Skip to main content
sharethis

 

 

มิถุนายน 2548

 

ต้นฤดูฝน จากคำแนะนำของ "ชายอ่องเมียว" เพื่อนนักศึกษาพลัดถิ่นชาวไทใหญ่ ผมจึงมีโอกาสเดินทางเพื่อทำวิจัยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้อพยพตามแนวชายแดนด้าน ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จ.เชียงใหม่ เมืองชายแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่อย่างหลากหลาย ที่ซึ่งดินแดนรัฐฉาน ประเทศพม่า อยู่ห่างจากที่นั่นไม่ถึงสิบกิโลเมตร

จากตัวตำบลเปียงหลวงไม่ไกลเท่าใดนัก ผมไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่นั่นเป็นที่ตั้งของ "หมู่บ้าน" ของชาวไทใหญ่ ที่ลี้ภัยการกวาดล้างของรัฐบาลทหารพม่าจาก 4 หมู่บ้านในเขตเมืองโต๋น รัฐฉาน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ได้แก่ บ้านห้วยยาว, บ้านป๋างฮอก, บ้านปางใหม่สูง และบ้านปางก้ำก่อ โดยที่ดินที่เป็น "หมู่บ้าน" ที่ว่านี้เดิมเป็นสวนลิ้นจี่ของวัดฟ้าเวียงอินทร์ วัดศูนย์รวมจิตใจของชาวไทใหญ่ ที่คร่อมดินแดนไทย-พม่า ซึ่งวัดแห่งนี้อนุญาตให้ชาวบ้านที่อพยพมาใช้ที่ดินตั้งเป็นหมู่บ้าน และทางราชการก็อนุโลมให้อยู่ที่นี่เป็น "การชั่วคราว"

อันที่จริง รัฐบาลไทยไม่ได้ลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศที่รับรองสถานภาพของ "ผู้ลี้ภัย" (Refugees) อันได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (1951 Convention on the Status of Refugees) และพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1967 (1967 Protocol relating to the Status of Refugees)

ดังนั้นรัฐบาลไทยจะเรียกผู้ลี้ภัยว่า "ผู้อพยพ" (displaced persons) ในกรณีของผู้ลี้ภัยจากอินโดจีน และเรียกผู้ลี้ภัยที่อพยพเข้ามาตามแนวชายแดนไทย-พม่า ว่า "ผู้หนีภัยการสู้รบ" และเรียกสถานที่ๆ ผู้ลี้ภัยจากแนวชายแดนไทย-พม่า เข้ามาอยู่ว่า "พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบ" ซึ่งกระจายอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า

โดยในรายงาน Global Report 2004 ของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่ามีผู้ลี้ภัย 140,000 คน อยู่ในค่ายตามแนวชายแดนไทย-พม่า 10 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และกาญจนบุรี อย่างไรก็ตาม พี่น้องชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามายัง ต.เปียงหลวง ถือเป็นข้อยกเว้นของการเป็น "ผู้หนีภัยการสู้รบ" เอกสารของราชการเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า "พื้นที่พักรอ" ซึ่งหมายถึง พื้นที่ควบคุมผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อรอการตรวจสอบสาเหตุของการอพยพ และจัดเป็นพื้นที่ควบคุมของทหาร และอนุญาตให้อาศัยอยู่ได้ชั่วคราวเท่านั้น

แม้พวกเขาจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNHCR แต่อย่างไรก็ตาม ที่แห่งนี้ก็ยังคงเป็น "บ้าน" ของพวกเขา

และผมก็อยากเรียกที่นี่ว่า "หมู่บ้าน" ผมไม่อยากเรียกที่นั่นว่า "ค่ายผู้ลี้ภัย" "พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบ" หรือเรียกว่า "พื้นที่พักรอ" แบบที่ราชการนิยาม

ผมคิดว่าเราต่างก็เป็น "คน" เหมือนกัน และคนทุกคนก็ควรจะมี "บ้าน" ที่มั่นคงและปลอดภัยเป็นเรือนพักพิงหลังจากเหน็ดเหนื่อยมาจากการทำงานทั้งวัน

พวกเขาย้ายมาอยู่ "บ้านใหม่" ในฝั่งไทย ตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 และจนป่านนี้ก็ยังไม่ได้กลับ "บ้าน" เดิม

  

000

 

 

ประมาณ 10 นาทีจากตำบลเปียงหลวง ผมเดินทางมาถึง "หมู่บ้าน" ดังกล่าว "ชายแลง" ผู้นำหมู่บ้านชวนผมนั่งที่เก้าอี้พลาสติก เขาหยิบแก้วน้ำ พร้อมรินน้ำชา หรือ "น้ำเน่ง" ในภาษาไทใหญ่ ให้ผมดื่ม ซึ่งตามธรรมเนียมชาวไทใหญ่แล้ว จะต้อนรับผู้มาเยือนด้วยน้ำชา ว่ากันว่าน้ำชาช่วยแก้กระหายเป็นอย่างดี

ชานั้นทำขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่แฝงน้ำใจไมตรีที่เจ้าของบ้านมีต่อแขกผู้มาเยือน ใบชาตากแห้งชงกับน้ำร้อน ชาแห้งจึงกลายเป็นชาร้อนที่นอนนิ่งอยู่ในกาพลาสติกสีน้ำตาล รอเจ้าของบ้านรินรับรองอาคันตุกะ

พวยควันพุ่งออกจากกาน้ำชาเบาๆ พลางที่ชายแลงรินน้ำชาอุ่นๆ ให้ผมดื่ม

ผมจิบชารสฝาด ไปพร้อมๆ กับสนทนากับผู้นำหมู่บ้าน และชาวบ้านถึงความเป็นไปของที่นี่ หลังจากชาหมดแก้ว จึงออกสำรวจสภาพของหมู่บ้านรอบๆ โดยมีชาวบ้านเป็นผู้นำทาง

 

000

 

 

สภาพของหมู่บ้านที่ผมเห็นคือแนวเพิงพักก่อสร้างด้วยไม้อย่างง่ายๆ หลังคามุงหญ้าคา บ้างมุงสังกะสี ตั้งเรียงรายตามเนินเขา เนื่องจากชาวบ้านที่นี่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNHCR ดังนั้น การได้รับความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมจึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น บางห้วงบางปีก็ไม่มีอาหารและยา หรือสิ่งจำเป็นใดๆ ตกถึงพวกเขาเป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้นเพื่อให้มีอาหาร พวกเขาจึงต้องต่อสู้ดิ้นรน

 

การดิ้นรนของเขา มีตั้งแต่การดัดแปลงที่ดินที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ยให้กลายเป็นสวนครัว สำหรับปลูกพืชที่จำเป็น ทั้งพริก ถั่ว ฟักทอง มะเขือเทศ ดอกไม้บางอย่างที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา รวมไปถึงใบชา! ที่ผมดื่มเมื่อตอนต้น ก็เป็นชาจากสวนเล็กๆ ใน "บ้าน" ของพวกเขาด้วย นอกจากนี้ก็ต้องออกไปเก็บของป่า เช่น เห็ด มะก่อ เศษกิ่งไม้สำหรับทำฟืน บริเวณป่าใกล้กับหมู่บ้าน

รวมถึงการออกไปรับจ้างทำงานที่เปียงหลวง งานบางประเภทให้ค่าแรงต่ำ เช่น เก็บพริกขี้หนูในสวนของคนจีนที่อยู่ใกล้ๆ กับหมู่บ้าน ซึ่งจ้างเก็บกิโลกรัมละ 5 บาท  ที่บางวันชาวบ้านยังต้องเสี่ยงกับการถูกจับและผลักดันกลับไปยัง "บ้านเดิม"

เพราะตำรวจจะตั้งด่านเพื่อตรวจค้นตรงปากทางเข้าหมู่บ้าน หากไม่มีเอกสารประจำตัวอย่าง บัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (บัตรสีชมพู) และใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว (สำหรับบัตรอย่างหลังนี้นายจ้างมักพาชาวบ้านไปทำช่วงที่มีการกวดขันให้นำแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนใบอนุญาตทำงาน) ก็จะถูกผลักดันกลับรัฐฉาน ประเทศพม่า

ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังต่อว่า ไม่นานมานี้ ทหารที่ตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านเรียกชาวบ้านให้มารวมกันและยึดบัตรสีชมพูไป ชาวบ้านบางคนจึงเหลือแต่ใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว และบางคนจึงไม่มีเอกสารประจำตัวอะไรเลย แต่เพราะความจำเป็นเพื่อให้ชีวิตรอดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไปรับจ้างทำงาน แม้จะรู้ว่าเสี่ยงต่อการถูกจับกุมก็ตาม

 

000

 

เช้าวันใหม่ หลังการเยือน "หมู่บ้าน" ของชาวไทใหญ่พลัดถิ่นแห่งนี้ ก่อนจะออกเดินทางกลับสู่เมืองใหญ่ ผู้นำหมู่บ้านชวนผมดื่มชา ผมดื่มชาอุ่น และบอกกับคนในหมู่บ้านว่าจะกลับมาเยี่ยมอีก

"หวังว่าจะไม่มีการกวาดจับชาวบ้านเพื่อส่งกลับรอบใหม่อีก" ผมพูดกับตัวเองในใจ ขณะที่รถโดยสารสีหม่น ผู้คนเบียดเสียดอัดแน่นเต็มม้านั่ง 3 แถวในรถ ทั้งนั่ง ทั้งยืน ทั้งโหน ... กำลังแล่นห่างจากตำบลชายแดนกลางหุบเขาห่างออกไปทุกทีๆ

จากเมืองชายแดนกลางหุบเขา บัดนี้เปียงหลวงกลายเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในสายตา และค่อยๆ หายลับไป ด้วยเมฆหมอก ด้วยหุบเขา และด้วยถนนหนทางที่คดเคี้ยวลาดชัน สลับซับซ้อน

ค่อยๆ หายลับไป .... แต่ผมจำ "หมู่บ้าน" ที่นั่นได้ไม่ลืม

 

000

 

มกราคม 2550

 

ฤดูหนาว ที่มีแสงแดดกลางวันแสนอบอ้าว

ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ห่างจากตัวอำเภอแม่สอด จังหวัดตากไม่ไกลนัก ผมกำลังซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของ

"โกผิ่ว" ชาวคะฉิ่น อดีตนักศึกษาพม่าสมัย 1988 ชายวัย 30 ผู้ผ่านสงครามละเลงเลือดของรัฐบาลทหารพม่าที่มีต่อประชาชนกลางกรุงย่างกุ้ง และรอดจากสงครามกวาดล้างฝ่ายต่อต้านเผด็จการในรัฐกะเหรี่ยง บัดนี้ "โกผิ่ว" อุทิศตัวให้กับการทำงานในมูลนิธิที่ดูแลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของแรงงานข้ามชาติ

ไม่เพียงแต่รถมอเตอร์ไซค์ของ "โกผิ่ว" เท่านั้น ยังรถมอเตอร์ไซค์ขับติดๆ กันมาอีกคันหนึ่ง เพื่อนของผมอีกสองคนนั่นเอง คนหนึ่งทำงานอยู่ในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า อีกคนเป็นลูกจ้าง (เพราะมีแม่เป็นคนจ้าง) ขายก๋วยเตี๋ยว ใช้เวลาว่างหลังงานประจำเขียนบทความส่งไปลงหนังสือพิมพ์เป็นครั้งคราว

พวกเราขับมอเตอร์ไซค์ตามๆ กันไป บนถนนคอนกรีตแคบๆ เลาะไปตามหมู่บ้าน ซึ่งละแวกนั้นแต่เดิมคงเป็นทุ่งนาและที่เลี้ยงสัตว์ แต่เพราะนโยบายส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบันมันจึงกลายเป็นเหมือนนิคมอุตสาหกรรมโดยพฤตินัย

แม้แม่สอดจะอยู่ไกลจากเมืองหลวงมาก แถมระบบขนส่งยังต้องพึ่งระบบล้อ ต้นทุนการผลิตที่เมืองชายแดนแห่งนี้ ไม่น่าจะคุ้มหากส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปขายตามที่ต่างๆ หากแต่ว่าโรงงานที่นี่สามารถผลิตของต้นทุนต่ำได้ ก็ด้วยอาศัยคนงานข้ามชาติจากพม่าค่าแรงถูกเป็นวัตถุดิบ!

ทุ่งนาและบ้านเรือนแถวนั้นเต็มไปด้วยโรงงานเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง โรงงานบางแห่งไม่เพียงแต่มีลวดหนาม แต่ยังก่อกำแพงสูง ที่เหมือนๆ กันคือแต่ละโรงงานจะมีป้อมยามตรงประตูเล็กๆ เป็นทางเข้าออกเพียงทางเดียวของโรงงาน ประตูนั้นเล็กๆ พอให้คนลอดผ่านได้

รั้วหนาม กำแพงสูง เหล่านั้นจะว่าไปแล้วก็เหมือนกรงกั้นเสรีภาพก็ไม่ปาน ส่วนยามหน้าประตูโรงงานเล็กๆ พวกนั้น ก็เหมือนสัสดีในเรือนจำไม่มีผิด

 

000

 

รถมอเตอร์ไซค์พาเราไปไกลจากตัวอำเภอแม่สอดมาก ... กระทั่งมาหยุดหน้าโรงงานแห่งหนึ่ง ประตูเล็กๆ นั้นเปิดให้เราเข้าไปข้างในโรงงาน โกผิ่ว บอกผมว่าที่นี่เป็นโรงงานเย็บเสื้อผ้าร้าง มีคนงานทั้งหมด 300 คน ส่วนเจ้าของปิดกิจการหนีมาสามเดือนแล้ว เพราะไม่ต้องการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา หลังจากคนงานชาวพม่าที่นี่ขอขึ้นค่าแรงจากวันละ 90 บาทต่อวัน เปลี่ยนเป็นจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ 143 บาทต่อวัน

โรงงานแห่งนี้มีสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นโรงงาน กับส่วนที่เป็นที่พัก ส่วนที่เป็นโรงงานคงไม่มีการเดินเครื่องจักรมานานแล้ว คราบฝุ่นจับเครื่องทอผ้าหนาเตอะ หยากไย่เกรอะกรังเพดาน แต่ส่วนที่เป็นที่พักกลับมีคนงานอยู่กันเต็ม เพราะคนงานก็ไปหางานใหม่ไม่ได้เพราะบัตรอนุญาตทำงานถูกยึดไว้ที่นายจ้าง คนงานทุกคนถือแต่สำเนา ออกจากโรงงานไปไกลๆ มีสิทธิถูกจับทุกเมื่อ แถมแต่ละเดือนพวกเขาทั้งหมดต้องหาเงินให้ได้รวมกัน 70,000 บาทเพื่อจ่าย "ค่าเช่าบ้าน" ให้กับโรงงาน ที่นายจ้างถือเป็นความ "เมตตา" ให้พวกเขาอาศัยนอน

นี่เอง ทำให้ผมเข้าใจความหมายของคนมั่งมีที่ "ล้มบนฟูก" ว่า ถึงอย่างไรพวกเขาก็เจ็บตัวน้อยกว่าคนจนที่ "ล้มไร้ฟูก" อยู่วันยังค่ำ

แถม "ล้มบนฟูก" แล้วยังไม่พอ ยังสามารถ "ทำนาบนหลังคน" ด้วยกันได้ด้วย

ตัวแทนคนงานเดินเข้ามาทักทายพวกเรา และพาพวกเราไปคุยกับคนงาน

 

000

 

 

ผมเดินขึ้นบันไดของที่พัก ซึ่งเป็นตึกสูง 2 ชั้น ผมเดินผ่านตรอกแคบๆ สองฟากของตรอกกั้นด้วยไม้อัด สำหรับเป็นห้องพักของคนงาน สภาพที่เห็นคือห้องแคบๆ สำหรับคนงานพักรวมกันถึง 10 คนต่อห้อง! มีกระทะไฟฟ้า กาต้มน้ำไฟฟ้าสำหรับทำอาหาร มีข้าวของเครื่องใช้ตามอัตภาพ ... ผมเดินผ่านไปจนถึงลานกว้างในชั้นสอง เพื่อเตรียมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับตัวแทนคนงานที่นี่ เมื่อพวกเรานั่งลงและแนะนำตัว ก็คนงานในโรงงานคนหนึ่งรินน้ำชาจากกระติกให้พวกเรา

เช่นเดียวกับชาวไทใหญ่ ชาวพม่าก็ใช้น้ำชา หรือ "ละ เป เย" ในภาษาพม่า ต้อนรับผู้มาเยือน

จากบทความเรื่อง "แวะจิบชาเมืองพม่า" ตีพิมพ์ในวารสารสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 15 (16 พฤษภาคม -30 มิถุนายน 2547) ให้ข้อมูลกับผมในเรื่องวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวพม่าว่า ร้านน้ำชา หากจะกล่าวไปแล้วก็เปรียบเสมือนสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งร้านน้ำชาเป็นได้ทั้งสถานที่ประชุม พบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูง สมาชิกในครอบครัว ไปจนถึงเจรจาการค้าขายทำธุรกิจก็สามารถเกิดขึ้นได้ที่นี่

หากต้องการสั่งชาในร้านน้ำชาพม่า ใช้คำว่า "ที" "Tea" เจ้าของร้านน้ำชาก็จะทราบทันทีว่าต้องการชา แต่ถ้าต้องการลองชิมชาพม่าให้สั่ง "ละ เป เย" คือชาพม่า โดยปกติแล้วชาพม่าจะใส่นมและน้ำตาล หากไม่ต้องการ หวานมากให้บอกว่า "Cho bouk" หรือต้องการ หวานมากก็ให้สั่งว่า "Kyauk padaung" ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ที่ใช้ทำน้ำตาล ซึ่งมีมากแถบเมืองบะกัน...

000

 

 

พวยควันพุ่งออกจากกระติกน้ำชาเบาๆ พลางที่คนงานในโรงงานรินน้ำชาอุ่นๆ ให้พวกเราดื่ม

คนงานพม่าในโรงงานแห่งนี้ มีวิธีชงน้ำชาคล้ายกับที่ผมเคยดื่มกับพี่น้องชาวไทใหญ่

พวกเราจิบชาแบบพม่าที่คนงานในโรงงานรินให้ ขณะที่พวกเขาก็กำลังบอกเล่าถึงสภาพทุกข์ยากที่พวกเขาต้องเผชิญเมื่อเข้ามาขายแรงงานในเมืองไทย

ชาร้อนหมดแก้ว แก้วแล้วแก้วเล่า แต่การบอกเล่า การสนทนาก็ดำเนินเวลาไปอย่างยาวนาน

 

000

 

18 มกราคม 2550 วันกองทัพไทย


วันนี้สินะ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" รอบปฐมทัศน์กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์

ในหัวของผมกำลังคิดถึง สงครามระหว่างเจ้าที่ดิน ที่ต่างก็จัดกองทัพจากการเกณฑ์ชาวนาไปรบ ในความตายของพระมหาอุปราชแล้ว จึงมีความตายของชาวนาทั้งสองฝ่าย ที่ตายเพราะนายอยากช่วงชิงอำนาจกัน โดยที่พวกเขาก็ไม่ได้ขัดแย้งบาดหมางต่อกันมาก่อน

แต่ใครจะไปคิดเช่นนั้นได้ ในเมื่อบรรดาเจ้าที่ดินผู้พาชาวนาในภักดีของตนไปตาย ต่างได้ดิบได้ดีเป็นวีรบุรุษทั้งในตำราเรียนของโรงเรียน ทั้งในรัฐพิธี และกำลังโลดแล่นในแผ่นฟิล์มราววีรบุรุษยังมีชีวิต!

อย่างไรก็ตาม ใครหลายคนพอได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว เลือดชาตินิยมคงจะฉีดพล่าน พร้อมๆ กับต่อมอคติบางอย่างต่อแรงงานข้ามชาติคงจะหลั่งสารเคมีทำงานในหัวสมองเป็นอย่างดี อย่างที่สมศักดิ์ ชลาชล เจ้าของร้านผมชื่อดัง "ชลาชล" กล่าวผ่านหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ว่า

"ตอนนี้ในบ้านเราคนไทยถูกกลืนไปเรียบร้อย เอาง่ายๆ ดูอย่างผู้คนที่อยู่ในประเทศไทย ขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นพม่า เขมร ไทยใหญ่ โดยเฉพาะในร้านเสริมสวยต่างๆ จะมีแรงงานต่างด้าวมาเป็นช่างทำผมกันมากขึ้น รับเป็นลูกจ้างให้ช่วยสระผม ซึ่งเขาก็เรียนรู้การทำผมไปด้วยพร้อมๆ กัน ลืมกันไปหรือว่าในประวัติศาสตร์นั้นบรรพบุรุษเราขับไล่ผู้บุกรุกออกนอกประเทศ แต่ในปัจจุบันเราปล่อยให้เข้าเดินในบ้านเมืองเราอย่างสบาย และอยู่อย่างสะดวกเสียด้วย..."

 

หากดู "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" แล้วออกจากโรงหนัง มาครุ่นคิดกันได้แค่นี้สังคมไทยคงต้องไป "จิบชา" พูดคุยเพื่อเรียนรู้ปัญหากับพี่น้องที่ข้ามรัฐ-ข้ามพรมแดนกับ "เพื่อน" ที่ชายแดน กันสักหน่อยแล้วมั้ง เราถึงจะเข้าใจกันมากขึ้น

หาไม่แล้ว คงต้องตกอยู่ในภาวะชาตินิยมงมงายเช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน…!

 

 


ขอขอบคุณ | คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) และ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ (Map foundation) ที่สนับสนุนการเดินทางเพื่อเก็บข้อมูลที่ อ.แม่สอด จ.ตาก | คุณโสฬสสา มีสมปลื้ม เอื้อเฟื้อข้อมูลล่าสุดของ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ | และขอขอบคุณอย่างยิ่งในมิตรไมตรีของ "เพื่อนๆ" ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net