Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 







มุมคิดจากนักเรียนน้อย เป็นผลงานภาคปฏิบัติในชั้นเรียนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ส่งมาให้ประชาไทพิจารณานำเผยแพร่ เยาวชนที่สนใจสามารถส่งผลงานมาได้ที่ netcord@prachati.com


 


 


ณภัค เสรีรักษ์


คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


สิ่งต่างๆ ไม่อาจดำรงอยู่ได้ถ้าปราศจากขั้วตรงข้าม เพราะเมื่อไม่มีขั้วตรงข้าม เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าสิ่งๆ นั้นคืออะไร


 


ขั้วตรงข้ามจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวแสดง "ความสัมพัทธ์" และ "ความสัมพันธ์"ระหว่างสรรพสิ่ง เราจึงอาจกล่าวได้ว่า "ถูก" ไม่อาจดำรงอยู่ได้ ถ้าไม่มี "ผิด" เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าสิ่งใดถูก เราก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดผิด และในทางกลับกันถ้าเราไม่รู้ว่าสิ่งใดผิด เราก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดถูก


 


เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงเกิดการให้คุณค่า และการให้ความหมายของ "ความดี" "ความชั่ว" "ถูก" "ผิด" ฯลฯ เพื่อตัดสินสิ่งต่างๆ


 


ถ้าเราเชื่อว่า "ถูก" หรือ "ผิด" ขึ้นอยู่กับการให้คุณค่า หรือการตีความ สิ่งที่ "ถูก" และ "ผิด" ของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน


 


แต่เมื่อมนุษย์ต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน จึงต้องเกิดการสร้างกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับเพื่อนิยามสิ่งที่ "ถูก" และ "ผิด" ให้เข้าใจตรงกัน และปฏิบัติตรงกัน


 


กฎหมาย หรือ กฎเกณฑ์ต่างๆ ในแต่ละสถานที่ หรือแต่ละสังคม จึงอาจมีทั้งที่เหมือนหรือคล้ายกัน หรือที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนถึงการให้คุณค่าและความหมายต่อสิ่งที่ "ดี" "ชั่ว" "ถูก" "ผิด" ฯลฯ ที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันของแต่ละสังคม


 


เมื่อ "ความพอใจ" หรือ "ความชอบ" เกิดจากการให้คุณค่า เราจึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ "ถูก" ก็มักจะเป็นสิ่งที่เราชอบ และ สิ่งที่ "ผิด" ก็มักจะเป็นสิ่งที่เรานั้นไม่ชอบ


 


แต่เมื่อใดที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกว่าสิ่งที่ "ควรทำ" หรือ "ถูกต้อง" มัน "ผิด"กฎเกณฑ์ เมื่อนั้นเราจึงพบกับทางเลือก ที่จะทำสิ่งที่ "ถูกต้อง" แต่ "ผิดกฎ" หรือจะทำสิ่งที่ "ถูกกฎ" แต่ "ไม่ถูกต้อง"


 


โฮเมอร์ เวลส์ จากภาพยนตร์ THE CIDER HOUSE RULES เรียนรู้จาก "THE CIDER HOUSE RULES" ว่า "ความถูกต้อง" ไม่จำเป็นต้อง "ถูกกฎเกณฑ์" และ "กฎเกณฑ์" ก็ไม่จำเป็นต้อง "ถูกต้อง"เสมอไป


 


เพราะกฎเกณฑ์เป็นสิ่งที่ใครบางคนสร้างขึ้นเพื่อจำกัดอะไรบางอย่างซึ่งเขาเห็นว่า "ถูกต้อง" แต่ผู้กำหนดก็อาจไม่เข้าใจถึง "เนื้อหา" และ "สถานการณ์" ที่แท้จริงของมัน ซึ่งต่างไปในแต่ละกรณี


 


เช่นในกรณีของการทำแท้ง ถึงแม้ว่ามันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่บางครั้งมันก็อาจเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันก็เป็นทางออกหนึ่งของปัญหาการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม


 


ความรักและความสัมพันธ์ระหว่าง โฮเมอร์ กับ แคนดี้ ก็เช่นเดียวกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่ "ไม่ถูก" และ "ไม่ควร" เนื่องจากแคนดี้มีแฟนอยู่แล้ว แต่มันก็ "ถูก" ในแง่ของความพอใจ ทั้งคู่จึงกระทำในสิ่งที่ "ถูกต้อง" ในชั่วขณะนั้น ซึ่งก็ทำให้ทั้งคู่ได้มีความสุขด้วยกันถึงแม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม


 


การตัดสินใจและการกระทำของหมอลาร์ชก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ด้วยความรักที่มีต่อโฮเมอร์ และความหวังที่จะให้โฮเมอร์อยู่ที่บ้านเด็กกำพร้า เพื่อทำหน้าที่สืบต่อจากเขา เขาจึงกระทำสิ่งที่เขาคิดว่า "ถูกต้อง" โดยการบอกทางการว่าโฮเมอร์เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ เพราะไม่ต้องการให้โฮเมอร์ไปรบในสงคราม และทำเอกสารปลอมเพื่อให้โฮเมอร์ได้เข้ามาเป็นหมอประจำบ้านเด็กกำพร้า ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ "ผิด" ก็ตาม


 


บางทีภาพยนตร์เรื่อง "THE CIDER HOUSE RULES" อาจต้องการบอกเราว่า "สิ่งที่ถูกต้อง" ไม่จำเป็นต้อง "เป็นไปตามกฎเกณฑ์" เสมอไป และให้เราได้ทำในสิ่งที่เห็นว่า "ถูกต้อง" และ "เหมาะสม"


 


แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่านั่นคือ "สิ่งที่ถูกต้อง" และ "เหมาะสม" ที่แท้จริง


 


บางทีภาพยนตร์เรื่องนี้อาจต้องการบอกว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ล้วนมีพื้นฐานจาก ความแตกต่างของการนิยาม การตีความ และการให้คุณค่า ดังนั้น "ความสัมพัทธ์" จึงทำให้เราได้เข้าใจอะไรมากขึ้นหรือเห็นภาพอะไรชัดเจนขึ้น


 


แต่ในเมื่อมันก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ดีที่สุด เราจึงควรข้ามผ่านการตัดสินอะไรๆ แบบขั้วตรงข้ามให้ได้ เพราะ "ความถูกต้อง" หรือแม้กระทั่ง "ความจริง" นั้นไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net