Skip to main content
sharethis

เอฟทีเอว็อทช์ ยื่นหนังสือนายกฯ-สนช. เบรก JTEPA ควรทบทวนศึกษาใหม่ ให้องค์กรอิสระทำประชาพิจารณ์ ด้านนายกฯ เห็นด้วย "เสน่ห์ จามริก" และคณะ ให้รับฟังความเห็น JTEPA เพิ่มเติม แต่ไม่ตอบรับเรื่องการยกร่างกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ต่อรองเวลา 6 เดือนเหลือ 3 เดือน

ประชาไท - วานนี้ (30 ม.ค.50) นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์ ) กล่าวว่า กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประกอบการพิจารณาร่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยต้องการให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสในการเจรจา รัฐบาลไม่ควรเร่งรีบดำเนินการเรื่องนี้ในขณะนี้ แต่ควรทบทวนและศึกษาใหม่ และไม่ควรให้กระทรวงต่างประเทศที่เป็นผู้เจรจาเป็นผู้จัดทำประชาพิจารณ์ แต่ควรให้องค์กรที่เป็นอิสระดำเนินการแทน และแยกเป็นประเด็นพิจารณา

 

นอกจากนี้กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ยังเสนอให้มีการออกกฎหมายที่กำกับการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งระบุถึงการทำวิจัย การแสดงความเห็น การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ก่อนการทำข้อตกลงอย่างชัดเจน

 

ในส่วนการเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์  จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ของนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 ม.ค.นั้น นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หนึ่งในตัวแทนที่เข้าพบ กล่าวว่า ทางคณะได้นำเสนอในส่วนการทำเอฟทีเอว่าควรมีการร่างกฎหมายเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติที่ชัดเจนเสียก่อน และเรื่องของ JTEPA นั้นทางคณะกรรมการสิทธิฯ รวมถึงกลุ่มนักวิชาการยินดีจะจัดทำการศึกษาเพิ่มเติมและรับฟังความคิดเห็นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ  6 เดือน

 

นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า ในประเด็นข้อเสนอสำคัญที่สุดเรื่องการยกร่างกฎหมายเจรจากาค้าระหว่างประเทศนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องซึ่งร่วมหารือในวันนั้นไม่ได้ให้ความสนใจหรือตอบรับแต่อย่างใด หากแต่ยินดีจะให้เวลาเพิ่มเติมอีก 3 เดือนเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในส่วนของ JTEPA โดยให้ สนช.เป็นผู้ดำเนินการ

 

 

 --------------------------------------

 

 

** ส่วนหนึ่งจากจดหมายของกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ที่ยื่นต่อ สนช.

 

 

ผลกระทบของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA): 

ข้อโต้แย้งของกระทรวงการต่างประเทศและความห่วงใยขององค์กรภาคประชาชน

30  มกราคม 2550

รวบรวมโดย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)

 

 

 

1.      JTEPA  จะทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งรองรับของเสียอันตรายจากญี่ปุ่นหรือไม่

 

ข้อโต้แย้งของกระทรวงการต่างประเทศ

ความห่วงใยขององค์กรภาคประชาชน

 

JTEPA ไม่ได้บังคับให้ไทยนำเข้าของเสีย  ไทยยังคงมีสิทธิสมบูรณ์ในการบังคับใช้กฎหมายภายในในการควบคุมการนำเข้า 

JTEPA ระบุถึงของเสียในนิยามของสินค้าที่ได้แหล่งกำเนิดซึ่งเข้าข่ายการลดภาษี  เป็นผลชัดเจนในการเพิ่มโอกาสให้ไทยเป็นแหล่งรองรับและกำจัดขยะแทนญี่ปุ่น  ซึ่งกฎหมายของไทยในปัจจุบันมีปัญหาในการควบคุม  และสิ่งสำคัญคือหากญี่ปุ่นร้องขอ ไทยจำต้องเจรจาลดเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดเพิ่มเติม

 

 

2.      การเปิดให้คนญี่ปุ่นเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยโดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคมในประเทศได้ จะส่งผลกระทบต่อบริการสาธารณสุขของไทยหรือไม่

 

ข้อโต้แย้งของกระทรวงการต่างประเทศ

ความห่วงใยขององค์กรภาคประชาชน

JTEPA ไม่ได้เปิดเสรีเพิ่มเติม  เพียงแต่ให้ญี่ปุ่นผูกพันที่จะอนุญาตให้คนญี่ปุ่นสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลที่ประเทศตนเองได้  ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ไม่เกี่ยวข้องกับ JTEPA

JTEPA เป็นการเพิ่มอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของไทย  เพราะว่าการคงให้ญี่ปุ่นผูกพันเช่นนั้นทำให้ปัญหาที่เป็นอยู่มีแนวโน้มย่ำแย่ไปกว่าเดิม ขณะบุคลากรและอาจารย์แพทย์ที่มีอยู่อย่างไม่เพียงพอจะถูกดึงตัวไปทำงานเอกชนมากขึ้นไปอีก   

 

 

3.      JTEPA จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพของไทย  และส่งผลต่อมาตรการสาธารณสุขของไทยหรือไม่

 

ข้อโต้แย้งของกระทรวงการต่างประเทศ

ความห่วงใยขององค์กรภาคประชาชน

JTEPA ไม่ได้ทำให้ไทยต้องแก้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา   

JTEPA วางหลักการและแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมญี่ปุ่น  โดยเฉพาะการอนุญาตให้จดสิทธิบัตรหน่วยพันธุกรรมหรือสารสกัดอื่นที่ได้จากจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ซึ่งกฎหมายไทยไม่อนุญาต

 

 

4.      บทว่าด้วยการลงทุนใน JTEPA จะส่งผลกระทบให้เอกชนฟ้องรัฐได้หรือไม่  และมีประเด็นผลกระทบอื่นๆอะไรอีกบ้าง

 

ข้อโต้แย้งของกระทรวงการต่างประเทศ

ความห่วงใยขององค์กรภาคประชาชน

JTEPA อนุญาตให้เอกชนฟ้องรัฐโดยมีเงื่อนไขหลาประการ เช่น ต้องเป็นหลังการจัดตั้งกิจการ ต้องปรึกษาหารือก่อน  คำตัดสินจะไม่ทำให้ไทยต้องลดหรือปรับกฎหมาย    และจ่ายเป็นค่าชดเชยเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ทำมาก่อนหน้านี้

JTEPA อนุญาตให้เอกชนฟ้องรัฐในกรณียึดทรัพย์ทางอ้อม ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในกฎหมายไทย  ซึ่งการยึดทรัพย์ทางอ้อม ครอบคลุมถึง มาตรการ นโยบาย หรือกฎหมายที่ออกมาเพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งในระดับท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเอกชน  ทำให้เอกชนสามารถอ้างในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายผ่านอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้   ค่าชดเชยครอบคลุมถึงดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอย่างไม่ล่าช้า  ส่วนคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการถือเป็นที่สุด 

 

 

5.      ภาคเกษตรได้รับประโยชน์จาก JTEPA เพียงไร

 

ข้อโต้แย้งของกระทรวงการต่างประเทศ

ความห่วงใยขององค์กรภาคประชาชน

ปัญหาการส่งออกอยู่ที่มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี  ซึ่ง JTEPA สร้างความร่วมมือด้านสุขอนามัยไว้  หากมีปัญหาจะมีคณะกรรมการทำงานสองฝ่ายมาหารือกัน

JTEPA สามารถทำได้มาเพียงความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ยังไม่ใช่ข้อผูกพัน ซึ่งมีผลตกต่างกันมาก

 

 

6.      มาตรการปกป้องใน JTEPA มีประสิทธิภาพเพียงไร

 

ข้อโต้แย้งของกระทรวงการต่างประเทศ

ความห่วงใยขององค์กรภาคประชาชน

มาตรการปกป้องใน JTEPA รัดกุมดี  เพราะมีรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ  ส่วนการกำหนดราคาเป็นเกณฑ์ในการใช้มาตรการนั้นอาจนำไปสู่การใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้  ขณะที่ปริมาณจะเป็นผลโดยตรงของความตกลงการค้าเสรี (ข้อชี้แจงของทีดีอาร์ไอ)

มาตรการปกป้องยังไม่รัดกุม  เพราะใช้เพียงปริมาณนำเข้าเป็นตัวกำหนดการใช้มาตรการ  แต่ไม่รวมถึงปัจจัยด้านราคา  ซึ่งในกรณีราคาผลผลิตตกต่ำ  รัฐบาลก็ไม่อาจใช้มาตรการปกป้องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากการถูกซ้ำเติมได้

 

เอกสารประกอบ

ข้อโต้แย้งของกระทรวงการต่างประเทศและความห่วงใยขององค์กรภาคประชาชน (ฉบับเต็ม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net