เดินหน้าการค้าเสรีหัวใจทุนนิยม เปลี่ยนรัฐบาลก็เหมือนเดิม

สำนักข่าวประชาธรรม รวบรวมความคืบหน้าของเอฟทีเอของไทยที่ทำกับแต่ละประเทศ เพื่อติดตามกันต่อแบบกัดไม่ปล่อยในปีหน้าและต่อๆ ไป ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นว่า "แนวทางทุนนิยมเสรียังฝังแน่นอยู่กับสังคมไทยอย่างยิ่ง"

ในช่วงปีที่ผ่านมาแม้สถานการณ์ทางการเมืองจะผันผวนเพียงใด  แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือนโยบายทางด้านการเจรจาการค้าของไทย  เพราะแนวทางที่ดูเหมือนเป็นหัวใจหลักของประเทศก็ยังยึดแน่นที่แนวทางเดิมคือ "การเปิดเสรีการค้า ตามแนวทางทุนนิยมเสรี"  เมื่อการเมืองเริ่มนิ่งหลังเหตุการณ์ 19 กันยายน   แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะชูธง "เศรษฐกิจพอเพียง" นำหน้าก็ตาม  แต่ดูเหมือนสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลทักษิณเลยคือ การเดินหน้าเรื่องการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศอยู่เหมือนเดิม  ซึ่งยังเป็นคำถามว่าการค้าเสรีกับเศรษฐกิจพอเพียงจะไปด้วยกันได้หรือไม่ ? 

 

สำนักข่าวประชาธรรม รวบรวมความคืบหน้าของเอฟทีเอของไทยที่ทำกับแต่ละประเทศ ทั้งที่ลงนามไปแล้ว  และกำลังจะลงนาม เช่นกรณีเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น  เพื่อติดตามกันต่อแบบกัดไม่ปล่อยในปีหน้าและต่อๆ ไป  แล้วจะเห็นว่าแนวทางทุนนิยมเสรียังฝังแน่นอยู่กับสังคมไทยอย่างยิ่ง

 

เอฟทีเอไทย-สหรัฐ

 

เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ภายหลังความผันผวนทางการเมืองไทย  รัฐบาลสหรัฐฯ ระงับการเจรจาไว้ก่อน เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐได้มีนโยบายและออกประกาศชัดเจนจะไม่เจรจากับประเทศที่มีรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องรอรัฐบาลหน้าว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป   แม้ว่ารัฐบาลไทยจะอยากเดินหน้าต่อก็ตาม

 

เอฟทีเออาเซียน-จีน       

 

มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 รายงานล่าสุดระบุว่าในรอบ 9 เดือนแรกของ ปี 2549 ไทยขาดดุลการค้าจีนถึง 1.77 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กลับภูมิใจอธิบายว่า สินค้าเกษตรพิกัด 01-08 (ผัก-ผลไม้) ไทยได้ดุลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 47 โดยปีนี้ได้ดุลถึง 591 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้าที่ได้ประโยชน์ คือ มันสำปะหลัง ผลไม้สด ลำไยแห้ง ปลาแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแช่เย็น และดอก กล้วยไม้ โพลิคาร์บอเนต ยางผสม ส่วนสินค้านำเข้าจากจีนที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร อาทิ แอปเปิล สาลี่ สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ส่วนประกอบของเครื่องจักร เครื่องส่งวิทยุ โทรศัพท์ หรือโทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปทำด้วยเหล็ก เครื่องประมวลผลแบบดิจิตอล และสายอากาศ เป็นต้น

 

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของโครงสร้างสินค้าส่งออกจากไทยไปจีน กลับปรากฏว่าความได้เปรียบทางด้านการค้าของไทยที่มีเหนือจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ที่จริงแล้วเป็นการกระจุกตัวอยู่กับสินค้ามันสำปะหลังแบบอัดเม็ดและมันเส้นเพียงรายการเดียวเท่านั้น หากตัดมูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสูงเกือบ 4 ใน 5 ของมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ทั้งหมดของประเทศ ดังนั้นไทยจะตกเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าสินค้าผักและผลไม้กับจีนทันที คิดเป็นมูลค่าถึง 1,444.3 ล้านบาทในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่ 3 ในการทำเอฟทีเอส่วนยอดการขาดดุลสะสมนับตั้งแต่เริ่มทำเอฟทีเอ อยู่ที่ 3,532.5 ล้านบาท

 

เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น

 

เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ได้มีการเจรจาข้อตกลงต่างๆ ทั้งหมด 9 รอบ และเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อต้นปี 2549 ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังไม่มีการลงนาม ในส่วนของฝ่ายไทยได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อกลางเดือนธันวาคม แต่กลับไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดให้ประชาชนรับรู้ และยืนยันว่าจะไม่มีการปรับแก้ข้อตกลง ซึ่งพร้อมจะส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในเดือนมกราคม 2550

