Skip to main content
sharethis


 


 


ในฐานะที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ร่ำรวยวัฒนธรรมและ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เชียงใหม่จึงดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน
ให้มาตั้งรกรากสร้างบ้านแปงเมืองจนเป็นปึกแผ่น การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของจังหวัดเชียงใหม่ในหลายๆ ด้าน


 


"เชียงใหม่" จึงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยแผนพัฒนาจากภาครัฐและการลงทุนจากภาคเอกชน และมีคนหลายกลุ่มพยายามเข้ามากอบโกยประโยชน์จากเมืองเชียงใหม่ โดยอ้างความเจริญเป็นเหตุผลสำคัญ แต่กลับไม่มีใครมองย้อนไปถึงความเสื่อมอันเป็นอีกด้านหนึ่งที่มาพร้อมกับความเจริญ



อย่างไรก็ตาม ก็ยังมี "คนเมือง" หลายๆ กลุ่มที่ได้อาศัยเมืองเชียงใหม่เป็นที่พักพิง ได้เกิดความเป็นห่วงเป็นใย เมืองเชียงใหม่ และปรารถนาที่จะตอบแทนบุณคุณเมืองอันเป็นที่รักนี้ด้วยการดูแลเอาใจใส่การพัฒนาเมืองอย่างมีทิศทางและอย่างระมัดระวัง


 


เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา "กลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่" ได้จัดงาน "วัฒนเสวนา" ในหัวข้อ "ติดเบรคให้เชียงใหม่" ขึ้นที่ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรได้แก่ วิทยากร เชียงกูล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง, ศ.นพ.เฉลียว ปิยะชน นายแพทย์ผู้เป็นปราชญ์ท้องถิ่นที่ชาวเชียงใหม่รู้จักกันดี และ พ.ต.ท.อนุ เนินหาด รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ริม ผู้มีผลงานค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย นพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล


 


ศ.นพ.เฉลียว ปิยะชน กล่าวว่า เราอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เพราะสังคมซึ่งเป็นผลผลิตของกระบวนการความคิด ความเชื่อ และการกระทำของคนในสังคม ทำให้เป็นเช่นนี้ ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือข้อมูลที่เข้ามาสู่ตัวเรา ซึ่งมาจากสื่อทั้งหลาย ชักนำให้เรากลายเป็นสังคมบริโภคนิยม มองทุนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ทำทุกอย่างเพื่อเงิน เพื่อทรัพย์สินเพิ่มพูนให้ตัวเอง


 


"...ผมมองในฐานะคนๆ หนึ่งที่เป็นแพทย์ก็แล้วกัน คือสังคมในขณะนี้ถ้าเป็นคน ก็เป็นคนที่กำลังป่วย การป่วยนี้เกิดจากการขาดสมดุล ขาดสมดุลจากสิ่งที่เรารับเข้าสู่ตัว นั่นก็คือเราไม่รู้ว่าจะรับสิ่งที่ดีหรือไม่ดีเข้ามา เราก็รับไปเรื่อย ผลสุดท้ายก็คือ กลายเป็นว่าที่เรารับเข้ามาเป็นสิ่งไม่ดีเสียเยอะ การเจ็บป่วยก็เกิดขึ้น การจะแก้ให้ถูกจุดก็ต้องแก้ที่สาเหตุ คือทำยังไงให้เกิดความสมดุลย์  ซึ่งถ้าพูดถึงสังคมแล้วมันก็คงมีหลายมิติ ตั้งแต่ เศรษฐกิจ ปรัชญา ความรู้ ความก้าวหน้าใหม่ๆ ทั้งหลาย มีเพียงพอจะให้คนทั่วไปเลือกรับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมหรือเปล่า"


 


"ผมเชื่อว่า เราหรือคนส่วนใหญ่ มีความเข้าใจผิดหรือหลงผิดว่ามันจะเป็นอย่างนี้ คือถ้าเรามีความรู้หรือความสำนึกพอ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิด นั่นก็คือถ้าจะแก้ให้ถูกจุดก็ต้องไปทำให้มีสำนึกที่ถูกต้อง คนเราการจะเรียนรู้มันต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่รู้อย่างเดียว องค์ความรู้ที่จะเข้ามาทำให้ตัวเราเกิดการเปลี่ยนแปลง มันมี 3 อย่าง อันแรกคือความรู้จริงๆ อย่างที่เราเปิดหนังสืออ่านก็จะมีความรู้ องค์ที่สองก็คือ การที่จะทำอย่างไรให้เราปฏิบัติให้เกิดผล นั่นก็คือขั้นตอน ทำอะไรก่อนอะไรหลัง ถ้าจะเทียบแล้วก็คือวินัยนั่นเอง ขั้นตอนที่สามของความรู้ที่จะทำให้มีประโยชน์สูงสุดต่อสังคมหรือต่อตัวเราก็คือ จิตสำนึก การรู้อะไรควรไม่ควร เป็นองค์ประกอบที่สูงขึ้นจากองค์ประกอบสองอันแรก ถ้าเทียบกันแล้วทั้งสามองค์ประกอบนี้ พุทธศาสนาเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา..."


 


ศ.นพ.เฉลียว กล่าวอีกว่า สังคมที่เราอยู่ ไม่เฉพาะสังคมเชียงใหม่ มีปัจจัยภายนอกมากระทบอย่างที่เรานึกไม่ถึง นั่นคืออิทธิพลของสิ่งแวดล้อม อิทธิพลของแนวความคิด อิทธิพลของการโน้มน้าวให้เราเป็นไป ว่าจะด้วยระบบของการค้าขาย หรือจะด้วยระบบของการสื่อสารก็ตาม "...ทั้งต่อคนรุ่นเราที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ได้รับอิทธิพลมาโดยไม่รู้ตัว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เยาวชนที่เติบโตมาโดยถูกกล่อมเกลาจากสิ่งเหล่านี้ เด็กทุกวันนี้ถูกเลี้ยงดูมาพร้อมกับโทรทัศน์ ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ก็ได้อิทธิพลอย่างนี้มาด้วย โดยไม่รู้ตัว แต่มันสื่อสารถึงกัน มันก็ทำให้เด็กเหล่านี้มีจิตใจมีพฤติกรรมในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันเริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ พอโตขึ้นมาพี่เลี้ยงก็เปิดทีวี เด็กเดี๋ยวนี้สัก 3-5 ขวบก็รู้จักความรักเป็นยังไง ความใคร่เป็นยังไง  เพราะในละครมันบอกไว้อย่างนั้น แล้วมันก็มากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าถ้าอะไรที่เป็นอันตรายต่อเยาวชนในสังคมเรายังไม่ได้รับการแก้ไข มันก็ยังเป็นไปไม่ได้ง่ายๆ  มันอยู่ที่องค์กรใหญ่ คือมันอยู่นอกเหนืออำนาจที่ชุมชนจะจัดการได้..."


 


อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเมือง ศ.นพ.เฉลียว เห็นว่า วงจรการเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมา 75 ปี ตั้งแต่ได้รัฐธรรมนูญนั้น วนเวียนไปมาอยู่กับการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง แต่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเลย


 


"...ผมมองภาพๆ หนึ่งมาตั้งแต่สมัยพฤษภาทมิฬ ใครต่อใครก็เรียกร้องนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วมีนักวิชาการมีใครต่อใครเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเขาก็คุยว่าดีที่สุดในโลก ทุกคนก็ยอมรับว่าดีที่สุดในโลก แต่ผมว่าไม่ได้ดีสำหรับคนไทย มันก็ใช้ไม่ได้ ผมก็เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อ "ฤาประชาธิปไตยจะไปรอด - สังคมวิกฤต" แสดงความเห็นว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีประชาธิปไตยในประเทศนี้"


 


"แล้วมาถึงวันนี้เราก็ประจักษ์ชัดว่า มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้มา 75 ปีแล้ว กี่ครั้งแล้วที่มันเป็นไปไม่ได้ แล้วมันก็จะเป็นไปไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง อันนี้ก็เป็นปัจจัยใหญ่ ที่ว่า สังคมของเมืองเชียงใหม่ที่เราเอาเป็นตัวตั้ง จะพยายามหยุดเราจะหยุดได้หรือ แล้วสังคมใหญ่สังคมประเทศไทยเขายังพยายามวนเวียนจะร่างรัฐธรรมนูญ จะเลือกตั้ง โดยที่กลุ่มที่เข้ามาก็มีแต่กลุ่มเก่าๆ กลุ่มอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ อะไรพวกนี้ที่มาควบคุมเราอีกที…"


 


 



วิทยากร เชียงกูร


 


 


ด้านนายวิทยากร เชียงกูล เห็นว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เมืองเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ ไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวของตัวเองได้ เพราะต้องเป็นเมืองขึ้นของกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่เมืองเชียงใหม่สร้างมาตั้ง 700 ปี ก่อนกรุงเทพฯ ก่อนอยุธยาด้วยซ้ำ รวมทั้งยังมีวัฒนธรรม มีอารยธรรมเป็นของตัวเอง แต่เนื่องจากเราถูกครอบงำและถูกหลอกให้เดินตามการพัฒนาแบบตะวันตก


 


"..เราถูกหลอกว่า วิธีการที่จะพัฒนาในโลกนี้มีวิธีการเดียวคือ ต้องพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เราก็เลยพยายามไล่ตามตะวันตก นั่นคือตัวปัญหา เพราะที่เกิดขึ้นคือมันพัฒนาแล้วเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนน้อย แต่มันทำลายทั้งสภาพแวดล้อม สังคม ศิลปวัฒนธรรม อะไรต่างๆ ทำลายความหลากหลาย ทั้งชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคุณค่าที่สำคัญ เพราะความหลากหลายนั้นนอกจากจะสร้างความมั่งคั่งความร่ำรวยให้กับชีวิตแล้ว มันยังแข็งแรงกว่า ป้องกันการสูญเสีย ป้องกันภัยพิบัติได้มากกว่า"


 


"อย่างการปลูกพืชจะเห็นได้ชัด เราเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขาย แต่การปลูกพืชหลากหลายจะต้านทานโรคได้ดีกว่า แล้วก็มีคุณค่าอะไรมากกว่ามากมาย แต่วิธีคิดของทุนนิยมอุสาหกรรม ของเอกชนคิดเป็นกำไรขาดทุน แต่กำไรขาดทุนของสังคมมันไม่คุ้ม ยกตัวอย่างการสร้างเขื่อน เขาก็จะคิดว่า ตัดต้นไม้กี่ต้น ราคาเท่าไร แต่การที่ป่าถูกทำลายมันไม่ใช่แค่ท่อนซุง มันหมายถึงความหลากหลายทางชีวภาพของป่าซึ่งมันมีค่ามากกว่าท่อนซุง แต่วิธีการตีราคาของระบบทุนนิยมมันคิดแบบนั้นซึ่งมันโง่เง่ามาก แต่ว่าเราก็ถูกทำให้โง่เราถูกทำให้เชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่น"


 


"ตอน 14 ตุลา 2516 เราก็เคยเชื่อว่า มีสังคมนิยมดีกว่าทุนนิยม แต่ปรากฎว่า สังคมนิยมก็ไปไม่รอด สังคมนิยมก็มีส่วนดีบ้างเรื่องความเป็นธรรม แต่แนวโน้มของสังคมนิยมก็ยังบ้าอุตสาหกรรม พยายามแข่งกับทุนนิยม ก็ทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แล้วก็มีปัญหาเยอะ ปัญหาจากส่วนกลาง ปัญหาชนชั้นการปกครอง อะไรต่างๆ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกที่ไม่ใช่ทุนนิยมจะเป็นยังไง เราถูกทำให้เชื่อว่าไม่มี แม้แต่คนที่คิดเรื่องทางเลือกอื่น เช่นพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ถูกพวกทุนนิยมตีความให้มันอ่อนลงไป ตีความว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ขัดกับทุนนิยม ไม่ขัดกับการค้าเสรี ไม่ขัดกับการส่งเสริมการลงทุน นี่รองนายกฯ ในรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นคนพูดนะครับ ชุดทักษิณเขาไม่สนใจอยู่แล้ว คือนั่นเขาบ้าเห่อโลกาภิวัตน์แล้วก็พยายามใช้นโยบายที่เร่งรัดพัฒนาการเจริญเติบโตและให้ประโยชน์แก่คนส่วนน้อย แต่เขาเชื่อว่านั่นคือวิธีการพัฒนาประเทศ ซึ่งมันไม่ใช่ความจริงแล้ววิธีการพัฒนาประเทศให้มีปัจจัยสี่ที่เพียงพอ กับให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีชีวิตที่ดี มันเป็นไปได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามตะวันตกเสมอไป…"


 


วิทยากร เชียงกูล กล่าวว่า ก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 รัฐบาลคุยโม้ว่าประเทศไทยจะป็นประเทศมหาอำนาจอันดับที่ 8 ภายใน 10-20 ปี หรือเป็นเสือ แต่พอปี 2540 ผ่านไปเราก็กลายเป็นแมว ซึ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องเพ้อฝัน ถ้าหากยังไม่คิดถึงปัญหา หรือกรอบความคิดยังติดอยู่กับการพัฒนาแบบเดิมก็ยากที่จะแก้ปัญหาได้ 


 


"...แต่ผมคิดว่ามันน่าจะมีทางออก มันต้องคิดให้ได้ว่า ทำยังไงจะกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร กระจายสิ่งต่างๆ มาสู่ต่างจังหวัดมากกว่านี้ คือไม่มีประเทศไหนที่เมืองหลวงมีคน 10 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งหมด มีทรัพย์สมบัติ 50 กว่าเปอร์เซนต์ ทั้งงบประมาณต่างๆ เก็บภาษีคนทั้งประเทศแต่เอาไปบำรุงเมืองหลวง ไม่มีประเทศไหนที่เขาทำแบบนี้ คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ก็จะถูกดูดเข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ ถูกหลอกว่า ขอให้กรุงเทพฯ พัฒนาก่อนแล้วจะกระจายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัด นิยายเรื่องนี้ก็หลอกกันมานาน ตอนแผนพัฒนาเศรษฐกิจก็บอกว่า พัฒนาอุตสาหกรรมก่อน ชาวนายอมขายข้าวถูกๆ ก่อน เมื่อก่อนเขาเก็บภาษีพรีเมี่ยมข้าว ข้าวขายในตลาดโลกเกวียนละ 6,000 บาท ชาวนาขายได้ 3,000 รัฐบาลเก็บไป 3,000 เพื่อกดให้ค่าจ้างแรงงานราคาต่ำ คนงานจะได้อยู่ได้  อุตสาหกรรมจะได้อยู่ได้ เขาบอกว่า ชาวนาเสียสละหน่อย อุตสาหกรรมเจริญแล้ว เดี๋ยวชาวนาดีเอง นิยายนี้ก็หลอกกันมา 40 ปี ชาวนาก็ยิ่งจนมากขึ้น เพราะถูกดูดเข้ามาสู่ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ซึ่งเสียเปรียบ ไม่ใช่ทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมด้วยซ้ำ เป็นทุนนิยมที่ผูกขาด มือใครยาว สาวได้สาว..."


 


อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของอนาคตทางการเมืองของประเทศไทย วิทยากร แสดงความเห็นว่า ประชาชนควรจะร่วมกันผลักดันในอีกหลายๆ เรื่องที่เป็นประโยชน์


 


"...เช่นรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบุเรื่องสิทธิชุมชน มันควรจะมีการตั้งองค์กร ควรมีกฎหมายลูกออกมา แล้วบางทีมันไปเขียนซ่อนไว้ ประชาชนมีสิทธิเยอะแยะเลย แต่เขาบอกว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่กฎหมายบางอย่างมันล้าหลังกว่ารัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นต้องผลักดันว่า ถ้าคุณไม่บัญญัติมา เราจะใช้สิทธินั้น สิทธิชุมชน สิทธิป่า ถ้าคุณไม่ออก พรบ.ป่าชุมชนมา เราจะใช้สิทธิดั้งเดิมในการดูแล เรามีสิทธิฟ้องร้องได้ กฎหมายมันก็ซ่อนไว้เยอะ  ประชาชนจะไปฟ้องร้องโดยตรงไม่ได้เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายบ้างอะไรบ้าง ก็ต้องแก้ใหม่ให้สามารถฟ้องร้องได้โดยตรง เมื่อประชาชนถูกละเมิดสิทธิ ชุมชนถูกละเมิดสิทธิ เรื่องพวกนี้มันต้องผลักดัน มันมีสิทธิหลายอย่างที่ประชาชนควรจะได้ คือประชาชนไม่ใช่สิทธิในการเลือกตั้งอย่างเดียว ต้องมีสิทธิในการคัดค้าน สิทธิในการถอดถอนนักการเมืองด้วย..."


 


ทางด้าน พ.ท.อนุ เนินหาด ได้แสดงความเห็นจากมุมมองของผู้ค้นคว้าและรวบรวมประวัติศาสตร์เชียงใหม่ว่า โดยส่วนตัวแล้วเชื่อเรื่องการทำบุญทำกุศล ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการแสดงให้เห็นถึงพลังและการร่วมมือร่วมใจของคนเชียงใหม่


 


"...ผมเชื่อเรื่องการทำบุญทำกุศล ก็อยากจะพูดถึงการทำบุญของคนเชียงใหม่ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา อย่างอันดับแรกที่เรารู้เห็นกันคือ 2477 ครูบาศรีวิชัยเป็น "เก๊า" หรือผู้นำให้คนร่วมกันสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ ย้อนไปปี 2464 สมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีการบูรณะวิหาร พระธาตุ วัดเกตุการาม วัดเกตุสมัยนั้นเป็นที่ชุมชนของคหบดีชาวจีน เป็นที่ชุมนุมของคนจีนสมัยนั้น ครั้งนั้นมีผู้ร่วมบริจาค 115 คน ได้เงิน แปดพันรูเปีย สมัยนั้นใช้เงินรูเปีย รูเปียหนึ่งก็ประมาณแปดสิบสตางค์ ถัดมาอีกสองปีมีประวัติการสร้างโรงพยาบาลสุขาภิบาล และที่ทำการสุขาภิบาลเชียงใหม่ ครั้งนั้นโรงพยาบาลเชียงใหม่ค่อนข้างล้าหลัง คนที่เป็นเก๊าคือหลวงอนุสารสุนทร กรมการพิเศษได้เริ่มก่อสร้างโดยออกเงินส่วนตัว 7,327 รูเปียแปดสตางค์..."


 


พ.ท.อนุ กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งก่อสร้างหลายอย่างในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งคนรุ่นหลังอาจจะไม่รู้ความเป็นมาเช่น อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ สะพานจันทร สมอนุสรณ์ พุทธสถาน ล้วนสร้างขึ้นจากการร่วมบริจาค ร่วมมือร่วมใจของประชาชนชาวเชียงใหม่ทั้งสิ้น และโดยส่วนตัวเชื่อว่า การเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ และการร่วมมือร่วมใจเช่นนี้ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือและดูแลเมืองเชียงใหม่ตลอดมา


 


การมี "จิตสำนึกร่วม" อาจเป็นสิ่งที่หาได้ยากในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ แต่สำหรับเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน สิ่งนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่ขาดแคลนจนเกินไปนัก เพียงแต่ว่า ใคร? จะทำอะไร? เพื่ออะไร?และเมื่อใด? เพื่อสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา


 


หากสมาชิกแต่ละคนในบ้าน เพิกเฉย และปล่อยให้บ้านเต็มไปด้วยขยะ สักวันบ้านนั้นก็กลายเป็นบ้านที่ไม่น่าอยู่ ความเป็น "เมือง" นั้นก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่มันใหญ่กว่า สมาชิกมากกว่า เต็มไปด้วยคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าของ แต่ไม่ค่อยมีใครเก็บกวาดดูแล


 


"เชียงใหม่" ยังไม่ใช่บ้านแบบนั้น อย่างน้อยก็ในตอนนี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net