆ ครั้งของการถกเถียงเรื่องนี้ คนจำนวนไม่น้อยเสนอให้ยกเลิกการเปิดให้แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นในท้ายข่าวในเวบไซต์ประชาไท หรือการยกเลิกเวบบอร์ด บ้างก็ว่าอย่าไปใส่ใจกับเวบบอร์ดไร้สาระ แต่นั่นคงไม่ถูกต้องนัก เพราะในยุคที่เราต้องตั้งคำถามกับการทำงานของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อกระแสรองก็ตาม เรากล้าพอหรือที่จะปิดกั้น ไม่สนใจ แล้วดูแคลนว่าความคิดเห็นในเน็ตมันก็ "แค่" ความเห็นห่วยๆ แล้วลืมไปว่าสิ่งที่ปรากฏออกมาก็สะท้อนกระแสสังคมได้ มากบ้างน้อยบ้าง

 

ไม่มีใครที่มีสิทธิคิดล่วงหน้าไปก่อนว่า การเปิดเสรีความคิดเห็น จะนำมาซึ่งความเห็นอันเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไม่มีใครมีสิทธิตัดสินว่า ความเห็นส่วนมากไม่ดี ที่ดีเป็นเพียงส่วนน้อย แล้วลงเอยด้วยการตัดสินใจทำลายพื้นที่เล็กๆ นี้ ควบคุมการแสดงความคิดเห็นโดยการปิดกั้นมันเสีย

 

อย่างไรก็ดี มันเป็นข้อดี และเข้าขั้นเป็น "ความจำเป็น" เลยด้วยซ้ำ ที่เรายังต้องร่วม หวั่นไหว สะเทือนใจ และติดตาม การแสดงความคิดเห็นในท้ายข่าวและเวบบอร์ดต่อไป ด้วยมุมมองของคนที่มีวุฒิภาวะ และเข้าใจธรรมชาติของการแสดงความเห็นในเน็ต

 

เราหลีกหนีการหายใจในอากาศที่ปนเปื้อนฝุ่นละอองไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือช่วยกันเรียกร้องไม่ให้มีคนก่อมลพิษมากเกินไป บนพื้นฐานที่ว่า เสรีภาพไม่อาจยอมให้ใครมาควบคุมได้ ที่ดีที่สุด คือกลไกการควบคุมกันเอง

 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อคนทำสื่อจะเสนอเรื่องราว ความเห็น บทสัมภาษณ์ของใคร โดยประสบการณ์แล้ว ย่อมต้องสามารถประเมินสถานการณ์ได้ล่วงหน้าว่า กระแสที่จะเกิดต่อแหล่งข่าวจะเป็นอย่างไร เมื่อเรื่องราวของแหล่งข่าวถูกนำเสนอไปแล้วมีกระแสตอบกลับที่รุนแรงเสียหาย นักข่าวผู้ผลิตงานชิ้นนั้นก็ต้องรู้สึกผิดชอบชั่วดีไปด้วย ไม่มากก็น้อย

 

ทำไมนักข่าวจึงต้องร่วมรู้สึก นั่นเพราะวิธี ลีลา การนำเสนอของสื่อ เป็นส่วนหนึ่งของการปลุกกระแสความรู้สึกของผู้คนได้ นี่คือข้อเท็จจริงของงานสื่อสารมวลชน และเราควรจะเลิกดัดจริตด้วยการพูดถึง "ความเป็นกลาง" เสียที เพราะเพียงการตัดสินใจเลือกว่าจะทำข่าวประเด็นไหนและไม่ทำประเด็นไหน นั่นก็คือความไม่เป็นกลางแล้ว

 

ความเป็นกลางที่แท้จริงนั้นไม่มี แต่ไม่ใช่จะเพิกเฉยได้ เพราะสิ่งที่ต้องยึดถือ มันคือ "ความพยายามเป็นกลาง" ต่างหาก

 

เมื่อเราไม่อาจปฏิเสธว่ากระแสที่เกิดกับแหล่งข่าวคนหนึ่งๆ นั้น ไม่เกี่ยวกับนักข่าวผู้ผลิตงาน ประเด็นสำคัญที่นักข่าวต้องคำนึงอย่างมาก คือเรื่อง "เจตนา" ที่มุ่งเน้นแก่นของเนื้อหา ไม่ใช่ล่ออารมณ์ผู้คน

 

นั่นอาจหมายถึงว่า การทำข่าวโดยนำเสนอเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่พอ แต่ต้องมุ่งสื่อสารปริบทที่แวดล้อมเกี่ยวข้อง และอธิบายเรื่องราวที่เป็นระหว่างบรรทัดให้ถูกถ้วนเท่าที่จะทำได้

 

เรื่องแบบนี้ ย้ำว่า สิ่งจำเป็นตลอดกาล คือ การเรียกร้องและตรวจสอบคุณภาพการทำงานของสื่อมวลชน และคนที่จะมีอิทธิพลในการควบคุมคนทำสื่อ จะไม่ใช่ผู้มีอิทธิพลการเมือง ผู้บริหารองค์กรสื่อ หัวหน้าข่าว บรรณาธิการ

 

แต่คือ มิตรรักนักอ่าน ต่างหาก.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท