Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาชนเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญในนามของ "เวทีประชาธิปไตยประชาชน" ชูประเด็นปากท้องชาวบ้าน ต้องอยู่ดีกินดี มีสิทธิ์ มีศักดิ์ศรี ชวนประชาชนสวมบทบาท "ผู้เชี่ยวชาญ" ในรธน. และยืนกรานต้องจัดเลือกตั้งภายในปีนี้ พร้อมทั้งเตรียมเปิดให้แปรญัตติรัฐธรรมนูญผ่านเวบไซต์ "ไทยพูด"

ประชาไท- 1 .. 50 กลุ่มเวทีประชาธิปไตยภาคประชาชน นำโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ผู้ประสานงานเวทีประชาธิปไตยประชาชน (วปช.) แถลงข่าวและร่วมเดินรณรงค์เปิดกิจกรรมเวทีประชาธิปไตยประชาชน ที่ป้ายรถเมล์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมกับเปิดตัวเวบไซต์ "ไทยพูดดอทคอม" www.thaiPOOD.com เพื่อเรียกร้องให้การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำลังร่างมีกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง โดยยืนยันการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 มาเป็นร่างในการแก้ไข และย้ำว่าปีนี้ต้องมีเลือกตั้ง

การแถลงข่าวดังกล่าว มีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ร่วมด้วย อาทิ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์, กรรณิกา ควรขจร ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, นายต่อพงษ์ เสลานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโฆษกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, นายจักรชัย โฉมทองดี โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) และสมาชิกกลุ่ม FTA Watch, รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์, นุ่มนวล ยุพราช โครงการรณงรงค์เพื่อแรงงานไทย

นายจอน อึ๊งภากรณ์กล่าวว่า เวทีประชาธิปไตยประชาชน จะรวบรวมและเชื่อมโยงประเด็นการปฏิรูปสังคมและการเมืองของเครือข่ายภาคประชาชนทุกส่วน แล้วผลักดันเข้าสู่หลักการของรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นโยบายและการปฏิบัติ โดยจะจัดเวทีสาธารณะตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการนักเรียนคริสเตียน ถนนราชเทวี โดยจะจัดครั้งแรกในวันอาทิตย์ที่ 4 ..นี้

นอกจากนี้ เวทีประชาธิปไตยประชาชน ยังเปิดเวบไซต์ "ไทยพูดดอทคอม" ซึ่ง การใช้ "สื่อใหม่" สร้างโอกาสการเข้าถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ โดยมีจุดเด่นคือ จะให้เปิดให้บุคคลทั่วไปได้แปรญัตติ แก้ไจรัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านเวบไซต์ดังกล่าวได้ด้วย เพื่อย้ำว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องนำรธน.ฉบับ 2540 ที่ถูกฉีกทิ้งไปมาใช้เป็นหลักในการแก้ไขหรือยกร่าง แม้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนดังกล่าวจะมีปัญหาหลายประการ แต่ก็ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

โดยเวทีประชาธิปไตยประชาชน ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนในสองประเด็น คือ ต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ภายในปีนี้ และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องถือว่าประชาชนทุกคนคือผู้เชี่ยวชาญ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า

"แม้ว่าเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่เป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม มีข้อเรียกร้องมากมายในเรื่องการปฏิรูปสังคมและการเมืองมาตลอด แต่เมื่อถึงวาระที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขบวนการภาคประชาชนมักถูกละเลยและตกขบวนไป

การร่างรัฐธรรมนูญ กลับกลายเป็นหน้าที่ของผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจร่วมกับ "ผู้เชี่ยวชาญ" ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สนใจ หรือเข้าใจความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่

ผลที่ได้มาคือ รัฐธรรมนูญและระบบการปกครองประเทศที่ไม่เอื้อต่อความอยู่ดีกินดีและสิทธิของประชาชนกลุ่มต่างๆ และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการพัฒนาสังคม แต่กลับเอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบในสังคมอยู่แล้ว

ปัจจุบัน เราอยู่ในช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้การกำกับของคณะทหารที่ยึดอำนาจรัฐ และเช่นเคย เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่แทนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคม มีผู้แทนเพียงไม่กี่คนในสภาร่างรัฐธรรมนูญของรัฐ ภาคประชาชนจึงมีบทบาทโดยตรงน้อยมากในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ดังนั้น ความหวังของขบวนการภาคประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปสังคมและการเมือง รวมทั้งมีส่วนร่วมในการกำหนดสาระของรัฐธรรมนูญใหม่ จึงอยู่ที่การรวมพลังกันสร้างกระแสทางสังคมที่กดดันให้ผู้ที่ได้รับหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชน

เวทีประชาธิปไตยประชาชน (วปช.) เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่าง ซึ่งจะนำมาใช้เป็นกติกาของประเทศนั้น จะต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ต้องคำนึงถึงความต้องการและผลประโยชน์ของประชาชน ให้หลักประกันชีวิตที่ดีที่ก้าวหน้ายิ่งไปกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ต้องสร้างสังคมที่เป็นธรรม อาทิ การสร้างระบบรัฐสวัสดิการ การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน ฯลฯ

แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญผ่านกลุ่มคนที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐบาลหรือคณะรัฐประหาร ไม่อาจถือว่าเป็นกลุ่มตัวแทนประชาชนทั้งประเทศได้อย่างชอบธรรม และสถานการณ์เช่นทุกวันนี้ ประชาชนไม่มีสิทธิ ไม่มีโอกาส ไม่มีอำนาจ ในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ ประชาชนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไร้กติกา

ดังนั้นเวทีประชาธิปไตยประชาชน จึงเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และให้ประชาชนได้รับสิทธิเสรีภาพโดยเร็ว แทนที่จะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจเปิดโอกาสให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดสร้างฐานอำนาจอันไม่ชอบธรรม"

ทั้งนี้ เวทีสาธารณะของ วปช. จะมีขึ้นตลอดเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเป็นช่องทางรวบรวมของเสนอของประชาชนในรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 4 .. ถึง 28 .. นี้ ให้ประชาชนทั่วไปร่วมเสนอสาระในร่างรธน.ได้ทุกคน โดยก่อนนำเสนอ ให้เขียนหรือพิมพ์ข้อเสนอลงในแบบฟอร์มในลักษณะ หนึ่งประเด็นต่อหนึ่งหน้า ซึ่งรับได้ที่หน้างาน หรือดาว์นโหลดล่วงหน้าจาก www.thaipood.com แล้วยื่นต่อผู้จัดก่อนหรือระหว่างการจัดเวทีแต่ละครั้ง

เวทีประชาธิปไตยประชาชน (วปช.) มีเครือข่ายภาคประชาชนที่เป็นสมาชิก ได้แก่ กลุ่มเพื่อนประชาชน, ขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช), เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง และเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.), พรรคแนวร่วมภาคประชาชน, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.), มูลนิธิชุมชนไท, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส), เครือข่ายคนพิการ, วิทยาลัยการจัดการทางสังคม, เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ, สำนักข่าวอิศรา, เครือข่ายแรงงานย่านรังสิต, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, เครือข่ายเยาวชน, มูลนิธิสื่อภาคประชาชน, เครือข่ายศิลปิน, ผู้แทนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ

ตารางกิจกรรม

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่เวบไซต์ไทยพูดดอทคอม)

ทุกๆ เวที จัดที่อาคารใหม่ ชั้น 2 ห้องประชุม 4 สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ถนนราชเทวี เริ่มเปิดนำเสนอประเด็นเวลา 09.00 - 12.30 . แถลงข่าวในเวลา 13.30 . และนำเสนอประเด็นต่อในเวลา 13.45 - 15.30 .

ครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ เรื่อง ข้อเสนอสำหรับร่างรัฐธรรมนูญภาคประขาชนในเรื่อง รัฐสวัสดิการ : สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ การเลี้ยงดูบุตร ประกันสังคม ฯลฯ

ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ เรื่องข้อเสนอสำหรับร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนในเรื่อง ระบบการปกครอง: พรรคการเมือง รัฐสภา ระบบการเลือกตั้ง รัฐบาล คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ ระบบการปกครองท้องถิ่น การกระจายอำนาจ

ครั้งที่ 3 วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ เรื่อง ข้อเสนอสำหรับร่างรัฐธรรมนูญภาคประขาชนในเรื่อง เสรีภาพทางการเมือง: เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการตั้งสหภาพแรงงาน พรรคการเมือง และกลุ่มพลังรูปแบบอื่น เสรีภาพในการชุมนุมเสรีภาพสื่อ พื้นที่ของสื่อสาธารณะสื่อภาคประชาชนและสื่อชุมชน เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ครั้งที่ 4 วันพฤหัส 15 กุมภาพันธ์ เรื่อง ข้อเสนอสำหรับร่างรัฐธรรมนูญภาคประขาชนในเรื่อง การเมืองภาคประชาชน: การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอและกลั่นกรองกฎหมาย การตรวจสอบอำนาจรัฐ การตรวจสอบและเสนอนโยบาย การลงประชามติ องค์กร-สภาภาคประชาชน การรับรองสถานภาพขององค์กรภาคประชาชน

ครั้งที่ 5 วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ เรื่อง ข้อเสนอสำหรับร่างรัฐธรรมนูญภาคประขาชนในเรื่อง สิทธิและสถานภาพบุคคล: สิทธิทางสถานภาพ ความหลากหลาย เอกลักษณ์ ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิด้าน สัญชาติ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมศาสนา เพศ และ วัย สิทธิของกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น ผู้พิการ ผู้ลี้ภัย นักโทษ ผู้หญิง เด็ก เยาวชน ชุมชนชายแดนภาคใต้ ฯลฯ

ครั้งที่ 6 วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ เรื่อง ข้อเสนอสำหรับร่างรัฐธรรมนูญภาคประขาชนในเรื่อง สิทธิชุมชน: สิทธิด้านวัฒนธรรมชุมชน สิทธิด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม การปฏิรูปที่ดิน สิทธิด้านองค์กรชุมชน สภาชุมชนท้องถิ่น และการปกครองตนเอง สิทธิในการตรวจสอบองค์กรปกครองท้องถิ่น

ครั้งที่ 7 วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ เรื่อง ข้อเสนอสำหรับร่างรัฐธรรมนูญภาคประขาชนในเรื่อง ประเด็นอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ครอบคลุม: กระบวนการยุติธรรม นโยบายพลังงานและ สิ่งแวดล้อม ประเทศไทยกับโลกาภิวัฒน์ เป็นต้น

 


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net