 

ในขณะเดียวกันก็มีข้อมูลหลุดออกมาว่าภายใต้ความตกลงนี้จะเปิดประตูให้ขยะของเสียอันตรายทะลักเข้ามาในไทย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการบริการด้านสุขภาพแก่คนไทย การเข้ามายึดครองทรัพยากรของชาติ เป็นต้น ปี  2550 จึงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่ารายละเอียดที่จะถูกเปิดเผยออกมาจากกลุ่ม FTA Watch จะเป็นอย่างไร

 

เอฟทีเอไทย-อินเดีย

 

จากการที่รัฐบาลไทยและอินเดียได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างกัน โดยได้เริ่มลดภาษีกลุ่มสินค้านำร่อง 82 รายการมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2547 เช่น เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณี และเครื่องประดับ (พลอยสี) เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ บอลล์แบริ่ง และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ เป็นต้นทั้งนี้ในวันที่ 1 ก.ย.2549 หรือครบรอบ 2 ปีของความตกลงกลุ่มสินค้าดังกล่าวได้ลดภาษีลงเหลือ 0% แล้ว

 

เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น

 

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศในอาเซียนเอฟทีเอเกือบทั้งหมด (กำลังเจรจากับเวียดนามและประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน หรือ ซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) สำหรับไทยกับอินโดนีเซียแล้ว กำลังรอการลงนาม ส่วนที่ได้ลงนามและรอมีผลบังคับใช้ คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน ส่วนสิงคโปร์) อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องการเปิดเอฟทีเอกับอาเซียน เนื่องจากต้องการเชื่อมสายการผลิตสินค้าประเทศต่างๆ ในอาเซียนให้เคลื่อนย้าย วัตถุดิบระหว่างกันได้โดยไม่ต้องมีอุปสรรค ผ่านหลักการพื้นฐานของกฎแหล่งกำเนิดสินค้าสะสมระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นสามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้า อีกทั้งเป็นการสร้างสมดุลการค้าในอาเซียน

 

แต่ถึงกระนั้นก็อาจทำให้ข้อตกลงนี้ไปทับซ้อนกับข้อตกลง ทำให้การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นมีอุปสรรคระหว่างกันได้ กล่าวว่า เอฟทีเอในอาเซียนที่หลายประเทศมีข้อตกลงกับญี่ปุ่นนั้น จะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของอาเซียนไปตลาดญี่ปุ่นเกิดอุปสรรคระหว่างกันได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ยิ่งไปกว่านั้นญี่ปุ่นยังเสนอให้ประเทศอาเซียนต้องนำข้อตกลงทวิภาคีที่แต่ละประเทศมีกับญี่ปุ่นอยู่แล้วมาใช้ร่วมกับเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่นสูงถึงร้อยละ 10 ซึ่งฝ่ายอาเซียนมองว่าไม่ยุติธรรม และจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อการเจรจาเอฟทีเออาเซียนกับประเทศอื่นๆ ต่อไป

 

เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่นจึงส่อเค้าที่จะล่ม!

 

เอฟทีเอไทย-เปรู

 

ข้อตกลงเอฟทีเอไทย-เปรู ได้เริ่มการเจรจาครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2547 และมีการลงนามไปในการประชุมกลุ่มความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี เมื่อเดือนตุลาคมปี 2548 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยกเลิกภาษีระหว่างกันทันทีที่เริ่มความตกลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะครอบคลุมรายการที่มีการนำเข้าระหว่างกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ย 3 ปี โดยสินค้าที่ฝ่ายไทยได้ประโยชน์ เช่น รถปิกอัพ หลอดไฟฟ้า เป็นต้น แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากการเจรจาเสร็จสิ้นไปแล้วร้อยละ 95 แต่ยังเหลือในส่วนของบันทึกแนบท้าย เรื่องการกำหนดพิกัดศุลกากร เพื่อใช้ประโยชน์จากการลดภาษีคาดต้องเลื่อนออกถึงกลางปี 2550

 

กองทุนปรับโครงสร้างการผลิต

 

รัฐบาลทักษิณมีการจัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดแข่งขันมีงบประมาณรองรับ 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิต ซึ่งทำได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่ากลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร การพัฒนาช่องทางการตลาดของสินค้าที่ได้รับผลกระทบจาก FTA และการช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการผลิต แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่านโยบายและวิธีบริหารจัดการไม่มีความชัดเจน และไม่ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบด้วย

 

ต่อมาจึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวรองรับการเปิดเสรีทางการค้า โดยหลักการของกองทุนจะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ เปิดเสรีการค้าระหว่าง 0-5 ปี แต่ระยะเวลาช่วยเหลือจะไม่เกิน 3 ปี ถ้าเกินกว่านั้น จะส่งต่อไปให้กองทุนอื่นดูแลต่อไป รูปแบบจะไม่ใช่การจ่ายเงินให้โดยตรง แต่เป็นการสนับสนุนเงินทางด้านการวิจัย พัฒนา การฝึกอบรม การกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น เช่น โปรโมตให้ดื่มนมเพิ่ม เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการปรับตัว เพื่อให้แข่งขันได้

 

สำหรับผู้มีสิทธิขอใช้เงินกองทุน กำหนดให้ผู้ที่ขอใช้ต้องขอในรูปของตัวแทนเกษตรกร หรือสมาคมที่ได้รับผลกระทบ ส่วนการอนุมัติใช้เงิน คณะกรรมการกองทุนจะเป็นผู้พิจารณา

 

หลังจากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแล้ว จะมีการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอให้ได้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจะนำเสนอให้นายเกริกไกร  จิระแพทย์ พิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม.อนุมัติ ซึ่งประเมินว่าการใช้เงินกองทุน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะขอใช้เงินได้ประมาณไตรมาสแรกของปี 2550

 

เอฟทีเอที่อยู่ระหว่างเจรจา

 

เอฟทีเอที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการเจรจาได้แก่ ไทย-เอฟตา (สมาคมการค้าเสรียุโรป ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตล์ อินเดีย)ไทย-บิมสเทค(บังกลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน) นอกจากนี้เอฟทีเอในนามกลุ่มอาเซียน อาทิ อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ส่วนเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้ลงนามความตกลงกับเกาหลีไปแล้ว ยังเหลือไทยที่ยังไม่ได้ลงนาม เพราะไทยยังไม่ได้ผลประโยชน์ตามข้อเรียกร้องในบางเรื่องจะมีการเจรจาและคาดว่าจะมีการลงนามกันต่อไป

 

สำหรับเอฟทีเอไทย-บาห์เรน ที่ได้ลงนามความตกลงไปแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากกลุ่มจีซีซี (กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และทางบาห์เรนต้องการให้ไทยเจรจาในนามกลุ่มจีซีซีแทน ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าของการเจรจาว่าจะเริ่มได้เมื่อไร สำหรับเอฟทีเอไทย-เปรูที่ได้มีการลงนามพิธีสารเพิ่มเติมในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าระหว่างการประชุมเอเปกที่เวียดนามในช่วงกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาคาดจะเป็นอีกหนึ่งเอฟทีเอที่จะมีผลบังคับใช้ในกลางปีหน้า ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน

 

ข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆ

 

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอในทำนองเดียวกันให้ 1. ควรระงับการเจรจาเอฟทีเอกับทุกประเทศในช่วงรัฐบาลชั่วคราว เพราะมีผลทางกฎหมายในระยะยาว หากจะลงนามควรกระทำหลังจากมีรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง และมีรัฐสภาที่เกิดขึ้นตามกระบวนการประชาธิปไตยภายหลังปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

 

2. ให้มีการเปิดเผยร่างความตกลงหรือเนื้อหาการเจรจาของไทยกับทุกประเทศที่ได้เจรจาไปแล้วจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ศึกษาข้อมูลประกอบการมีส่วนร่วม ไม่ใช่อ้างเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบางภาคส่วน

 

3. ควรจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีที่มีความเป็นอิสระ เพื่อศึกษาทบทวนนโยบายการทำเอฟทีเอ โดยประเมินผลกระทบทั้งบวกและลบให้ครบถ้วนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

 

4. ควรเผยแพร่ผลการศึกษาต่อสาธารณะ และจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อการทำเอฟทีเอ ซึ่งรัฐบาลควรจะจัดตั้งเป็นคณะกรรมการพหุภาคีที่มีความเป็นอิสระขึ้นมาดำเนินการ

 

5. รัฐบาลควรเร่งจัดทำพระราชบัญญัติว่าด้วยการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ เพื่อเป็นกรอบกติกาทางกฎหมายในการยึดถือปฏิบัติต่อไป กฎหมายดังกล่าวควรยกร่างโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดขั้นตอนการเจรจา องค์ประกอบของคณะเจรจา การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐสภา และองค์กรอิสระในการเจรจาและลงนาม แผนการปรับโครงสร้างการผลิต และแผนรองรับผลกระทบ

 

ส่วนทีดีอาร์ไอ เสนอให้รัฐบาลชุดปัจจุบันใช้เวลาที่มีอยู่ 1 ปีในการสร้างกฎหมายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อใช้เป็นช่องทางที่จะควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ตระหนักถึงการเจรจาตามกรอบเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากตัวแทนประชาชน โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อให้ทั้ง 2 สภาสามารถกลั่นกรองข้อดี-ข้อเสีย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท