ชลประทานลุ่มน้ำมูน ชลประทานพอเพียงแบบชาวบ้าน

สดใส สร่างโศรก

 

 

อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศในที่ประชุมเรื่องการจัดการน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ว่าจะสร้างระบบท่อน้ำเพื่อชลประทานให้เกษตรกรไทยในพื้นที่ 103 ล้านไร่ทั่วประเทศ ภายในปี 2542 ด้วยงบประมาณ 2 แสนล้านบาท

 

ไม่ว่ารัฐบาลยุคสมัยใดต่างมุ่งพัฒนาด้วยโครงการขนาดใหญ่งบประมาณมหาศาล โดยละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำที่มีขนาดเล็กๆ  สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในสังคมไทย หากรัฐจะให้ความสนใจอย่างแท้จริง และนำมาเป็นแบบอย่าง

 

เช่น การพัฒนาชุมชนหนองแค-สวนสวรรค์ ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูน อยู่ใต้เขื่อนราษีไศลและเหนือเขื่อนหัวนา ซึ่งเป็นเขื่อนในโครงการโขง ชี มูน ชุมชนมีภูมิปัญญาในการจัดการ ดินน้ำ ป่า มายาวนาน และมีระบบชลประทานของชาวบ้านมากว่า  34 ปี  ชุมชนทั้งสองมีพื้นที่ทำกิน 2 แห่งคือพื้นที่โคกติดหมู่บ้านและพื้นที่บุ่งทามริมแม่น้ำมูน จึงมีการทำนา 2 ครั้งต่อปี เช่นกัน นาที่ในพื้นที่บุ่งทามริมมูน เรียก "นาทาม" และนาที่ติดหมู่บ้านเรียก "นาโคก"

 

ชาวบ้านหนองแค-สวนสวรรค์ เริ่มทำนา ครั้งที่ 3 ในพื้นที่ "บุ่งทาม" เรียกว่า "นาปรัง" ภายหลังการเรียนรู้ฤดูกาลของน้ำ ระบบทางน้ำธรรมชาติ พันธุ์ข้าว ว่ามีความเหมาะสมที่จะทำนานอกฤดูนาทามได้อีกด้วย การทำนาปรังเริ่มตั้งแต่มีนาคม และเก็บเกี่ยวต้นเดือนมิถุนายน การทำนาปรัง เป็นการเริ่มทำระบบชลประทานในพื้นที่ทาม เมื่อประมาณปี 2512 บริเวณ กุดน้อย กุดปลาการ กุดขอน กุดโดน เป็นพื้นที่แรกที่มีชาวบ้าน 10 กว่าคนที่ทดลองทำนาปรัง โดยการลงแขกแรงงานขุดคลองดินผ่านสู่พื้นที่นาเพื่อทำเป็นคลองส่งน้ำ และได้ใช้ "คันโซ่" วิดน้ำจากกุด ระบายน้ำตามคลองส่งน้ำ ต่อมามีการนำเครื่องสูบน้ำขนาด 11 แรงม้า สูบน้ำขึ้นมาทำนาปรังอย่างจริงจัง โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ใกล้หนองน้ำหรือกุด

 

เมื่อ พ.. 2521 หลังน้ำท่วมใหญ่ เกิดภาวะขาดแคลนข้าวบริโภคชาวบ้านจึงขยายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง บริเวณท่าหินหลักอยู่ริมมูน เพื่อชดเชยข้าวที่สูญเสียไปให้มี"ข้าวต่อท้อง" จนกว่าฤดูกาลปรกติจะมาถึง ประกอบกับหน่วยงานเกษตรเข้ามาแนะนำ จึงรวมตัวเป็น"กลุ่มทำนาปรัง" มีสมาชิก 22 คน(ปัจจุบัน 32 คน)โดยไปขอการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้วและน้ำมันตลอดการฤดูการผลิต 3 เดือน จากกรมชลประทานเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำมูน และได้ช่วยกันลงแขกแรงงานขุดคลองส่งน้ำสายหลัก 3 สาย แต่ละสายยาวประมาณ 320 เมตร,1 กิโลเมตร , 420 เมตร ความกว้างและลึกขึ้นอยู่กับสภาพความสูงต่ำของพื้นที่ มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 400 ไร่

 

ในปี 2540 ชาวบ้านได้ขยายพื้นที่ทำนาปรังเพิ่มขึ้นเนื่องจากปี 2539 ข้าวได้รับความเสียหายหนักกว่าทุกปีเพราะเขื่อนลำตะคองปล่อยน้ำลงมามากสมทบกับเขื่อนราษีไศลเปิดน้ำลงมาท่วมนาของชาวบ้านหนองแค-สวนสวรรค์ ทำให้มีท่าสูบน้ำเพิ่มขึ้น 2 ท่าคือท่ากุดน้อยและท่าวังตาดี (สูบน้ำจากแม่น้ำมูน) ท่ากุดน้อยมีสมาชิก 32 คนมีคลองส่งน้ำสายหลัก 5 สาย พื้นที่ปลูกประมาณ 650 ไร่ ส่วนท่าวังตาดีมีสมาชิก 17 คนมีคลองหลัก 4 สาย พื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 173 ไร่

 

การขุดคลองส่งน้ำเปลี่ยนจากลงแขกแรงงานเป็นการระดมเงินเพื่อจ้างรถไถเกรดขุดคลองในปีแรกคนละ 1,000 - 1,300 บาท การระดมเงินขึ้นอยู่กับระยะทางของคลองและจำนวนสมาชิกของกลุ่มในปีต่อๆมาคนละ 50-100 บาท เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ

 

ในปี 2541-42 มีการตั้งกลุ่มเพิ่มและท่าสูบน้ำเพิ่มอีก 3 ท่า คือท่าทรายสูบน้ำจากแม่น้ำมูน ท่าโนนขี้กระต่ายและโนนน้อย สูบน้ำจากหนองแค รวมสมาชิก 84 คน มีคลองส่งน้ำคลองหลัก 7 สาย โดยระดมเงินในปีแรก 500,350,3,000 บาท มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 250 ไร่ และต่อมาในปี 2546 ได้มีกลุ่มนาปรังเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากน้ำท่วม 3 ปีซ้อน (2543-45) มีท่าสูบน้ำอยู่กุดกุดหวาย มีสมาชิก 22 คน ระดมเงินจ้างรถไถขุดคลองคนละ 650 บาท มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 50 ไร่

 

กรมชลประทานยังสนับสนุนเครื่องสูบน้ำแต่ลดการสนับสนุนน้ำมันลง ทำให้ปริมาณการทำนาปรังของชาวบ้านขึ้นอยู่กับทุนที่จะมาซื้อน้ำมันเพื่อสูบน้ำทำนา

 

ตลอดระยะเวลา 34 ปี ระบบชลประทานของชาวบ้านไม่เคยประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ เนื่องจากท่าน้ำทั้ง 7 ท่าของชาวบ้าน เป็นบริเวณท่าน้ำลึกที่มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลผลิตนาปรัง และยังเป็นที่สูงสำหรับสูบน้ำมาพักไว้และกระจายน้ำไปได้ตามความต้องการของสมาชิก รวม 187 คน รวมคลองหลัก 24 สาย ระยะทาง ประมาณ 5.8กิโลเมตร พื้นที่ปลูกข้าวทั้งสิ้นประมาณ 1,618 ไร่

 

ปัญหาที่ชาวบ้านประสบคือ ต้นทุนค่าน้ำมันสูง (นอกจากได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ) หรือน้ำมันที่ได้รับการสนับสนุนมาไม่ทันต้นข้าวแห้งตายก่อน การถูกนก แมลง รบกวนมากินผลผลิต และไม่มีความรู้ด้านช่างซ่อมเครื่องสูบน้ำ

 

การจัดการน้ำของชุมชนหนองแค-สวนสวรรค์ ชาวบ้านได้ใช้ภูมิปัญญาที่เข้าใจ รู้จักระบบภูมิศาสตร์ของพื้นที่และระบบการไหลเวียนของน้ำเป็นอย่างดี การขุดคลองส่งน้ำและสามารถทดน้ำจากจุดหนึ่งไปสู่พื้นที่ทำนาที่อยู่ไกลออกไปได้ เพราะชาวบ้านรู้ว่าพื้นที่ไหนต่ำพื้นที่ไหนสูง จึงขุดตามสภาพของพื้นที่และไม่จำเป็นต้องเป็นคลองคอนกรีตเพราะพื้นที่ดินทามเป็นดินเหนียวอุ้มน้ำทำให้ได้น้ำเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีปัญหาดินเค็ม ซึ่งชาวบ้านรู้ดีว่า ดินเหนียวอุ้มน้ำไว้นานไม่ทำให้แสงแดดเผาหน้าดินจนเกลือที่อยู่ใต้น้ำตกตะกอน และดินทามมีคุณสมบัติเป็นด่าง(เปรี้ยว)เมื่อถูกน้ำกร่อยจากแม่น้ำมูนก็จะมีสภาพเป็นกลางไม่เป็นอันตรายต่อต้นข้าว ไม่เหมือนนาโคกที่สูบน้ำมูนไปทำนาปรังจะประสบปัญหาดินเค็มที่เป็นอยู่ทั่วไปในเขตนี้

 

ระบบชลประทานของชาวบ้านเป็นการจัดการน้ำที่ลงทุนด้านการส่งน้ำด้วยเงิน เพียงไร่ละ 107 บาทต่อไร่ หรือลงทุนด้วยวัฒนธรรมชุมชนคือการลงแขกแรงงานและระดมอาหารมาช่วยกัน บวกด้วยค่าเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว ของกรมชลประทาน นับเป็นการจัดการน้ำเล็กๆที่ไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อธรรมชาติ ชีวิต และชุมชน

 

ในขณะที่การจัดการน้ำแบบระบบท่อน้ำ ของรัฐบาลทักษิณ มีต้นทุนในการจัดการน้ำถึง 1,941 ล้านบาทต่อไร่ นับเป็นราคาต่อไร่ที่สมน้ำสมเนื้อของระดับมหาเศรษฐีที่คิดจะมาทำนาปลูกข้าวเสียจริงๆ ส่วนผลกระทบไม่ต้องกล่าวถึงเพราะมีบทเรียนให้เห็นและยังไม่สามารถแก้ไขได้

 

แท้จริงแล้วตลอดสายลุ่มน้ำมูนมีรูปแบบการจัดการน้ำของชาวบ้านมากมายตามศักยภาพของพื้นที่และแหล่งน้ำที่มีอยู่ในชุมชน ความรู้ภูมิปัญญาในการจัดการน้ำของชาวบ้านอาจจะจมหายไปหากโครงการโขงชีมูน เขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล ปิดประตูเก็บกักน้ำและนำน้ำเค็มๆของแม่น้ำมูนไปสู่พื้นที่ ดอน โคก เพื่อทำนาปรังด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงและสุดท้ายไม่สมารถทำได้เพราะดินกลายสภาพเป็นดินเค็ม…มีบทเรียนให้เห็นมามากมาย

 

รูปแบบการจัดการน้ำของชาวบ้าน ชุมชนหนองแค-สวนสวรรค์ น่าจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะเรียนรู้และส่งเสริมให้เกิดการจัดการน้ำที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้รวมทั้งก่อประโยชน์อย่างแท้จริง และเกิดความยั่งยืน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท