แว่วร่าง พ.ร.บ.หนัง ให้กระทรวงวัฒนธรรมดูแลเซ็นเซอร์

ประชาไท - 29 ม.ค. 2550 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (ส.ส.ม.ท.) จัดการเสวนาวิชาการเรื่อง  "สิทธิเสรีภาพและหลักประกันวิชาชีพสื่อสารมวลชนในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" โดยมีนายบุญอยู่ ขอพรประเสริฐ เลขาธิการ ส.ส.ม.ท. ดำเนินรายการ


 

 

ไม่มี "สิทธิของสื่อมวลชน" ในรัฐธรรมนูญ

นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า

มาตรา 39-41 ในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นสิ่งที่ยอมรับร่วมกันในวงการสื่อสารมวลชน เนื่องจากได้กำหนดเรื่องเสรีภาพของสื่อไว้ดีแล้ว ทั้งยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการออกมาตราไว้อย่างชัดเจนด้วย

 

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ยังมีการแทรกแซงคุกคามเสรีภาพสื่ออยู่ ดังนั้นแค่ตราไว้จึงไม่เพียงพอจะคุ้มครองสื่อได้ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องสร้างกลไกที่เข้มแข็งเพื่อไม่ให้เกิดการคุกคามสื่อขึ้นอีก โดยอาจออกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือการรวมตัวกันขององค์กรวิชาชีพสื่อ ตัวอย่างเช่น การเกิดของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกควบคุมกันเอง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ แม้จะบอกว่า ทั้ง 3 มาตรานั้นดีแล้ว แต่เมื่อลองย้อนไปดูจะเห็นว่าพูดถึงแต่ "เสรีภาพของสื่อมวลชน" แต่ไม่พูดถึง "สิทธิของสื่อมวลชน" เลย ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องครอบคลุมถึงด้วย ขณะที่มีการคุ้มครองเสรีภาพที่แสดงออก แต่สิทธิไม่ได้รับการคุ้มครองเพราะไม่มีพูดถึงอย่างชัดเจน รวมถึงในกฎหมาย ลูกด้วย เช่น กรณีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเคยเสนอข้อมูลว่าเกิดเหตุรันเวย์สุวรรณภูมิชำรุด แล้วมีผู้โต้แย้งว่า ขาดข้อมูลข้อเท็จจริง ทำให้เสียหาย และเป็นที่ทราบกันว่านักข่าวถูกไล่ออก เมื่อความจริงปรากฎแล้วว่ารันเวย์ร้าวจริง ถามว่า สิทธิของนักข่าวหายไปไหน

 

นอกจากนี้ เวลาพูดถึงสิทธิเสรีภาพแล้ว ต้องพูดถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการด้วย แต่มาตรา 58-59 ใช้คำว่า "บุคคล" เท่านั้นมีสิทธิขอข้อมูล โดยมาตรา 59 ระบุว่า บุคคลนั้นต้องมีส่วนเกี่ยวข้องจึงจะมีสิทธิขอข้อมูลได้ แล้วสื่อมวลชนใช่บุคคลไหม ที่ผ่านมา สื่อขอข้อมูลยากต้องรอ  3 เดือน  6 เดือนจึงจะได้ กว่าจะถึงตอนนั้นก็เป็นข่าวเน่าลงตะกร้าไปแล้ว

 

 

เสนอตั้งสภาภาพยนตร์ควบคุมกันเอง

รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์แสดงความเห็นว่า ในมาตรา 39 ในรัฐธรรมนูญ 2540 สื่อภาพยนตร์ไม่ได้ถูกจำกัดไว้ในประเภทเดียวกับสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ทำให้เสรีภาพของภาพยนตร์ถูกกดด้วยการตรวจพิจารณาเซ็นเซอร์ จนผู้สร้างไม่สามารถทำอะไรได้ จะเสนอเรื่องราวทางการเมืองก็ทำไม่ได้

 

"เคยจะทำหนังเกี่ยวกับชีวประวัติของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่พูดเรื่องอำนาจ นายทุนก็บอกให้เขียนบทไป จากนั้นนายทุนก็ส่งให้ทหารอ่าน ซึ่งทหารก็บอกว่า ไม่สมควรสร้าง"

 

อยากให้มีการตั้งสภาภาพยนตร์ขึ้นควบคุมกันเองบ้าง เพราะตอนนี้มีนักวิชาการด้านนี้มากขึ้นแล้ว และหากมีการจัดเรทติ้งจะช่วยได้มากในแง่การสร้างสรรค์และอิสระของคนทำหนัง

 

"สำหรับ พ.ร.บ.ภาพยนตร์นั้นเคยพยายามยกร่างกันมาแล้วหลายครั้ง แต่ร่างไป มหาดไทย ตำรวจ ทหารก็เข้ามาขอแก้ไขเปลี่ยน ไปๆ มาๆ ก็กลับมารูปแบบเดิม"

 

 

ควรมีสหภาพแรงงานของคนทำสื่อ

รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญ เขียนไว้สวย แต่ไม่ปฏิบัติ เช่น เขียนว่า "ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ" แล้วก็ไม่เคยออกกฎหมายตามมา หรือเมื่อออกกฎหมายลูกมาขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ไม่แก้

 

"ควรต้องระบุระยะเวลาในการปฏิรูปสื่อ เช่น ภายในสองปี ถ้าไม่ปฏิรูปสื่อ ประชาชนมีสิทธิฟ้องได้ และควรมีสหภาพแรงงานของผู้ทำงานสื่อด้วย กรณีนักข่าวบางกอกโพสต์ที่ถูกบีบให้ออก น่าจะมีสหภาพช่วยเหลือฟ้องร้องให้ได้"

 

 

ร่าง พ.ร.บ.หนัง ฉบับใหม่ ก.วัฒนธรรม เป็นคนเซ็นเซอร์

รศ.ดร.สุรัตน์ เมธีกุล อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. กล่าวว่า เห็นชอบในหลักการของมาตรา 39-41 แต่เห็นว่าอาจต้องปรับปรุงแก้ไขในประเด็นสาระ

 

มาตรา 39 เสรีภาพการแสดงความเห็น มีวรรคหนึ่งที่ห้ามเซ็นเซอร์ข่าว บทความและสิ่งพิมพ์ เห็นว่าควรเปลี่ยนเป็นห้ามเซ็นเซอร์สื่อมวลชน จะทำให้หมายรวมถึงภาพยนตร์ด้วย และเห็นว่าควรให้สื่อใช้กระบวนการในการตรวจสอบกันเอง ควบคุมกันเองทางวิชาชีพ เพราะความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

 

"ได้เอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งยังไม่เปิดเผย เป็นร่างประกอบร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดิทัศน์อยู่ขั้นกฤษฎีกา เห็นว่ากระบวนการเซ็นเซอร์ยังหนักหนาอยู่ โดยจะมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดำเนินการและมีหลักเรทติ้งด้วย คิดว่า หากจะแก้เรื่องที่ภาพยนตร์ถูกมองเป็นตัวร้ายที่ต้องตรวจตรา ต้องไปแก้ที่ผู้มีอำนาจบริหารประเทศให้เข้าใจสื่อมากขึ้น"

 

ในส่วนมาตรา 40 เรื่องการจัดสรรคลื่นเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้น เห็นว่าดีแล้ว แต่ที่ต้องพิจารณาคือกฎหมายลูก เช่น เรื่องกระบวนการสรรหา กสช.

 

ทั้งนี้ เสนอว่า ต้องมีเพิ่มสื่อภาคประชาชนเข้าไปในมาตรา 41 ด้วยเพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง และควรกำหนดโทษของการแทรกแซงสื่อทั้งทางแพ่งและอาญา เพื่อให้หลักประกันเรื่องการเสนอข่าวและแสดงความเห็นโดยไม่ขัดจรรยาบรรณชัดเจนขึ้น

 

สุดท้ายเสนอให้ระบุในรัฐธรรมนูญ ให้เพิ่มการจัดตั้งกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติที่เป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่ให้บริการสาธาระโดยไม่หวังผลกำไร

 

 

ประเทศจะพัฒนาด้วยการปิดกั้นหรือปล่อยให้มีสิทธิเสรีภาพ

นายนิวัต วงศ์พรหมปรีดา เลขาธิการสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโฆษณา แสดงความเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญ น่าจะเขียนให้ชัดว่า โฆษณาใช่สื่อหรือไม่ นักโฆษณาเองก็สับสนว่าตัวเองเป็นสื่อสารมวลชนไหม วิชานี้มีสอนทั้งที่คณะวารสารศาสตร์ฯและพาณิชยศาสตร์เลยไม่รู้ว่าใช่สื่อไหม แต่ในแง่ว่านักโฆษณาสร้างสารเหมือนกันน่าจะจัดได้ว่าเป็นสื่อ

 

ในรัฐธรรมนูญ นั้นรับรองสิทธิบุคคลไว้ ถามว่า รับรองการรับรู้ข่าวสารด้วยไหม ถ้ารับ ทำไมจึงมีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์อยู่ เขาเองอยากดูจันดารา ฉบับ director"s cut ก็ไม่ได้ดู ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญ รับรองสิทธิไม่น่ามีกฎหมายเซ็นเซอร์

 

"ไปๆ มาๆ คนเขียนรัฐธรรมนูญเชื่อในสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนไหม เชื่อไหมว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยสำคัญอย่างยิ่งที่ประชาชนต้องมีสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสาร"

 

ถ้าเราไม่ปล่อยให้ประชาชนพิจารณา รู้เท่าทันมัน ก็ไม่มีวิธีอื่นปกป้องคนได้ เพราะคุมอย่างไรก็คุมได้ไม่หมด สมาคมโฆษณาเชื่อว่าวิธีควบคุมที่ดีที่สุด คือ ควบคุมกันเอง ความเหมาะสมของเนื้อหา ระดับความรุนแรง การแสดงออกทางเพศ ขีดเส้นไม่ได้ บิกินี สมัยหนึ่งเห็นไม่ได้ สมัยนี้เป็นอย่างไร เส้นแบ่งเรื่องโป๊ขยับไปเรื่อย ในจุด ณ เวลาหนึ่ง เราไม่รู้เลยว่าอะไรเหมาะไม่เหมาะ

 

"ทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐเลิกยุ่งกับเราเสียที ประเทศจะพัฒนาด้วยการปิดกั้นหรือปล่อยให้มีสิทธิเสรีภาพ" นายนิวัต กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท